11 กุมภาพันธ์ 2021
5 K

ตุ้งแช่ ตุ้งแช่ ตุ้งแช่ตุ้งแช่ตุ้งแช่

จังหวะกลองรัวเร้าอารมณ์ราวกับกำลังปลุกชีพจรให้สิงโตตัวใหญ่ออกมาวาดลวดลายทะเล้นซุกซน 

ไม่ต่างกับหัวใจของชายวัย 72 ที่กำลังพองโต เมื่อสองมือของเขาสัมผัสโครงไม้ไผ่ คราบกาว ผิวกระดาษ และสิ่งละพันอันน้อยที่ประกอบกันเป็นหัวสิงโต ความประณีต-คือไม้ตาย ที่ทำให้เขาโลดแล่นในวงการกว่า 50 ปี

รัวกลองต้อนรับ วิชัย รอดเกิด หรือ อาจารย์โจ ตลาดพลู ช่างฝีมือทำหัวสิงโตประสบการณ์ 5 ทศวรรษ ชายคนนี้เติบโตท่ามกลางดงสิงโต วัยหนุ่มเป็นบาร์เทนเดอร์ย่านพัฒน์พงษ์ ก่อนรื้อฟื้นความชอบสมัย 10 ขวบมาผนวกกับทักษะงานฝีมือที่อาศัยครูพักลักจำ พาชีวิตออกคำรามจนเป็นที่รู้จักทั่วศาลเจ้าประเทศไทย ฮ่องกง และเวียดนาม 

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

“รกหน่อยนะ บ้านช่างก็อย่างนี้แหละ” เขายิ้มอย่างอารมณ์ดี 

เรากวาดสายตารอบห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า แทบไม่มีพื้นที่ว่าง มุมนั้นมีหัวสิงโตที่ประกอบเสร็จแล้ว มุมโน้นมีโครงหัวสิงโตแปะกระดาษสีขาวรอวาดลาย บนพื้นระเกะระกะด้วยสารพัดเครื่องมือ ไม้ไผ่เหลา ลวด กระดาษ สีโปสเตอร์ ตรงหน้ามีเก้าอี้ไม้ตัวเล็ก เป็นตำแหน่งประจำการของช่างฝีมือและลูกน้องเหมียวอีกสองตัว (ฟูฟู หมี่เหลือง)

“ขอเรียกช่างโจได้มั้ยคะ” เราขออนุญาต

“ได้ ช่างโจ ตลาดพลู” นายช่างพยักหน้าพร้อมย้ำฉายาประจำตัว

พลางต่อบทสนทนา มือของเขาก็ง่วนอยู่กับการพันกระดาษ จนเราอดไม่ได้ที่จะชวนช่างฝีมือระดับพระกาฬย้อนถึงความทรงจำแรก เสียงกลองใบแรก หัวสิงโตหัวแรก จวบจนวันนี้ วันที่หัวสิงโตยังคงสร้างชื่อให้ โจ ตลาดพลู

ช่างโจ สิงโต และ ถิ่นที่อยู่

“เราเกิดตลาดพลู เป็นคนไทยอยู่ในกลุ่มคนจีน สมัยก่อนตลาดพลูแห่สิงโตแทบทุกวัน ยิ่งช่วงเข้าพรรษา จะมีสิงโตเล่นเป็นสิบคณะ เราอยู่กับดงสิงโต ชอบมาตั้งแต่เล็ก สิบกว่าขวบก็ชอบแล้ว” เขาเท้าความทรงจำ

เด็กชายวิชัยชอบมากขนาดที่ว่าหยิบดินมาปั้นหัวสิงโต คว้าหนังหมูมาขึงทำกลอง

“สมัยก่อนหนังหมูไม่มีราคา สมัยนี้เป็นลาบไปหมดแล้ว” อาจารย์โจหัวเราะร่า

“เราเอาหนังหมูมาขึงบนกระป๋องสีแล้วใช้ลวดพัน พันเสร็จก็ตากแดด พอแห้งหนังจะตึงเป๊ะเลย เด็กฝั่งธนฯ ตีเล่นกันอย่างนั้นแหละ เสียงดังด้วย ตอนนั้นเราทำเพราะความชอบ ถ้าให้ไปซื้อของจริงคงไม่มีปัญญาหรอก”

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

วิชัยเก็บความชอบใส่กระเป๋า พอแตกเนื้อหนุ่มเขายื่นสมัครงานบาร์เทนเดอร์ควบแคชเชียร์ เปลี่ยนสายงานมาเป็นไกด์นำเที่ยวให้กับบริษัทสวีเดน จนชีวิตวกกลับมาจุดเริ่มต้น ‘ตลาดพลู’ จุดที่ความฝันของเขาเบ่งบาน

 “ช่วงแรกเราเล่นเองก่อน มีคณะของเพื่อน ชื่อคณะสิงโตลูกพิชัยดาบหัก แถววัดราชคฤห์วรวิหาร (วัดมอญ) ที่นั่นมีสิงโตอยู่สามคณะ มีคณะสิงโตลูกเจ้าพ่อเขาตก คณะสิงโตลูกพระเพลิง แล้วก็คณะเรา พรรคพวกรู้จักกันหมด แต่แปลกอยู่อย่าง สิงโตพอแต่งชุดแล้วมันเขม่นกัน จะซัดกันอยู่เรื่อย ทั้งที่นอนกอดคอมาด้วยกัน เหมือนสิงโตมันสิงเรา

“เชิดอยู่พักหนึ่งก็ไม่เอา มาเป็นมือกลอง ชอบจังหวะกลองมากกว่า” อดีตมือกลองเล่า

เมื่อ 50 ปีก่อน หัวสิงโตที่ใช้เชิดนำเข้าจากจีนและทำมือจากช่างฝีมือไทย ทำด้วยรูปแบบเรียบง่าย อาจารย์โจว่าแบบนั้นยังไม่เข้าตา ด้วยความหลงใหลสิงโตมาตั้งแต่เด็ก เขาอยากเป็นคนหนึ่งที่เข้ามาแปลงโฉมสิงโตไทย

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

“พอดีเราเห็นหนังข่าวเกี่ยวกับการเปิดธนาคารแล้วเขาเอาสิงโตไปเชิด เชื่อมั้ย เราไปโรงหนังศรีตลาดพลูทุกวันหนังมีกี่รอบเราเข้าไปดูหมด ดูข่าวอย่างเดียวแล้วก็ออก ไปดูเขาเชิด ดูหัวสิงโต หัวสวยมาก ดูจนจำได้

“มันจุดประกายนะ” นายช่างเว้นช่วงก่อนเล่าจุดเริ่มต้น “กลับบ้านก็หาไม้ หัดผูก เราใช้สายสิญจน์เป็นม้วนตัดเป็นท่อน มาพันโครงแล้วยึดด้วยแป้งเปียก กระดาษก็ใช้กระดาษว่าว พวกขนเครื่องประดับยังไม่มี สมัยนั้นไม่มีใครสอน ก็ยืนดูจากคนที่เขาทำเป็น พักหลังแกต้องมาให้เราทำ เพราะแกไม่พัฒนาฝีมือ ทำทรงไหนทรงนั้น แล้วหัวสิงโตของไทยไม่เหมือนกับหัวสิงโตเมืองนอก งานบ้านเราไม่ค่อยละเอียด เราเลยต้องหนีแบบเดิม สไตล์ที่เขาทำกันเราทิ้งหมดเลย”

หัวแรกของช่างโจกลับไม่ใช่หัวสิงโต แต่เป็นหัวมังกรที่ทำให้ศาลเจ้าพ่อพระเพลิงตลาดพลู ความสนุกอยู่ตรงนี้ คนอยากทำหัวสิงโตมาทั้งชีวิต ดันเจอลูกอ้อนขอความช่วยเหลือจากพรรคเพื่อนให้ทำหัวมังกร ตายละวา แบบก็ไม่มี แต่โชคดี อาชีพบาร์เทนเดอร์ทำให้รู้จักฝรั่งคนหนึ่ง เลยไหว้วานว่า ถ้าคุณไปต่อวีซ่าเมื่อไหร่ ฝากหยิบโบรชัวร์จากเคาน์เตอร์มาให้ที เพราะในโบรชัวร์มักมีโฆษณาการท่องเที่ยว พอได้แบบจากโบรชัวร์ ช่างโจก็ลงมือทำทันที

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

“หัวแรกของตลาดพลูเราเป็นคนทำ ยังไม่ค่อยสวย ปากขยับไม่ได้ เพราะทำหัวทรงฮ่องกง แต่เขาดูกันก็ว่าสวย ตอนนี้ยังเถียงกันอยู่เลยว่าหัวแรกทำที่นู่น ทำที่นี่ จริงๆ หัวแรกฉันเป็นคนทำ” เขาเล่าเจือเสียงหัวเราะ

“แปดร้อยบาทเอง” เป็นราคาหัวสิงโตเมื่อ 5 ทศวรรษก่อน ส่วนหัวนอกจากฮ่องกงเริ่มต้นหลักพัน 

“มีช่วงหนึ่งที่ตัดสัมพันธ์จีน วัสดุไม่มี กระดาษขาดตลาด เราต้องตระเวนหาซื้อ เดินเยาวราชจนผุหมดทุกซอย พวกพู่ เครื่องประดับ บ้านเราไม่ทำขาย ต้องไปแถวโรงหนังคาเธ่ย์ เป็นร้านขายยาของคนจีนแคะ คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ ก็ภาษามือนะ ไปหาจนแกจำได้สนิทเลย แล้วก็มีอีกร้านอยู่ข้างๆ โรงหนังแคปปิตอล ถนนเจริญกรุง”

การทำหัวสิงโตหนึ่งหัว เริ่มจากเหลาไม้ไผ่เพื่อลบคม (เราลองลูบดูแล้ว เนี้ยบกริบ นิ้วปราศจากลิ่มเลือด) แต่นายช่างไม่เลาะตาไม้ เพราะเก็บไว้เพิ่มความแข็งแรง จากนั้นขึ้นโครงตามรูปทรงที่คิดในหัว สังเกตตรงจมูกสิงโต เดินโครงด้วยการม้วนไม้ไผ่เป็นก้นหอยให้กลม ต่างกับการเดินไม้แล้วผูกด้วยเชือก งานช่างโจจึงละเอียดและไร้ที่ติ

“งานไม้เป็นงานศิลปะ ถ้าคนดูสิงโตเป็นจะรู้ว่าหัวสิงโตแต่ละหัวการเดินไม้ไม่เหมือนกัน การขึ้นโครงด้วยไม้เราเป็นคนริเริ่มคนแรก ทุกวันนี้หัวสิงโตที่ขายไปแล้ว เด็กคณะสิงโตยังไปตามล่าหาโครงของอาจารย์โจ กลายเป็นของมีค่าไปแล้ว” แล้วลูกศิษย์รู้ได้ยังไงว่าอันไหนเป็นโครงของอาจารย์โจ “รู้ พวกนี้เก่ง เขาดูโครงแล้วก็รู้เลย” 

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

หลังจากได้โครงตามขนาดที่ต้องการ ขั้นตอนต่อไปเป็นการปะกระดาษลอกลายรอบโครงไม้ไผ่ คล้ายการทำเปเปอร์มาเช่ ปะครบสองรอบตามด้วยผ้าร่มทับอีกทีก่อนวาดลวยลายด้วยสีโปสเตอร์ (ยุคก่อนใช้สีน้ำมัน)

“สมัยก่อนเราปะด้วยผ้าออแกนซ่า เป็นผ้าที่เขาเอามาทำกล่องใส่แหวนเพชร มันนิ่ม ปาดแป้งเปียกแล้วผ้าไม่เด้ง เกาะแนบสนิท ตอนหลังเพื่อนเป็นเซลล์ขายผ้าอยู่สำเพ็ง เอาตัวอย่างผ้าร่มมาให้ลอง เพราะออแกนซ่าขาดตลาด เราลองแล้วมันใช้ได้ ก็สั่งมาม้วนใหญ่เลย พอปะผ้าเสร็จเราก็เขียนลาย เคลือบด้วยแลกเกอร์แล้วก็ลงยูรีเทน

“รุ่นแรกตอนเขียนลายใช้สีน้ำมันทาบ้าน เขามีกระป๋องเล็กขาย ตราสะพาน ตราดอกไม้ เราใช้อยู่สักพัก เอาแล้ว สีเริ่มไม่มีขาย ชักเบื่อ วัสดุหายาก ตอนหลังมาใช้สีโปสเตอร์ แต่ก็มีปัญหาอีกเหมือนกัน เราใช้สีของพีลีแกน ซื้อร้านสมใจหน้าเพาะช่างประจำ อยู่ๆ ก็ไม่มีเข้ามาขาย ถ้ารู้ตอนนั้นจะตุนไว้สักหน่อย เนื้อสีเขาดี เขียนแล้วไม่แตกลายงา”

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

ปัจจุบันช่างโจเจอสีโปสเตอร์คุณภาพใกล้เคียงกับยี่ห้อที่นั่งอยู่ในใจ แต่ก็ยังติดใจสีเขียวของพีลีแกนอยู่ดี สุดท้ายก็ยอมผสมสีเองจนใกล้เคียง ส่วนลวดลายที่แต้มบนผ้าขาว เป็นลายที่ช่างโจออกตามล่าหาแรงบันดาลใจตามศาลเจ้า สังเกตลายที่ชอบ มังกรและสิงโตตัวที่ใช่ มาออกแบบใหม่ด้วยสองมือ และไม่ลืมสลัก โจ ตลาดพลู ไว้ด้วย

“ของเราไม่เหมือนชาวบ้าน ลายบนหัวเราออกแบบเอง ฮ่องกงเขาชอบเราตรงที่เราไม่ใช้ลายของเขา เราคิดของเราเอง ถ้าไปทำตามเขาทั้งหมดมันไม่ใช่งานเรา ขาประจำชมรมสิงโตบางมูลนาก พิจิตร สั่งหัวเราเก็บไว้เป็นสิบหัว”

ความใส่ใจอีกอย่างคือเครื่องประดับที่เสริมให้สิงโตดูสง่า ช่างโจชี้ชวนให้ดูขนสีขาวบนหน้าสิงโต พร้อมเฉลยว่านั่นเป็นขนเจ้ากระต่าย เวลาโดนลมจะพริ้วไหวอ่อนช้อย ส่วนขนสีดำแข็งทื่อเป็นขนวัวถักเรียงเส้นต่อกัน

ยุครุ่งเรืองมีหัวสิงโตติดทองคำเปลวและขนมิงค์ด้วยนะ ตอนนี้เป็นหัวครูของคณะสิงโตลูกท้าวมหาพรหม

“หัวนี้เรียกจักรพรรดิเก้ามังกร” ช่างฝีมือพูดถึงหัวสิงโตที่กำลังปลุกปั้น

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์
โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

ความพิเศษของหัวจักรพรรดิมังกรจะยกขบวนสัตว์มงคลมาล้อมรอบหัวสิงโต มีมังกร ปลามังกร หงษ์ ผีเสื้อ และค้างคาว ส่วนเครื่องหน้าก็สำคัญ ต้องมีเขา ตาต้องฉีกเหมือนตาเหยี่ยว จมูกต้องใหญ่เปรียบดังจมูกมังกร หน้าผากกว้างนับว่าโหงวเฮ้งดี แก้มใหญ่แทนความอุดมสมบูรณ์ บ้างก็เรียกรวมกันว่าหน้ายักษ์ สีทองลายดำ เน้นเล่นดุ

“หัวกวนอู ต้องหัวแดงขนดำ หัวเขียวขนดำเป็นหัวเตียวหุย หัวเล่าปี่เป็นหัวทองขนขาว”

อาจารย์โจจะออกแบบหัวสิงโตให้มีพู่กลมที่เด้งออกมา (แทนลูกแก้ว ล่อมังกร) ด้านในบรรจุกระพวน ปากขยับได้ด้วยกลไล ดวงตากะพริบได้เพิ่มชีวิตชีวา และด้านหลังเขียน ฮก (福) เป็นคำอวยพรครอบจักรวาลจีน

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

“ลูกศิษย์เพิ่งถ่ายมาให้ดูว่าจีนเอาวิธีการทำตาแบบเราไปใส่ของเขา ลูกศิษย์ว่าเขาคงเห็นจากเฟซบุ๊ก สำหรับเรา ถ้าเขาชอบ เขาก็ทำ เราไม่ปิดกั้นอยู่แล้ว เราถือว่าของเราดีเขาก็เลียนแบบ” ไม่กลัวการเลียนแบบ “ไม่กลัว”

“แบบมันอยู่ในนี้ (ใช้นิ้วชี้เคาะที่ศีรษะ) เราไม่ได้มีแค่แบบตรงนั้น เราต้องมีแบบใหม่ออกมาอยู่แล้ว งานศิลปะมันหยุดนิ่งไม่ได้ เราก็ต้องพัฒนาของเราไปเรื่อยๆ คนเขาถึงรอดูว่าเราจะออกอะไรใหม่” ครูช่างให้คำมั่น

“มันเป็นความชอบอยู่แล้ว พอทำแล้วเพลินนะ มีสมาธิ ยิ่งได้ออกแบบรูปแบบใหม่ๆ ยิ่งมีแรงอยากจะทำ”

ทุกวันนี้มีช่างทำหัวสิงโตเพิ่มขึ้น สิ่งที่ช่างฝีมือมากประสบการณ์คนนี้พัฒนาอยู่ตลอดคือ ฝีมือ

“ลูกก็ถามอยู่เรื่อย จะทำถึงเมื่อไหร่” ช่างโจตอบลูกว่ายังไง “ทำจนกว่าจะเหลาไม้ไม่ไหว”

“งานแบบนี้อยู่ที่อารมณ์เหมือนกัน ถ้านึกไม่ออกก็ต้องนอน บางทีนั่งทำเหมือนนั่งหลับ อย่าคิดว่าหลับนะ เราเข้าฌาน กำลังนึกลายว่าทำแบบนี้ดีมั้ย เพราะเราไม่มีคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ก็คือสมองเรา” เขาเล่าอย่างอารมณ์ดี

การทำหัวสิงโตของยุคสมัยนี้ต่างจากอดีตตรงความสวยงามและลูกเล่น แถมเทรนด์ของคณะสิงโตตอนนี้วกกลับมายุคโบราณ ช่างโจว่าคนรุ่นใหม่หันมาเล่นงานหัวสิงโตย้อนยุค ซึ่งทำง่าย แต่ระดับนายช่างต้องไม่ธรรมดา

“สมัยก่อนสิงโตเล่นสนุก มีสิงโตกินน้ำ สิงโตกินผัก สิงโตกินเหล้า สิงโตพ่นไฟ ตอนจะพ่นไฟ ตาแป๊ะจะถือคบไฟนำหน้าสิงโต สิงโตก็อมน้ำมัน โผล่หน้าออกมาตรงปากแล้วพ่น วู้ว! มีบางคณะหัวไหม้ คณะบุคคโลแบกโครงกลับบ้านเลย ตอนหลังเปลี่ยนจากอมน้ำมันเป็นชันยาเรือ เป็นผงใส่ในหลอดแล้วก็พ่นใส่คบไฟ แบบจุดพลุมาทีหลังสุด

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

“มีเล่นสิงโตตื่นนอน ออกฉากก็มีตาแป๊ะตื่นนอนก่อน เหมือนหลวงจีน ตื่นขึ้นมาก็ทำความสะอาดวัด แล้วก็ล้างหน้าล้างตา เสร็จแล้วก็ออกไปตัดฟืน เข้าป่าไปเจอสิงโต ก็ไม่รู้ตัวอะไรเห็นนอนหลับอยู่ในถ้ำ ทำยังไงจะให้มันตื่น ก็ไปแหย่สิงโตให้ตื่น สิงโตนอนหลับหายใจหวืดๆ กลองก็จะตีรัว ตาแป๊ะแหย่จมูกก่อน ไม่ตื่น แหย่ปาก ก็ไม่ตื่น เดินอ้อมด้านหลังไปแหย่ก้น สิงโตตื่น ตื่นมาก็ไซร้หาง ไซร้ขา เจอตาแป๊ะก็วิ่งไล่ตาแป๊ะ ถ้าเจอคนพากย์ดีๆ สนุกเลย

“ส่วนการเล่นแห่จะตีกลองตลอด ไม่มีการทิ้งไม่กลอง แม้กระทั่งต่อตัวก็ยังตี ทุกวันนี้ได้ยินเสียงกลองเฉพาะต่อตัวเสร็จแล้ว ยุคนั้นงานวัด งานอะไรไปหมด จำได้ว่าวัดเกตุมฯ ต้อนรับเจ้าอาวาสใหม่ ถนนธนบุรีปากท่อยังเป็นดินแดง เราก็แห่จากมหาชัยไป ยังดีที่ทุกวันนี้คณะใหญ่เอาการเล่นย้อนยุคกลับมา อย่างคณะโอภาสีก็เล่นย้อนยุค”

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

ช่างโจเคยลองนับมั้ยว่าทำหัวสิงโตมาแล้วกี่หัว-เราสงสัย

“โอ นับไม่ถ้วนจริงๆ” เขานิ่งคิด “บางครั้งยังจำไม่ได้เลยว่าเป็นของเรา มันไปโผล่ที่สิงคโปร์สองหัว ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ลูกศิษย์ไปเที่ยวแล้วเขาถ่ายมาให้ดู บอกว่านี่หัวอาจารย์ ไปได้ยังไงเราก็ไม่รู้

“ถ้าหนูจะสั่งหัวสิงโตของช่างโจต้องรอกี่คิว”

ช่างฝีมือหัวเราะร่วนก่อนตอบคำถาม “ตอนนี้สิบหัวขึ้น ต้องปีหน้านู่นแหละ ปีนี้ไม่มีสิทธิ์เลย”

ช่างโจกระซิบว่าฮ่องกงโทรมาขอคิว ก็ถูกปัดเป็นปีหน้า ลูกค้าส่วนใหญ่ ‘รอได้’ เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการอาจไม่ใช่หัวสิงโต แต่เป็นความงามฉบับมาสเตอร์พีชของ ‘โจ ตลาดพลู’ ที่สร้างคุณค่าให้หัวสิงโตนับร้อยนับพัน

โจ ตลาดพลู ช่างทำหัวสิงโตให้ศาลเจ้าไทย ฮ่องกง เวียดนาม และออกคำรามถึงสิงคโปร์

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ