Aarong คือชื่อของเครือร้านค้าปลีกแนว Lifestyle Shop ที่โด่งดังของบังกลาเทศ หลังก่อตั้งใน ค.ศ. 1978 ปัจจุบันแบรนด์มีหน้าร้านกว่า 20 แห่งทั่วบังกลาเทศ มีสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มากกว่า 100 รูปแบบ
ความพิเศษคือ สินค้าทุกชิ้นใน Aarong เป็นงานฝีมือจากฝีมือของช่างท้องถิ่นในประเทศหลายหมื่นคน

ใน ค.ศ. 2020 ที่หลายคนคงคุ้นตากับเรื่องราวที่แบรนด์หยิบผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นมาจำหน่าย และช่วยให้ชาวบ้านชีวิตดีขึ้น เราอยากชวนดูกรณีศึกษาของ Aarong ที่ยืนหยัดเติบโตมานานกว่า 40 ปี สร้างงานให้เหล่าช่างฝีมือท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง ยั่งยืน และเก็บรักษาภูมิปัญญาหลากแขนงไปพร้อมกัน
เมื่อลองสำรวจแนวคิดที่ซ่อนอยู่ เราพบว่าผลลัพธ์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการออกแบบแบรนด์ที่คิดมาดีและรอบด้าน


‘ตลาด’ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อและช่องทางเติบโต
แบรนด์ Aarong ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเห็นโอกาสเมื่องานฝีมือกลายเป็นเทรนด์
แต่เกิดจากปัญหาสังคมแท้ๆ นั่นคือปัญหาความยากจนของท้องถิ่น
จุดเริ่มต้นของ Aarong เกิดขึ้นจาก BRAC องค์กรด้านการพัฒนารายใหญ่ที่สุดของโลกอยากยกระดับชีวิตผู้หญิงในชนบท โดยให้พวกเธอสร้างสรรค์งานฝีมือแล้วนำไปส่งขายกับร้านค้าปลีกที่มีอยู่ไม่เยอะและกระจัดกระจาย แต่ผู้ซื้อเหล่านั้นจ่ายเงินล่าช้า
BRAC จึงต้องหาทางแก้ปัญหา
Aarong ซึ่งเป็นภาษาเบงกาลีแปลว่า Village Fair จึงถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตลาดจำหน่ายงานฝีมือที่ช่วยให้บริหารการจ่ายค่าสินค้าได้ตรงเวลา โดยนอกจากหน้าร้าน 20 แห่งทั่วบังกลาเทศ Aarong ยังมีเว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นตลาดออนไลน์ ซึ่งช่วยขยายขอบเขตธุรกิจสู่นอกประเทศ
งานฝีมือจากชุมชนรายได้น้อยจึงมีช่องทางไปถึงมือผู้บริโภคได้กว้างขวาง



‘สินค้า’ คุณภาพสูงและร่วมสมัย
แม้จะมีตลาด หากสินค้าไม่ดีจริง ธุรกิจก็ไม่อาจยืนระยะและเติบโตได้
Aarong ตั้งใจผลิตงานที่มีมาตรฐานสูง มีการคุมคุณภาพชัดเจน ไม่มีเหตุผลว่าคุณภาพไม่สม่ำเสมอเพราะเป็นงานทำมือ ผู้บริโภคจึงวางใจได้ว่า ไม่ว่าจะซื้อสินค้าไหนของ Aarong กลับบ้าน สิ่งที่กลับไปพร้อมกันคือคุณภาพคับชิ้น ขณะที่ผู้ผลิตซึ่งทำงานคุณภาพเยี่ยมออกมา ทางแบรนด์ก็รับซื้อด้วยราคายุติธรรม เรียกว่า Win-Win ทั้งสองฝ่าย
และนอกจากคุณภาพสินค้า อีกสิ่งที่ Aarong คำนึงถึง คือการใช้งานได้จริงในบริบทปัจจุบัน
ของในร้าน Aarong นั้นล้วนมีรากมาจากภูมิปัญญาในวันวาน หากต้องการให้อยู่รอด ย่อมต้องช่วยให้อยู่ร่วมกับคนเมืองในวันนี้ได้กลมกลืน

ก่อนผลิตสินค้า ทางแบรนด์จึงมีทีมนักออกแบบคิดคอนเซปต์ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ก่อนนำคอนเซปต์นั้นไปให้ช่างฝีมือท้องถิ่นเป็นผู้ผลิต เช่น ในการทำเครื่องประดับ คอนเซปต์ตั้งต้นจะมาจากนักออกแบบ ขณะที่ช่างฝีมือมีสิทธิ์ในการควบคุมกระบวนการสร้างสรรค์ที่เหลือทั้งหมด
หรืองานฝีมืออย่าง Nakshi Kantha ซึ่งเป็นงาน Quilt เนื้อเบาที่ผู้หญิงท้องถิ่นของบังกลาเทศถักทอในเวลาว่าง ก็ได้รับการต่อยอดให้นำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน ขณะที่ยังคงเอกลักษณ์ของงานฝีมือไว้
สินค้าของ Aarong จึงเป็นการผสมผสานแนวทางจากนักออกแบบและช่างฝีมือ หรือพูดอีกอย่างคือส่วนผสมของความร่วมสมัยและภูมิปัญญา ทำให้ลูกค้าคนเมืองได้สินค้าที่ถูกใจ ใช้ได้จริง ขณะที่วิชาซึ่งตกทอดในท้องถิ่นก็ไม่เลือนหายตามวันเวลา
‘คน’ ประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการดูแลรอบด้าน
Aarong ไม่ได้มองว่าช่างฝีมือท้องถิ่นเป็นแค่ลูกมือของนักออกแบบหรือผู้ผลิตของตามออร์เดอร์ แต่คือผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนา
นอกจากทำงานร่วมกันและเป็นช่องทางสร้างมูลค่าให้ผลงานของพวกเขา ทางแบรนด์จึงมีโปรแกรมพัฒนาทักษะเหล่าช่างฝีมือเพื่อยกระดับทักษะให้ได้มาตรฐานของตลาด
มากกว่ารายได้ ช่างฝีมือที่ทำงานกับ Aarong จึงมีโอกาสพัฒนาตัวเอง
ยิ่งกว่านั้น แบรนด์ร้านค้าไลฟ์สไตล์นี้ยังดูแลคนอย่างรอบด้านมากกว่ามิติการงาน


Aarong ทำงานร่วมกับมูลนิธิ Ayesha Abed ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมด้านการผลิตของแบรนด์ นอกจากช่างฝีมือท้องถิ่นจะหางานได้จากที่นี่ พวกเขายังเข้าถึงบริการสนับสนุนแบบองค์รวมของ BRAC ได้ ตั้งแต่เงินกู้แบบ Micro-credit ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ไปจนถึงการดูแลสุขภาพแม่ตั้งครรภ์ และสถานที่รับเลี้ยงเด็กในช่วงกลางวัน
เมื่อพูดถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต Aarong จึงเป็นตัวอย่างของการไม่ได้ให้เพียงรายได้ แต่เป็นการยกระดับอย่างเต็มความหมาย ด้วยให้ความช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ชีวิตคนในองค์กร
และเพราะอย่างนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘พนักงาน’ ของ Aarong หลายคนไม่คิดเปลี่ยนงาน แต่อยู่คู่กับแบรนด์ไปยาวนาน


‘แบรนด์’ ที่เติบโตไปพร้อมการช่วยสังคม
เมื่อ 15 ปีก่อน Shondhya Rani Sarkar คือแม่หม้ายวัยสาวที่ไม่มีรายได้มาเลี้ยงลูก เธอได้ร่วมกลุ่ม Microfinance ของ BRAC ก่อนได้รับคำแนะนำให้เข้าทำงานกับ Aarong
15 ปีผ่านไป หญิงสาวคนนั้นกลายเป็นหนึ่งในช่างพิมพ์ลวดลายจากบล็อกที่มีประสบการณ์สูงสุด เธอคอยฝึกฝนพนักงานหน้าใหม่ ขณะที่มีรายได้มั่นคงมาเลี้ยงดูลูก
ในวันนี้ Aarong ช่วยสนับสนุนชีวิตของช่างฝีมืออย่าง Shondya กว่า 65,000 คนทั่วบังกลาเทศ ซึ่ง 85 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนี้คือกลุ่มแรงงานสตรี เมื่อมองในภาพใหญ่ มีผู้ได้รับประโยชน์จากการมีอยู่ของแบรนด์ทั้งทางตรงและอ้อมกว่า 320,000 คน
และจากการเป็นแบรนด์ยอดฮิตในประเทศ Aarong ยังคงเติบโตต่อไปผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และเครือข่ายด้าน Fair-trade
Aarong จึงนับเป็นอีกหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า ธุรกิจเติบโตไปพร้อมมิติการช่วยเหลือสังคมได้
พูดอีกอย่างคือ การช่วยเหลือสังคมนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบที่ขยายผลและยั่งยืนได้ หากได้รับการออกแบบที่ดี

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาฯ มีโครงการ DESIGN FOR COMMUNITY LIVELIHOOD ซึ่งมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการออกแบบระบบพัฒนาสัมมาชีพชุมชน โดยหนึ่งในกิจกรรมของโครงการคือ เสวนาหัวข้อ “LOCAL MEETS GLOBAL ท้องถิ่นสู่สากล” ในวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2653. เวลา 15.00 – 17.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดออนไลน์หรือดูย้อนหลังได้ที่นี่