28 พฤศจิกายน 2022
862

ครั้งนี้ ‘Good Business Trip’ โดย The Cloud จะพาลงใต้ไปจังหวัดตรัง เมืองรองที่ใครหลายคนอาจมองข้าม หากแต่อุดมด้วยธรรมชาติ เขา ป่า นา เล ทั้งยังเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมหลากหลาย ตั้งแต่วัฒนธรรมไทยใต้ จีน และมุสลิม 

จากธุรกิจดังในท้องถิ่นสู่ธุรกิจซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลก ตรังเป็นแหล่งบ่มเพาะผู้ประกอบการแนวคิดดีที่อยากดำเนินธุรกิจด้วยการเอาใจใส่ ตั้งแต่บริษัทของเล่นไทยที่ส่งออกหลายประเทศทั่วโลก แบรนด์เครื่องจักสานที่ต่อยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น นักธุรกิจไม้ยางพาราแปรรูปผู้หันมาปลูกป่า จนถึงร้านกาแฟที่รวมผู้คนจนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ในเมืองตรัง

ประเภทกิจกรรม : ทริปดูงาน

วัน : วันพุธที่ 14 ธันวาคม เวลา 08.30 น. – พฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 16.00 น.

จำนวนผู้เข้าร่วม : 30 คน

ราคาบัตร : 1 ท่าน 6,900 บาท (เตียงคู่ คละห้อง) / 8,700 บาท (เตียงเดี่ยว หัองละ 1 ท่าน)

เหมาะกับ : ผู้ประกอบการ SME จากทั่วประเทศ และผู้ที่สนใจการท่องเที่ยว

สถานที่ :

Plan Creations

นำชมโดย โกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด

บริษัทของเล่นที่ต่อยอดจากบริษัทสถาปนิกชื่อ Plan Architect กับความตั้งใจว่าจะไม่ทำอะไรที่เบียดเบียนผู้คนและสิ่งแวดล้อม ก่อนต่อยอดเป็นของเล่น เพราะเด็กคืออนาคต และถ้าอยากสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ก็ต้องเริ่มที่เด็ก

ของเล่น PlanToys จึงเกิดขึ้นด้วยการใช้วัสดุไม้ยางพาราหมดอายุ ซึ่งต้องมั่นใจว่าปลอดภัยกับเด็กในทุกองค์ประกอบ และยั่งยืนในทุกกระบวนการออกแบบและผลิต โดยมียอดขาย 98% ส่งออกต่างประเทศทั่วโลก ประทับตรา Made in Thailand ไว้บนกล่องจากโรงงานในตรังแห่งนี้

Forest of Play

นำชมโดย โกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด

ป่าแห่งการเล่นของ PlanToys สำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ พวกเขานำวัสดุเหลือใช้ในโรงงานมาสร้างเป็นสนามแห่งการเล่นขนาดยักษ์ ตั้งแต่สเกลมือจับจนถึงปีนป่าย คำนึงถึงพัฒนาการธรรมชาติของเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยเปิดให้ใช้งานสาธารณะ

Megawood

นำชมโดย ภรภัทร โรจนมงคล ทายาทรุ่นสองและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมกก้าวู้ด จำกัด

เยี่ยมโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราของทายาทรุ่นสองชาวตรัง ผู้อยากให้ Megawood เป็นบริษัทที่ดำรงอยู่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน โดยเฉพาะพนักงาน เพราะบริษัทใช้แรงงานคนในการผลิตไม้ยางพาราเป็นหลัก จึงสนใจเรื่องระบบการจัดการในโรงงานเป็นพิเศษ ให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำงาน ส่วนคู่ค้าก็ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำธุรกิจร่วมกัน

วิถีตรัง

นำชมโดย วิถี สุพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วู้ดเวอร์ค จำกัด

ป่าของ วิถี สุพิทักษ์ เจ้าของธุรกิจไม้ยางพาราแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด เขาเรียนรู้เรื่องการปลูกป่าจาก อ.จุลพร นันทพานิช จึงซื้อที่ดินแปลงใหญ่ พลิกฟื้นเขาหัวโล้นให้กลับคืนมาเป็นป่าอีกครั้ง 

ไม่ใช่เพียงแค่ปลูก วิถีตรังเป็นแหล่งอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนตรัง ร่วมถึงแหล่งเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ผ่านการอบรม สัมมนา และพัฒนาความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่จัดขึ้นอยู่เสมอ เป็นต้นแบบที่ทำให้เห็นว่าคนคนหนึ่งก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

ร้านขนมเปี๊ยะซอย 9

นำชมโดย เอมอร เอี่ยมศรี ผู้ก่อตั้ง

หลายคนเรียกร้านนี้ว่า ‘คริสปี้ครีมเมืองตรัง’ เพราะเป็นที่รักของคนตรังและนักท่องเที่ยวที่ต้องเวียนมาซื้อฝาก จนมีสาขาที่กรุงเทพฯ ไส้ขายดีอย่างเผือกหอมไข่เค็ม ไส้หมูย่างเมืองตรัง ไส้ถั่วแดง ไส้งาดำ ไส้ชาเขียว และอีกมากมาย ถ้ามาตรังแล้วไม่แวะถือว่ามาไม่ถึง 

Occur Coffee

นำชมโดย ศิริพจน์ กลับขันธ์ ประธานกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้าจังหวัดตรัง (YEC Trang)

Occur Coffee คือร้านกาแฟของคนรุ่นใหม่ เป็นร้านที่บุกเบิกกระแส Specialty Coffee ในจังหวัด เพราะตรังไม่ค่อยมีพื้นที่สาธารณะ ร้านนี้จึงเป็นเหมือน ‘สภากาแฟของคนตรัง’ ที่มีตั้งแต่ผู้นำในจังหวัดไปจนถึงชาวบ้านรวมตัวกัน จัดประชุม สัมมนา กลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนท้องที่ไปโดยปริยาย

SarnSard

นำชมโดย มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ Art Director และ วิศรุต ทวีวรสุวรรณ Product Designer

แบรนด์จักสานของคนตรังรุ่นใหม่ ทำงานกับช่างฝีมือชาวมุสลิมท้องถิ่นเพื่อสานต่อหัตถกรรมจักสานเตยปาหนัน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่น้อยคนจะทำได้ 

SarnSard ชุบชีวิตลวดลายโบราณที่กำลังจะหายไปให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ และแปลงโฉมให้กลายเป็นของที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย อาทิ กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย ต่อยอด เพิ่มมูลค่า จนสุดท้ายสามารถพัฒนาชีวิตช่างฝีมือในชุมชนได้

นาหมื่นศรี

นำชมโดย พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล

‘ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี’ เป็นโครงการที่บูรณะโดยกลุ่มเซ็นทรัลทำ และวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 200 ปี

ภายโครงการแบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือโรงเรียนทอผ้า ร้านค้าผลิตภัณฑ์จากผ้าทอในหลากหลายรูปแบบ และพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องของผ้าทอนาหมื่นศรี กลายเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวชุมชน และแหล่งเศรษฐกิจของคนในท้องที่

ที่พัก : พักห้องละ 1 หรือ 2 ท่าน ณ โรงแรม Parima หนึ่งในสถานที่ของธุรกิจคิดดีใน Good Business Trip

อาหาร : คัดสรรมื้ออาหารให้ทุกคนได้เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการรับประทานร่วมกัน 

Good Business Trip

Good Business Trip : Trang

วัน-เวลา

สถานที่

จังหวัดตรัง

จำนวนผู้เข้าร่วม

30 คน

ค่าใช้จ่าย

6,900 บาท

สมัครเข้าร่วมกิจกรรม