ในช่วงเวลานี้ที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ข่าวน่าเอือมระอา หากสเตตัสของคุณจะมาในแนว “โลกนี้เบื่อนัก อยากไปพักดาวอังคาร” เราขอแสดงความยินดีด้วย! เพราะวันนี้พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมให้คุณจัดกระเป๋าแล้วมาตีตั๋วขึ้นยาน ไปเช็กอินกันบนดาวเคราะห์สีแดง กับนิทรรศการใหม่ล่าสุดที่จำลองประสบการณ์การใช้ชีวิตบนดาวอังคารให้ไม่ไกลเกินเอื้อม ในคอนเซ็ปต์ ‘A DAY ON MARS’ 

ลองใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ที่นิทรรศการ A DAY ON MARS พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.

Exhibition from Popular Demand

“จุดเริ่มต้นของแนวคิดนิทรรศการ มาจากต้องการสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ ผ่านเรื่องราวการสำรวจดาวอังคาร” ดร.วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการกองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรกิติมาศักดิ์ให้กับเราในวันนี้ด้วยตัวเอง 

ท่านเล่าว่า โชว์นี้จริง ๆ แล้วเป็นหนึ่งในกิจกรรมสุดฮิตที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว ซึ่ง ค.ศ. 2020 ถือว่ามีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับการสำรวจดาวอังคารเกิดขึ้นมากมาย เช่น ภารกิจมาร์ส 2020 (MARs2020) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจดาวอังคารของนาซา ได้ปล่อยยานสำรวจ เพอร์เซเวียแรนส์ และหุ่นยนต์เฮลิคอปเตอร์อินเจนูอิตี จากโลกในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 (เดินทางไปถึงดาวอังคารในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2021) นอกจากนี้ ใน ค.ศ. 2020 ยังเป็นของการเฉลิมฉลองยาน Mars Reconnaissance Orbiter (MRO) ยานโคจรสำรวจเก่าแก่ที่สุดที่โคจรรอบดาวอังคารครบ 15 ปีด้วย 

ลองใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ที่นิทรรศการ A DAY ON MARS พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.

“ภารกิจนี้ MRO ได้เก็บข้อมูลส่งมายังโลกมากมาย เช่นข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศที่เบาบางของดาวอังคาร การศึกษาลึกลงไปใต้ดินด้วยเรดาร์ รวมทั้งตรวจจับและสำรวจแร่ธาตุบนพื้นผิวดาว แต่ที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคน คือภาพที่สวยงามและน่าทึ่ง ซึ่งบันทึกไว้ได้จากกล้องสามตัวบนยาน 

“การสำรวจและเผยแพร่ข้อมูลนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มนุษย์เข้าใจดาวอังคารมากยิ่งขึ้น จุดประกายความหวังของมนุษยชาติ ในการเดินทางไปสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้เรื่องตั้งถิ่นฐานอยู่บนดาวดวงใหม่” ดร.วิจิตราเล่า 

“จากความนิยมที่ได้รับ ทำให้พิพิธภัณฑ์ตัดสินใจนำนิทรรศการชุดนี้กลับมาพัฒนาต่อยอด เพื่อให้ผู้คนที่รักและหลงใหลเรื่องราวการสำรวจอวกาศได้ชมกันในวงกว้างอย่างจุใจ ที่พิพิธภัณฑ์ของเรา”

“Why Mars?”

ลองใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ที่นิทรรศการ A DAY ON MARS พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.

เมื่อเข้าไปในอาคาร เราจะรู้สึกเหมือนกำลังเข้าไปในยานอวกาศ ด้วยฉากสีขาวและจอแสดงข้อมูลมากมายน่าตื่นตา

 “ทำไมต้องดาวอังคาร” คำถามอันดับแรกที่เราฉงนสงสัยนั้น ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นตั้งแต่ทางเข้า โดยเจ้าหน้าที่ประจำนิทรรศการค่อย ๆ แจกแจงให้เราฟังว่า กายภาพของตัวดาวเคราะห์นี้ตอบโจทย์ความต้องการต่าง ๆ ของมนุษย์สำหรับการใช้ชีวิตได้ครบถ้วน

เริ่มจากระยะการเดินทางที่ไปไม่ไกลจากโลกมากนัก โดยหากเดินทางไปถึงด้วยยานอวกาศที่เร็วที่สุดในปัจจุบัน จะใช้เวลาเพียง 6 -8 เดือน บนโลกหนึ่งวันมีเวลา 24 ชั่วโมง ส่วนดาวอังคารนั้นมี 24 ชั่วโมง 37 นาที ด้วยขนาดดาวที่เล็กกว่าโลกเกือบครึ่ง ทำให้มีแรงโน้มถ่วงคล้ายโลก แต่น้อยกว่าประมาณ 1 ใน 3 นอกจากนี้ บนดาวอังคารยังมีแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์เพียงพอต่อการเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงให้พืชเติบโตด้วยการสังเคราะห์แสงได้ และที่สำคัญ มีหลักฐานว่าบนนั้นน่าจะมีน้ำด้วย!

เยื้อง ๆ กับทางเข้า มีการแสดงชุดภาพถ่ายจากดาวอังคารเรียงรายกันอยู่ ซึ่งดูไปก็คล้ายกับภาพเพนต์ติ้งแนว Abstract ที่งดงามทีเดียว อย่างไรก็ดี ภาพเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ความสวย เพราะเหล่าภาพถ่ายนี่เองที่ทำให้เราสันนิษฐานได้ว่ามีน้ำบนดาวอังคาร! 

ลองใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ที่นิทรรศการ A DAY ON MARS พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.

อาทิ ภาพจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2013 เป็นร่องรอยการไหลของธารน้ำชัดเจน คาดว่าเคยเป็นธารน้ำที่ใหญ่ที่สุดของดาวอังคารในอดีต มีลายทางการพัดพาของตะกอน และมีลักษณะสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเกิดขึ้นด้วย นอกจากนั้นยังมีภาพแสดงสีสันของทั้งแร่ธาตุและพื้นผิวของดาวด้วย 

“เวลาพูดถึงดาวอังคารเราจะนึกถึงสีแดง เลยพลันไปนึกถึงความร้อน แต่จริงๆ แล้วดาวอังคารอาจเย็นกว่าโลก เพราะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่า ส่วนสีแดงนั้นคือสีของธาตุเหล็กหรือสีสนิม ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของดาวนั่นเอง”

Highlight Object : Curiosity

เนื่องจากยังไม่เคยมีมนุษย์ไปเหยียบบนนั้น ภาพถ่ายเหล่านี้จึงได้มาด้วยการถ่ายไปจากโลก จากดาวเทียมและยานสำรวจที่ไปจอดบนนั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเจ้าต้าวไฮไลต์ของนิทรรศการนี้ที่ชื่อว่า ยานสำรวจ Curiosity เป็นยานลำแรกที่ไปถึงดาวอังคารเมื่อ ค.ศ. 2009 โดยเราจะได้ประจันหน้ากับแบบจำลองของเข้ายานนี้ขนาด 1 : 1 ซึ่งมีแค่ที่นาซ่าและที่นี่ที่เดียวเท่านั้น!

ดร.วิจิตราเล่าให้ฟังว่า ชื่อของเจ้ายานสำรวจนี้ได้มาจากการประกวดตั้งชื่อที่อเมริกา มีผู้ชนะเป็นเด็กหญิงวัย 12 ปีจากแคนซัส ชื่อ คล่าร่า หม่า โดยเธอบอกว่า 

ลองใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ที่นิทรรศการ A DAY ON MARS พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.

“Curiosity (ความสงสัยใคร่รู้) เป็นเหมือนเปลวเพลิงที่ไม่มีวันดับในจิตใจของทุกคน จะคอยปลุกให้เราตื่นขึ้นทุกเช้าเพื่อพบสิ่งใหม่ ๆ ด้วยพลังอันแรงกล้า เราคงไม่อาจเป็นตัวเราได้อย่างทุกวันนี้หากปราศจากมัน…ความกระหายใคร่รู้คือแรงผลักดันให้แต่ละวันผ่านไปอย่างมีความหมาย เราทุกคนอาจกลายเป็นนักสำรวจและนักวิทยาศาสตร์ได้ ด้วยการหาคำตอบให้กับความสงสัยของตัวเราเอง” 

การได้เห็นแบบจำลองในขนาดเท่าจริงนั้น สร้างแรงสั่นสะเทือนในใจเราได้อย่างชะงัก มันชวนให้รู้สึกอัศจรรย์กับความสามารถของมนุษย์ ที่ออกแบบเจ้าหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ มีน้ำหนักเป็นตัน แล้วส่งไปลงจอดกว่า 3 ล้านกิโลนอกโลกได้อย่างปลอดภัย และยังส่งข้อมูลต่าง ๆ มาให้พวกเราจวบจนทุกวันนี้ด้วย

Calculating 7 Minutes of Terror

แน่นอนว่าการจะส่งยานสำรวจใด ๆ ไปบนดาวอังคารนั้น ต้องคำนวณแรงขับและแรงชะลออย่างแม่นยำ จึงจะลงจอดได้จากนอกแรงโน้มถ่วงโดยไม่เผาไหม้เป็นจุลไปเสียก่อน การลงจอดนี้ใช้เวลาประมาณ 7 นาที มีฉายาว่า ‘7 Minutes of Terror’ คือ 7 นาทีหฤหรรษ์สุดท้าทายของนักอวกาศ เริ่มจากการลดความเร็วหลายหมื่นกิโลเมตรต่อชั่วโมง คำนวณแรงเหวี่ยงพลังงานจากทั้งตัวยานและแรงดึงของโลกกับดวงจันทร์ ควบคุมอุณภูมิไม่สูงเกินไป อีกทั้งคำนวณทิศทางในการจอดไม่ให้คว้ำ พยุงให้จอดให้ราบรื่น หากใช้ร่มในการชะลอก็ต้องคำนวณให้ดี เพราะด้วยมวลอากาศที่เบาบางกว่าโลก แรงชะลอที่จะได้ก็ต่างกันด้วย โชคดีที่ในนิทรรศการมี Panel อธิบายความซับซ้อนนี้ให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายขึ้นด้วยเกม Interactive ให้ผู้ชมแข่งกันปล่อยจรวดไปดาวอังคารสนุก ๆ ซึ่งตรงนี้ ดร.วิจิตราบอกว่าการสร้างประสบการณ์และการจดจำเกี่ยวกับเนื้อหาด้วยการมีส่วนร่วม ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญของนิทรรศการทางวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว

Living on Mars 101

ถัดมาเป็นส่วนที่น่าสนใจมาก ๆ คือโซน ‘อยู่อย่างไรบนดาวอังคาร’ คือการจำลองที่อยู่และสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตบนดาวอังคาร ซึ่งตรงนี้จะมีเจ้าหน้าที่ช่วยอธิบายและตอบคำถามอย่างละเอียด เรียบเรียงนำเสนอข้อมูลผ่านปัจจัยต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อเรา เริ่มจากที่อยู่อาศัย เนื่องจากกว่าจะไปกว่าจะกลับต้องใช้เวลานาน แล้วเราจะใช้ชีวิตอย่างไร

“ตอนนี้ NASA ก็มีโครงการจะไปสร้างที่อยู่อาศัยบนดาวอังคารแล้ว ตรงนี้แสดงภาพตัวอย่างโครงการที่ชนะการประกวด แบบที่อยู่อาศัยบนดาวอังคาร มีชื่อว่ามาร์ช่า (MARSHA) สร้างได้โดยเครื่อง 3D Printer และใช้วัสดุที่มีอยู่แล้วบนดาวอังคารคือหินบะซอลต์” ดร.วิจิตราอธิบาย พลางชิ้นให้ดูเครื่องพิมพ์สามมิติที่ตั้งอยู่ ไม่น่าเชื่อว่าเจ้ากล่องสีดำใบเล็กนี้จะสร้างจุดเริ่มอารยะธรรมของเราได้ด้วย

ลองใช้ชีวิตบนดาวอังคาร ที่นิทรรศการ A DAY ON MARS พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.
ตีตั๋วไปดาวอังคารที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. สำรวจนิทรรศการที่จำลองการเดินทางและใช้ชีวิตบนดาวนอกโลก

ปัจจัยที่สองคืออาหาร นอกจากมีอาหารหลอดให้ดูแล้ว บนเคาน์เตอร์ยังเล่าเรื่องการทดลองที่ใช้ดินสภาพเดียวกับดาวอังคาร มาลองปลูกพื้นว่ามันจะขึ้นหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าปลูกได้หลายชนิด ทั้งผักกาด มะเขือเทศ และข้าวสาลี เป็นต้น

ปัจจัยที่สามคือน้ำ ระบบอุปโภคบริโภคโดยใช้แบบรีไซเคิล กล่าวคือการกรองน้ำที่ทำให้เราดื่มน้ำที่ขับถ่ายออกมานั่นเอง จะทำให้เราหมุนเวียนใช้น้ำได้ ไม่ว่าจะเอาไปปลูกพืชผักหรือชำระล้างในสุขาก็ดี นอกจากนี้ยังมีการกรองอากาศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันดับต่อไป โดยชั้นบรรยากาศบนดาวอังคารประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์นับเป็นเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ จึงต้องมีเครื่องกรองจาก CO2 ให้เป็น O2 หรือเป็นออกซิเจนให้เราใช้หายใจได้

ตีตั๋วไปดาวอังคารที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. สำรวจนิทรรศการที่จำลองการเดินทางและใช้ชีวิตบนดาวนอกโลก

ปัจจัยต่อไปคือเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการต้องป้องกันจากฝุ่นหรือลมพายุที่เกิดขึ้นนอกยาน รวมถึงอุณภูมิและรังสีจากสนามแม่เหล็กที่ต่างจากโลกด้วย เราจึงจะเห็นชุด 2 ประเภทบทดาวอังคาร คือ ชุดใส่ในยานหรือในห้องปฏิบัติการ กับชุดใส่นอกยาน นอกจากนี้ ยังมีวิวัฒนการของชุด BIO SUIT ที่บริษัท SpaceX ของ อีลอน มัสก์ จ้าง โจ เฟอร์นันเดซ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายระดับโลก มีผลงานการออกแบบชุดในภาพยนตร์ดังอย่าง Batman, The Fantastic Four และ The Avengers มาออกแบบให้เท่ล้ำมากขึ้น

ตีตั๋วไปดาวอังคารที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. สำรวจนิทรรศการที่จำลองการเดินทางและใช้ชีวิตบนดาวนอกโลก

ปัจจัยสุดท้ายคือการนอนหลับสบาย ในโซนนี้จำลองเตียงห้องนอนของสถานีในอวกาศ ให้มาลองนอนถ่ายรูปกันเก๋ ๆ โพสท่าเหงา ๆ ตรงหน้าต่างที่มีโลกใบเล็กจิ๋วให้เห็นอยู่ไกลโพ้น ระหว่างที่ ดร.วิจิตราหยิบโทรศัพท์เราไปถ่ายรูปให้ ท่านบอกเราว่า นวัตกรรมจากการสำรวจอวกาศนั้นอาจไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด

“สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในชีวิตรอบตัวเราในปัจจุบันล้วนมาจากแนวความคิด หรือการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์มาก่อน เช่น การวิจัยพัฒนาอาหารสำหรับนักบินอวกาศ นำมาซึ่งเทคโนโลยีการถนอมอาหารเพื่อการใช้งานแบบต่าง ๆ เช่น การแช่แข็งอย่างฉับพลัน (Quick-freezing) เพื่อคงสภาพของรสชาติและสารอาหารอยู่ได้ อาหารที่มีบรรจุภัณฑ์ทานได้สะดวกสบาย อาหารที่ดึงเอาน้ำออก หรือแม้แต่อาหารสำหรับทารกที่เก็บได้นานและมีคุณค่าทางอาหาร 

“นอกจากนี้ การพัฒนาใช้วัสดุศาสตร์ใหม่ ๆ ในโครงการอวกาศ ก็ทิ้งมรดกให้เราได้ใช้ประโยชน์มากมาย เช่น ฉนวนระบายความร้อนเซรามิกหรือผ้าห่มฉุกเฉิน คล้าย ๆ ฟอยล์ที่พัฒนามาจากฉนวนกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ของดาวเทียม หรือยานอวกาศที่ช่วยรักษาอุณหภูมิให้คงที่ นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมอีกมากมายที่เป็นผลมาจากการพัฒนาและวิจัยในโครงการสำรวจอวกาศ เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่สิ่งไกลตัวเลย”

History of Ambitions

โซนถัดมาว่าด้วยยานอวกาศต่าง ๆ MARS Exploration เป็นเส้นเวลา เล่าว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง กว่ามนุษย์จะไปลงจอดบนดาวอังคาร 

แน่นอนว่าบนเส้นนั้นมีความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง สังเกตได้ว่าการส่งยานแต่ละครั้ง จะห่างกัน 2 – 3 ปี เนื่องจากต้องรอจังหวะที่ดาวอังคารและโลกโคจรมาใกล้กัน บนแผนภาพนี้เลือกนำเสนอยานสำคัญ ๆ อาทิ ยานแรกเป็น Mariner 4 เป็นยาน Flyby คือส่งไปบินผ่านเพื่อถ่ายรูปแบบไม่ลงจอด ถูกส่งไปเมื่อ ค.ศ. 1964 ไม่กี่ปีหลังจากที่ส่งดาวเทียมออกนอกโลกครั้งแรก ถึงก่อน นีล อาร์มสตรอง ไปเหยียบดวงจันทร์ด้วยซ้ำ 

จากนั้นก็มียาน Mars 2 (ค.ศ.1971) จากโซเวียต เป็น Lander หรือวัตถุชิ้นแรกจากโลกที่ไปชนพื้นผิวบนดาวอังคารได้ ยาน Pathfinder (ค.ศ.1996) ที่นำ Rover หรือยานสำรวจชื่อว่า Sojourner ไปวิ่งได้เป็นยานแรก ฯลฯ 

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นว่าหลากหลายประเทศล้วนมีโปรเจกต์ไปสำรวจดาวอังคารของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นกับยาน Nozomi (ค.ศ.1998) ที่ไปไม่ถึง หรือ Mangalyaan (ค.ศ.2013) จากอินเดีย ซึ่งยานแรกของเอเชียที่ไปถึง (ว่ากันว่างบการพัฒนายานนี้ ถูกกว่าเซ็ตการถ่ายภาพยนตร์เรื่อง The Martian ของ ริดลีย์ สก็อตต์ เสียอีก!) 

ส่วนของไทยนั้นยังต้องจับตาดูกันต่อ ว่าเราจะได้ไปดวงจันทร์ตามที่รัฐมนตรีแถลงไว้เมื่อไรกัน แต่ที่แน่ ๆ ในส่วนนี้ของนิทรรศการ ผู้ชมถ่ายรูปตัวเองในชุดนักสำรวจดาวอังคาร เพื่อแชร์ในโซเลียลมีเดียแก้ขัดกันพลาง ๆ ก่อนได้

No place like home

โซนสุดท้ายที่เจ๋งมาก ๆ คือ การเข้าชมภาพยนตร์ 4 มิติ LIVE SHOW on MARS จำลองบรรยากาศและการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร พร้อมกับการทำภารกิจที่ต้องเอาชีวิตรอดจากพายุทรายอันตราย โดยเฉพาะสำหรับเด็ก ๆ ตรงนี้จะน่าตื่นเต้นมาก ส่วนผู้ใหญ่อย่างเรา นอกจากความบันเทิงแล้ว อาจจะได้ข้อคิดไปต่อยอดด้วย 

“หนึ่งในความหวังเรื่องการสำรวจทางอวกาศ คือการไปแสวงหาอาณานิคมใหม่ที่มีทรัพยากรและสภาพแวดล้อม เหมาะสมกับการไปตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต มีการทุ่มเทงบประมาณและมันสมองมากมายเพื่อค้นหาความเป็นไปได้เหล่านั้น เราเรียนรู้จากคุณสมบัติของดาวอังคารว่ามีสภาพอากาศโหดร้าย มีพายุทะเลทราย และมีน้ำอย่างจำกัด และเรากำลังพยายามเพื่อออกไปสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ที่นั่น” ดร.วิจิตรากล่าว 

“หากแต่ท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะมองข้ามสิ่งสวยงามที่มีในปัจจุบัน นั่นคือโลกใบนี้ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะก้าวล้ำไปมากมายเพียงใด เราอาจจะไปอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก แต่คงไม่มีดาวดวงไหนเหมือนโลกของเรา และโลกมีเพียงดวงเดียวเท่านั้น ที่มีปัจจัยทุกอย่างเหมาะสมเป็นบ้านที่ดีที่สุดของมนุษย์ ดังนั้น การรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทำได้ตั้งแต่วันนี้ ตอนท้ายของโชว์จึงมีแนวคิดทิ้งท้ายไว้เหมือนกับว่า ไม่มีที่ไหนเหมือนโลกของเรา หรือ No place like home”

นอกจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความสนุกสนาน คำพูดทิ้งท้ายของท่านผู้อำนวยการก็ติดสมองของเราออกมาด้วย เรายังคิดไปถึงวิกฤตการณ์โลกร้อน และการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมของเด็กรุ่นใหม่ อย่าง เกรต้า ธันเบิร์ก เป็นต้น

“หรือว่ามันสายไปแล้วนะ หรือว่าพวกเราจะต้องอพยพไปอยู่บนดาวอังคารจริง ๆในเร็ววัน?!”

ที่แน่ๆต่อไปนี้เวลาฟังเพลง Life On Mars? ของ David Bowie เราคงจะรู้สึกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

ตีตั๋วไปดาวอังคารที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช. สำรวจนิทรรศการที่จำลองการเดินทางและใช้ชีวิตบนดาวนอกโลก

นิทรรศการหนึ่งวันบนดาวอังคาร (A DAY ON MARS) จัดที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่าง วันที่ 7 เมษายน 2564 – 15 พฤษภาคม 2565 เปิดให้บริการวันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 09.30 – 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/NSMThailand

ขอให้ทุกคนสวมหน้ากากตลอดเวลาและเว้นระยะห่างจากกันตลอดการเข้าชมนิทรรศการ

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน