โลกนี้อาจมีเรื่องสะกิดใจเราให้นึกถึงศาสนาอิสลามได้เป็นร้อยเป็นพันอย่าง และสิ่งหนึ่งซึ่งมักผุดพรายในมโนภาพของชนทุกหมู่เป็นอย่างแรก คือภาพของอาคารทรงลูกบาศก์สมมาตร คลุมผ้าดำแซมลายทอง ตั้งเด่นเป็นสง่ากลางคลื่นสาธุชนเรือนล้าน ที่พากันมาเวียนรอบอาคารสี่เหลี่ยมหลังนี้นานนับพันปี

นี่คือศูนย์กลางของศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทุก ๆ วัน โลกของเราจะมีผู้ศรัทธากว่าพันล้านคนหันหน้ามายังทิศที่ตั้งของอาคารนี้ ขณะที่พวกเขากำลังสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นสถานที่ซึ่งคนมุสลิมใฝ่ฝันจะมาเยือนเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์สักครั้งในชีวิต กระทั่งในวันสิ้นลมปราณ ศพในห่อผ้าขาวของพวกเขายังถูกจัดตะแคงให้ผินมองมาที่นี่

ทั้งหมดนี้คือความสำคัญของ ‘กะบะห์’ วิหารสำคัญที่เป็นทั้งหลักหมุดบอกทิศในการละหมาด และจุดหมายสำคัญในพิธีฮัจญ์ที่จะทำกันทุกวันที่ 9 เดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ
‘กะบะห์’ มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘บัยตุลเลาะห์’ แปลว่า บ้านของพระเจ้า

เรื่องหนึ่งที่คนจำนวนมากยังไม่รู้ คือกะบะห์มีประตูไม้หุ้มทองบานใหญ่ไว้เดินเข้า-ออกได้

และที่หลายคนไม่รู้ยิ่งกว่า คือประตูบานที่มุสลิมทั่วโลกได้เห็น ทั้งจากภาพถ่ายและสายตาตัวเอง ถูกสร้างโดยช่างไม้และช่างทองชาวไทยทั้งหมด 6 คน ใน พ.ศ. 2521 – 2522

บางทีประวัติศาสตร์อาจต้องจารึกเป็นอื่น ถ้าคณะผู้แทนซาอุดิอาระเบียไม่ได้มาพบไกด์นำเที่ยวชาวไทยมุสลิมนามว่า อับดุลเลาะห์ หรือ คฑาวุธ นาคนาวา ผู้ซึ่งปัจจุบันได้เกษียณตัวเองจากอาชีพอาจารย์และมัคคุเทศก์ มาใช้ชีวิตเรียบง่ายตามวิถีอิสลามอยู่ที่เขาใหญ่

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ

“ผมเป็นล่ามและผู้คุมคนงานไทยชุดที่ไปสร้างประตูกะบะห์บานปัจจุบัน นี่เป็นงานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตแล้ว” ชายวัย 75 ปีจำกัดความหน้าที่เก่าของตนเองพร้อมรอยยิ้มเบิกกว้าง

อาจารย์อับดุลเลาะห์เป็นใครมาจากไหน

เหตุใดจึงได้รับเกียรติให้คุมงานก่อสร้างครั้งสำคัญในโลกมุสลิมเช่นประตูกะบะห์ได้

ที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งตำนานที่ยังมีลมหายใจถ่ายทอดให้ฟังอย่างหมดเปลือก

01
เกิดเป็นอับดุลเลาะห์

“ผมชื่อ อับดุลเลาะห์ นาคนาวา เกิดมาก็ชื่ออับดุลเลาะห์” อารัมภบทในการแนะนำตัวบอกเป็นนัยให้เราได้รู้ว่า ชื่อภาษาอาหรับของเขามีมาก่อนชื่อไทยว่า ‘คฑาวุธ’

กว่า 7 ทศวรรษก่อน สกุลนาคนาวาซึ่งเป็นตระกูลไทยมุสลิมมีชื่อแถบสวนหลวง ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ในครรภ์ของ นางเนาะ นาคนาวา ครานั้น นายสมาน นาคนาวา ผู้เป็นสามีได้มอบชื่อที่เน้นย้ำถึงศรัทธาที่หล่อเลี้ยงหัวใจคนทั้งครอบครัวแก่ลูกชายที่เพิ่งลืมตาดูโลกว่า ‘อับดุลเลาะห์’ มีความหมายว่า บ่าวของอัลเลาะห์ หรือพระเจ้าที่ชาวมุสลิมเรียกขาน

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ

“สมัยก่อนแถวนั้นขึ้นกับอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ปัจจุบันไม่ใช้คำว่าตำบลสวนหลวงแล้ว แยกมาเป็นเขตสวนหลวง ตรงที่ผมเกิดชาวบ้านเรียกว่า ‘บ้านป่า’ ก็คือซอยพัฒนาการ 20 แยก 13”

ครั้นเติบใหญ่เข้าวัยเรียน อับดุลเลาะห์ นาคนาวา เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสุเหร่าบ้านป่า ซึ่งต่อมาคุณพ่อและญาติ ๆ ของอาจารย์ได้มอบที่ดินส่วนโรงเรียนเพิ่มเติม ทำให้โรงเรียนนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนนาคนาวาอุปถัมภ์ (สุเหร่าบ้านป่า)

ชีวิตวัยเด็กของอาจารย์อับดุลเลาะห์ก็เหมือนกับเด็กมุสลิมอีกมากมายในเมืองไทย ตรงที่มีบ้านอยู่ใกล้สุเหร่า เล่าเรียนศาสนาควบคู่การเรียนสามัญ ได้เรียนภาษามลายูที่มุสลิมไทยนิยมใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันกับภาษาอาหรับที่ใช้ในทางศาสนา

แม้มีศรัทธาตั้งมั่นในศาสนาขององค์อัลเลาะห์ แต่การจะเดินทางไปเยือนนครศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์อย่างนครมักกะฮ์ (เมกกะ) ยังคงไกลเกินเอื้อมในสายตาลูกชาวนาตาดำ ๆ

“ไม่เคยคิดว่าจะได้ไปมักกะฮ์เลย พ่อแม่เรายากจน เป็นแค่ชาวนาธรรมดา”

ถึงกระนั้น โอกาสที่มุสลิมทุกคนถวิลหาก็มาเยือนบ่าวของอัลเลาะห์ผู้นี้ไวเกินคาด

02
นักเรียนอาหรับ

“มีปีหนึ่ง ณ ขณะนั้นผมจบ ป.4 แล้ว ยังเรียนภาษามลายูบ้าง เรียนภาษาหลักกับโรงเรียนธรรมดาบ้าง อิหม่ามอับดุรเราะห์มาน เพียรมานะ ก็บอกว่าปีนี้ต้องการวัยรุ่น 10 คนไปเรียนที่มักกะฮ์ ท่านเป็นผู้จัดการพิธีฮัจญ์สมัยนั้น จัดเรือวิ่งจากท่าเรือคลองเตยไปลงมักกะฮ์ 18 – 19 วัน จัดมาทุกปี

“ทางพ่อผมมาถามผมว่าไปมั้ย ไปเรียนที่มักกะฮ์ ผมตอบตกลงเลยเดินทางไปทางเรือชื่อ ฮอยยิง (MV Hoi Ying)” อาจารย์อับดุลเลาะห์เล่าย้อนถึงวันที่จากลาแผ่นดินเกิดเป็นครั้งแรก

นาวาเหล็กสัญชาติฮ่องกงลำใหญ่ นำคนสกุลนาคนาวาเดินทางจากท่าเรือคลองเตย ลอยลำเหนือมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาลอยู่นานถึง 18 วัน ก่อนทอดสมอเทียบท่า ณ กรุงมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตรงช่วงพิธีฮัจญ์พอดี นั่นเป็นครั้งแรกที่เยาวชนไทยทั้ง 10 ชีวิตได้ยลความอลังการของกะบะห์ที่แท้จริง หาใช่เพียงรูปถ่ายตามกรอบรูปหรือภาพพิมพ์ที่ประดับอยู่ในมัสยิดและบ้านเรือนของชาวมุสลิม

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ

นักเรียนไทยทุกคนได้ประกอบพิธีฮัจญ์ตามหน้าที่ของอิสลามิกชนเสร็จสรรพ ก่อนได้พบความจริงที่น่าผิดหวังว่า พวกเขาเรียนที่มักกะฮ์อย่างถูกต้องไม่ได้ ค่าที่ไม่ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีฟัยศ็อล บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด องค์ประมุขแห่งซาอุดิอาระเบียในเวลานั้น

“เคยมีคนไปเรียนแล้วหนีกลับบ้างอะไรบ้าง เพื่อที่จะอยู่ในประเทศเขาอย่างถูกต้อง เราก็ต้องขออนุญาตเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ฟัยศ็อลให้ได้เรียนอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องหนีเขาอยู่ แต่หลังจากที่ทำฮัจญ์เสร็จแล้ว อิหม่ามอับดุรเราะห์มานมารายงานว่า ยังเข้าเฝ้าฯ พระองค์ไม่ได้ คนจะเรียนก็ต้องหนีอยู่ อยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ผมเขียนจดหมายแจ้งทางบ้านว่าอยู่มักกะฮ์ไม่ได้ จะต้องกลับ พ่อก็บอกให้กลับมาเลย มาเรียนที่โรงเรียนศาสนวิทยา เขตหนองจอกแทน”

โรงเรียนศาสนวิทยาเวลานั้นเป็นโรงเรียนเพิ่งเปิดใหม่สด ๆ ร้อน ๆ รับนักเรียนรุ่นแรกแค่ 30 คน อาจารย์อับดุลเลาะห์สมัครเข้าเรียนเป็นคนที่ 30 เรียกว่าเป็นคนสุดท้ายของรุ่นแรก

“วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เป็นภาษาอาหรับ พ่อผมก็ถามว่าเรียนเข้าใจมั้ย ผมก็ตอบว่าเรียนได้สบายมาก เพราะตอนเราอยู่มักกะฮ์หลายเดือน ผมเจอภาษาพวกนี้มาหมดแล้ว”

อับดุลเลาะห์เรียนที่โรงเรียนศาสนวิทยาได้ 2 ปี คุณพ่อสมานก็ส่งเขาไปเรียนต่อที่เมืองมัทราสในอินเดียอีก 2 ปี จึงได้รับประกาศนียบัตรระดับเตรียมมหาวิทยาลัยจากที่นั่น เขานำประกาศนียบัตรใบนั้นไปสมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร สถาบันสอนศาสนาชื่อดังแห่งอียิปต์ที่อุดมด้วยนักศึกษามุสลิมจากทั่วโลก

“ในบรรดานักเรียนไทยที่ไปที่นั่น ทุกคนก็เริ่มเรียนปี 1 เรียนกัน 4 ปี แต่ของผมมีประกาศนียบัตรจากอินเดีย เลยได้เริ่มที่ปี 3 เรียนแค่ 2 ปีก็จบเลย แล้วก็ทำเรื่องยื่นเรียนปริญญาโทอีกปีกว่า”

ชีวิตอาจารย์อับดุลเลาะห์ในวัยนั้นเต็มไปด้วยสีสันอันโลดโผน ด้วยความรู้ภาษาหลากหลาย ทั้งมลายู อาหรับ อังกฤษ และอูรดูที่ได้จากอินเดีย เป็นเหมือนปีกให้เขาโบยบินไปทั่วประเทศแถบนั้นได้อย่างอิสระ ทั้งจอร์แดน เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และอีกหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนี

“สมัยก่อนยังไม่มีตู้ ATM พ่อแม่เราก็ไม่มีเงิน พอต้องหารายได้ช่วงมหาลัยปิด ผมก็ไปล้างจานชามที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนีนู่น”

03
ไกด์อาหรับหนึ่งเดียวในสยามประเทศ

ถ้าหากปริญญาตรีที่ ม.อัลอัซฮัร เป็นความสำเร็จยิ่งยวดของอาจารย์อับดุลเลาะห์ ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ ก็คงจะเป็นความล้มเหลวอันน่าเจ็บช้ำที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา

“ที่มหาลัยนี้เขาใช้ระบบอังกฤษ เช่น สมมติสอบ 8 วิชาก็ต้องสอบผ่านทั้ง 8 วิชาถึงจะเรียนจบได้ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องเรียนใหม่หมด ไม่เหมือนระบบอเมริกาที่ตกวิชาไหนก็ซ่อมวิชานั้น ทีนี้ผมสอบตกไปวิชาหนึ่ง ตอนนั้นพ่อก็บอกว่าไม่ค่อยสบาย เลยกลับเมืองไทย ไม่เรียนต่อแล้ว”

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ

แม้ไม่มีปริญญาใบที่ 2 ทว่าดีกรีบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยดังแห่งกรุงไคโรนั้น ดีพอให้เขาไปสอนหนังสือที่ศาสนวิทยา โรงเรียนเก่าที่เขาเคยมีความหลัง 2 ปีที่นี่

อาจารย์อิมรอน มะกูดี ที่เคยรับผมเข้าเรียนก็จบจากอียิปต์ ผมกลับมาทำงานเป็นครูสอนภาษาอาหรับที่นี่ แต่สอนได้ 2 ปี ก็รู้สึกว่ารายได้ไม่พอกิน อาจารย์อิมรอนเองก็ไม่ได้มีรายได้มาก วันหนึ่งเขาบอกผมว่า อับดุลเลาะห์ ถ้าจะไปทำงานที่อื่นครูไม่ว่า เพราะครูก็ให้ได้แค่นี้”

ด้วยคำพูดของผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้สมัยเป็นนักเรียน อาจารย์หนุ่มจึงบ่ายหน้าไปสมัครงานที่บริษัท เอส.ไอ.ทัวร์ (1996) จำกัด บริษัทนำเที่ยวใกล้ถนนสีลม ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวมุสลิมจากชายแดนใต้ ที่นี่ความรู้ภาษาอาหรับได้ถูกแปลงหน้าที่จากใช้สอนหน้ากระดานดำ เป็นนำนักท่องเที่ยวต่างชาติชมความงามของบ้านเมือง

“เขาให้ผมเป็นไกด์ภาษาอาหรับ ต้องเขียนโบรชัวร์กำหนดการเดินทางส่งไปตามบริษัททัวร์ต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาหรับ ผมเป็นไกด์ภาษาอาหรับคนเดียว ต้องทำทุกอย่างเองหมดเลย

“ทำงานที่นั่นได้ 2 เดือน มีแขกกรุ๊ปใหญ่มาให้ผมดูแล เป็นพวกเจ้าชายเจ้าหญิงจากประเทศคูเวต มาพักที่โรงแรมดุสิตธานี วันที่กรุ๊ปนี้เดินทางกลับ ผมได้ทิปจากพวกเขา 12,000 บาท ตอนเป็นครูเพิ่งจะได้เดือนละ 1,200” อาจารย์อับดุลเลาะห์ยิ้มหัว เมื่อกล่าวถึงเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับจากลูกทัวร์กลุ่มนั้น

จากนั้นไม่นาน เขาก็ได้พบกับลูกทัวร์ที่จดจำไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่

04
แรกพบท่านเชค

“ตอนนั้นผมได้รับการรับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็นไกด์ภาษาอาหรับคนเดียวในประเทศ เพราะยังไม่มีไกด์ภาษาอาหรับคนอื่นเลย” อาจารย์อับดุลเลาะห์คะเนถึงสาเหตุที่ตัวเขาได้รับภารกิจให้ปรนนิบัติ เจ้าชายอามีร มายิด เชื้อพระวงศ์และผู้ว่าราชการนครมักกะฮ์

“เจ้าชายพระองค์นี้เป็นเหมือนผู้ว่าฯ กทม. ท่านเป็นผู้ว่าฯ มักกะฮ์ มาเมืองไทยก็พาลูกน้องมาด้วย มาเช่าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ อยู่กันทั้งชั้นเลย ผมดูแลกรุ๊ปของท่านทุกวัน ตั้งแต่เช้ายันมืด”

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่อาจารย์อับดุลเลาะห์กำลังจะทานอาหารเช้าที่โรงแรมนั้น เขาก็ทราบว่าแขกอาหรับ 2 คนในคณะของเจ้าชายมายิดที่พูดภาษาอื่นไม่ได้ กำลังลงมาจากลิฟต์

“ถ้าภาษาไทยเรียกแบบนี้ว่า ความบังเอิญที่ไม่รู้จักเขา ไม่รู้จักเรา ภาษาอาหรับก็เรียกว่า ‘ตักดีร’ แปลว่า การกำหนดของอัลเลาะห์ให้มาเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย”

หนึ่งในนั้นคือ เชค อะหมัด อิบรอฮีม บัดร ผู้ค้าทองรายใหญ่ที่ได้รับการวางตัวให้ดูแลเรื่องการสร้างประตูกะบะห์ ทั้งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของ ดร.ฟาอีส อิบรอฮีม บัดร ผู้ว่าการท่าเรือเมืองญิดดะฮ์

จากมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับคนเดียวของไทย สู่หัวหน้าทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม
เชค อะหมัด อิบรอฮีม บัดร (ภาพที่สอง)

“พวกเขาถามว่าผมเป็นใคร ผมแนะนำตัวว่าชื่ออับดุลเลาะห์ เป็นคนดูแลเจ้าชายมายิด เชคอะหมัดบอกผมว่าเขาไม่อยู่แล้วโรงแรมนี้ ผมเลยย้ายพวกเขาไปอยู่โรงแรมมณเฑียร ต้นถนนสุรวงศ์ ตอนอยู่บนรถเขาก็พูดให้ผมฟังว่า กำลังมองหาช่างไทยไปสร้างประตูกะบะห์

“ผมกลับมาเล่าให้เจ้านาย ให้พ่อ ให้แม่ฟัง ทุกคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าจะไปสร้าง อันดับแรกคือต้องมีฝีมือ อันดับสองคือต้องเป็นคนมุสลิม จึงจะไปที่นครมักกะฮ์ได้ ทุกคนก็ส่ายหน้ากันหมดว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะมาหาช่างมุสลิมมีฝีมือแถวนี้ เพราะประเทศไทยมีมุสลิมแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ไม่เกินนี้ ที่เหลือพุทธหมด ถ้าจะหาช่าง หาแถว ๆ นั้นก็ได้ ซาอุดี้ อียิปต์ โมร็อกโก จอร์แดน พวกนี้ก็มุสลิมหมด ทำไมเขามาหาจากไทย ใคร ๆ ก็บอกว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ”

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ

ไกด์หนุ่มจมอยู่ในห้วงสับสนนานแรมเดือน ประมาณ 1 เดือนให้หลัง เชคทั้งสองก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับข่าวว่าผู้ว่าการท่าเรือเมืองญิดดะฮ์ได้สั่งซื้อมะค่าโมงจากบริษัทค้าไม้ของ ณรงค์ วงศ์วรรณ ส.ส.จังหวัดแพร่ ไปแล้ว ขณะนั้นไม้ไปถึงประเทศซาอุดี้เรียบร้อย ยืนยันจากเลขาของ ส.ส.ณรงค์

“เชคอะหมัดบอกผมว่าเป็นเรื่องจริงนะ ไม้ใหญ่ ๆ หนา ๆ 8 แผ่นที่สั่งไว้ไปถึงแล้ว ให้อับดุลเลาะห์หาช่างไม้ 3 คน ช่างทอง 3 คน ไปทำประตูวิหารกะบะห์บานใหม่ แล้วให้อับดุลเลาะห์เป็นล่ามถ่ายทอดภาษา พอกลับไปเล่าให้ที่บริษัทกับที่บ้านฟัง ทุกคนก็บอกว่าผมต้องไป นี่เป็นโอกาสสำคัญในชีวิต ผมเลยลาออกจากงานที่บริษัท ตามเชคอะหมัดไปทำงานที่มักกะฮ์”

05
หัวหน้าช่างไทย

งานชิ้นแรกที่อาจารย์อับดุลเลาะห์ต้องเร่งดำเนินการตามคำขอของเชคอะหมัด คือการเฟ้นหาช่างฝีมือชาวไทยมุสลิมที่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้

“ผมมีหลานคนหนึ่งชื่อ ยูซุฟ เขาอยู่คลอง 19 ฉะเชิงเทรา แถวนั้นมีนายช่างที่ชำนาญการสร้างบ้านทรงไทยที่เวลาสร้างจะไม่ใช้ตะปู ยูซุฟก็ไปทาบทามช่างคนนี้มา หวังว่าจะได้ไปด้วย ที่ไหนได้ เขาเอาพรรคพวกคลอง 19 ของเขาไปหมดเลย ยูซุฟเลยไม่ได้ไปด้วย ผมเพิ่งมารู้เร็ว ๆ นี้ก็เสียดายแทนเขา เลยให้เงินเขาไปทำพิธีอุมเราะห์ (ฮัจญ์นอกเทศกาล) แทน” อดีตมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับพูดกลั้วหัวเราะเมื่อเล่าถึงที่มาของนายช่างทั้ง 6 ท่าน

เป็นอันว่าอาจารย์อับดุลเลาะห์ก็ได้ช่างฝีมือชาวไทยครบทั้ง 6 ท่าน ประกอบด้วย สุไลมาน ซันหวัง, อีซา กาสุรงค์ และ ฮุเซ็น และอิ่ม ทำหน้าที่ช่างไม้ ส่วน อาลี มูลทรัพย์, กอเซ็ม ชนะชัย และ ฮุไซนี อารีพงษ์ ทำหน้าที่ช่างทอง

จากมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับคนเดียวของไทย สู่หัวหน้าทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม

นายช่างทั้งหมดเป็นมุสลิมแท้ นับถืออิสลามมาแต่กำเนิด กระนั้นก็ใช่ว่าพวกเขาจะรู้ภาษาอาหรับในระดับสื่อสารได้ ทั้งกลุ่มมีเพียงอาจารย์อับดุลเลาะห์ที่เคยใช้ชีวิตกับชาวอาหรับมาก่อน เขาจึงกลายเป็นที่พึ่งของเพื่อนร่วมชาติทุกคนไปในทันที

“ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย ผมเพิ่งมาพบพวกเขาตอนจะไปนี่แหละ” คนเดียวในกลุ่มที่รู้อาหรับกล่าวถึงเพื่อนร่วมโครงการสำคัญโดยรวม “แต่ทุกคนเชื่อฟังผมหมด นายจ้างคนอาหรับสั่งงานอะไรมา ผมก็มาสั่งพวกเขาอีกที เชื่อมั้ยว่างานประตูไม่เคยผิดพลาด ขยันขันแข็งทำงาน ไม่มีงานทิ้งงานเสีย นายจ้างมอบความไว้วางใจให้ผมทำงาน แต่พวกเราก็ทำงานไม่เคยผิดพลาดแม้แต่ครั้งเดียว”

06
ชีวิตในมักกะฮ์

จากนครศูนย์กลางของศาสนาอิสลามไปนานหลายปี กลับมาคราวนี้ อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ไม่ใช่นักเรียนชาวไทยที่ต้องอาศัยอยู่อย่างหลบซ่อน หากเป็นล่ามแปลภาษาและผู้คุมช่างไทยในการสร้างประตูบานสำคัญที่สุดในโลกของมุสลิม

คณะช่างไทยรวมทั้งตัวอาจารย์อับดุลเลาะห์ได้อาศัยบ้านของเชคอะหมัด อิบรอฮีม บัดร เป็นที่พักและโรงงานที่ใช้ทำประตูบานนี้ หน้าที่ของช่างไม้เริ่มก่อน พวกเขาต้องแกะสลักบานประตูให้ได้ตามแบบที่ออกแบบไว้โดยช่างชาวซีเรียชื่อ มูนีร ยุนดี

หลายครั้ง นายช่างจากแดนขวานทองก็ได้ต้อนรับบรรดาคนใหญ่คนโตที่เดินทางมาตรวจงาน ณ โรงงานชั่วคราวแห่งนี้เป็นระยะ ไล่มาตั้งแต่ ดร.ฟาอีส อิบรอฮีม บัดร ผู้สั่งซื้อไม้มะค่าโมงจากเมืองไทย, ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข, ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงฮัจญ์และเอาว์กอฟ หรือกระทั่ง มกุฎราชกุมารฟะฮัด บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด ซึ่งจะได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งซาอุดิอาระเบียในอีกหลายปีหลังจากนั้น

จากมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับคนเดียวของไทย สู่หัวหน้าทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม

“นั่งเครื่องบินไป อยู่นู่น 2 ปี พ.ศ. 2521 – 2522 ไม่ได้กลับบ้านเลย ช่างไม้ทำเสร็จก่อนก็ยังอยู่ที่นั่น รอให้ช่างทองทำงานต่อ ตัวผมทำงานให้เชคอะหมัดที่ร้านทอง อยู่คนละที่กับพวกช่าง เช้ามาก็มอบหมายงานให้พวกเขา แล้วแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเอง ระหว่างวันไม่ได้เจอกัน เว้นแต่มีเรื่องต้องบอก เช่น ได้รับคำสั่งมา ก็ค่อยไปบอกพวกช่าง”

สวัสดิการที่ช่างไทยได้รับคือเงินเดือน คิดเป็นเงินไทยคนละ 15,000 บาท หัวหน้าทีมได้ 25,000 บาท หยุดสัปดาห์ละ 1 วัน คือวันศุกร์ อันเป็นวันละหมาดใหญ่ ตรงนี้อาจารย์เล่าว่าช่างทั้ง 6 ไว้เนื้อเชื่อใจตนมากถึงขั้นที่ยอมให้จัดการทุกอย่าง ตั้งแต่จำนวนทองที่ต้องเบิกมาใช้เคลือบประตู ไปจนถึงเงินเดือนที่ทุกคนได้รับ อาจารย์อับดุลเลาะห์เป็นผู้ควบคุมทั้งหมด

2 ปีที่นครมักกะฮ์มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในชีวิตทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ชาวไทย ช่างทั้งหมดได้รับโอกาสให้ประกอบพิธีฮัจญ์ นำมาซึ่งคำนำหน้าว่า ‘ฮัจญี’ อันหมายถึงผู้ผ่านการทำฮัจญ์มาแล้ว ขณะที่ผู้เคยผ่านฮัจญ์มาแต่เด็กอย่างอาจารย์อับดุลเลาะห์ก็ได้มีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา

จากมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับคนเดียวของไทย สู่หัวหน้าทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม

“ผมแต่งงานที่มักกะฮ์ ภรรยาเดิมเป็นคนไทยพุทธมาเข้ารับอิสลาม เขาบินไปแต่งกับผมที่นั่น ท่านเชคจัดงานแต่งให้ผมเสียใหญ่โตทีเดียว ลูกสาวคนโตของผมชื่อ อัสมา นาคนาวา ก็เกิดที่นั่น”

07
ติดตั้งประตู

เนิ่นนานกว่า 2 ปี ในที่สุดงานผลิตประตูกะบะห์รุ่นไม้มะค่าโมงหุ้มทองคำหนัก 280 กิโลกรัมก็แล้วเสร็จ

อาจารย์อับดุลเลาะห์กล่าวติดตลกว่า การเขียนลวดลายอักษรวิจิตรเป็นพระนามของพระเจ้า และข้อความจากอัลกุรอานที่เรียกว่า ‘ค็อต’ นั่นแหละที่เสียเวลาไปมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาสุขภาพของ เชค อับดุลรอฮีม อามีน ผู้เขียนค็อต

“ประตูกะบะห์บานเก่าเป็นโลหะ หนักมาก สร้างในรัชสมัย สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด กษัตริย์พระองค์แรกของประเทศซาอุดี้ เชคอามีนคนนี้เป็นคนเขียนค็อตของบานเก่า ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงได้มาเขียนบานใหม่ที่เราไปสร้างด้วย ตอนนั้นแกอายุเยอะแล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยดี เขียนได้ประโยคหนึ่งก็เข้าโรงพยาบาลที ที่ทำกันช้าเป็นปี ๆ ก็เพราะเวาะ (ลุง) คนนี้แหละ (หัวเราะ)”

จากมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับคนเดียวของไทย สู่หัวหน้าทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม

สำหรับขั้นตอนติดตั้งประตูนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมช่างต้องใช้เวลาถึง 10 วันเต็ม ในการนำประตูบานใหม่ไปประกอบเข้ากับบานวงกบของกะบะห์ ตลอดเวลาสัปดาห์เศษที่พวกเขาอยู่กลางมัสยิดฮารอมอันศักดิ์สิทธิ์ อาจารย์อับดุลเลาะห์ยังต้องมีปากเสียงกับหัวหน้าตระกูลอัลชัยบี ซึ่งสืบทอดตำแหน่งผู้ถือกุญแจกะบะห์มาตั้งแต่สมัย ศาสดามุฮัมมัด ด้วยต้นตระกูลนี้เป็นสาวกสำคัญคนหนึ่งของท่าน

“ลูกชายคนโตของตระกูลอัลชัยบีจะถือกุญแจดอกนี้ไว้ตลอด ถ้าเขาไม่เปิดประตูให้ ใครก็เข้าไม่ได้ แม้แต่ระดับผู้นำประเทศก็ไม่ได้ ถ้าเขาไม่อนุญาต” อาจารย์สาธยายสิทธิพิเศษที่ตระกูลนี้มีเหนือกะบะห์ “สมัยนั้นคือ เชค ตอฮา อัลชัยบี ที่นั่งเฝ้าอยู่ตรงหน้านั่น ด่าผมทุกวันว่าช่างไทยชักช้า ถ้าจ้างอียิปต์มาทำ ป่านนี้เสร็จไปถึงไหนแล้ว”

ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการติดตั้งประตู ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากเชคผู้นี้ให้นำพัดลมเข้าไปด้านใน ชาวไทยทั้ง 7 คนจึงต้องวางพัดลมไว้ด้านนอก แล้วเป่าลมเข้าไปแทน

จากมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับคนเดียวของไทย สู่หัวหน้าทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในศาสนาอิสลาม

อย่างไรเสีย นั่นก็คือช่วงชีวิตที่อาจารย์อับดุลเลาะห์พึงพอใจที่สุดช่วงหนึ่ง เพราะเขาเป็นสามัญชนเพียงไม่กี่คนที่ได้ย่างกรายเข้าไปในกะบะห์ ซึ่งมักเปิดให้เข้าไปละหมาดได้แค่กษัตริย์หรือผู้นำประเทศเท่านั้น

“ผมอยู่ในนั้น 10 วันเต็ม ตอนละหมาดก็หันไปทางนี้ที ทางนั้นที ปกติทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องหันมาทางกะบะห์เสมอ แต่นี่เราอยู่ในกะบะห์แล้ว หันไปทางไหนก็ได้”

ครั้นเมื่อประตูได้รับการติดตั้งสมบูรณ์ สมเด็จพระราชาธิบดีคอลิด บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด กษัตริย์ซาอุดิอาระเบียสมัยนั้น ก็ได้เสด็จฯ มาทำพิธีเปิดประตูกะบะห์บานใหม่อย่างเป็นทางการ เป็นภาพจำที่แจ่มชัดของอาจารย์อับดุลเลาะห์ว่า พระองค์ประทับบนรถเข็น มีทางต่อให้รถเข็นพระที่นั่งของพระองค์เลื่อนขึ้นไปที่หน้าประตูได้

08
ส่งต่อความรู้และประสบการณ์

ประตูกะบะห์ฝีมือช่างไทยได้อวดโฉมต่ออิสลามิกชนทั่วโลกได้ไม่นานนัก ก็เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกับวิหารสำคัญแห่งนี้ เมื่อชาวอาหรับหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งซ่อนอาวุธบุกเข้าไปในมัสยิดฮารอม พร้อมขู่ว่าจะโค่นล้มราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย จึงเกิดการต่อสู้ยืดเยื้อนานกว่า 2 สัปดาห์ มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือ

ด้วยความเบื่อหน่าย กอปรกับสวัสดิภาพที่สั่นคลอน อาจารย์อับดุลเลาะห์ซึ่งห่างเหินจากมาตุภูมิมาหลายปี จึงตัดสินใจเดินทางกลับไทย แม้ว่าเชคอะหมัดผู้เป็นนายจ้างจะเสนองานอื่นให้ทำก็ตามที

เขาพักอยู่แถวนานาได้ระยะหนึ่ง เป็นอิหม่ามมัสยิดแห่งแรกของซอยนานา จากนั้นจึงตัดสินใจกำเงินซื้อที่ดินบนเขาใหญ่ ซึ่งสมัย พ.ศ. 2531 นั้นยังเป็นที่รกร้าง ถางที่เพื่อทำฟาร์มเลี้ยงไก่และแกะ ก่อนพัฒนาเป็นรีสอร์ตเชิงฮาลาล ดำเนินการทุกด้านถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ชื่อว่า ‘นาคนาวาฟาร์มแอนด์รีสอร์ท’ อันโด่งดังในหมู่พี่น้องมุสลิมชาวไทยจวบจนวันนี้

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ

“ผมซื้อที่ดินนี้มาเพราะเห็นว่าเป็นเขาสูง มองลงมาเห็นทุกอย่างเหมือนกรุงบอนน์ที่ผมเคยไปอยู่เลย” เจ้าของสถานที่พูดพลางนำชมที่ดินเปล่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งยากจะเชื่อว่า วันนี้ที่ดินผืนเดียวกันจะมีครบสรรพ ทั้งรีสอร์ต ร้านอาหาร มัสยิด รวมทั้งพื้นที่จัดกิจกรรมที่มีไว้จัดค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อนทุกปี

พ.ศ. 2555 อาจารย์อับดุลเลาะห์เปิดหมู่บ้านอาหรับจำลอง เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหรับที่เขาคุ้นเคย ตลอดจนจัดแสดงประวัติประตูกะบะห์ไว้ ณ จุดสูงสุดของนาคนาวาฟาร์มแอนด์รีสอร์ท

และแล้วใน พ.ศ. 2564 พื้นที่จัดแสดงเรื่องราวประตูกะบะห์ก็ได้ย้ายลงมาในที่ต่ำกว่า เพื่อให้ผู้คนมาเยี่ยมชมได้ง่ายขึ้น ก็คือ ‘ศูนย์การเรียนรู้ประตูกะบะห์มัสยิดฮารอม’ ที่อาจารย์ได้ลงมือเขียนป้ายแสดงข้อมูล ออกทุนซื้อรูปภาพและหาสื่อการสอนทุกชิ้นมาจัดแสดงไว้ด้วยตนเอง

“พวกอาหรับไม่มีใครรู้กันเลยว่าประตูบานนี้ช่างไทยสร้าง ตั้งแต่กลับมาเปิดความสัมพันธ์กับซาอุดี้ พวกเขามาดูที่นี่ก็แปลกใจกันใหญ่ ไม่มีใครเชื่อว่าคนไทยไปสร้างไว้ ทางนั้นเขาก็ไม่ได้บอกกัน” มุสลิมชาวไทยชื่ออับดุลเลาะห์เปิดเผยความคิดที่นำพาเขามาสร้างศูนย์การเรียนรู้นี้ไว้ในพื้นที่ของตนเอง

“บอกลูก ๆ ไว้ว่า ถ้าสติปัญญายังจำได้อยู่ ก็อยากจะสร้างศูนย์เรียนรู้ไว้ คนที่ต้องการไปประกอบพิธีฮัจญ์จะได้รู้ว่าต้องไปขอพรตรงไหน ประตูนี้สร้างยังไง หากใครได้มาศูนย์การเรียนรู้นี้ ก็อยากให้ได้รับประโยชน์กลับไปด้วย”

คนไทยไม่กี่คนที่ได้เข้าไปในกะบะห์ทิ้งท้าย ก่อนเปิดรอยยิ้มซึ่งบ่งชัดว่าเขาภูมิใจเพียงใด ที่ครั้งหนึ่งเคยทำภารกิจยิ่งใหญ่ในบ้านของอัลเลาะห์ สมกับชื่อ ‘อับดุลเลาะห์’ ที่ได้มา

อ.อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ผู้นำช่างไทยไปสร้างประตูวิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนครเมกกะ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน