Aarong คือชื่อของเครือร้านค้าปลีกแนว Lifestyle Shop ที่โด่งดังของบังกลาเทศ หลังก่อตั้งใน ค.ศ. 1978 ปัจจุบันแบรนด์มีหน้าร้านกว่า 20 แห่งทั่วบังกลาเทศ มีสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์มากกว่า 100 รูปแบบ

ความพิเศษคือ สินค้าทุกชิ้นใน Aarong เป็นงานฝีมือจากฝีมือของช่างท้องถิ่นในประเทศหลายหมื่นคน

Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน

ใน ค.ศ. 2020 ที่หลายคนคงคุ้นตากับเรื่องราวที่แบรนด์หยิบผลิตภัณฑ์จากชุมชนท้องถิ่นมาจำหน่าย และช่วยให้ชาวบ้านชีวิตดีขึ้น เราอยากชวนดูกรณีศึกษาของ Aarong ที่ยืนหยัดเติบโตมานานกว่า 40 ปี สร้างงานให้เหล่าช่างฝีมือท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง ยั่งยืน และเก็บรักษาภูมิปัญญาหลากแขนงไปพร้อมกัน

เมื่อลองสำรวจแนวคิดที่ซ่อนอยู่ เราพบว่าผลลัพธ์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการออกแบบแบรนด์ที่คิดมาดีและรอบด้าน

Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน
Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน

 ‘ตลาด’ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อและช่องทางเติบโต

แบรนด์ Aarong ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเห็นโอกาสเมื่องานฝีมือกลายเป็นเทรนด์

แต่เกิดจากปัญหาสังคมแท้ๆ นั่นคือปัญหาความยากจนของท้องถิ่น

จุดเริ่มต้นของ Aarong เกิดขึ้นจาก BRAC องค์กรด้านการพัฒนารายใหญ่ที่สุดของโลกอยากยกระดับชีวิตผู้หญิงในชนบท โดยให้พวกเธอสร้างสรรค์งานฝีมือแล้วนำไปส่งขายกับร้านค้าปลีกที่มีอยู่ไม่เยอะและกระจัดกระจาย แต่ผู้ซื้อเหล่านั้นจ่ายเงินล่าช้า

BRAC จึงต้องหาทางแก้ปัญหา

Aarong ซึ่งเป็นภาษาเบงกาลีแปลว่า Village Fair จึงถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นตลาดจำหน่ายงานฝีมือที่ช่วยให้บริหารการจ่ายค่าสินค้าได้ตรงเวลา โดยนอกจากหน้าร้าน 20 แห่งทั่วบังกลาเทศ Aarong ยังมีเว็บไซต์ทำหน้าที่เป็นตลาดออนไลน์ ซึ่งช่วยขยายขอบเขตธุรกิจสู่นอกประเทศ

งานฝีมือจากชุมชนรายได้น้อยจึงมีช่องทางไปถึงมือผู้บริโภคได้กว้างขวาง

Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน
Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน
Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน

‘สินค้า’ คุณภาพสูงและร่วมสมัย

แม้จะมีตลาด หากสินค้าไม่ดีจริง ธุรกิจก็ไม่อาจยืนระยะและเติบโตได้

Aarong ตั้งใจผลิตงานที่มีมาตรฐานสูง มีการคุมคุณภาพชัดเจน ไม่มีเหตุผลว่าคุณภาพไม่สม่ำเสมอเพราะเป็นงานทำมือ ผู้บริโภคจึงวางใจได้ว่า ไม่ว่าจะซื้อสินค้าไหนของ Aarong กลับบ้าน สิ่งที่กลับไปพร้อมกันคือคุณภาพคับชิ้น ขณะที่ผู้ผลิตซึ่งทำงานคุณภาพเยี่ยมออกมา ทางแบรนด์ก็รับซื้อด้วยราคายุติธรรม เรียกว่า Win-Win ทั้งสองฝ่าย

และนอกจากคุณภาพสินค้า อีกสิ่งที่ Aarong คำนึงถึง คือการใช้งานได้จริงในบริบทปัจจุบัน

ของในร้าน Aarong นั้นล้วนมีรากมาจากภูมิปัญญาในวันวาน หากต้องการให้อยู่รอด ย่อมต้องช่วยให้อยู่ร่วมกับคนเมืองในวันนี้ได้กลมกลืน

Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน

ก่อนผลิตสินค้า ทางแบรนด์จึงมีทีมนักออกแบบคิดคอนเซปต์ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ก่อนนำคอนเซปต์นั้นไปให้ช่างฝีมือท้องถิ่นเป็นผู้ผลิต เช่น ในการทำเครื่องประดับ คอนเซปต์ตั้งต้นจะมาจากนักออกแบบ ขณะที่ช่างฝีมือมีสิทธิ์ในการควบคุมกระบวนการสร้างสรรค์ที่เหลือทั้งหมด

หรืองานฝีมืออย่าง Nakshi Kantha ซึ่งเป็นงาน Quilt เนื้อเบาที่ผู้หญิงท้องถิ่นของบังกลาเทศถักทอในเวลาว่าง ก็ได้รับการต่อยอดให้นำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน ขณะที่ยังคงเอกลักษณ์ของงานฝีมือไว้

สินค้าของ Aarong จึงเป็นการผสมผสานแนวทางจากนักออกแบบและช่างฝีมือ หรือพูดอีกอย่างคือส่วนผสมของความร่วมสมัยและภูมิปัญญา ทำให้ลูกค้าคนเมืองได้สินค้าที่ถูกใจ ใช้ได้จริง ขณะที่วิชาซึ่งตกทอดในท้องถิ่นก็ไม่เลือนหายตามวันเวลา

‘คน’ ประสิทธิภาพสูงที่ได้รับการดูแลรอบด้าน

Aarong ไม่ได้มองว่าช่างฝีมือท้องถิ่นเป็นแค่ลูกมือของนักออกแบบหรือผู้ผลิตของตามออร์เดอร์ แต่คือผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนา

นอกจากทำงานร่วมกันและเป็นช่องทางสร้างมูลค่าให้ผลงานของพวกเขา ทางแบรนด์จึงมีโปรแกรมพัฒนาทักษะเหล่าช่างฝีมือเพื่อยกระดับทักษะให้ได้มาตรฐานของตลาด

มากกว่ารายได้ ช่างฝีมือที่ทำงานกับ Aarong จึงมีโอกาสพัฒนาตัวเอง

ยิ่งกว่านั้น แบรนด์ร้านค้าไลฟ์สไตล์นี้ยังดูแลคนอย่างรอบด้านมากกว่ามิติการงาน

Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน
Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน

Aarong ทำงานร่วมกับมูลนิธิ Ayesha Abed ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมด้านการผลิตของแบรนด์ นอกจากช่างฝีมือท้องถิ่นจะหางานได้จากที่นี่ พวกเขายังเข้าถึงบริการสนับสนุนแบบองค์รวมของ BRAC ได้ ตั้งแต่เงินกู้แบบ Micro-credit ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ไปจนถึงการดูแลสุขภาพแม่ตั้งครรภ์ และสถานที่รับเลี้ยงเด็กในช่วงกลางวัน

เมื่อพูดถึงการยกระดับคุณภาพชีวิต Aarong จึงเป็นตัวอย่างของการไม่ได้ให้เพียงรายได้ แต่เป็นการยกระดับอย่างเต็มความหมาย ด้วยให้ความช่วยเหลือที่ตอบโจทย์ชีวิตคนในองค์กร

และเพราะอย่างนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ ‘พนักงาน’ ของ Aarong หลายคนไม่คิดเปลี่ยนงาน แต่อยู่คู่กับแบรนด์ไปยาวนาน

Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน

‘แบรนด์’ ที่เติบโตไปพร้อมการช่วยสังคม

เมื่อ 15 ปีก่อน Shondhya Rani Sarkar คือแม่หม้ายวัยสาวที่ไม่มีรายได้มาเลี้ยงลูก เธอได้ร่วมกลุ่ม Microfinance ของ BRAC ก่อนได้รับคำแนะนำให้เข้าทำงานกับ Aarong 

15 ปีผ่านไป หญิงสาวคนนั้นกลายเป็นหนึ่งในช่างพิมพ์ลวดลายจากบล็อกที่มีประสบการณ์สูงสุด เธอคอยฝึกฝนพนักงานหน้าใหม่ ขณะที่มีรายได้มั่นคงมาเลี้ยงดูลูก

ในวันนี้ Aarong ช่วยสนับสนุนชีวิตของช่างฝีมืออย่าง Shondya กว่า 65,000 คนทั่วบังกลาเทศ ซึ่ง 85 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนนี้คือกลุ่มแรงงานสตรี เมื่อมองในภาพใหญ่ มีผู้ได้รับประโยชน์จากการมีอยู่ของแบรนด์ทั้งทางตรงและอ้อมกว่า 320,000 คน 

และจากการเป็นแบรนด์ยอดฮิตในประเทศ Aarong ยังคงเติบโตต่อไปผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และเครือข่ายด้าน Fair-trade 

Aarong จึงนับเป็นอีกหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า ธุรกิจเติบโตไปพร้อมมิติการช่วยเหลือสังคมได้

พูดอีกอย่างคือ การช่วยเหลือสังคมนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบที่ขยายผลและยั่งยืนได้ หากได้รับการออกแบบที่ดี

Aarong ร้านไลฟ์สไตล์สุดป๊อปของบังคลาเทศที่ช่วยยกระดับชีวิตช่างฝีมือท้องถิ่นกว่า 65,000 คน

www.aarong.com

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาฯ มีโครงการ DESIGN FOR COMMUNITY LIVELIHOOD ซึ่งมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านการออกแบบระบบพัฒนาสัมมาชีพชุมชน โดยหนึ่งในกิจกรรมของโครงการคือ เสวนาหัวข้อ “LOCAL MEETS GLOBAL ท้องถิ่นสู่สากล” ในวันพุธที่ 8 กรกฎาคม 2653. เวลา 15.00 – 17.00 น. ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดออนไลน์หรือดูย้อนหลังได้ที่นี่

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S