สมัยเด็กๆ สงสัยอยู่ตลอดว่าทำไมเวลาพูดถึงแขกอินเดีย อาชีพแรกๆ ในสมัยก่อนที่คนมักจะพูดถึงต้องเป็นอาชีพคนขายถั่ว และแขกขายถั่วทุกเจ้าก็จะมากับชุดเสื้อกล้าม ใส่คู่กับผ้าโสร่ง เทินโต๊ะขายถั่วพร้อมอุปกรณ์และถั่วสารพัดชนิดไว้บนหัวออกเดินขาย ยิ่งถ้าแขกคนไหนมีพุงด้วยนี่ ใช่เลย บุคลิกจะยิ่งโดดเด่น
ตัวฉันเองโตมาในบ้านของปู่ย่า ที่บ้านหลังนั้นจะมียามเฝ้าบ้านเป็นคนอินเดีย คนที่บ้านเราเรียกแกว่าบาบู บาบูในภาษาฮินดี เป็นสรรพนามใช้แทนคำว่าคุณ (Mister)
บาบูเป็นชาวอินเดียที่พุงใหญ่มาก แลดูเหมือนคนตั้งท้องใกล้คลอดตลอดเวลา แกชอบใส่เสื้อกล้ามสีขาวมีรูขาดเล็กน้อยพอให้เห็นประสบการณ์โชกโชนของการใช้ชีวิตผ่านเสื้อกล้ามตัวนั้น คู่กับผ้าโสร่งลายสก็อต สวมรองเท้าแตะคีบ บางทีก็เดินเท้าเปล่า หน้าที่หลักของบาบูคือเป็นยามเฝ้าบ้านในช่วง 6 โมงเย็นไปถึง 7 โมงเช้า และเป็นที่รู้กันดีในครอบครัวของเราว่าทุกคืนที่บาบูเฝ้ายาม แกจะแอบหลับ เพราะอีกจ๊อบในช่วงเวลากลางวันของแกคือออกไปขายถั่ว
สมัยนั้น ฉันชอบแกล้งบาบูด้วยการย่องไปที่ป้อมยามตอนบาบูหลับ เอาด้ามไม้กวาดฟาดลงไปที่ผนังป้อมยามรัวๆ สามสี่ครั้ง บาบูจะตกใจพรวดพราดลุกขึ้นมาหน้าตาตื่นเพราะนึกว่าขโมยขึ้นบ้าน แต่พอหันมาเห็นเป็นฉันเท่านั้นล่ะ แกจะโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงทุกครั้ง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะกลัวว่าฉันจะเอาไปฟ้องย่าว่าแกแอบหลับ
พอเช้ามา หลังหมดกะเฝ้ายาม บาบูจะหายตัวไปอย่างรวดเร็วเหมือนนินจา
“กลางคืนก็หลับ เช้ามาก็หายตัว สงสัยจะรีบไปขายถั่วน่ะสิ”
เสียงบ่นของย่าดังมาจากในครัว ขณะตะโกนตามหาบาบูช่วงใกล้ 7 โมงเช้า แต่บาบูไม่อยู่แล้ว
เวลากลับมาเฝ้ายามที่บ้านในช่วงเวลา 6 โมงเย็น บาบูจะเดินมากับโต๊ะไม้ขนาดเล็กที่ยกเทินไว้บนหัว บนโต๊ะนั้นจะถูกแบ่งเป็นช่องๆ ไว้สำหรับจัดแยกประเภทของถั่ว ทุกเย็นหลังกลับมาจากโรงเรียน ฉันจะชอบไปซื้อถั่วของบาบูที่แกยังขายไม่หมดมากิน โดยเฉพาะถั่วทองโรยเกลือนี่ชอบมาก (ถั่วเขียวที่เลาะเปลือกออกแล้ว) เวลาซื้อ บาบูจะใช้ช้อนสังกะสีตักถั่วทองใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ ให้ฉัน แกแถมให้ประจำเพราะเห็นเป็นลูกหลานเจ้าของบ้าน

ในช่วงหัวค่ำไปจนถึง 4 ทุ่มคือช่วงเวลาไพรม์ไทม์ที่ป้อมยามจะครึกครื้นมาก เพื่อนๆ ชาวอินเดียของบาบูจะแวะมานั่งสังสรรค์กันเป็นประจำด้วยความสงบเสงี่ยม และย่าก็ไม่ได้ว่าอะไร ย่าบอกว่าดีสิ มีเพื่อนมาเยอะๆ จะได้ช่วยกันเฝ้ายาม บาบูจะได้ไม่หลับ ในช่วง 10 ปีที่บาบูเป็นยามเฝ้าบ้านให้มีขโมยเข้าบ้าน 5 – 6 ครั้งได้ แต่ก็ไม่ได้เอาอะไรไปมาก เป็นการขโมยของจากรอบนอกตัวบ้าน ไม่ได้งัดแงะเข้ามาด้านในของที่พักอาศัย เวลามีเหตุการณ์ของหาย ย่าก็จะเรียกบาบูมาด่าเสียงดังไปสามบ้านแปดบ้านว่าไม่รู้จักเฝ้ายามให้ดี แต่ย่าก็ไม่เคยคิดจะไล่บาบูออก เพราะสำหรับย่าแล้ว การจ้างแขกเฝ้ายามคุ้มกว่าจ้างยามจากบริษัทรักษาความปลอดภัย ราคาค่าจ้างถูกกว่าเยอะ
ในช่วงที่ฉันเริ่มสนใจประเทศอินเดียและเดินทางเข้าออกประเทศนี้ตกปีละ 2 – 3 ครั้ง ฉันพบว่าอาชีพแขกเดินขายถั่วที่ประเทศอินเดียเองก็ไม่ได้เป็นอาชีพยอดฮิตอะไร คือมีให้เห็นตามท้องถนนบ้างล่ะแต่น้อยมากๆ และไม่ใช่ทุกเมือง ส่วนใหญ่ถ้าคนอินเดียอยากกินถั่ว เขาจะเข้าไปซื้อที่ตลาดหรือซื้อวัตถุดิบมาทำกินเอง
อินเดียถือเป็นประเทศที่มีประชากรกินมังสวิรัติเยอะมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถั่วเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของคนอินเดียเพราะเป็นแหล่งโปรตีน อย่างถั่วลูกไก่ (Chick Pea) ที่เอาไปทำแกงถั่ว กินคู่กับนานหรือโรตี ถือเป็นถั่วที่ให้พลังงานสูงกว่าถั่วประเภทอื่นๆ หรือแกงดาล (แกงกะหรี่ถั่ว) ซึ่งมีส่วนผสมของถั่วเลนทิลก็ถือเป็นเมนูสามัญประจำบ้านของคนอินเดียที่อย่างน้อยหนึ่งมื้อต่อวัน จะต้องมีอยู่บนโต๊ะอาหาร
ปัจจุบัน แขกขายถั่วในประเทศไทยเองแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว โดยคนอินเดียเหล่านี้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยก่อนศตวรรษที่ 19 มันคือช่วงเวลาของการอพยพย้ายถิ่นฐานสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่ เรื่องของแขกขายถั่วไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจ แต่ระหว่างเส้นทางชีวิตของการขายถั่ว มันยังเป็นเรื่องราวของวัฒนธรรมการกิน ประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยกับคนอินเดีย
เบอร์นาร์ด ถั่วในตำนาน มาธรรมศาสตร์ไม่เจอลุงเบอร์นาร์ด แปลว่ามาไม่ถึง

ลุงเบอร์นาร์ด ชาวอินเดียจากเมืองโกรักคปูร์ รัฐอุตตรประเทศ นั่งขายถั่วอยู่ที่ประตูทางเข้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มายาวนาน 52 ปีแล้ว โดยเริ่มขายมาตั้งแต่ พ.ศ. 2511
ปู่ของลุงเบอร์นาร์ดพาสมาชิกครอบครัวเดินทางย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ตอนลุงเบอร์นาร์ดอายุ 23 ปี จนปัจจุบัน ลุงเบอร์นาร์ดอายุ 75 ปี ความตั้งใจของปู่ในสมัยนั้น คืออยากเข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศไทยด้วยการประกอบอาชีพเลี้ยงวัวแถวทุ่งร้างบริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าเพื่อเอานมไปขาย จนต่อมาพอถูกทางการไล่ที่ ปู่และพ่อก็เลยต้องมองหาวิธีทำมาหากินในรูปแบบอื่น
พ่อของลุงเบอร์นาร์ดหันมาจับอาชีพขายถั่ว นั่งขายประจำอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป จนวันหนึ่งลุงเบอร์นาร์ดก็เดินตามรอยพ่อ ลุกขึ้นมาขายถั่วบ้าง โดยเริ่มจากการเช่าพื้นที่ตั้งโต๊ะขายถั่วที่ประตูทางเข้าด้านหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เสียค่าเช่าเดือนละ 50 บาท สมัยก่อนเวลามาขาย ลุงจะเทินโต๊ะไม้ไว้บนหัว เดินเท้าจากบ้านแถวสะพานพระปิ่นเกล้ามาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกว่าสมัยแรกๆ ที่มาขาย จะทิ้งโต๊ะไม้ไว้ที่มหาวิทยาลัยก็กลัวหาย เลยต้องใช้วิธีขนไปขนกลับ ต่อมาพออายุเยอะขึ้น นักศึกษาเห็นสภาพแกแล้วก็สงสาร เลยช่วยต่อโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ขึ้นให้ลุงเบอร์นาร์ดสำหรับเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัย พร้อมติดล้อให้ด้วยเพื่อง่ายต่อการเคลื่อนย้าย แถมมีสติกเกอร์โลโก้หน้าลุงเบอร์นาร์ดติดไว้ที่ข้างโต๊ะ


“สติกเกอร์นี่ นักศึกษาที่จบไปเป็นทนายเขาทำให้ ตอนทำเขาทำมาสองร้อยแผ่น แจกนักศึกษาไปหมดแล้ว”
แต่ก่อน ลุงเบอร์นาร์ดพูดภาษาไทยไม่ได้เลย แต่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยคอยสอนภาษาให้แกผ่านการนับเลขด้วยนิ้ว หนึ่งสองสามสี่ เวลาผ่านไป ลุงเบอร์นาร์ดก็พูดและฟังภาษาไทยได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงหนึ่งลุงเบอร์นาร์ดเคยถูกมหาวิทยาลัยขอที่คืน ไม่ให้ตั้งโต๊ะถั่วขาย นักศึกษาก็รวมตัวเขียนจดหมายไปยื่นให้คณบดีเซ็นอนุมัติ เลยทำให้ลุงเบอร์นาร์ดได้ขายถั่วต่อ ถามลุงว่าทำไมนักศึกษาที่นี่ถึงชอบช่วยลุงนัก ลุงตอบสั้นๆ
“ก็เขารักเรา”

ในช่วงเริ่มต้นอาชีพ ลุงเบอร์นาร์ดก็ใส่โสร่งเหมือนบาบูแขกเฝ้ายามที่บ้านฉันนั่นล่ะ แต่ทำไปทำมาก็ต้องเปลี่ยนเครื่องแบบ เพราะการใส่โสร่งขายถั่ว มันไม่ง่ายเลยสำหรับการใช้ชีวิต
“ใส่โสร่งทีไรหมามันเห่าไม่หยุด แต่ก่อนหมาในมหาวิทยาลัยเต็มเลย”
ในช่วงแรกเริ่มธุรกิจ ถั่วที่ลุงเบอร์นาร์ดขายจะมีถั่วเคลือบน้ำตาล ถั่วทอง ถั่วลิสง ถั่วปากอ้า ถั่วลันเตาเคลือบ โดยขายใส่ถุงกระดาษเล็กๆ ในราคาถุงละ 50 สตางค์ ก่อนที่จะเพิ่มราคาขึ้นมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันขายในราคา 20 บาทต่อถุง


ทุกวันนี้ของลุงเบอร์นาร์ด ลุงจะนั่งขายถั่วที่ประตูทางเข้าของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ 11 โมงเช้าไปจน 6 โมงเย็น จากนั้นพอ 6 โมงเย็นไปถึง 6 โมงเช้า ลุงจะไปเฝ้ายามต่อที่โรงพิมพ์สามเจริญพาณิชย์ตรงจรัญสนิทวงศ์ ฟังตารางชีวิตของลุงแล้วก็งงว่าแล้วลุงเอาเวลาตอนไหนนอน
“บางทีก็มานั่งหลับเอาตอนขายถั่วนั่นล่ะ เดี๋ยวพอนักศึกษาจะซื้อถั่ว เขาก็ปลุกเอง”
สำหรับฉัน ชื่อเบอร์นาร์ดเป็นชื่อที่แปลกมากสำหรับการตั้งชื่อคนอินเดีย เพราะเท่าที่รู้จักคนอินเดียมาก็ยังไม่เคยเจอใครใช้ชื่อนี้เลย พูดถึงชื่อผู้ชายอินเดีย ชื่อที่จะแวบขึ้นมาในหัวทันทีก็จะประมาณอรัญ ราจ หรือไม่ก็สิงห์ สิงห์นี่เจอถี่มาก เคยมีบางวันเดินอยู่ในอินเดีย ฉันเคยเจอคนชื่อสิงห์ในวันเดียวกันถึง 4 คน
ลุงว่าชื่อเบอร์นาร์ดเป็นชื่อที่พ่อแม่ลุงตั้งให้ ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ว่าพ่อลุงตั้งใจตั้งชื่อนี้ให้เป็นชื่อแบบคนอังกฤษ พอถามถึงความหมาย ลุงบอก “เบอร์นาร์ดแปลว่าผี” อันนี้ฉันก็เพิ่งเคยได้ยินนี่ล่ะ และจริงๆ ฉันว่าลุงต้องมีชื่ออินเดียอีกชื่อสิ แต่แกอาจจะขี้เกียจบอก
ก่อนกลับ ฉันอุดหนุนถั่วของลุงเบอร์นาร์ด ถั่วทองบนโต๊ะไม้ของลุงทำให้ฉันนึกถึงบาบู ป่านนี้ไม่รู้บาบูไปอยู่ที่ไหนของโลกแล้ว ตลอดเวลาที่นั่งคุยกับลุงเบอร์นาร์ด ฉันสังเกตเห็นนักศึกษาที่เดินผ่านไปมา แม้ใครจะไม่แวะซื้อถั่วก็ต้องชำเลืองสบสายตากับลุงเพื่อเป็นการทักทาย
“ลุงแกเป็นคนดัง พวกนักศึกษาที่เรียนจบไปแล้ว เวลากลับเยี่ยมมหาลัยก็ต้องแวะมาถ่ายรูปกับแก ลุงเบอร์นาร์ดเนี่ยเป็นปูชนียบุคคลนะ” คุณป้าแม่บ้านที่กำลังกวาดพื้นอยู่ ส่งเสียงออกความเห็น
บังแจ๋ว ตำนานถั่วทอดโบราณเตาถ่านกระทะเหล็ก เจ้าเดียวบนถนนดินสอ

‘บังแจ๋ว’ เป็นชื่อที่ลูกค้าซึ่งรู้จักเจ้าของร้านถั่วทอดโบราณเจ้านี้มายาวนานใช้เรียกกัน คำว่าบัง จริงๆ เป็นภาษามลายู แปลว่าพี่ชาย
บังแจ๋วเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย พ่อของบังมาจากเมืองโกรักคปูร์ เมืองเดียวกับครอบครัวของลุงเบอร์นาร์ด พอมาเจอกับแม่ซึ่งเป็นชาวนนทบุรี ทั้งสองก็แต่งงานกัน
“พ่อผมเป็นคนสู้ชีวิตนะ ตอนแกมาเห็นเมืองไทยแกบอกเอาล่ะแกไม่อดตายแล้ว อยู่อินเดียมันยากจน แต่เมืองไทยมีทุกอย่าง มีต้นไม้มีความอุดมสมบูรณ์ และคนไทยก็มีน้ำใจ”
ในช่วงที่อินเดียตกอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ พ่อของบังแจ๋วถูกเกณฑ์เป็นทหารให้เข้ามายังประเทศไทยผ่านเส้นทางของประเทศพม่า จนเมื่อสงครามยุติ อังกฤษก็ส่งพ่อของบังแจ๋วกลับไปอยู่ที่ประเทศอินเดีย แต่ด้วยความที่พ่อติดใจเมืองไทยมาก พ่อรู้สึกว่าประเทศนี้ล่ะจะเป็นหมุดหมายของครอบครัวในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ พ่อก็เลยทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองได้พาครอบครัวกลับเข้ามายังประเทศไทยอีกครั้ง
“จบสงคราม เขาส่งพ่อกลับไปอินเดีย พ่อก็ดั้นด้นกลับมาเมืองไทยเอง นั่งเรือหาปลาออกมาจากทางโกลกาตา เบียดกันมาในเรือเหมือนพวกโรฮีนจานั่นล่ะ ใช้วิธีลงที่แม่สอดและเดินเท้าต่อมาที่กรุงเทพฯ กลางคืนเดินกลางวันนอน เพราะกลางวันมันร้อนเดินไม่ได้ ใช้เวลาเดินทั้งหมดเป็นสิบวัน ลำบากมาก แต่ก็ต้องยอมเพื่อชีวิตที่ดีกว่า แล้วคนคนหนึ่งไม่ได้เลี้ยงแค่ตัวเองนะ ต้องหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัว รุ่นพ่อผมที่เข้ามาด้วยกันตอนนั้นมีร้อยกว่าคน”
พ่อบังแจ๋วไปทำงานเป็นแขกขายผ้า เดินแบกผ้าเป็นพับๆ ขายอยู่ที่พาหุรัด ขายไปขายมารายได้ไม่ค่อยดี พ่อเลยเปลี่ยนไปทำอาชีพยอดฮิตคือเป็นแขกเฝ้ายาม

“ก็จะให้ทำอะไรล่ะ คนอินเดียเข้ามาเมืองไทยสมัยนั้น อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มันก็มีอยู่ไม่กี่อาชีพหรอกที่จะทำได้”
หลังออกจากอาชีพเฝ้ายาม พ่อบังแจ๋วหันมาขายถั่ว เทินโต๊ะขายถั่วไว้บนหัวเดินขายตามถนนในเยาวราช จนต่อมาก็ย้ายไปขายประจำที่หน้าโรงเรียนอำนวยศิลป์ วันหนึ่งอายุเยอะขึ้นเดินขายไม่ไหว ก็เอาเงินที่ออมไว้ในช่วงหลายปีมาลงทุนเช่าตึกบนถนนดินสอไว้พักอาศัยและต่อมาก็เปิดเป็นร้านขายถั่ว
“แต่ก่อน ตึกแถวนี้มันถูกกั้นเป็นคอกๆ หมดเลยนะเพื่อเอาไว้พักม้า เป็นที่ผูกรถม้าสำหรับเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาวัดบวรฯ จนช่วงที่เมืองไทยเริ่มมีรถยนต์ พระองค์ก็พระราชทานที่ดินคืนให้กับวัดบวรฯ พวกอาคารพาณิชย์ให้เช่าก็ถูกสร้างขึ้น ค่าเช่าสมัยนั้นเดือนละบาทเอง”
บังแจ๋วเรียนจบมาจากโรงเรียนช่างกลวิทยา ดินแดง ช่วงเรียนจบใหม่ๆ บังแจ๋วไปทำงานอยู่ที่โรงงานทอผ้าของเจ้าของธุรกิจชาวอินเดีย หน้าที่ของบังแจ๋วคือเป็นหัวหน้าคุมคนงานทอผ้า วันหนึ่งพ่อบังแจ๋วให้บังแจ๋วลาออกจากงานมาขายถั่วซึ่งถือเป็นกิจการของครอบครัว โดยพ่อจะนั่งขายประจำอยู่ที่ร้าน ส่วนบังแจ๋วก็เอาถั่วไปขายที่หน้าโรงเรียนอำนวยศิลป์แทนพ่อ


หลังพ่อเสียชีวิต บังแจ๋วมารับช่วงดูแลกิจการแบบเต็มตัว จนวันนี้ร้านถั่วทอดโบราณ ถนนดินสอ เปิดมายาวนาน 60 ปีแล้ว ประเภทถั่วที่ขายมีถั่วทอง ถั่วลันเตา ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว (เมล็ด) ถั่วปากอ้า ถั่วเคลือบน้ำตาล
ถามว่าอาหารประเภทถั่วทอด จะมีคนมาซื้อกินทุกวันขนาดเป็นรายรับในแต่ละเดือนที่เลี้ยงชีวิตคนทั้งครอบครัวได้จริงเหรอ ไหนจะค่าเช่าตึก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ซึ่งบางวันลูกสาวบังแจ๋วจะเป็นคนนั่งขาย
“ได้สิ ลูกค้าก็สลับหมุนเวียนมา ขาประจำก็มีนะ บางคนกินทุกวันเลย เขาบอกกินถั่วดีกว่ากินข้าวอีก มันมีประโยชน์ ยิ่งวันไหนมีม็อบนี่ยิ่งขายดี ผมจะบอกให้นะ ตราบใดที่เราไม่เล่นการพนันไม่เล่นหวย จะขายได้น้อยแค่ไหนมันก็อยู่ได้ เคยได้ยินคำนี้ไหมล่ะ โบราณเขาว่ามือทำให้รวย หวยทำให้จน”
เทคนิคการทอดถั่วให้อร่อยของบังแจ๋ว คือน้ำมันต้องสะอาดและต้องใช้น้ำมันใหม่เท่านั้น การทอดด้วยกระทะเหล็กและเตาถ่านช่วยให้สีของถั่วทอดน่ากิน ส่งกลิ่นหอม ส่วนน้ำมันเก่าที่ใช้ทอดแล้ว บังแจ๋วจะไม่ใช้ซ้ำ ในทุกวันจะมีคนมารับซื้อน้ำมันเก่ากิโลกรัมละ 10 บาท เพื่อนำไปทอดปลาเค็ม