เงิน 2,000 บาท
กับไร่กาแฟที่ทำมาตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นพ่อ แต่ถูกกดราคามาตลอด 30 ปี เพราะพูดภาษาไทยไม่ได้
เชื่อหรือไม่ว่า 2 สิ่งด้านบน คือสารตั้งต้นที่ทำให้ ABONZO Coffee อาณาจักรกาแฟของชาวอาข่าเติบโตและยิ่งใหญ่ ขยายกิจการจากดอยสู่ดิน คืนกำไรทุกอย่างภายใน 7 เดือน และกำลังขยายผลไปสู่การผลิตคนรุ่นใหม่มาช่วยกันส่งเสริมวงการ
หากวันนี้ไม่ได้มาสนทนากับ ภัทร-ภัทรชัย มงคลกุลผ่องใส หนุ่มอาข่าเจ้าของกิจการ คงไม่อาจรู้ได้เลยว่า ABONZO Paradise ปลายทางแห่งดอยช้าง จังหวัดเชียงราย ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวตลอดปี คือผลลัพธ์ทางธุรกิจจากน้ำพักน้ำแรงที่ใช้ต่อสู้กับทัศนคติ ภาษา และความเหลื่อมล้ำที่ชาวไทยบนยอดดอยต้องเผชิญ
เราจับเข่าคุยกับเขาท่ามกลางความงามของธรรมชาติที่ประเมินค่าไม่ได้ ไถ่ถามความเป็นไปจนได้ทราบว่า
คนใหญ่ คนเล็ก ฝันใหญ่ ฝันเล็ก ไม่สำคัญ สำคัญว่าคุณกล้าลงมือทำหรือไม่ เพราะชายคนนี้ลงมือทำอย่างฉับไว เผื่อแผ่กำไรชีวิตให้คนรอบข้าง ธุรกิจที่ไม่เห็นแก่ได้ แต่เห็นแก่ให้ จึงถือกำเนิดขึ้น

Fortune favors the prepared mind
ตั้งต้นจากไร่ของปู่และความพยายามของตน
อะบ๊อ ภาษาอาข่า แปลว่า ปู่, โซ คือชื่อคุณปู่ของภัทร
รวมกันคือ ปู่โซ สมาชิกครอบครัวรุ่นแรกที่เปลี่ยนพื้นที่ปลูกฝิ่นเป็นการปลูกกาแฟตามคำแนะนำของรัฐบาล แต่หลังจากได้รับเมล็ดพันธุ์ เกษตรกรกลับต้องหาช่องทางไปต่อเอง ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับชาวอาข่าที่พูดภาษาไทยไม่ได้ เพราะพวกเขาไม่รู้แหล่งขาย บางครั้งแบกกาแฟไปถึงเชียงใหม่กลับถูกพ่อค้าคนกลางหาเรื่องกดราคา แบกกลับมาก็ไม่คุ้ม จึงจำใจรับเงินอันน้อยนิดมา
วงการช่วงนั้นยังไม่เฟื่องฟู ช่วงหนึ่งครอบครัวรู้สึกท้อจึงกลับไปทำไร่แบบเดิมอีก กระทั่งกาแฟดอยช้างโด่งดัง พวกเขาจึงได้โอกาสส่งผลผลิตให้หลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือ พี่อ๋า-ศุภชัย ศรีวิตตาภรณ์ เจ้าของ Bluekoff
ชีวิตเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากการสื่อสาร ทายาทรุ่นสามอย่างภัทรกลับกลายเป็นรุ่นแรกที่ได้เรียนภาษาไทย เพื่อเชื่อมคนเมืองกับคนดอยเข้าด้วยกัน รวมถึงต่อยอดธุรกิจให้ครบวงจรยิ่งขึ้น ทั้งพัฒนา แปรรูป และทำการตลาด ซึ่งหากไม่ทำ เขาบอกว่า น่าจะอยู่ยาก
“ค่าปุ๋ยปีนี้กระโดดขึ้นมา 100 เปอร์เซ็นต์ เราใช้วิธีออร์แกนิกคือตัดหญ้า ไม่ใช้ยา ค่าใช้จ่ายเพิ่มมา 200 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยคนหนึ่งได้เงินแค่ 1,000 – 2,000 บาท ต่อเดือน พาร์ตที่ทำงานหนักที่สุดและได้เงินน้อยที่สุดคือเกษตรกร ดังนั้นจึงต้องเพิ่มมูลค่าให้ได้”

สิ่งสำคัญต่อมาคือ องค์ความรู้ ส่วนสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ความพยายาม
การไม่มีรองเท้าใส่ถือเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับฤดูหนาวที่เย็นถึงขั้วกระดูกในบ้านไม้ไผ่ไร้ผ้าห่ม ทั้งวันต้องเผชิญกับความหิวที่ไม่มีสิทธิ์คิดว่ามื้อต่อไปอยากกินอะไร ภัทรไม่กล้าฝันไปไกลกว่านั้น
โรงเรียนบนดอยช้างมีถึงแค่ ป.6 นักเรียน 300 คน ครู 1 คน ภัทรยังพูดภาษาไทยไม่ได้ เขาต้องออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 12 ปี ไปสร้างกระต๊อบอยู่เองคนเดียวที่เทอดไทย เพื่อเข้าถึงการศึกษาขั้นต่อไป โดยมุ่งเน้นภาษาจีนแทน เพราะพ่อแม่หวังให้ไปทำงานที่ไต้หวัน ค่อยส่งเงินกลับบ้าน
แต่ก่อนถึงจุดนั้น เงินเรียนทุกบาททุกสตางค์ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรงจากการแบกหามทุกวันที่มีเวลาว่าง เขาบอกตนเองไม่ใช่คนเก่ง แต่เป็นคนที่ไม่มีทางเลือก
วันแล้ววันเล่าผ่านไป พร้อมความคิดว่า จะไม่ยอมยากจน แต่จะทำอย่างไรให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น
ชีวิตของเขาระหกระเหินจากชายแดนที่เต็มไปด้วยยาเสพติดและการถูกทำร้าย สู่การเรียนพระคัมภีร์ในโบสถ์อเมริกันที่กรุงเทพฯ ตอนอายุ 18 ปี เรียนจบปริญญาโท เกือบตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เมืองกรุง แต่พระคัมภีร์ท่อนหนึ่งหวนให้เขานึกถึงชาวอาข่าที่กำลังลำบากบนดอย
ภัทรในวัย 30 ไร้เงินเก็บ ตัดสินใจกำเงิน 2,000 บาทสุดท้ายกลับบ้าน เพื่อเปลี่ยนชีวิตตนเองและพวกพ้องให้ดีกว่าเก่า
ปีแรกของว่าที่นักธุรกิจ เริ่มจากการรับจ้างเก็บกาแฟในไร่
ปีที่สองรับซื้อกาแฟข้างถนนให้กับพี่ที่รู้จักคนหนึ่ง ใช้แรงกายในการแบกหามผลผลิตกว่า 5,000 กิโลกรัม
ปีที่สามขอพี่คนเดิมแปรรูป ทั้งที่ตนทำไม่เป็น ก่ออิฐไม่ถูกจนเตาแตกจากแรงดัน เมล็ดกาแฟตกพื้น ต้องไล่เก็บทีละเม็ด เพราะไม่มีเงินชดใช้ค่าเสียหาย

เมื่อเก็บประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ ภัทรเห็นว่าการขายกาแฟในประเทศไทยเป็นเรื่องยาก จึงเริ่มต้นที่ต่างประเทศแทน การเรียนพระคัมภีร์ทำให้เขาได้ภาษาอังกฤษ จึงหอบผลิตภัณฑ์ไปขายฝันถึงอเมริกา ได้ออเดอร์แรกเต็ม 2 ตู้คอนเทนเนอร์ หนักประมาณ 40 ตัน แต่ความตื่นเต้นอยู่ที่เขาไม่มีทั้งกาแฟและโรงแปรรูป สุดท้ายจากมิตรไมตรีที่เคยสร้างจึงได้โรงคั่วเก่ามาเป็นตัวช่วย และมีชาวบ้านมาเป็นกำลังหลักทำให้ภารกิจแรกสำเร็จด้วยดี
ธุรกิจของเขาเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ชาวต่างชาติสนใจอยากบินมาดูกิจการ
ABONZO ที่ไร้ตัวตนจำต้องหาฐานที่มั่น ภัทรเริ่มหาทำเลตั้งโรงแปรรูปอย่างจริงจัง ซึ่งร้านสุดคลาสสิกพร้อมโรงคั่วของเขายังตั้งอยู่ด้านล่าง จากนั้นจึงขยับขยายเปลี่ยนไร่กาแฟเป็นร้าน ABONZO Paradise ในปัจจุบัน ก่อนขยายสาขาลงไปสู่ตัวเมืองเชียงราย และกำลังมีแผนเปิดที่กรุงเทพฯ ในอนาคต
“อุปสรรคในการเปิดร้านมีแน่นอน แต่ผมไม่ได้บอก เพราะมันไม่เยอะเท่าสิ่งที่ผมเจอตอนเด็ก เหมือนพระเจ้าเตรียมผมไว้ให้พร้อมรับความกดดันและการเติบโต”
ABONZO Paradise
เบื้องหลังสรวงสวรรค์บนดอยช้าง
ABONZO = อาข่า
นิยามอันยิ่งใหญ่ที่แม้กิจการจะเดินทางมาไกล แต่ก็ยังไม่ลืมต้นกำเนิด แม้จะมีบางช่วงที่ อารุ แยซอกุ อายว่าตนเป็นชาวอาข่า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ภัทรชัย มงคลกุลผ่องใส แต่สุดท้ายความภูมิใจในเรื่องนี้ก็ถูกใส่ไว้ในไบเบิลการทำธุรกิจของเขา โดยเฉพาะการตั้งชื่อและการออกแบบ
โลโก้แบรนด์เป็นลายภูเขา สะท้อนถึงชนเผ่าบนดอย ชื่อที่พัก ARUTO Village มาจากชื่อเดิมของภัทร และการตกแต่งสิ่งปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่ก็ได้แรงบันดาลใจจากบ้านยุคเก่าที่เขาเคยต้องทนหนาว

การแสดงออกถึงความเป็นอาข่าถือเป็นการเล่าเรื่องเพื่อการตลาดส่วนหนึ่ง แต่ภัทรเชื่อว่าหากทำการตลาดจากเรื่องเล่า แต่คุณภาพกาแฟไปไม่ถึง คนจะซื้อด้วยความสงสารเพียงครั้งเดียว ดังนั้น กาแฟจึงต้องพัฒนา เมื่อพัฒนาแล้วผลผลิตจะทำให้เขาโด่งดัง ทั้งยังเล่าเรื่องได้มากกว่า
ส่วนองค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจของเขา อย่างแรกที่ถูกบอกเล่าคือ ‘จินตนาการ’
“ผมเรียนไม่เก่ง ถูกกลั่นแกล้งเลยไปอยู่หลังห้อง มีเพียงศิลปะวิชาเดียวที่ชอบ ผมได้ใช้ทักษะนี้ตอนทำกาแฟ เพราะกาแฟเป็นเรื่องของศิลปะและการออกแบบ สถานที่ทั้งหมดผมออกแบบเองและช่วยกันทำ”
สิ่งที่สองคาบเกี่ยวกับสิ่งแรกคือ ‘การทำแบรนดิ้ง’ แต่ในอีกทางต้องรู้จักปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ภัทรออกแบบร้านกาแฟในเมืองให้เข้าตาวัยรุ่น ขณะที่บนดอยต้อนรับผู้ใหญ่
สิ่งที่สามคือ ‘ความไม่กลัวที่จะลงทุน’ เพราะเมื่อสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนไว เขาต้องคิดให้ไวเช่นกัน เงินที่ได้จึงไม่เคยถูกเก็บ แต่ถูกนำไปลงทุนต่อ เขาไม่ซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็นหรือทำเงินให้ไม่ได้
ยกตัวอย่าง การลงทุนสร้างร้านใหม่บนดอยช้าง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าด้านล่าง 2 เท่า ภัทรลงทุนไปราว 20 ล้านบาท ใช้เวลาคิดเพียง 2 สัปดาห์ ด้วยตอนนั้นมีคู่แข่งทางการตลาดและคาเฟ่เพิ่มขึ้น ลูกค้าต้องการขึ้นดอยเพื่อชมวิวและสูดอากาศบริสุทธิ์ หากไม่ขึ้นมาเปิดบนทำเลใหม่ที่สูงและสวยกว่าเก่า ลูกค้าย่อมหาย
“สิ่งที่ยากที่สุดคือการทิ้งสิ่งที่เราลงทุนมา จะขยับทีหนึ่งต้องกล้าและต้องไวในเวลาที่เหมาะสม ผมเปิดร้านนี้ในช่วง High Season พอดี พฤศจิกายนปีที่แล้ว แค่ 5 – 6 เดือน เราคืนทุน”
เราถามเขากลับว่า มีการคำนวณเพื่อดูความเป็นไปได้ของการลงทุนบ้างไหม
“สมมติรายได้ที่พักคืนละ 35,000 รายได้จากร้านกาแฟ ซื้อของฝาก อาหาร 40,000 – 50,000 บาท ช่วงฤดูท่องเที่ยวตีไปวันละแสน คำนวณแค่นี้ พอเอาเข้าจริง ๆ ไม่ได้เหวี่ยงมาก บางทีเกินกว่าที่คิดไว้”
เขาเล่าต่อถึงการทำที่พัก ARUTO Village ซึ่งแรกเริ่มไม่ได้ตั้งใจสร้างเพื่อเอากำไร หากแต่เป็นการเอาคอนเนกชันเพื่อต่อยอดธุรกิจ
“ผมเรียนรู้หลายอย่างจากคนที่มาพักซึ่งเป็นเจ้าของกิจการ หลายคนมีบ้านพักตากอากาศที่ไปแค่ปีละครั้งสองครั้ง
“เราสงสัยว่าบ้านทั้งสวยทั้งใหญ่โต ทำไมไปแค่ไม่กี่ครั้ง แต่คนกลุ่มนี้คิดอีกแบบ เขาชวนลูกค้าที่ต้องการร่วมธุรกิจไปพัก กินอิ่ม หลับสบาย เสร็จแล้วดีลงาน จบงาน แค่งานเดียวก็คืนทุนทั้งหมดที่ลงไปกับบ้านพักตากอากาศ”


ภัทรจึงคิดเช่นกันว่า การสร้างที่พักของเขา แม้จะขายไม่ได้ก็เป็นไร เพราะถือเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ของเขาเอง นอกจากนี้เขายังมองว่า กาแฟและที่พักคือเรื่องเดียวกัน เพราะคนที่ชอบกาแฟมาพักเพื่อศึกษาเรื่องนี้ได้ เรียกว่าเป็นการส่งเสริมกิจการในเครืออย่างสมบูรณ์
Pass coffee on to the next generation
จิบจากรุ่นสู่รุ่น
อีกหนึ่งสถานที่ใหม่ ABONZO Tokyo กำลังจะเปิดใกล้ 2 มหาวิทยาลัย บนพื้นที่ 13 ไร่ ขยายความเป็นไปได้สู่วงการชาและโกโก้ แต่เหตุผลที่ยิ่งใหญ่กว่าการขยายกิจการคือ การสร้างสถานศึกษาเพื่อผลิตนักธุรกิจชาวดอยที่ช่วยสานต่อการพัฒนาชุมชน
ภัทรในวัย 39 บอกว่า มีเกิดย่อมมีตาย แต่เราจะตายในอีกกี่ปี สิ่งที่ยั่งยืนจึงเป็นองค์ความรู้ของนักธุรกิจที่มีอุดมการณ์และความเข้าใจ โดย ABONZO Tokyo จะรับเด็กมหาวิทยาลัย 12 คน มาอยู่ด้วยกันตลอดระยะเวลา 4 ปี อำนวยความสะดวกตั้งแต่ที่พักและพื้นที่เรียนรู้ศาสตร์อันหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นที่กาแฟเพียงอย่างเดียว
ปีแรก ค้นหาตัวเอง รักอะไรก็ได้ตั้งแต่พืชพันธุ์ จนถึงแฟชั่นดีไซน์
ปีที่สอง เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน
ปีที่สาม เริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง และรู้จักทำการตลาด
ปีที่สี่ มีรายได้จากสิ่งที่ศึกษา เชื่อมต่อกับชุมชนที่ตนเองอาศัย
ไม่ว่าจะไร่ โรงคั่ว ที่พัก หรือสถานศึกษาที่กำลังจะเกิด ภัทรมองว่านี่เป็นเพียงการตอกเสาเข็มเพื่อการเป็นแบรนด์ท้องถิ่นของชาวอาข่าที่ก้าวขึ้นสู่เวทีโลก

ส่วนในระดับท้องถิ่น ธุรกิจของเขาต้องส่งเสริมสมาชิกชุมชน โดยเฉพาะวัยรุ่นกว่า 400 – 500 ชีวิต ที่หลายครอบครัวไม่มีกำลังส่งเรียน เมื่อเด็กทำงานหนักไม่ได้เหมือนคนรุ่นเก่า พวกเขาหลายคนพ่ายแพ้ให้กับอบายมุขรอบตัว
“ชีวิตคนดอยเป็นแบบนี้ แต่ไม่มีโอกาสพูด ต้นทุนที่เราต้องจ่ายสูงมาก ไม่มีโรงเรียน ลงไปก็พูดไทยไม่ชัด โดนล้อ เรียนข้างล่างต้องหาหอพัก มีมอเตอร์ไซค์ ค่าอาหาร พ่อแม่ต้องมีเงินระดับหนึ่ง ความพยายามของเราต้องมากกว่าเขาเป็นเท่าตัว แต่ผมเชื่อว่าความลำบากสร้างชีวิต”
เจ้าของ ABONZO ไม่อาจแก้ปัญหาทั้งหมด แต่เขาช่วยสร้างงานให้เด็กเหล่านั้นได้ เริ่มจากที่พักที่สร้างงานให้เด็กได้อีก 4 – 5 คน ร้านกาแฟที่ต้องการเด็กอีก 10 คน รวมถึงโรงงานแปรรูป แต่หากธุรกิจอยู่แค่บนดอยจะสร้างงานไม่ได้มากกว่านี้ จึงเกิดแนวคิดว่า หากขยายร้านไปทั่วไทย เขาจะส่งเด็กในหมู่บ้านไปเทรนด์ใน Coffee Academy ที่กำลังวางแผนบนดอย และส่งวัยรุ่นไปตามร้านกาแฟที่เขาเปิดใหม่ได้
หลังจากนั้นจึงให้ถือหุ้น เพื่อรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ
ในอนาคต เจ้าของ ABONZO จะไม่ใช่แค่ภัทรคนเดียว แต่เป็นคนในชุมชน

อีกหนึ่งกรณีน่าศึกษา คือการเปิดตัว ร้าน ABONZO in town ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งแรกที่ขยายอาณาจักรจากดอยสู่เมือง วันเปิดร้านคือวันแรกที่ล็อกดาวน์ เงินที่ลงไปจำนวนมหาศาลเหมือนถูกโยนเข้ากองไฟ
แต่ใครจะเชื่อว่าหลังรอคอยอย่างอดทน ร้านเปิดวันแรกพร้อมคนจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามา ในช่วงโควิด-19 คนนอกอยากเข้ามาเที่ยว และคนเชียงรายร่วมใจกลับบ้าน เพียงแค่ 7 เดือน เขาคืนทุนทุกอย่าง
“เราเรียนรู้และมีความฝัน เมื่อ ABONZO in town เปิด เราคิดว่าจะไม่มีวันล้ม โควิด-19 มากี่รอบ เราเรียนรู้จากมัน หากเปิดในเมืองต้องคำนึงถึงการออกแบบและที่จอดรถ เมื่อมีแผนจะเปิดร้านต่อไป เราจึงนำสิ่งนี้มาปรับใช้”
การมีร้านกาแฟไม่ใช่เรื่องยาก แค่วางแผนและก่อสร้างก็ถือว่าเปิดร้านได้ แต่จะทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จและไม่ตาย เคล็ดไม่ลับของภัทรคือ ความทุ่มเท ทุ่มพลังงานเกินร้อย เวลาเกินร้อย และเงินเกินร้อย สนุกกับทุกเช้าที่ตื่นมาและมีปัญหารอให้แก้
ไม่ว่าจะธุรกิจไหน เขาเชื่อว่าประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด

Lesson Learned:
- อย่ารอโอกาส แต่จงสร้างโอกาส เว้นแต่สภาพการณ์ต้องการความอดทน จงรออย่างมุ่งมั่น ไม่ใช่รออย่างท้อแท้
- อายุเป็นเพียงตัวเลข อย่าให้เป็นอุปสรรคในการฝันหรือลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
- ทุกธุรกิจต้องการเวลาและความทุ่มเทขั้นสูงสุด
- ธุรกิจที่ดีและมีที่ทางไปต่อ คือธุรกิจที่ไม่เห็นแก่ได้ แต่คืนกำไรให้ชุมชนและคนรอบกาย ไม่ว่าจะเป็นตัวเงินหรือโอกาส
- อย่าใช้เรื่องเล่าของความสงสารในการเรียกลูกค้า แต่ใช้คุณภาพสินค้าเป็นตัวชูโรง ให้เรื่องเล่าเป็นกำลังเสริมที่คนพูดถึงเป็นสิ่งต่อมา