10 สิงหาคม 2022
46 K

“ไปดูชื่อคนแต่งมา แอ้ม อัจฉริยา อีกแล้ว!”

“เพลงนี้ดีมาก ฟังแล้วรู้เลยว่าพี่แอ้มเป็นคนแต่ง”

เรามักจะเห็นประโยคเหล่านี้ในทวิตเตอร์บ่อย ๆ เวลามีเพลงทำนองสวย ๆ ใช้คำเก่ง ๆ ดังขึ้นมาแต่ละครั้ง

แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ หรือ แอ้ม CU Band เป็นนักแต่งเพลงที่อยู่มาตั้งแต่ยุคกามิกาเซ่ จนถึงตอนนี้เธอมีผลงานกว่า 200 เพลง หลายเพลงกลายเป็นเพลงโปรดประจำใจผู้คน หลายเพลงได้รางวัลการันตีความไพเพราะ

เธอเป็นนักแต่งเพลงที่ใคร ๆ ยกให้เป็น ‘Queen of T-pop’ แห่งยุคสมัย

เรารู้ว่ามีคนติดต่อขอสัมภาษณ์เธอมากมาย หลังจากที่เพลงสนุก ๆ อย่าง เฮอร์ไมโอน้อง กลายเป็นไวรัล แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังยืนยันจะขอไปคุยกับเธอด้วยอีกสักคน ในฐานะที่เป็นคนชอบฟังเพลงไทย และเป็นเด็กที่ #โตมากับกามิ คนหนึ่ง เรายังมีคำถามที่อยากถาม ‘พี่แอ้ม’ เพิ่มเติมอีกยาวเป็นหางว่าว (ถ้าเขียนบทความยาวสัก 15 หน้าได้ก็คงดีน่ะสิ!)

คอลัมน์ In Design วันนี้ เราจะมาพูดคุยกับนักออกแบบอีกแขนงหนึ่งอย่างนักแต่งเพลง ตั้งแต่ความเป็นมา วิธีคิด ไปจนถึงทัศนคติเกี่ยวกับวงการเพลงไทยในปัจจุบัน

แอ้ม อัจฉริยา นักแต่งเพลงสาวยุคกามิกาเซ่ สู่ Queen of T-pop ตัวจริงแห่งยุคปัจจุบัน

เปียโนของเล่น

“ของเล่นชิ้นแรกของพี่เป็นเปียโนของเล่นที่มี 8 โน้ต พี่ไม่เล่นอย่างอื่นเลย” นักแต่งเพลงสาวเริ่มต้นร่ายประวัติของตัวเองจากตอนที่เป็นเบบี้แอ้มผู้รักเสียงเพลง ตั้งแต่จำความได้ เธอก็อยู่ในบรรยากาศที่พ่อแม่ฟังเพลงป๊อปไทย ฟังเพลงพี่เบิร์ด พอเริ่มโตขึ้นมานิดหนึ่งเธอก็เริ่มเปิดเพลง บอย โกสิยพงษ์ ในวิทยุฟังด้วยตัวเอง ตอนนั้นคือยุคที่ Bakery Music กำลังรุ่งเรือง

“สิ่งที่อยากเรียนพิเศษจนต้องขอพ่อแม่เรียนเองคือเปียโน แต่เล่นไม่เก่งนะ” เธอเล่าต่อ “พอเล่นเป็นโน้ตก็รู้สึกว่าขี้เกียจซ้อม ขี้เกียจท่อง เลยเริ่มหัดเล่นเปียโนป๊อป ซึ่งเป็นเพลงแบบที่เราชอบ ความเป็นป๊อปมันอิสระกว่า สนุกกว่า เราแค่เล่นตามคอร์ด แต่จะกดตรงไหนก็ได้ รู้สึกว่านี่มันคือทางของเรา”

ในส่วนร้องเพลง แอ้มบอกว่ายุคนั้นยังไม่ใช่ยุคที่เด็ก ๆ นิยมเรียนร้องเพลงกันเท่าไหร่ เธอจึงได้แต่นั่งร้องเพลงคนเดียวอยู่บนบันไดบ้าน ลองผิดลองถูกตามนักร้องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง 

แต่ถึงอย่างนั้น การร้องเพลงก็นำเธอมาสู่การเป็น ‘แอ้ม CU Band’ ที่ผู้คนรู้จักกันในวัยมหาวิทยาลัย

แรกเริ่มเข้าจุฬาฯ เมื่อเธอได้มีโอกาสชม CU Band เล่นในงานรับน้อง ก็เกิดรู้สึกประทับใจกับมวลความสนุกนั้นจนอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวง ถึงจะยังไม่มีประสบการณ์ในการร้องเพลงมากมาย ไม่เคยแม้แต่เป็นนักร้องในโรงเรียนเหมือนคนอื่น ๆ แต่เธอก็ตัดสินใจก้าวเท้าเข้าไปออดิชัน ไปยืนร้องเพลงต่อหน้ารุ่นพี่ในวงอย่าง รัดเกล้า อามระดิษ

CU Band เป็นกิจกรรมแรกที่เกี่ยวกับการร้องเพลงที่แอ้มทำอย่างจริงจัง เป็นครั้งแรกที่เธอได้เห็นนักดนตรีตัวเป็น ๆ มาเล่นรวมวงกัน ที่วงมหาวิทยาลัยแห่งนี้ แอ้มได้ฝึกหลายอย่าง ทั้งฝึกร้องคอรัส ทั้งเรียนรู้ทฤษฎีการร้องเพลงอย่างมีหลักการมากขึ้น เวลาที่นักดนตรีในวงแกะเพลง เธอก็จะชอบไปแอบดู ทำให้พอมีไอเดียพื้นฐานในเรื่องการสร้างเพลงขึ้นมา

แอ้ม อัจฉริยา นักแต่งเพลงสาวยุคกามิกาเซ่ สู่ Queen of T-pop ตัวจริงแห่งยุคปัจจุบัน

“พี่เรียนเอกวิทยุโทรทัศน์” เธอกล่าวถึงวิชาในห้องเรียนคณะนิเทศศาสตร์ นอกเหนือไปจากพาร์ตนักกิจกรรมที่พูดในตอนแรก “จริง ๆ วิชาเอกมันไม่ใช่การแต่งเพลง แต่ว่าก็มีบ้างที่เกี่ยว เช่น วิชาเขียนบท วิชาเพลงประกอบสื่อ

“นิเทศศาสตร์เป็นที่ที่ทำให้เราเขียนเนื้อเพลงได้ เพราะนิเทศศาสตร์คือการสื่อสาร มันคือการที่เราจะต้องวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นบทละคร บทหนัง หรือวิเคราะห์เพลงให้เข้าใจว่า อันนี้เขาทำเพื่ออะไร เขาพูดความรู้สึกของคนคนนี้ที่มีคาแรกเตอร์ยังไง ตรงนี้เอามาใช้ในการแต่งเพลงได้ดีมาก

“ถ้าถามว่ารู้สึกว่าตัวเองแต่งเพลงเป็นจากอะไร พาร์ตดนตรีคือ CU Band พาร์ตเนื้อคือนิเทศศาสตร์ นอกจากนั้นก็แอบมีแม่มาเกี่ยวนิดหนึ่ง” เธอเอ่ยถึงแม่ยิ้ม ๆ “เมื่อก่อนแม่พี่เป็นนักแต่งกลอนของธรรมศาสตร์ เลยสอนเรื่องคำคล้องจองมาตั้งแต่เด็ก”

เพราะความรักในเสียงดนตรี แอ้มเลือกเอกวิทยุโทรทัศน์ด้วยหวังจะเป็นดีเจ แอ้มเห็นภาพตัวเองแนะนำเพลงเพราะ ๆ ให้คนอื่นฟังในทุกวัน แต่เมื่อเรียนจบออกมา ดีเจกลับไม่ใช่อาชีพที่ได้ทำ เธอกลายมาเป็นครูสอนร้องเพลงที่รับงานร้องคอรัสไปด้วย และเมื่อแอ้มได้รู้จักกับเหล่าคนเบื้องหลัง โปรดิวเซอร์ เธอก็ได้เข้าไปช่วยร้องไกด์ให้กับนักร้องเป็นอาชีพเสริม แล้วโชคชะตาก็พาเธอไปรู้จักกับทีมของ ก๊อป-ธานี วงศ์นิวัติขจร หรือ ก๊อป โปสการ์ด ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเนื้อร้องของกามิกาเซ่ในยุคนั้น

“เราร้องไกด์แล้วเริ่มแอบเสนอความคิดเห็น คำนี้ร้องยาก ถ้าร้องเป็นคำนี้ได้ไหมคะ” แอ้มย้อนความหลังอย่างออกรส “ถ้าเป็นบางคนอาจจะโกรธก็ได้ แต่พี่ก๊อปกลับเห็นว่า เอ้า! ไอ้เด็กนี่มันคิดเองได้นะ เขียนเนื้อได้ไหม เขาก็เลยชวนมาคุยกัน พี่เลยได้เข้าไปฝึกงานอยู่ในทีมค่ะ”

วันหนึ่งเมื่อทีมงานกำลังหาเพลงช้ามาลงอัลบั้ม โฟร์-มด ชุดที่ 5 จู่ ๆ แอ้มก็ฮัมทำนอง “หน่านาน้า หน่านาน้านา” ที่แล่นเข้ามาในหัวขึ้นมา (นอกจากจะแต่งเนื้อเพลงได้แล้ว เธอแต่งทำนองได้เฉยเลย!) เมื่อทีมงานถูกใจ เธอก็กลับมาเคาะโต๊ะร้องท่อนฮุคเจ็บ ๆ อย่าง “ถ้าเปลี่ยนใจไปรักใครได้ฉันรักไปแล้ว…” ให้ทุกคนฟังในครั้งถัดมา

“เฮ้ย ดี!” ก๊อป โปสการ์ด อุทาน

แล้ว แอ้ม อัจฉริยา อัจฉริยะนักแต่งเพลงป๊อปแห่งยุคก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

แอ้ม อัจฉริยา นักแต่งเพลงสาวยุคกามิกาเซ่ สู่ Queen of T-pop ตัวจริงแห่งยุคปัจจุบัน

นักแต่งเพลงสาวท่านหนึ่ง

แอ้มโตมากับเพลงยุค Bakery Music และเข้าสู่วงการทำเพลงในยุคกามิกาเซ่

ณ เวลานั้น นอกจาก ก๊อป โปสการ์ด ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเนื้อร้องแล้ว ก็มี เอฟู-ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ หัวหน้าทีมดนตรีที่แอ้มได้ร่วมงานอยู่ตลอด

“เราได้เห็นเทคนิคการทำงานของพี่ ๆ เขาเยอะมาก อันนี้ต้องขอบคุณที่ทำให้เห็น เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะคิดว่าการทำเพลงคือการนั่งคิด แล้วเขียนออกมาแค่นั้น เราอาจจะไม่ได้ทำงานได้อย่างที่ทำทุกวันนี้

“จริง ๆ แล้วกว่าจะเสร็จหนึ่งเพลงที่เราได้ฟังกัน มันมีขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน เวลาพี่ก๊อปเขาจะเขียนเพลงหนึ่งเพลง เขาจะไปรีเสิร์ชก่อนว่าศิลปินเป็นคนแบบไหน พูดจาแบบไหน ทุกอย่างคิดหมด ไม่มีอะไรที่มั่วนะคะ”

เธอบอกว่าคาแรกเตอร์จริง ๆ ของแต่ละคนจะถูกหยิบขึ้นมา ‘ตี’ ให้ชัดขึ้น แล้วออกมาอยู่ในเนื้อเพลง

“ทีมจะคิดกันว่า อย่างคำนี้ ๆ นะ ถ้าเป็นหวายจะพูดได้ แต่ขนมจีนจะไม่พูด” ฟังแอ้มเล่าแบบนี้ เรารู้สึกราวกับกำลังนั่งดูรายการ #ความลับกามิ EP.พิเศษ “น้องหวายเป็นเด็กอินเตอร์ พูดตรง ๆ เด็ดขาด ตัดคือตัด น้องขนมจีนเป็นตัวแทนของสาวที่มีความ Emotional เนื้อเพลงก็จะออกไปทางยอมแพ้หน่อยได้ น่าสงสารนิดหนึ่งได้ ส่วนเฟย์ฟางแก้ว จะเป็นผู้หญิงบอบบางหน่อย เราเขียนเนื้อให้งอแงนิด ๆ ได้”

แอ้มไม่ได้ทำกามิกาเซ่แล้ว ทุกวันนี้หน้าที่ในการทำเพลงของเธอขยายกว้างขึ้น จากเดิมที่ได้แต่งทำนอง ร้องไกด์ ร้องคอรัส หรือคุมนักร้องอัดเพลงเป็นหลัก ก็ได้แต่งเนื้อร้องและโปรดิวซ์เพิ่มมาด้วย (ส่วนการเรียบเรียงดนตรี โดยปกติเธอมีทีมที่ทำด้วยกันเป็นประจำ) ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังยึดหลักที่ได้มาจากพี่ ๆ ทีมเดิม คือเธอต้องรู้จักศิลปิน ต้องจับทัศนคติของเขาให้ได้ และถ้า ‘รัก’ ศิลปินได้เลย ก็จะยิ่งทำให้เพลงออกมาดี

แอ้มเล่าว่า ขั้นตอนการทำเพลงสมัยก่อนนั้น โดยปกติต้องส่งเดโม่ที่มีดนตรีพร้อมกับฮัมทำนองไปก่อน เพื่อให้ผู้ใหญ่ฟังว่าเพลงนั้นเพราะไหม จากนั้นค่อยคิดคอนเซ็ปต์ เนื้อเรื่อง แล้วเขียนเนื้อเพลงให้ลงตัวพอดีทีหลัง ซึ่งข้อดีคือส่วนที่สำคัญของเพลงอย่างทำนองจะฟังแล้วเพราะ สมัยนี้ก็มีบางทีมที่ทำแบบนั้น และบางทีมที่แต่งเนื้อ-ทำนองในตัวเอง

แล้วตอนนี้คุณทำแบบไหน – เราถามพี่สาวนักแต่งเพลงตรงหน้า

แอ้ม อัจฉริยา นักแต่งเพลงสาวยุคกามิกาเซ่ สู่ Queen of T-pop ตัวจริงแห่งยุคปัจจุบัน

“พี่ยังทำแบบเก่า แนวคิดที่เราตั้งใจทำในทุกเพลงคือ ทำนองต้องเพราะก่อน ให้เอาไปเล่นเปียโนเปล่า ๆ ได้” เธอตั้งใจตอบ “แต่เราจะสบายกว่าพี่ ๆ ที่แยกกันแต่งทำนอง-เขียนเนื้อนิดหนึ่ง สมมติว่าคำไม่ลงจริง ๆ เราก็แอบขออนุญาตตัวเองว่า เพิ่ม 1 คำได้มั้ยจ๊ะ ได้สิ อนุญาต (หัวเราะ) อีกอย่างคือเราเป็นคนเขียนทำนองขึ้นมาด้วยอารมณ์นี้ เราก็จะรู้ว่าเพลงนี้ควรเล่าเรื่องอะไร มันจะสัมพันธ์กันมากกว่า

“จริง ๆ ชีวิตพี่ไม่มีเรื่องราวอะไรเท่าไหร่เลย วัน ๆ ก็คุยกับแมว ไม่ค่อยมีความเครียด” แอ้มสารภาพขำ ๆ เมื่อเราถามต่อถึงเทคนิคเขียนเนื้อร้อง “แต่พี่ดูชีวิตคนอื่น ดูหนัง ดูซีรีส์ แล้วคิดตาม เราชอบเรื่องจิตวิทยา เลยชอบทำความเข้าใจกับคนอยู่แล้ว เพิ่งมารู้ทีหลังว่าสิ่งที่ชอบมันมีประโยชน์กับงานมาก เพราะทำให้มโนแทนคนอื่นได้ว่า ถ้าอยู่ในสถานการณ์นี้ เราน่าจะรู้สึกแบบนี้ ทำให้เราเขียนเพลงได้สมเหตุสมผลขึ้น

“บางทีเราใช้ความนิเทศศาสตร์แต่งเรื่องขึ้นมา จะต้องตั้งว่าเรากำลังเป็นใคร แล้วก็เขียนบทออกมาเป็นเพลง”

ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตหลอมรวมออกมาให้เธอเป็นเธอทุกวันนี้

5 เพลงที่แอ้มอยากเล่า

01 สลักจิต – ป๊อบ ปองกูล

หลังจากที่ได้ประทับใจกับการทำงานร่วมกับ ป๊อบ ปองกูล ในเพลง ภาพจำ ที่ป๊อบบรีฟเพลงด้วยการเล่าภาพเอ็มวีในหัวว่า ‘พระเอกติดคุก นางเอกอยู่ข้างนอก ใช้ชีวิตไปตามปกติ แล้ววันหนึ่งพระเอกก็แหกคุกออกมา เพราะได้ข่าวว่านางเอกจะแต่งงาน’ เธอก็ได้มาร่วมงานกับศิลปินคนนี้อีกครั้งด้วยความประทับใจ (ความแปลก) ในอีกรูปแบบ

  ‘อยากได้เพลงสีเทา ๆ ตุ่น ๆ’ เป็นบรีฟสั้น ๆ ที่แอ้มได้จากป๊อบในเพลงที่ป๊อบและ ดา เอนโดรฟิน จะกลับมาเจอกันหลังจากที่เพลง ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ ครบรอบ 15 ปี

  “นี่ป๊อบดาเลยนะเว้ย!” แอ้มกดดันตัวเอง อยากให้ผลงานออกมาดีพอที่ศิลปินระดับเทพทั้งสองคนจะร้องด้วยกัน

เมื่อได้ปรึกษากับทีมงานของเพลงนี้ อันประกอบไปด้วย ข้าว Fellow Fellow และ ฉัตรแก้ว สุศิวะ สุดท้ายสีเทา ๆ ตุ่น ๆ ก็ถูกตีความออกมาเป็นอารมณ์ที่ไม่ได้เศร้ามาก แต่รู้สึกผิดนิด ๆ ในสถานการณ์ที่คนเคยเป็นแฟนกันสองคนแอบคิดถึงกัน ทั้ง ๆ ที่มีแฟนใหม่แล้วทั้งคู่ สำหรับเพลง สลักจิต

“มันเป็นบรรยากาศที่น่าสนใจ เป็นเรื่องที่อยู่ลึก ๆ ในใจคน ไม่สามารถพูดออกมาได้ ก็เลยคิดว่านี่แหละคือเทาตุ่น” เธอสรุป

ส่วนชื่อ สลักจิต แปลว่าฝังใจ ซึ่งนักแต่งเพลงสาวคิดขึ้นมาได้ตอนขับรถ เธอบอกว่าชื่อนี้ทั้งเพราะ ทั้งตอบโจทย์ Thai Pop ทั้งทำให้คนสงสัยว่าอะไรคือสลักจิต

“เราเอาชื่อสลักจิตไปใส่ในเว็บว่าได้เลขเท่าไหร่ด้วยนะ” แอ้มเล่ากลั้วหัวเราะ “ได้เลขที่แปลว่าเป็นคนอาภัพในความรัก”

02 สองใจ – ดา เอ็นโดรฟิน

สองใจ เป็นเพลงละครเรื่อง วันทอง สำหรับแอ้มแล้ว นี่คือการรีแบรนด์วันทองใหม่ จากที่ทุกคนใช้คำนี้ด่าผู้หญิงใจง่าย ใจโลเลมาตลอดร้อยปี เธอต้องทำให้คนหันมารักวันทองให้ได้

เดิมทีคนไทยจะรู้จักวันทองผ่านมุมขุนช้างขุนแผน ผ่านมุมของชาวบ้านที่ติฉินนินทา แต่คราวนี้แอ้มเล่าผ่านมุมของวันทอง ให้เหมือนเธอเป็นวันทองมาขอความเห็นใจ

“พอได้รับบรีฟ ประโยคแรกที่คิดขึ้นมาได้ก็คือ ‘ใครจะอยากเป็นคนไม่ดี’ แล้วก็คิดว่า ‘ฉันยอมสองใจเพราะรักเธอ จะเป็นประโยคทองที่เอาไว้ขาย เพราะมันคือเหตุผลของวันทอง เราก็เลยเริ่มจาก 2 ประโยคนี้ก่อน”

สารที่แอ้มจะต้องส่งไปให้ชัดกว่าในละครก็คือ วันทองไม่เคยรักขุนช้างเลย แต่ต้องไปอยู่ด้วยเพราะความจำเป็น เธอจึงใช้ประโยค ‘ยอมให้ใครอีกคนเข้ามา’ เป็นการสื่อสารถึงผู้ฟัง

เมื่อมีเพลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือหานักร้องเสียงไม่หวาน ห้าวแหบให้เหมาะกับคาแรกเตอร์วันทอง 2021 ที่เข้มแข็งมาก เป็นผู้หญิงที่ลุกขึ้นสู้เรื่องสิทธิสตรี ซึ่งโชคดีที่ในที่สุดแล้วก็ได้ ดา เอนโดรฟิน มาร้อง

“เราคิดว่าถ้าคุณดาได้ร้องทำนองที่มีความไทยจะเก๋มาก แต่ในเมื่อเป็นวันทอง 2021 ก็ขอผสมความ R&B เข้าไปในเพลงด้วย” 

03 เฮอร์ไมโอน้อง – อูน TheChanisara

แอ้มเคยทำเพลงประกอบแคมเปญให้ อูน Diamond Grains อยู่แล้ว มาวันหนึ่งอูนก็อยากมีซิงเกิ้ลเป็นของตัวเอง แอ้มจึงคิดหาว่าเพลงแบบไหนกันนะที่จะเหมาะกับสาวนักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้านคนนี้ จะเป็นเพลงให้กำลังใจก็ดูซีเรียสไป ไม่สนุก อูนเลยปิ๊งไอเดียว่า จะทำเพลงสนุก เพราะเธอดีลกับแอปฯ TikTok ไว้ว่าจะลงคอนเทนต์

“ช่วงนี้อินกับเรื่องอะไรบ้าง มีเรื่องอะไรที่อยากเล่าไหม” แอ้มถามอูนผู้เป็นรุ่นน้องคณะเดียวกัน แต่ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ เธอจึงถามต่อ “ผลิตภัณฑ์ที่กำลังทำอยู่เกี่ยวกับอะไร เผื่อจะได้แรงบันดาลใจ”

คราวนี้อูนตอบว่า คอลเลกชันหน้าเธอดีลกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไว้ เพียงเท่านี้ นักแต่งเพลงสาวของเราก็คิดออกทันที

“เฮ้ย! เอาเป็นเฮอร์ไมโอนี่ไหม อยากเป็นเฮอร์ไมโอนี่จะเสกให้พี่มารักแต่หนู น้องอูนเอาเลย!” ด้วยความชื่นชอบ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นทุนเดิม อูนตอบตกลงทันที โดยในเพลงก็ไม่ได้มีแค่เฮอร์ไมไอนี่ แต่ยังมีตัวละครอื่น ๆ จากดิสนีย์มาเสริมทัพด้วย

แอ้มมองว่าอูนเป็นคนที่มักจะส่งต่อแรงบันดาลใจ ส่งต่อพลังงานบวกให้ผู้ติดตาม เธอจึงอยากให้เพลงที่จะทำเป็นเพลงน่ารัก ๆ ฟังง่าย สร้างความบันเทิงให้มหาชน ใคร ๆ ก็ร้องและเต้นตามได้ และมีเนื้อหา ‘คลั่งรัก’ อย่างที่อูนเป็น

จริงอย่างที่แอ้มตั้งเป้าหมายไว้ หลังจากที่ปล่อยออกมา เฮอร์ไมโอน้อง ก็ดังเป็นพลุแตก มหาชนทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่คัฟเวอร์กันทั้ง TikTok แต่ถึงอย่างนั้นก็มีกระแสแง่ลบให้ได้ยิน เรื่องที่เธอแต่งให้เฮอร์ไมโอนี่ใช้เวทมนตร์คาถาที่ไม่ถูกต้องแบบนั้น

“เฮอร์ไมโอนี่ไม่ใช่คนแบบนี้หรอก ถูกต้อง” แอ้มพูดอย่างอารมณ์ดี “แต่เราไม่ได้เขียนว่าเฮอร์ไมโอนี่เป็นคนเสก ถ้าเป็นเฮอร์ไมโอนี่จริง ๆ เขาก็ไม่เสกอยู่แล้ว แต่เราเป็นเฮอร์ไมโอน้องไง ผู้หญิงคนหนึ่งที่เพ้อเจ้อว่าอยากเป็นแม่มด จะได้เสกให้พี่เข้ามาใกล้ ๆ ให้มึนงง มารักเรา”

04 คั่นกู – ไบร์ท วชิรวิชญ์

คั่นกู เป็นเพลงประกอบซีรีส์วายเรื่องดังอย่าง ‘เพราะเราคู่กัน’ 

คั่นกู เป็นคำผวนของคำว่า คู่กัน ซึ่งมาจากชื่อนิยายต้นฉบับ แอ้มใช้คำว่า คั่นกู เป็นชื่อเพลง และหยิบการผวนคำมาเป็นกิมมิกในการแต่งเพลง ให้ฟังดูกลับไปกลับมา ย้อนแย้ง ตรงกันข้าม โดยความวกวนนี้นอกจากจะน่ารัก เล่นกับชื่อเรื่องแล้ว ยังเหมาะกับตัวละคร ‘สารวัตร’ ที่เป็นคนงง ๆ แกล้งไม่รู้เรื่อง ชอบเขาแล้วแกล้งว่าไม่ชอบด้วย

“เพลงนี้อยากใช้วิธีเขียนเป็นการเล่นคำทั้งหมด มีทั้งคำผวน คำคล้องจอง คำซ้ำ คำซ้อน ใช้หลักภาษาไทยทั้งหมดเลย” แอ้มเล่า เราเองก็ชอบเพลงนี้ของเธอเป็นพิเศษ ไม่เคยสังเกตว่าเป็นเพราะอะไร แต่ฟังท่อนไหนก็รู้สึก ‘ว้าว’ แต่ละประโยคดูเหมือนจะเป็นวรรคทองไปเสียหมด แถมยังร้อยเรียงเนื้อหาเข้ากันได้ดีด้วย วันนี้ก็เลยรู้สึกเหมือนได้เฉลยจากผู้แต่งว่า เป็นเพราะความตั้งใจเล่นคำ เล่นความหมาย

“พี่รู้สึกว่าเมื่อก่อนอาจจะมีวรรคทองแค่วรรคเดียวพอ แต่ถ้าเป็นยุคนี้อาจจะต้องมีหลายวรรคหน่อย

“การแต่งประโยคคือทักษะ คล้าย ๆ เราเขียน Copy โฆษณาให้คนจำได้ค่ะ ถ้าไม่เรียนนิเทศอาจจะงง โชคดีที่เราได้เรียน ก็เลยเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ง่ายขึ้น”

นอกจากนี้ คั่นกู ยังพิเศษที่ ‘ความ Scrubb’ ในกลิ่นอาย เนื่องจากในเรื่อง สารวัตรและไทน์ชอบวง Scrubb มาก แอ้มจึงคิดว่า หากสารวัตรจะร้องเพลง ก็น่าจะเป็นเพลงที่ได้รับอิทธิพลมาจากวง Scrubb

ความ Scrubb ที่แอ้มตีความ คือวงดนตรีที่มีความเป็นวัยรุ่นมหาวิทยาลัย จริงใจ แต่มีซาวนด์นิ้งหน่องของวงโยธวาทิตนิด ๆ และบรรยากาศโดยรวมมีความญี่ปุ่น ฟังเพลิน ซึ่งเมื่อทำออกมา แม้แต่ บอล Scrubb เองยังบอกว่า ‘ใช่เลย’

05 ทดลองใช้ – เบิร์ด ธงไชย

อย่างที่เราได้เล่าไปในตอนแรก แอ้มฟังเพลงพี่เบิร์ดมาตั้งแต่ยังเป็นเบบี้แอ้ม เมื่อก่อนเวลามีคนถามว่าอยากร่วมงานกับศิลปินคนไหน ชื่อ พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ก็จะเป็นชื่อแรกที่แอ้มตอบ เมื่อมีโอกาสได้ทำเพลงให้พี่เบิร์ดในครั้งนี้ เธอจึงดีใจมากถึงมากที่สุด

“เมื่อก่อนเคยหวังแค่ว่าจะได้คอรัสพี่เบิร์ดเฉย ๆ แต่ก็ไม่เคยได้ร้องเลย อยู่มาวันหนึ่งได้มาโปรดิวซ์ มันเกินกว่าที่คิดไว้”

สำหรับแอ้ม พี่เบิร์ดเป็นคนที่ร้องเพลงอะไรก็เพราะ แต่เธอไม่รู้ว่าจะเลือกเพลงแบบไหนให้พี่เบิร์ดร้อง ไม่รู้ว่าต้องพยายามเปลี่ยนพี่เบิร์ดหรือคิดว่าอะไรใหม่ ๆ ไหม จนสุดท้ายเธอตัดความคิดมากทั้งหมดไป แล้วย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ‘พี่เบิร์ด’ ในความทรงจำของเธอคืออะไรกันแน่

“เพลงที่เราชอบที่สุดคือ บูมเมอแรง” แอ้มพูดถึงเพลงในวัยเด็ก สมัยที่เธอยังฟังจากเทปเราชอบเพลงที่มันอ้อน ๆ จีบ ๆ หญิง เพลงที่พี่เบิร์ดร้องแล้วยิ้มไปด้วย นี่คือความทรงจำที่เราต้องการจะเห็นอีกครั้งหนึ่ง”

ในที่สุดก็ได้ออกมาเป็นเพลง ทดลองใช้

ทดลองใช้ในที่นี้ หมายถึงการที่ชายหนุ่มในเพลงจะมาเสนอขายตัวเอง ว่าผมมีความรักที่ดีให้ พร้อมมีโปรโมชันมาแนะนำ

‘สวัสดีครับ เรามีสิ่งดีแนะนำคุณ หวังไว้ว่าคุณนั้นสนใจ…’

กิมมิกของเพลงนี้คือ ใช้ศัพท์เกี่ยวกับการค้าขายทั้งหมดเลยค่ะ” แอ้มเล่าอย่างภูมิใจ เธอมีความสุขมากที่ได้ร่วมงานกับพี่เบิร์ดที่ทั้งน่ารักและตั้งใจทำงาน

พี่เขาคือคนที่เกิดมาเพื่อเป็นซูเปอร์สตาร์จริง ๆ ตั้งแต่ Mindset เลยค่ะ”

The New Black

หลังจากพูดถึงเพลงน่าเล่าทั้ง 5 เพลงไปแล้ว เราก็ถือโอกาสนี้ชวนคุยถึงเทรนด์เพลงไทยในยุคนี้กันต่อเสียหน่อย

ช่วงก่อนหน้านี้เพลงแรปมาแรง” เธอเล่าย้อน “คนไทยชอบฟังเพลงแรป เพราะมี Movement เยอะ ฟังแล้วจะรู้สึกว่าได้ยินเนื้อที่ไม่ซ้ำกันเลยเยอะกว่า ถ้าชอบความสนุกในการฟังเนื้อ ได้คิดตามเยอะ ๆ ก็จะชอบฟังเพลงแรป”

ถ้ายังจำกันได้ ราว 3 – 4 ปีก่อน รายการ The Rapper ดังมากเสียจนเพลงแรปได้รับความสนใจจากวงกว้างอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน กระแสนั้นนอกจากทำให้วงการแรปเปอร์เคลื่อนตัวแล้ว ยังส่งอิทธิพลกับเพลงแนวอื่น ๆ ในไทยด้วย

“การแรปเริ่มจากการเข้ามา Featuring ทำให้เพลงสนุกขึ้นในแต่ละเพลงใช่ไหมคะ แต่ตอนนี้ความสนุกที่เคยเป็นเนื้อแรปนั้น เริ่มเข้ามาเป็นเนื้อเพลงแล้ว ทำให้เพลงในยุคปัจจุบันครีเอตมากขึ้น”

ในด้านเนื้อหาก็เช่นกัน แอ้มบอกว่าเมื่อก่อนมักจะได้โจทย์เป็นเพลงรัก ไม่ค่อยมีเรื่องอื่น ๆ แต่พอมีกระแสเพลงแรปที่เล่าเรื่องอะไรก็ได้ ส่วนตัวเธอจึงคิดว่ามันส่งผลกับเพลงป๊อป ทำให้พูดเรื่องอื่นในเพลงได้มากขึ้น

เราถามต่อถึงเพลงที่นำวลีฮิตมาแต่งใน TikTok ซึ่งหลายคนมองว่าอยู่ได้ไม่นาน ฉาบฉวย ว่าเธอมีความเห็นยังไงบ้าง

“อืม… พี่คิดว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของงานศิลปะ เหมือน Pop-Art ที่มันจะอยู่ในช่วงนั้น ๆ” เธอค่อย ๆ ตอบ “สมมติว่าตอนนี้มีคนเอาคำว่า เกินปุยมุ้ย ไปเขียนเพลง อีก 5 ปีอาจจะไม่ฟังแล้ว เพราะว่าคนเลิกพูดกัน แต่ถ้ากลับมาฟัง เราก็จะนึกได้ว่าเมื่อก่อนคำนี้ฮิตมากเลยนะเว้ย ต่อไปก็เล่าให้ลูกหลานฟังได้”

แอ้มมองว่าความสนุกเป็นฟังก์ชันหนึ่งที่สำคัญ แม้เพลงนั้นจะไม่ได้อยู่ไปยาวนาน ไม่ได้รางวัล แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์

พี่ไม่ค่อยติดอะไรกับสิ่งที่มันฮิตเลย ใครอยากทำอะไรก็ทำ ชอบก็ฟัง ไม่ชอบก็ข้าม รู้สึกแบบนั้นเลย แล้วก็เราเป็นคนสนุกง่ายไง เห็นคนเขาเต้นกันก็ไม่ได้รู้สึกหมั่นไส้อะไรนะ มันเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งค่ะ”

ถึงตรงนี้ เรานึกไปถึงช่วงที่เราเริ่มฟังเพลง ช่วงปี 2010 ที่แอ้มเริ่มทำเพลง อยากรู้ว่าถ้าเพลงกามิกาเซ่เหล่านั้นมาอยู่ในยุคนี้บ้าง เธอว่าจะเกิดรึเปล่านะ

“พี่ว่าดัง” นักแต่งเพลงสาวผู้อยู่มา 2 ยุคตอบอย่างไม่ลังเล “เคยโดนเหยียดนะว่าภาษาไม่สละสลวย ดนตรีมีเสียงสังเคราะห์เยอะ พี่ว่าสไตล์มันใหม่ไปสำหรับตอนนั้น มันขัดกับเพลงป๊อปในตลาด แต่ ณ ปัจจุบันนี้ การร้องแบบนั้นมันมีให้เราได้ยินเยอะมาก มาอยู่ตอนนี้มันใช่เลยนะ

“ตอนนี้กามิกาเซ่ครองบ้านเราประมาณหนึ่งเลย น้อง ๆ ที่โตมากับยุคนั้นกลายเป็นคนบรีฟงานแล้วค่ะ” เธอหัวเราะอารมณ์ดี “ก็เลยไม่โดนเหยียดแล้วค่ะ กลายเป็นเก๋ที่เคยอยู่กามิกาเซ่”

ในขณะเดียวกัน คนฟังเพลงอย่างเราจากเคยเขิน ๆ ที่ฟังเพลงกามิกาเซ่ ก็กลายเป็นรู้สึกเก๋เช่นกัน (จริง ๆ ก็เก๋ตั้งแต่แรกแล้วล่ะ)

การงานอาชีพและความสุนทรี

“ตอนนี้รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไปนะ” จากเรื่องเทรนด์ เราเปลี่ยนมาคุยเรื่องมุมมองต่ออาชีพนักแต่งเพลงบ้าง “เมื่อก่อนคนที่เข้ามาเป็นเบื้องหลังแล้วจะมีจำนวนค่อนข้างจำกัด เพราะว่าเพลงต้องปล่อยจากค่ายใหญ่เท่านั้น แต่ว่าปัจจุบันนี้มันอิสระมากขึ้น มีพื้นที่ที่ให้ทุกคนทำเพลงได้ เป็นตลาดเสรี

“สำหรับตัวเอง เรารักอาชีพนี้มากขึ้น เพราะเป็นอาชีพที่ทำแล้วรู้สึกว่านี่เป็นตัวตนของเรามาก ๆ เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ และทำงานที่ไหนก็ได้ ถ้าต้องไปห้องอัดเราก็อยู่กันเป็นกลุ่มคนน้อย ๆ ที่คุยภาษาเดียวกัน เป็นอาชีพที่เหมาะกับเรามากเลย”

รู้สึกยังไงบ้างที่ทุกวันนี้ ‘แอ้ม อัจฉริยา’ เป็นที่ชื่นชมของใครหลาย ๆ คน – เราถามในฐานะหนึ่งในคนเหล่านั้น

“กดดันเหมือนกันนะ กลัวโดนจับผิดในทวิตเตอร์ เพลงแบบนี้ดูง่ายไป ดูไม่ใช่เพลงพี่แอ้ม กลัวคนที่เขาคาดหวังจะผิดหวังอะค่ะ” เธอพูดยิ้ม ๆ “แต่เราก็ขอบคุณมาก ๆ และอยากบอกว่ารู้สึกดีใจที่มีคนจำนวนหนึ่งชอบงานของเรา มีคนเคยมาบอกว่า ‘หนูขอบคุณพี่มากที่ทำให้หนูมีความสุขในการฟังเพลง’ อะไรแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราใจฟูมาก

“ตอนเด็ก ๆ เคยรู้สึกว่าถ้าเราตายไปโดยที่ไม่ทำอะไรเลย มันจะนอยด์ ๆ รึเปล่าวะ แต่ว่าตอนนี้รู้สึกว่า ตายได้อย่างไม่ติดค้าง ชาตินี้เราได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นไว้แล้ว”

เรานั่งฟังเธอพูดอย่างตั้งใจ กว่า 2 ชั่วโมงที่ได้ฟังเธอเล่า เรารู้สึกดีใจด้วยจริง ๆ ที่ใครสักคนจะได้ทำอาชีพที่ตัวเองรักและภูมิใจขนาดนี้ “อยากให้ทุกคนมีความสุขกับการฟังเพลง ตอนนี้เพลงในโลกมีหลากหลายมาก เราเลือกฟังที่ชอบได้เลย อยากให้มองมันเป็นความสุข แล้วก็ไม่เหยียดกันและกัน สังคมของการฟังเพลงจะได้ไปไกลกว่านี้ค่ะ”

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล