ในช่วงระยะเวลา 20 ปีให้หลัง เรามองเห็นการเติบโตของงานดีไซน์ทั้งจากร้านรวง โรงแรม หรือบ้าน ไปพร้อมๆ มุมมองและความเข้าใจในงานออกแบบที่มีมากขึ้นในหัวใจของผู้คน เหล่านี้คือผลจากการสะสมและสร้างสรรค์งานออกแบบให้กลายเป็นเรื่องของทุกคน
จากความตื่นตัวในวงการดีไซน์ งานสภาสถาปนิก’19 หรือ ACT Forum’19 จึงเกิดขึ้นเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ แนวความคิด และอัพเดตเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในทุกแง่มุมของวงการออกแบบทั้งสถาปนิก มัณฑนากร ภูมิสถาปนิก และนักผังเมือง ผ่านทางกิจกรรม งานเสวนา และเปิดพื้นที่นวัตกรรมเพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพวิชาชีพนักออกแบบไทยได้อย่างยั่งยืน งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายนนี้ ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี
แต่ก่อนจะถึงงานจริง เราชวนคุณมาล้อมวงคุยกับ คุณเป้า-วิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล มัณฑนากรแนวหน้าของเอเชีย ตัวแทนวิชาชีพนักออกแบบของไทยผู้จะไปร่วมเป็น Keynote Speakers บนเวทีงาน ACT Forum’19 ร่วมกับวิทยากรนักออกแบบจากทั่วโลก เพื่อบอกเล่าประสบการณ์และแรงบันดาลใจบนเส้นทางงานออกแบบในทุกระดับ และ คุณหนุ่ม-ธวัชชัย กอบกัยกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีเค สตูดิโอ จำกัด ผู้สร้างป่าในกรุง
คุณเป้า คือนายกสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย ผู้ก่อตั้ง P49DEESIGN AND ASSOCIATES ออฟฟิศออกแบบภายในที่สร้างสรรค์ผลงานแพร่หลายไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลกตลอดการทำงานเกือบ 40 ปีของเธอ และการทำงานออกแบบให้เครือโรงแรมเกือบทุกแบรนด์ในเอเชียเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือและการยอมรับในระดับนานาชาติของมัณฑนากรหญิงผู้นี้ได้เป็นอย่างดี
ส่วนคุณหนุ่ม คือกรรมการผู้จัดการบริษัท ทีเค สตูดิโอ จำกัด เจ้าของงานออกแบบป่าในกรุง ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ป่าสีเขียวในเขตเมือง ไปพร้อมกับการสร้างประสบการณ์ทางธรรมชาติให้กับมนุษย์และระบบนิเวศโดยรอบพื้นที่โครงการ ส่งต่อสู่การสร้างงานแลนด์สเคปที่เข้าใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับผู้ใช้งาน
และนี่คือบทสนทนากับพวกเขาถึงปัจจุบันและอนาคตของแวดวงออกแบบและสถาปัตยกรรมของไทย
01
ห้วงเวลาของความเข้าใจ
เรามองเห็นการเติบโตของงานออกแบบไทยในช่วง 20 ปี ให้หลังที่เติบโตแบบก้าวกระโดด จนงานดีไซน์ที่ดีหลอมรวมเข้ากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย สำหรับงานสายอินทีเรียร์เห็นได้ชัดเจนจากโรงแรมและร้านรวงเก๋ไก๋ที่ผุดขึ้นทุกหัวระแหง พร้อมการสนองความต้องการของหัวใจกับการใช้ชีวิต ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมของสถานที่ให้เป็นที่สวยงามและสร้างความสุข
“ร้านขายของ ร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็ก โฮมสเตย์ ร้านกาแฟ เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนๆ ก็สวยงาม น่าเข้า น่านั่งไปหมด สมัยก่อนจะดูอะไรสวยงามก็ต้องเข้าโรงแรม แต่เดี๋ยวนี้หลากหลายที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดล้วนสวยเก๋ คนตื่นตัวเรื่องอาหารตามากขึ้น ผู้คนเข้าใจมากขึ้นว่า อินทีเรียร์ดีไซเนอร์มีบทบาทในการช่วยให้สถานที่น่าสนใจขึ้น จนธุรกิจดีขึ้นตามมาได้ และถ้าไม่ใช้อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ ก็มีร้านขายของแต่งบ้านผุดขึ้นเยอะ มีมุมตกแต่งเป็นตัวอย่างให้ไอเดียแก่ผู้คนทั่วไป ซึ่งจัดมาอย่างดีโดยอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ของร้านนั้นๆ ฉะนั้น มาตรฐานของการตกแต่งภายในทั่วไปของประเทศจึงดูดีขึ้นเยอะ”
ทางฝั่งของงานแลนด์สเคป ที่ขยายความสำคัญจากสวนหน้าบ้าน สู่การเป็นสวนป่าที่ปล่อยให้ต้นไม้เติบโตตามธรรมชาติและสร้างระบบนิเวศที่ดีให้สังคม ตามเส้นทางการทำงานของคุณหนุ่ม
“สมัยก่อนทุกคนจะใช้ต้นไม้ต้นเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณสองถึงสี่นิ้ว แต่เมื่อสักยี่สิบปีที่ผ่านมาคนก็เริ่มขุดต้นไม้จากในป่า ก็เริ่มเป็นยี่สิบหรือสี่สิบนิ้ว ถามว่ามันก็ดีมั้ย มันก็สวยเลย ตั้งปุ๊บก็มีต้นไม้ใหญ่ แต่ว่ามันไม่ได้ยั่งยืนอะไร
“จนถึงปัจจุบัน เทรนด์ตอนนี้ คนเริ่มมามองว่าทำอย่างไรให้วิชาชีพนี้จะช่วยในการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น เราก็จะเห็นว่าการจัดการที่เอาต้นไม้แค่มาสวยงามอย่างเดียวมันอาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นหลัก ต้นไม้ที่มันเหมาะสมกับสภาพพื้นถิ่นของเรา ดูแลน้อย ใช้พลังงานน้อย ไม่ต้องรดน้ำหรือตัดต้นแต่งมากนัก ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดี”
02
ตัวตน-คน-วิชาชีพ
ตัวตนของวิชาชีพมัณฑนากรและภูมิสถาปนิกปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในวงการ ทั้งต่อสายตาเพื่อนร่วมวิชาชีพเดียวกันและผู้คนทั่วไป สำหรับเส้นทางการทำงานของคุณเป้าและคุณหนุ่มก็เช่นเดียวกัน ทั้งสองเดินบนเส้นทางชีวิตผ่านงานออกแบบจนค้นพบนิยามการทำงานของตัวเอง
“พี่ยังไม่รู้เลยจนป่านนี้ว่าอะไรคือตัวตนของเรา” สำหรับคุณเป้า แม้จะออกปากว่าไม่แน่ใจในเรื่องตัวตน แต่นิยามการทำงานที่ชัดเจนนั่นคือ ความสนุกในทุกโปรเจกต์ที่ลงมือทำ พี่คงชอบคิดว่าตัวเองไม่มีไดเรกชันทางใดทางหนึ่ง ชอบทุกอย่าง อยากทำหลายชนิด โปรเจกต์หลากหลาย
“และก็เพราะมันก็ขึ้นอยู่กับ หนึ่ง ตัวลูกค้า สอง ลักษณะงาน สาม โลเคชัน เผลอๆ ขึ้นอยู่กับตัวสถาปัตยกรรมหรือวัฒนธรรมที่จะพาไปด้วยซ้ำไปว่าจะไปทางไหน แล้วสำหรับพี่ แต่ละอันก็สนุกตื่นเต้นเกือบทั้งนั้น มันไม่จำเป็นที่จะต้องไปทางใดทางหนึ่ง เพราะฉะนั้น พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวตนด้านสตไล์พี่มันคืออะไร แต่ตัวตนในด้านการทำงานคิดว่า ยึดหลักที่ต้องตอบโจทย์ทุกโจทย์ให้ได้”
ส่วนกับคุณหนุ่ม โครงการป่าในกรุงคือโครงการที่ไม่เพียงแต่สร้างชื่อให้เขา แต่ยังสร้างนิยามใหม่ของการทำงานภูมิสถาปนิกให้ทั้งตัวเขาเองและวงการแลนด์สเคป ที่ระบบนิเวศคือหัวเรื่องใหญ่สุดที่ควรตระหนักถึง “จุดเปลี่ยนก็คือเราได้มีโอกาสทำที่ป่าในกรุง พูดตามตรง ทั้งสถาปนิก อินทีเรียร์ดีไซเนอร์ นักออกแบบนิทรรศการ รวมทั้งตัวภูมิสถาปนิกเอง ก็ไม่รู้หรอกว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร
“แต่มันก็เป็นจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่ง ทำให้ตอนนี้ทุกโปรเจกต์ที่เราทำ คนอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวที่เราสนใจ เราอาจจะต้องสนใจว่าแม้มันไม่มีประโยชน์ต่อใครคนใดคนหนึ่งจริงๆ แต่มันก็อาจจะมีประโยชน์ต่อคนอื่น
“เช่นช่วยสภาพแวดล้อมหรือเป็นที่อยู่อาศัยของนก แมลง หรือแม้แต่มุมมองของคน เมื่อได้เข้าไปใช้มันก็อาจจะมีประโยชน์ เพราะฉะนั้น อาจจะไม่ใช่แค่ประโยชน์จากการใช้สอยอย่างเดียว นี่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้เวลาเรามองโปรเจกต์เรา เราก็จะดีเฟนด์กับลูกค้าได้ง่ายขึ้นว่า ประโยชน์มันมีหลายอย่าง ไม่ใช่จะเป็นแบบ Human Centric อย่างเดียว”
03
Design As A Living Art
“งานของพวกแลนด์สเคปมันเป็น Living Art นะ มันเติบโต เปลี่ยนรูปร่างตลอดเวลา ไม่เหมือนงานอินทีเรียร์ที่เสร็จแล้วเสร็จเลย” คุณเป้าเริ่มหัวเรื่องนี้ขึ้นเมื่อคุณหนุ่มเล่าถึงวิวัฒน์ในระบบนิเวศของงานแลนด์สเคป คุณหนุ่มจึงเสริมหัวเรื่องนี้ในสายตาของภูมิสถาปนิก
“พี่เคยอ่านหนังสือเจอว่า เวลาทำแลนด์สเคป มาสเตอร์พีซจริงๆ ของวิชาชีพคือ Central Park ซึ่งไม่ได้อยู่ดีๆ เป็นป่าขึ้นมา เขาปลูกจากต้นเล็กๆ พอเวลาผ่านไปต้นไม้ก็งามขึ้นเรื่อยๆ จริงๆ แล้วงานแลนด์สเคปมันควรที่จะน่าเกลียดที่สุดวันแรก เพื่อจะสวยไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น โครงการที่เราออกแบบเราก็อยากให้เป็นแบบนั้น เราพยายามจะบอกลูกค้าว่า การเอาต้นไม้เล็กๆ มาปลูก ตอนแรกไม่สวยไม่เป็นไร ต่อไปเลี้ยงให้มันสวย มันร่มรื่น พอถึงจุดสมดุลวันหนึ่ง มันควรจะอยู่คู่กันไปได้ยาวนาน
“ตอนนี้ก็คือมีคนเริ่มพูดว่า เราไม่ควรจะเอาต้นไม้ใหญ่ที่ไปขุดมาจากป่าหรือว่าตามบ้านคนมาใช้ พี่เคยศึกษาว่ามันมีโปรเจกต์เป็นหมื่นๆ โปรเจกต์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย จากคอนโด หมู่บ้าน ถ้าทุกคนปลูกต้นไม้สักพันต้นต่อโปรเจกต์ ต้นไม้มันจะเป็นเพิ่มขึ้นล้านๆ ต้นโดยธรรมชาติ ซึ่งเทคโนโลยีการก่อสร้างก็มีส่วนช่วยในการรักษาสภาพแวดล้อม
“พี่คิดว่าในอนาคตเรื่องของพวก 3D Printing หรือ Prefabrication ความแม่นยำของมันจะช่วยลดทอนเรื่องวัสดุเหลือใช้ ถ้าเรากำจัดเศษวัสดุหรือเศษเสียหายพวกนั้นได้เยอะ พลังงานที่เราจะใช้ในการผลิตของเสียพวกนี้มันน่าจะน้อยลง”
การเติบโตของงานดีไซน์อย่างรวดเร็วตามมาด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่น้อยลง ความลึกซึ้งยังคงเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ไหม จึงเป็นสิ่งที่คุณเป้ายังคงตั้งคำถามกับตัวเองในวันนี้ที่ทำงานดีไซน์มากว่า 40 ปี
“สิ่งที่กลัวตอนนี้คือกลัวความฉาบฉวยของเด็กรุ่นใหม่ เพราะทุกอย่างที่ได้มาตอนนี้มันเร็วเหลือเกิน แล้ว ความรู้ In-depth จำเป็นหรือเปล่า เพราะสมัยนี้ไปที่ไหนคนก็หามุมถ่ายรูปลงไอจี แค่สวยฉาบฉวยเพื่อให้ถ่ายรูปขึ้น แต่รวมทั้งหมดแล้วฟังก์ชันไม่ได้ สเปซไม่ลงตัว ดีไซน์ไม่ต่อเนื่อง แต่มีมุมถ่ายรูปเด็ด เป็นโอเค หรือว่านี่คือชีวิตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งพี่ก็ไม่รู้เหมือนกัน ฟังก์ชันในรายละเอียดยังจำเป็นไหม หรือประสบการณ์สนุก มาแล้วไปก็โอเคแล้ว”
นี่กลายเป็นคำถามที่เป็นหน้าที่ของนักออกแบบรุ่นใหม่ เพื่อค้นหาคำตอบของงานสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
04
Second Hand Experience
“โลกสมัยนี้เล็กลงมาก โลกทั้งใบอยู่แค่ปลายนิ้วเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดยอดของนวัตกรรมสมัยนี้ หลายครั้งที่เราไม่มีโอกาสได้ประสบการณ์บางอย่างในชีวิตด้วยตัวเอง เราก็อาศัยเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น พี่เรียกว่า Second Hand Experience จากการอ่านหนังสือบ้าง ฟังเขาบ้าง แต่คราวนี้งาน ACT Forum 2019 ทางสภาได้เชิญคนจริง ของจริง World Class Designers มาคุยให้เราฟังถึงบ้าน คิดดูว่าน่าจะสนุก ได้ความรู้ แค่ไหน
“ในครั้งนี้ทางสภาสถาปนิกได้เชิญคุณ Barbara Barry ซึ่งพวกเราในวงการอินทีเรียร์ต้องรู้จักดีแน่ เพราะว่าเรารู้จักเขา ร้านเฟอร์นิเจอร์ของเขาสวยงามเป็นเอกลักษณ์และเป็นอมตะ เราจะไม่อยากไปฟังหรือว่าเขาคิดอะไรเบื้องหลังงานพวกนั้น”
คุณเป้าเองก็เป็นหนึ่งในวิทยากรงานครั้งนี้ ในหัวข้อเรื่อง Why We Design, What We Design โดยจะเล่าถึงเหตุผลที่เลือกแนวทางการออกแบบในโปรเจกต์โรงแรมต่างๆ และปัจจัยที่ทำให้เลือกไปในทิศทางนั้น
หนึ่งในความคิดเห็นของคุณหนุ่มคือการลงสนามจริง หากแต่การอัพเดตข้อมูลผ่านทางการสัมมนาก็เป็นเรื่องจำเป็นเช่นเดียวกัน
“ACT Forum ครั้งนี้เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะเพิ่มเติมความรู้ ถ้าเราไม่รู้เทคโนโลยีหรือข้อมูลอะไรใหม่เลย เราก็อาจจะทำผิดซ้ำๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดี เราจึงควรมาอัพเดตความรู้ไปเรื่อยๆ ในปีนี้ทางสภาสถาปนิกจัดขึ้นเป็นปีแรก
“ในอนาคต สมาชิกอยากให้สภาสถาปนิกจัดอะไรเพื่อที่จะเป็นความรู้ของตัวเองบ้างก็เสนอเข้ามาได้ เพื่อเป็นผลดีให้ทุกปีเราได้อัพเดตความรู้กันผ่านกระบวนการที่ผู้มีประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพต่างๆ มาถ่ายทอดให้ฟัง”
พบกับงานสภาสถาปนิก’19: งานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรมและแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ภายใต้แนวคิด REACT การแบ่งปันความรู้และแนวคิดด้านการออกแบบจากสถาปนิกทั้ง 4 สาขาวิชาชีพ สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมผังเมือง ระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2562 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี