ในฐานะสถาปนิก บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา และสำนักงานออกแบบ Hypothesis ของเขา ต้องรับมือกับความท้าทายจากโรคระบาดครั้งใหญ่ไม่ต่างจากผู้ประกอบวิชาชีพอื่น

แต่ในฐานะผู้ประกอบการ เขาก็ต้องปรับตัวและปรับรูปแบบกิจการคาเฟ่ ร้านอาหารและธุรกิจต่างๆ ที่ Factor!a ใน Warehouse 26 ของตัวเองและเพื่อนๆ ไปตามความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันตั้งตัว

ในฐานะพลเมือง เขาคิดว่าภายใต้สภาวะที่ท้าทายเช่นนี้ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และจิตสาธารณะ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สังคมรอดพ้นจากภัยพิบัติไปได้ หากไม่เพียงโรคระบาดครั้งใหญ่ครั้งนี้ที่ทุกคนกำลังประสบ แต่รวมถึงความท้าทายอื่นๆ ในอนาคตด้วย

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT Forum ’20, บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

ซึ่งก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสภาสถาปนิก และบริษัท อารยะ เอ็กซ์โป จำกัด ในฐานะผู้ร่วมจัดงาน ACT FORUM’20 Design + Built งานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรม และแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างครั้งใหญ่ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี ที่เห็นว่า ‘การแบ่งปัน’ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลาเช่นนี้ ภายใต้การตั้งคอนเซปต์งาน ‘สถาปนิกปันสุข’ (Sharing Happiness)

ในฐานะประธานส่วนประชาสัมพันธ์การจัดงานนอกเหนือจากการทำงานออกแบบในนามบริษัท Hypothesis ที่มีผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นที่รู้จักหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่วนงานสถาปัตยกรรมของโครงการล้ง1919 การเปลี่ยนโฉมโกดังเก่าเป็นร้านอาหารอย่าง VIVARIUM และ Factor!a รวมถึงการคว้ารางวัลด้านการออกแบบสำคัญๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ 

คุณบิวเห็นว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มสถาปนิกทั้ง 4 สาขา ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และ สถาปัตยกรรมผังเมือง ไปจนถึงผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงผู้ผลิตนวัตกรรมและวัสดุก่อสร้าง จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนและนำเสนอความรู้ วิธีการแก้ปัญหา รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านพื้นที่ของงาน ACT FORUM’20 Design + Built ที่เป็นที่ยอมรับและกำลังจะถูกจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

เป็นงานในปีนี้ที่เขากล่าวว่าจัดขึ้นในสภาวะที่ท้าทายอย่างยิ่ง ในบรรยากาศที่โลกยังไม่หายขาดจากโรคระบาดครั้งใหญ่ แต่ก็เพราะเช่นนั้นเองที่เขาเห็นว่าบทบาทของเหล่าสถาปนิกหลากสาขานั้นน่าจะมีส่วนช่วยแบ่งปันความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพให้กับสังคมในเวลานี้ได้ไม่มากก็น้อย

ปันความเชี่ยวชาญ

“ผมว่าตอนนี้ ในช่วงของโรคระบาด COVID-19 ทุกคนคงเห็นภาพร่วมกันว่า ตั้งแต่ผ้าปิดปาก เฟซชิลด์ เราก็จะเห็นบทบาทของนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ถ้าในระดับการวางผังพื้นที่ เราก็จะเห็นการสร้าง Social Distancing การเว้นระยะ หรือการจัดโต๊ะ” คุณบิวกล่าว

“ถ้าในระดับสถาปัตยกรรม สังเกตในประเทศไทยเองรวมถึงในต่างประเทศ ก็มีการสร้างศูนย์หรืออาคารที่สร้างอย่างรวดเร็วเพื่อมาตรวจสอบโรคนี้ รวมถึงสร้างโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยตรงนี้โดยเฉพาะ 

“จึงเห็นได้ชัดมากว่าจริงๆ แล้ว การออกแบบมันพยายามไปตอบในทุกมิติ”

เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างโรคระบาด บานจับประตูธรรมดาก็อาจกลายไปเป็นอุปกรณ์แพร่เชื้อ โต๊ะอาหารกลายเป็นพื้นที่อันตรายเมื่อคนต้องเผชิญหน้ากัน หรือร้านค้าทั่วไปก็อาจกลายเป็นแหล่งเพาะและแพร่ไวรัสโดยที่ไม่มีใครเคยคิด

ความเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมนำมาซึ่งความจำเป็นของการคิดใหม่ หรือ ‘ออกแบบ’ สิ่งใหม่ๆ ภายใต้สภาวการณ์ที่ไม่ปกติ ไม่ว่าจะเป็นเพียงเรื่องชั่วคราวหรือถาวร

 “อย่างในประเทศไทยเอง ก็มีการเริ่มทำโปรเจกต์ เช่น Zero Covid Project ในช่วงก่อนหน้านี้ที่สมาคมสถาปนิกฯ ทำ สภาสถาปนิกก็เข้าไปร่วมด้วย แล้วก็อีกหลายๆ สมาคมก็ลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้กัน ว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้กันยังไง”

Zero Covid Project ที่คุณบิวกล่าวถึง คือโครงการให้คําปรึกษาด้านการออกแบบในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 ให้กับโรงพยาบาลของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการปรับการจัดวางผังและโซนนิ่งใหม่ให้กับโรงพยาบาลที่เป็นด่านหน้าของการคัดกรอง การให้คำปรึกษาเรื่องโรงพยาบาลสนาม การพัฒนาต้นแบบและโมเดลการผลิตชุดอุปกรณ์สำหรับแพทย์ รวมถึงการวางแผนการจัดการทรัพยากรอื่นๆ 

โดยได้ริเริ่มมาตั้งแต่ช่วงที่การแพร่ระบาดพุ่งสูง จากนั้นก็มีการเผยแผ่ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเป็นเวทีเสวนาออนไลน์ในประเด็นต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ สิ่งที่คุณบิวสนใจ คือการดึงเอาความเชี่ยวชาญที่หลากหลายยิ่งขึ้น มาเผยแผ่ผ่านพื้นที่ใหม่ที่เขาเพิ่งได้รับโอกาส

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT Forum ’20, บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

ปันความรู้

“จริงๆ ในช่วงแรก ทางคณะกรรมการจัดงานก็คิดอยู่เหมือนกันว่า เราควรจะจัดงานครั้งนี้ไหม สุดท้าย ทางสภาฯ ก็ตัดสินใจว่าเราจะจัดงาน แต่เราจะจัดงานในรูปแบบของ Hybrid” คุณบิวกล่าว

“คือคนมาร่วมงานด้วยส่วนหนึ่ง แล้วอีกส่วนหนึ่งคือเป็นการสัมมนาผ่านออนไลน์ได้ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกเลยที่จัดให้เป็น Hybrid แบบนี้”

คุณบิวยังเล่าต่อว่า จริงๆ แล้วโอกาสของการที่ได้จัดงานที่มีลักษณะก้ำกึ่งเช่นนี้ก็มีข้อดีในตัวเองมันเอง ที่เด่นชัดที่สุดนั้นเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เขาติดต่อสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ ที่ในภาวะปกติอาจจะไม่ง่ายที่จะเชิญให้เดินทางมาร่วมงาน มาร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากรในรูปแบบการเสวนาออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น

Jan Gehl (ญาณ เกฮ์ล) เป็นสถาปนิกชาวเดนมาร์ก คอยดูแลผังเมืองให้กับหลายๆ ที่ในโลก ที่ผมจำได้น่าจะเป็นที่นิวยอร์ก ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องรถติดได้อย่างมาก เช่น การเลือกใช้การปิดถนน” คุณบิวว่า

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT Forum ’20, บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

“พอได้ฟัง ญาณ เกฮ์ล เราก็อาจจะพบว่า เฮ้ย จริงๆ แล้วการปิดถนนมันกลับทำให้รถไม่ติด คือแก้ปัญหาแบบขั้วตรงข้ามเลย เราอาจจะเข้าใจแต่เดิมว่าสร้างถนนเพิ่มเพื่อรถจะไม่ติด จริงๆ เปล่า การปิดถนนเพื่อให้คนเดิน หรืออะไรในทำนองนี้ กลับช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่า”

สถาปนิกและนักผังเมือง ญาณ เกฮ์ล ผู้ก่อตั้งบริษัท Gehl Architect มีผลงานการแก้ปัญหาเมืองที่เป็นที่รู้จักมากมาย หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนพื้นที่ Time Square และ Broadway ของนิวยอร์ก จากที่ที่แออัดไปด้วยรถยนต์ เต็มไปด้วยฝุ่น ควัน และเสียง ให้กลายเป็นพื้นที่พบปะพูดคุยของผู้คนในรูปแบบถนนคนเดิน ซึ่งนอกจากงานออกแบบ ญาณ เกฮ์ลยังเป็นที่รู้จักจากการเขียนหนังสือเกี่ยวกับผังเมือง ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดด้านผังเมืองหลายต่อหลายเล่ม

“ถ้าใครเป็นสายแลนด์สเคป ส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้จัก เคท ออร์ฟ (Kate Orff)” คุณบิวเสริม

“เคท ออร์ฟ เนี่ยเป็น Landscape Designer แล้วก็เป็น Urban Architect ด้วยเหมือนกัน งานของเขาที่ผมจำได้ ก็คือ การใช้หอยนางรมมาแก้ปัญหาการกัดเซาะตลิ่งของแม่น้ำแมนฮัตตันในนิวยอร์ก ซึ่งหอยนางรมพวกนี้มันเคยอยู่ในนิวยอร์กอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก มันเริ่มหายไปเพราะว่าเมืองมันเปลี่ยนไป มันเริ่มมีมลพิษ”

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT FORUM ’20

โครงการที่ถูกกล่าวถึงอยู่นี้ คือโครงการ Oyster-tecture ในนามบริษัท SCAPE ที่เคท ออร์ฟ เป็นผู้ก่อตั้ง โครงการถูกนำเสนอใน ค.ศ. 2010 มีแนวคิดคือการสร้างแผงกั้นการกัดเซาะของน้ำ เพื่อลดความเร็วของแม่น้ำ และทำให้น้ำสะอาดขึ้น เป้าหมายเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและมลพิษทางแม่น้ำที่เป็นหัวใจของเมือง

โดยวิธีการนั้น เคท ออร์ฟ ใช้แนวคิดของแผงปะการังหอยนางรมเป็นพระเอก

“แนวคิดของเคท ออร์ฟ คือนำหอยนางรมกลับมา แล้วให้มันเติบโตขึ้นด้วยตัวเองภายในงานออกแบบคล้ายการสร้างปะการังเทียม แล้วหอยนางรมเมื่อมันกลายเป็นแผงปะการัง มันก็จะทำหน้าที่เป็นแผงกันการกัดเซาะของน้ำทะเล จากนั้นคนก็จะกลับมาเก็บเกี่ยวหอยนางรมได้ดังเดิมอีกด้วย”

“ความสำคัญของเขา คือเขาค่อนข้างมองภาพกว้าง ไม่ได้มองแค่ว่าหน้าที่ของเขาจะไปแก้ปัญหาด้วยเรื่องดีไซน์ แต่มองเรื่องของชีววิทยาด้วย สัตว์ตัวเล็กๆ ก็แก้ปัญหาในเชิงผังเมืองได้เช่นกัน” คุณบิวกล่าวเสริม

“และที่ได้เชิญทั้งสองท่านมานั้น ก็เหมือนเพื่อพยายามให้เขามาช่วยไขกุญแจน่ะครับ เราจะแก้ปัญหายังไงในช่วงโรคระบาด เพราะทั้งสองท่านนี่คือนักแก้ปัญหาจริงๆ ทำโปรเจกต์จริง และมันแก้ได้จริงๆ

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT Forum ’20, บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

“อันนี้คือในระดับผังเมือง แล้วก็แน่นอนว่ามีในระดับของสถาปัตยกรรมแล้วก็อินทีเรียด้วย”

นอกจากผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่าน ยังมีสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มาร่วมบรรยายภายในงาน

ไม่ว่าจะเป็น Marina Tabassum สถาปนิกชาวบังกลาเทศผู้มีชื่อเสียงจากงานออกแบบอาคารที่ยึดโยงกับผู้คนและสภาพแวดล้อมอย่างแนบแน่น

พงษ์เทพ สกุลคู จาก August Design Consultant มัณฑนากรผู้ได้ชื่อว่าบุกเบิกวิชาชีพการออกแบบภายในในไทย 

รุสลัน โต๊ะแปเราะนักผังเมืองชำนาญการจากจังหวัดนราธิวาส 

ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล จาก CHAT Architects สถาปนิกรางวัลศิลปาธรปีพ.ศ.2563 ที่ดำเนินวิถีการออกแบบภายใต้นิยามงานของตัวว่า ‘สถาปัตยกรรมสารเลว’

และ กชกร วรอาคม จาก Landprocess ภูมิสถาปนิกผู้สร้างสวนช่วยเมืองกรุง อย่างอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี และอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT Forum ’20, บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

ปันความสุข

“ตั้งแต่ตอนที่คณะกรรมการการจัดงานประชุมกัน เขาสนใจกันเรื่องหนึ่งที่ตอนนั้นถูกพูดถึงกันมากคือตู้ปันสุข” 

คุณบิวได้เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของแนวคิดพื้นฐานของงานในครั้งนี้

“ณ ช่วงนั้น ความหมายของมันคือเรื่องการแบ่งปันกับคนอื่น คือการที่มันไม่ใช่แค่ ‘ตัวเรา’ ไม่ใช่แค่เอาตัวเรารอด เขาเลยตั้งคำถามว่า แล้วสถาปนิกจะแบ่งปันให้กับคนอื่นได้ไหม ในส่วนไหนบ้าง

“ในที่ประชุมก็เลยได้ข้อสรุปว่า ปีนี้เราจะจัดงานที่มีธีมเป็น ‘สถาปนิกปันสุข’ หรือ Sharing Happiness คือสถาปนิกทั้งสี่สาขา จะมาปันความสุขให้กับผู้อื่น”

ภายใต้แนวคิดนี้ นอกจากการจัดการบรรยายในวันจริงแล้ว ก็ยังมีการจัดเวทีเสวนาออนไลน์จาก 4 สถาปนิกทั้ง 4 สาขา เพื่อเผยแผ่ความรู้และประสบการณ์ที่ของสถาปนิกที่ทำผลงานในเชิงสาธารณะผ่านทางโซเชียลมีเดียของงานไปในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้แนวคิดเรื่องการแบ่งปันนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อันได้แก่ ญารินดา บุนนาค ผู้ร่วมก่อตั้งสำนักงานออกแบบ Imaginary Objects ที่คุณบิวเล่าว่า

“จริงๆ คุณญารินดาก็เป็นเพื่อนของผม แล้วเขาก็เพิ่งมีลูกเป็นคนที่สอง ในฐานะของความเป็นแม่บวกความเป็นสถาปนิก เขาจึงสนใจเรื่องพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะเรื่องสนามเด็กเล่น

“แล้วเขาเห็นว่าสนามเด็กเล่นของเด็กๆ นั้น คนที่มีน่ะ เขามีอยู่แล้ว โรงเรียนที่ดีๆ นั้นมีอยู่แล้ว แต่คนที่ไม่มีล่ะ เขารู้สึกว่า เฮ้ย สิ่งนี้เขาควรจะต้องทำ ข้อความนี้ เขาควรจะต้องพูด เพราะว่าอันนี้คือสิ่งที่ตัวเขา คือสถาปนิกที่มีความเป็นแม่ อยากทำให้กับเด็กๆ คนอื่นๆ”

รวมไปถึง สมชาย จงแสง สถาปนิกและมัณฑนากรรางวัลศิลปาธรปี พ.ศ.2552 จาก Deca Atelier

“พี่สมชาย จงแสง เขาสนใจเรื่องพุทธศาสนา เขาก็จะไปช่วยออกแบบวัดต่างๆ สร้างเจดีย์ สร้างอุโบสถ ผมรู้สึกว่า อันนี้มันก็เป็นการแบ่งปันที่ดีมาก มันเป็นแบ่งปันในเชิงของจิตวิญญาณ ในเชิงของจิตใจ แล้วก็เป็นความสุขของเขาด้วย” คุณบิวว่า

“เวลาได้ยินเขาเล่าเรื่องว่า พี่ไปวัดนั้นวัดนี้มา เพิ่งบินกลับมา ผมมีความรู้สึกว่าเขาอิ่มเอม และน่าจะนำมาแบ่งปันในมุมมองของทั้งมัณฑนากร แล้วก็สถาปนิกที่ทำงานเกี่ยวกับวัด”

นอกจากนั้นก็ยังมี ยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิกจาก Shma ผู้มีบทบาทด้านการขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สาธารณะในเมืองหลากหลายแห่ง

“พี่ยศนี่ก็เป็นตัวตั้งตัวตีเลย” คุณบิวกล่าวต่อ “ที่เป็นคนพยายามเอาพื้นที่สีเขียวสร้างให้กับเมืองแล้วก็ชุมชน

“คือนอกจากเขาจะเป็นมืออาชีพด้านการทำงานภูมิสถาปนิกอยู่แล้ว พี่ยศกับทีมของเขาที่ชื่อ We!Park เป็นด้านที่ทำงานเพื่อสังคม หาทุนสนับสนุน หาสปอนเซอร์ แล้วก็หาพื้นที่เล็กๆ ในเมือง เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ที่เป็นพื้นที่นันทนาการของคน”

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT Forum ’20, บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

และสุดท้าย ในส่วนภาคของผังเมือง

“จะเป็นทาง UDDC (Urban Design and Development Center) หรือศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ที่เขาทำงานในสเกลเมือง” คุณบิวเสริม

“ยกตัวอย่าง โปรเจกต์ล่าสุดก็คือพระปกเกล้าฯ สกายปาร์ค ที่เป็นการเปลี่ยนพื้นที่สะพานด้วนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับเมือง แล้วเขาก็มีอีกหลายโปรเจกต์มากมาย ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจที่อยากจะให้คนทั่วไป รู้ว่าสถาปนิกในทุกสาขาทำอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นสเกลเล็กหรือสเกลใหญ่

“ในลักษณะของการแบ่งปันให้กับสังคม”

บิว Hypothesis กับการชวนสถาปนิกทุกสาขามาแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อแบ่งเบาวิกฤตใน ACT Forum ’20, บิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา

ให้กับทุกคน

ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ แน่นอนว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งภายในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ที่ก็ยังมีอีกภาคส่วนสำคัญคือส่วนนวัตกรรมและเทคโนโลยีการก่อสร้าง ที่ภายในงาน ผู้เข้าชมก็จะได้พบกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกนำเสนอมากขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงเวลาของความท้าทายที่ผ่านมา

และจุดเด่นในงานที่ห้ามพลาด สำหรับคนรักงานดีไซน์ เพราะในงาน ACT FORUM’20 Design + Built มีส่วน DesignerHub ที่เอานักออกแบบจากทุกแขนงมารวมตัวกัน ให้ผู้ที่สนใจได้เลือกชมผลงานและรับคำปรึกษาตามความต้องการ เรียกได้ว่าเป็นตลาดนัดนักออกแบบที่ครบทุกส่วนในเรื่องออกแบบและก่อสร้าง

ทั้งหมดนี้ผู้ที่จะได้ประโยชน์ย่อมไม่ใช่เพียงเหล่าสถาปนิกเพียงอย่างเดียว แต่เจ้าของบ้านและผู้ที่สนใจในนวัตกรรมการก่อสร้างใหม่ๆ หรืองานดีไซน์ ก็จะได้เรียนรู้เรื่องราวที่หลากหลาย เพื่อพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจมาถึงอีกในอนาคต

สิ่งสำคัญที่สุด ผู้ที่ไม่ควรพลาดงานนี้ด้วยประการทั้งปวงคือเหล่าผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิกที่จะได้ใช้สิทธิ์ในฐานะสมาชิกสภาสถาปนิก พัฒนาด้านวิชาชีพตามการสนับสนุน ที่เรียกว่า ‘การพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (พวต.)’ หรือ Continuing Professional Development (CPD) หนึ่งในหน้าที่หลักของสภาฯ ที่มีส่วนช่วยคนที่อยู่ในวิชาชีพให้พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาและไม่หยุดนิ่ง

“ต้องอัปเดตตัวเอง แล้วพอมางานนี้ ผมคิดว่าหนึ่งเลยนอกจากได้พัฒนาวิชาชีพ ก็จะได้ยกระดับสภาพสังคมด้วย” คุณบิวกล่าวเสริม 

“เพราะว่าพอสถาปนิกมีความรู้มากขึ้นก็จะนำไปพัฒนาสังคมได้ และผมว่าอีกจุดหนึ่งที่เป็นภารกิจหลักๆ ของสภาสถาปนิก คือการยกระดับสถาปนิกของทั้งประเทศเพื่อให้เทียบเท่ากับนานาชาติ”

ทั้งสถาปนิกและผู้ที่ไม่ใช่สถาปนิก มาร่วมงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ได้ตลอด 5 วัน ในระหว่างวันที่ 18 – 22 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 เวลา 10.00 – 18.00 น.

แถมท้ายว่า สถาปนิกที่ได้มาเช็กอินที่งาน รวมถึงได้เข้าร่วมฟังเสวนาทั้งที่งานจริงและทางออนไลน์ จะมีสิทธิ์ได้รับคะแนน พวต. เพื่อพัฒนาวิชาชีพสูงสุดถึง 60 แต้ม

แต่ที่สำคัญ คือการได้เรียนรู้ศาสตร์ทั้ง 4 ของวิชาชีพสถาปนิกแบบข้ามสายตามใจชอบ ซึ่งคนเป็นสถาปนิกจะเติมความรู้ให้ตัวเองอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่จะยังประโยชน์ต่อไปได้อย่างกว้างขวาง ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นสถาปนิก ก็จะได้องค์ความรู้แบบเฉพาะเจาะลึกที่อาจหาที่ไหนได้ไม่เหมือน

ขอบคุณภาพจาก : gehlpeople.com

ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่นี่ และดูรายละเอียดงาน ACT Forum ’20 Design + Built เพิ่มเติมที่

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ