สามีอยากมีบ้านเล็ก!
ฮีบอกว่าอายุเราก็ไม่ใช่น้อยๆ แล้ว น่าจะเข้าใจ อีกหน่อยพอลูกโต อยู่กันไปแบบเดิมก็ไม่มีประโยชน์
เตรียมทำใจเสียนะ เพราะฮีตั้งใจจะให้บ้านเล็กบ้านใหญ่อยู่ด้วยกัน กะจะให้เห็นตำตา แค่เงยหน้ามองออกไปนอกหน้าต่าง!
เลยตอบฮีไปว่า เอาเลย… อยากได้ก็เอาเลย! แต่ขออย่างเดียว เอาให้ได้แบบนี้นะ

โถๆๆๆ ตกใจหมดเลย นึกว่าต้องเล่นเกมสายลับจับบ้านเล็กกันซะแล้ว
‘บ้านเล็ก’ ที่อุ้มจะมาเล่าให้ฟังวันนี้ ไม่ใช่ Tiny House ที่เคยเขียนถึงเมื่อนานแล้วนะคะ แต่เป็นสิ่งไม่มีชีวิตที่เรียกว่า Accessory Dwelling Unit หรือ ADU ที่สร้างงอกขึ้นมาบนที่ดินผืนเดียวกับบ้านหลังใหญ่ที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งวันดีคืนดีก็ผุดขึ้นทั่วไปในพอร์ตแลนด์ราวกับเห็ดโคนในป่าหน้าฝน มีตั้งแต่หน้าตาบ้านๆ เลิกงานมาสร้างกันเอง ไปจนกระทั่งรูปหล่อเฟี้ยวฟ้าว ที่แน่นอนว่าสาวแก่อย่างเราอยากจะเอามาเชยชม เอ๊ย ชมเชยให้อ่านกัน



อันว่าบ้านอื่นเมืองอื่น เขาอาจจะเรียกบ้านน้อยแบบนี้ว่า Granny Flat, Mother-In-Law Unit, Carriage House หรือ Backyard Cottage อะไรก็ว่ากันไป แต่เข้าใจตรงกันง่ายๆ ก็คือ บ้านเล็กที่ปลูกอยู่หลังบ้านใหญ่ นั่นเอง
ทำไมอยู่ดีๆ ADU ก็ฮิตขึ้นมา
คำตอบแบบวิชาการหน่อยก็คือ คนย้ายเข้ามาอยู่พอร์ตแลนด์กันคึ่ก แล้วคนเหล่านี้ไม่ได้หลับนอนบนต้นไม้ ก็ต้องการมีบ้านอยู่ใช่ไหมคะ แต่ปัญหาคือที่ดินมันไม่ได้กดปุ่มแล้วงอกออกมา จะเอาขยะไปถมทะเลเหมือนโอไดบะ เมืองก็ดั๊นไม่อยู่ติดทะเลเสียอีก เพราะฉะนั้น เทศบาลเมืองหันไปหันมา ก็เลยคิดได้ว่า เราจะต้องเน้น High Density! คือที่ดินเดิมนี่แหละจ้า แต่ว่าแทนที่จะสร้างบ้านหลังโตๆ อยู่กันครอบครัวเดียว สร้างเป็นบ้านแฝดเป็นตึกอพาร์ตเมนต์เตี้ยๆ แทนละกันนะ
หันขวับมามองบ้านที่สร้างกันอยู่แล้ว อ๊ะ มีที่เหลือนี่นา มาสร้างบ้านหลังเล็กๆ แทรกลงไปกันเถอะ เทศบาลเมืองขอโชว์ป๋าด้วยการไม่เก็บค่าขออนุญาตและค่าโน่นนี่จิปาถะ ประหยัดไปได้ตั้งสี่ซ้าห้าแสนบาท คนก็ตื่นเต้นกันสิคะ จากที่เคยมีบ้านเล็กแบบนี้สร้างปีละ 20 หลัง ปีที่แล้วสร้างกันไป 800! คือกลายเป็นที่ปล่อยของให้สถาปนิกแถวนี้ขึ้นมาเสียเฉยๆ
แล้วทำไมคนถึงอยากสร้างบ้านเล็กกันนะ คงไม่ใช่แค่เพราะประหยัดค่าใบอนุญาตหรอกจริงไหม ของแบบนี้มันต้องมีอุปสงค์ มีความต้องการ เพราะบ้านเล็กที่เห็นสร้างๆ กันนี่ ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่หลังละประมาณ 5 – 6 ล้านบาท จะมาสร้างกันขำๆ คงไม่ใช่แน่
หลักๆ เลยอุ้มคิดว่าเพราะบ้านที่มีอยู่เดิมมันไม่ตอบโจทย์! จะเป็นโจทย์เรื่องรูปแบบการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป เช่น ต้องการพื้นที่เพิ่ม (ลูกเป็นวัยรุ่นอยากมีบ้านแยกออกมา หรืออยากให้พ่อแม่ย้ายมาอยู่ด้วยกัน แต่ยังมีที่ทางส่วนตัว หรืออยากสร้างห้องชงชา สตูดิโอโยคะ โฮมออฟฟิศ) หรือต้องการพื้นที่น้อยลง (ลูกโตแล้วเหลือกันแค่สองคน) บางคนอยากสร้างรายได้ด้วยการให้เช่าหรือทำ Airbnb บางคนสร้างบ้านเล็กเสร็จ ตัวเองย้ายไปอยู่ในนั้นแล้วให้เช่าบ้านใหญ่ มีรายได้พอมาผ่อนทั้งบ้านใหญ่บ้านเล็กเลยก็มี
จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม อุ้มเห็นใครมีบ้านเล็กก็ชอบกันทั้งนั้น อุ้มกับสมคิดเองยังถึงกับคุยว่าเราจะสร้างสักหลังอยู่กันสองตายาย แทนที่จะต้องทุบต่อเติมบ้านเก่า แล้วอยู่กินกับคนงานก่อสร้างและฝุ่นและเสียงเป็นเวลาร่วมปี หรือต้องไปเช่าบ้านอื่นอยู่ระหว่างรีโนเวต สู้สร้าง ADU แล้วยังอยู่บ้านเดิมไปจนกว่าบ้านเล็กจะเสร็จพร้อมย้ายเข้าไม่ดีกว่าหรือ


แล้วในพอร์ตแลนด์เนี่ย ก็มีข้อกำหนดว่า ADU ห้ามใหญ่ สร้างได้ไม่เกิน 74 ตารางเมตร หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ของบ้านใหญ่ (คือเป็น Accessory Unit จะมาใหญ่แข่งกันทำไมใช่ไหม) และจะสูงได้แค่ไม่เกิน 6 เมตร การออกแบบก็เลยเป็นเรื่องจำเป็นและสนุกขึ้นมา เพราะต้องบรรจุทุกอย่างลงไปในพื้นที่จำกัด แต่ตราบใดที่สร้างเป็นชั้นเดียว ไม่มีข้อบังคับเรื่องหน้าตาว่าต้องดูมางานเดียวกันกับบ้านใหญ่ เพราะฉะนั้น จะออกแบบให้หรูหราเรียบกริบอาวองการ์ดอะไร ก็แล้วแต่ความใจถึงและงบประมาณของเจ้าของนั่นแล
อุ้มไปคุยกับสถาปนิกสามีภรรยาที่มีงานดีๆ ออกมาหลายชิ้น ชื่อ Doug Skidmore กับ Heidi Beebe เขาบอกว่า การสร้าง ADU แยกออกมาจากตัวบ้านใหญ่นั้น เอาเข้าจริงถูกกว่าต่อเติมบ้านเก่าเสียอีก เพราะการทำงานง่ายกว่า ทุกคนรู้ว่าจะสร้างอะไรยังไง ในขณะที่การปรับปรุงบ้านเก่า จะต้องจิตแข็งนิดหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่าทุบโพละออกมาแล้วจะเจอปัญหาอะไรให้ต้องแก้ไขบ้าง
ดั๊ก (เขียนเป็นไทยแล้วดูแปลกพิกล) แนะนำว่าใครอยากจะสร้างบ้านเล็ก นอกจากต้องรู้ความต้องการที่ชัดเจนแล้วว่าสร้างไปทำไม ต้องใช้อะไรตรงไหน ก็ควรจะคิดถึง Visual Connection หรือวิวที่เราจะเห็นตอนมองออกไปข้างนอก และหน้าตาของบ้านตอนที่คนมองเข้ามาด้วย เพราะสถาปัตยกรรมที่ดี ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็ควรช่วยยกระดับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวมัน คือสร้างบ้านสวยก็เป็นบุญเป็นกุศลให้คนแถวนั้นได้มีอะไรเจริญหูเจริญตา ใครผ่านไปมาก็แซ่ซ้องสรรเสริญ ไม่ใช่สร้างเสร็จไปตำตาบังวิวเพื่อนบ้าน จนเขาอยากเผาพริกเผาเกลือแช่งเช้าเย็น
แต่ทีนี้หน้าตาดีมันก็เป็นเรื่องแอบปัจเจกอยู่อีกเหมือนกัน จริงไหมคะ สวยของฉันกับสวยของคุณป้านุ้ยบ้านฝั่งตรงข้ามก็อาจจะเหมือนดูทีวีคนละช่อง ทีนี้จะทำยังไงให้เราสุขใจและคนไม่ชิงชัง ไฮดี้บอกว่า ก่อนอื่นมองไปรอบๆ แถวนั้น มองชัดๆ เก็บรายละเอียด แล้วมองหาว่าอะไรคือจุดเด่นของย่าน อุ้มบอกว่า อุ๊ต๊ะ อยากจองตั๋วเรือบินให้มาดูกับตาถึงกรุงเทพฯ ด้วยว่ามันคนละทิศคนละทางเหลือหลาย ใครใคร่สร้างสร้าง หาได้มีจุดแข็งร่วมกันอย่างที่เธออยากให้มีไม่
ไฮดี้หัวเราะแล้วบอกว่ามันต้องมีสิ มองดีๆ ทีแรกอาจจะดูเลอะเทอะ แต่มองไปนานๆ อาจจะเห็นความมีระบบอะไรบางอย่าง อาจจะเป็นโทนสี อาจจะเป็นวัสดุบางอย่าง ลองดูสองรูปนี้ก็ได้ แล้วบอกหน่อยว่ามีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง


บ้าเหรอตัว! ถามว่ามีอะไรเหมือนกันบ้างยังหาไม่เจอเลย แต่คำตอบคือ ฐานรากและไม้ระแนงที่ตีบนผนังด้านนอกค่ะ เพราะมันคือบ้านเดียวกัน! (บ้านเพื่อนอุ้มเอง ดั๊กกับไฮดี้ออกแบบ) รูปซ้ายคือก่อนทุบ รูปขวาคือบ้านที่สร้างใหม่ ได้รางวัลเยอะแยะเลยด้วย อันนี้ไม่ใช่ ADU แต่อยากให้ดูว่าบ้านพอร์ตแลนด์ใช้ไม้ระแนงแบบนี้กันทุกบ้าน แต่แค่จับกลับมาตีเป็นแนวตั้ง ย้อมสีเสียใหม่ ก็ดูต่างไปแต่ยังเป็นเรื่องเดียวกัน
ไฮดี้ยังบอกอีกว่า ถ้าใจถึง บอกว่าไหนๆ จะสร้างทั้งที ทำอะไรให้มันตื่นเต้นหน่อยได้ไหม ได้! ทำให้ตรงกันข้ามไปเลยสิ เช่น ถ้าแถวนั้นบ้านเป็นโทนสีน้ำตาลๆ กันหมด สร้างบ้านเล็กสีฟ้าไปเลยงี้ บางทีการที่ไม่มีอะไรโดดเด่น อาจเป็นโอกาสให้ทำสิ่งใหม่ที่น่าสนใจได้ด้วยซ้ำ ดีไม่ดีอาจจะกลายเป็นสไตล์ New Thai Modern ขึ้นมาเสียอีก
ก่อนจากกัน เลยจะเอา ADU สวยๆ หล่อๆ จากทั่วโลกมาให้ดูเป็นแรงบันดาลใจกันค่ะ อ้อ เกือบลืมบอกว่า ข้อดีอีกอย่างของ ADU ก็คือดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะใช้วัสดุก่อสร้างเท่าที่จำเป็นและมีเศษเหลือทิ้งน้อยกว่า โอเค อาทิตย์หน้านัดสถาปนิกเลย!

