“ไม่มีโจว ซิงฉือ ไม่มีเหลียง เฉาเหว่ย”

“จุดดำกับโลกที่ไร้ราชา และ เนี่ย เสี่ยวเซียน”

“อง เหม่ยหลิง อึ้งย้ง และหลินฟ่ง ฟ้าริษยา โฉมสะคราญ”

พาดหัวบทความซึ่งเรียงร้อยขึ้นอย่างสละสลวย นำหน้าเนื้อหาที่รุ่มรวยด้วยสำนวนนิยายกำลังภายใน ดูเข้ากันได้ดีกับสาระสำคัญประจำเพจที่วนเวียนอยู่กับแวดวงบันเทิงจีนยุคเก่า

เบื้องต้นคือจุดเด่นบางประการของเพจ ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ เพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนบัญชี ถ่ายทอดเบื้องลึกเบื้องหลังของภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และนักแสดงชนชาติจีนได้ละเอียดลออเกินขีดความรับรู้ของแฟน ๆ ชาวไทยทั่วไป ดำเนินการโดย ‘ท่านเก้า’ แอดมินสายฮาที่ชอบใช้ภาษาไพเราะแบบย้อนยุค แทนตัวเองว่า ‘ข้าพเจ้า’ และลงท้ายประโยคด้วย ‘ขอรับ’ ในทุกประโยค

มินานนักหลังจากที่สารเทียบเชิญจากเราร่อนไปถึงมือ ‘ท่านเก้า’ ผู้นิยมอำพรางโฉมหน้าไว้ใต้รูปโปรไฟล์ดาราดังในอดีตก็มาปรากฏกายให้เราเห็นที่เหลาแห่งหนึ่ง พร้อมทั้งเผยนามจริงที่เขาใช้เรียกขานตนเองนอกยุทธภพโซเชียลมีเดียว่า อาร์ม-ริทธิเมธ ทับสุวรรณ

เก้ากระบี่เดียวดาย เพจรวมเรื่องบันเทิงของลูกจีนที่หลงรักหนังจีนตั้งแต่ทีวีเพิ่งมีสี

อาร์มเล่าว่าชื่อเพจนี้มาจากเพลงกระบี่ในนวนิยายเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร ซึ่งชีวิตที่ผ่านมาของเขาก็ทำให้ผู้ฟังอย่างเราตระหนักว่า กว่าเพจที่ตั้งชื่อตามยอดเพลงกระบี่ของเขาจะเติบโตมาถึงขั้นนี้ได้ เขาต้องสั่งสมวิทยายุทธมากมาย มิต่างจากกระบวนท่าที่อัดแน่นในตำรากระบี่ 1 เล่ม

กระบวนท่าที่ 1
ซึ่งติดตัวมาแต่เกิด

ยอดฝีมือมากมายมีต้นกำเนิดจากขุนเขาอันสูงใหญ่หรือพงไพรอันห่างไกล แต่จอมยุทธ์หลงยุคผู้นี้ลืมตาดูโลกที่ย่านตลาดใกล้สะพานปลา ริมแม่น้ำท่าจีน

“ผมเป็นคนตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร บ้านอยู่ในตลาด ตลาดสมุทรสาครตอนนั้นเป็นชุมชนคนจีน มีแต่คนจีนทั้งนั้น คุณปู่ทวดของผมมาจากเมืองจีน ตอนแรกท่านไปอยู่ชุมพรก่อน แล้วพอสมัยคุณปู่ค่อยย้ายมาอยู่ที่ตลาดมหาชัย” อาร์มเท้าความพลางรินน้ำชาจอกแรกลงคอ ราวกับเตือนสติตนเองให้คะนึงถึงถิ่นเก่าที่บรรพชนของเขาจากมา

เก้ากระบี่เดียวดาย เพจรวมเรื่องบันเทิงของลูกจีนที่หลงรักหนังจีนตั้งแต่ทีวีเพิ่งมีสี

บ้านของอาร์มเป็นโรงน้ำแข็ง ไม่ใกล้ไม่ไกลก็เป็นสะพานเทียบท่าไว้ให้เรือประมงลำเลียงปลาขึ้นฝั่ง ห้อมล้อมด้วยร้านค้าและบ้านช่องของลูกจีนสยาม

สมัยที่เขายังเด็ก ความบันเทิงของชาวมหาชัยในตอนนั้นมีอยู่ไม่กี่อย่าง โทรทัศน์เป็นสินค้าหายาก มิหนำซ้ำยังมีแต่สีขาวดำในช่วงแรก หากชาวบ้านคนธรรมดาต้องการรับชมการแสดง พวกเขาก็จะดูลิเก งิ้ว หรือไม่ก็หนังกลางแปลงไปตามเรื่อง

ของขวัญสุดพิเศษสำหรับอาร์มในวัยนั้น คือการได้ชมภาพยนตร์จีน ด้วยเหตุที่เขาโตมาในย่านคนไทยเชื้อสายจีน มีญาติเปิดร้านเช่าวิดีโอในตลาด

“ยุคนั้นหนังฝรั่งยังเข้ามาไม่เยอะ หนังจีนเข้ามาเยอะกว่า เพราะที่ที่ผมอยู่เป็นชุมชนคนจีน หนังจีนถูกนำเข้ามาเพื่อเสิร์ฟคนจีนในพื้นที่ ยุคแรกเป็นหนังของค่ายชอว์บราเดอร์สสตูดิโอ เช่นเรื่อง สามยิ้มพิมพ์ใจ, ม่านประเพณี, จอมใจจักรพรรดิ์ พวกนี้เป็นภาพยนตร์ที่ร้องเพลงหวงเหมยแบบงิ้ว”

แม้นว่าอาร์มจะเกิดไม่ทันดูภาพยนตร์เหล่านี้ในสมัยดังกระฉ่อน แต่อานิสงส์จากร้านวิดีโอของญาติ ก็ช่วยให้เขาได้ตามดูจนครบทุกเรื่องเมื่อโตขึ้น

“มีวิดีโอหนังจีนแบบเป็นชุด พ่อกับแม่ก็ดูเป็นชุดกันเยอะมาก ผมไม่รู้หรอกว่าปกติบ้านอื่นเขาไม่ดูกันอย่างนี้ แต่บ้านเรากับญาติ ๆ ดูกันอย่างนี้ เราอยู่และเติบโตมากับสังคมจีนยุคนั้น”

กระบวนท่าที่ 2
มองดูจอแก้ว

ถ้าจะแบ่งยุคสมัยของหนัง-ละครจีนที่แพร่เข้ามาตีตลาดเมืองไทยสมัยก่อน คงแบ่งได้ 3 ยุคหลัก

ยุคที่ 1 ยุคภาพยนตร์ฮ่องกงของค่ายชอว์บราเดอร์สสตูดิโอ ครอบคลุมตั้งแต่ ค.ศ. 1950 – 1960 เป็นหนังกึ่งงิ้ว ใช้ภาษาจีนกลางในการแสดงเพื่อตอบสนองคนจีนทั่วไป

ยุคที่ 2 ยุคละครไต้หวัน เริ่มต้นประมาณ ค.ศ. 1974 โทรทัศน์ไทยเริ่มรับละครชุดจากไต้หวันเข้ามาฉาย เรื่องที่สร้างชื่อเช่น ขบวนการเปาเปียว กับ เปาบุ้นจิ้น ฉบับที่นำแสดงโดย อี้ หมิง ดารารุ่นใหญ่ที่รูปลักษณ์ของเขาถูกใช้เป็นโลโก้ผงซักฟอกยี่ห้อเปาสมัยแรก ๆ

ยุคที่ 3 ยุคละครฮ่องกง เริ่มต้นราว ค.ศ. 1980 เป็นยุคที่ไทยโอบรับความบันเทิงจากฮ่องกงทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ ซึ่งยุคนี้หนังฮ่องกงเปลี่ยนมาใช้ภาษาจีนกวางตุ้งของตนเองในการแสดง

บทสนทนาที่ยาวนานร่วมชั่วโมงบอกให้เรารู้ว่าอาร์มหลงใหลยุคที่ 3 มากกว่ายุคอื่น

เก้ากระบี่เดียวดาย เพจรวมเรื่องบันเทิงของลูกจีนที่หลงรักหนังจีนตั้งแต่ทีวีเพิ่งมีสี

เขาอธิบายว่าสาเหตุที่ภาพยนตร์และละครฝั่งฮ่องกงเริ่มดังขึ้นมาในยุคนั้น เป็นผลพวงจากชื่อเสียงความดังระดับโลกของ บรูซ ลี ดาราภาพยนตร์แอคชันชาวฮ่องกงผู้ปฏิรูปมุมมองของฝรั่งมังค่าต่อนักแสดงเอเชียให้ไปในทางที่ดีขึ้น ประจวบกับวงการภาพยนตร์ไต้หวันที่ถดถอยลงด้วยปัญหาการเมืองภายใน กลุ่มผู้สร้างหนังฝั่งฮ่องกงจึงขยับจุดยืนใหม่ จากเดิมที่เน้นขายแต่คนฮ่องกงด้วยกันเอง ก็ปรับเปลี่ยนเป็นมุ่งผลิตผลงานที่ผลักดันความเป็นฮ่องกงให้ตีตลาดสากลเต็มตัว

“ละครชุดของฮ่องกงที่ดังในเมืองไทยยุคนั้นเป็นพวก ชอลิ้วเฮียง กับ กระบี่ไร้เทียมทาน โดยช่อง 3 เอา กระบี่ไร้เทียมทาน ของช่อง RTV มาฉายก่อน ดังมาก ช่อง 7 ก็เอา ชอลิ้วเฮียง ของช่อง TVB เข้ามาฉายแข่งกัน หลังจากนั้นละครพวกนี้ก็เข้ามากระหน่ำเลย ทั้ง 2 ช่องแข่งทำเรตติ้งหนังจีนกันใหญ่ ละครจีนของฮ่องกงยุคนั้นก็เลยดังมาก”

นั่นคือยุคที่หนังและละครจีนขายดีในไทยเป็นเทน้ำเทท่า พระเอกจอมยุทธ์ทั้งหลายกลายเป็นฮีโร่ในดวงใจเด็กไทย ครอบครัวของอาร์มติดละครโทรทัศน์ของฮ่องกงกันงอมแงม

“แม่ผมชอบ หลิว เต๋อหัว มาก เป็นแฟนพันธุ์แท้เลย เราได้ดูวิดีโอหนังที่ หลิว เต๋อหัว แสดงเยอะ แล้วก็ดู มังกรหยก ฉบับ หวง เย่อหัว กับ อง เหม่ยหลิง ทางช่อง TVB ของฮ่องกงเองก็พยายามนำละครมาฉายในเอเชียอาคเนย์ เราก็ได้ดูเยอะ”

กระบวนท่าที่ 3
ตามติดชีวิตคนทำหนัง

อาจเป็นเพราะหนังและละครจากต่างแดนที่ซึมลึกในหัวใจมาตั้งแต่เด็ก อาร์มจึงเลือกเรียนต่อด้านนิเทศศาสตร์ในระดับอุดมศึกษา ก่อนเริ่มต้นอาชีพในสายงานภาพยนตร์

“ตอนแรกผมทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ก่อน เรียนจบมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในกองถ่ายมิวสิกวิดีโอของ บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด ยุคนั้นเริ่มมีอินดี้เข้ามา เราก็ไปเป็นผู้กำกับมิวสิกวิดีโออินดี้ แต่ยังสนใจหนังอยู่ มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันทำหนังที่สหมงคลฟิล์มฯ เขาก็ชวนไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่นั่น”

แต่เนื่องจากอาร์มพูดภาษาอังกฤษได้ ผู้ใหญ่ในบริษัทจึงแนะนำให้ไปดูแลด้านการซื้อขายภาพยนตร์แทน ซึ่งอาร์มก็ตอบรับแต่โดยดี

เก้ากระบี่เดียวดาย เพจรวมเรื่องบันเทิงของลูกจีนที่หลงรักหนังจีนตั้งแต่ทีวีเพิ่งมีสี

ความต้องการจะ ‘ลองดู’ ในตอนนั้น จับพลัดจับผลูให้เขาได้ร่วมงานกับรุ่นพี่ชาวฮ่องกงผู้ทำหน้าที่ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ฮ่องกงมาฉายในไทย ทั้งยังเคยพาผู้กำกับภาพยนตร์ฝีมือดีอย่าง แอนดรูว์ เลา มาเลือกนักแสดงไทยไปร่วมเล่นหนังสยองขวัญเรื่อง The Park มาแล้ว ความคุ้นเคยนั้นจึงเป็นเส้นสายให้เขาได้รู้จักมักคุ้นกับประดาคนทำหนังอีกหลายครอบครัวในฮ่องกง

“งานนี้ทำให้เราได้รู้จักกับหลาย ๆ ครอบครัวที่ทำงานเกี่ยวกับการซื้อขายหนัง แล้วก็คนฮ่องกงที่ทำงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ฮ่องกง ซึ่งไม่เชิงเป็นอุตสาหกรรม เขาทำเป็นครอบครัว เพราะมันเป็นเมืองเล็ก ๆ คนทำหนังส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่เป็นงิ้วก่อน พอความนิยมงิ้วเปลี่ยนแปลงเป็นโรงหนัง พวกนี้ก็ขยับมาเป็นเบื้องหลังหนังกึ่ง ๆ งิ้ว บุคลากรจากงิ้วก็มาอยู่ภาพยนตร์ โรงงิ้วก็กลายเป็นโรงหนัง เราเห็นได้ชัดอย่าง เฉินหลง, หง จินเป่า, หยวน เปียว พวกนี้มาจากงิ้ว ดังนั้นคนที่เป็นบุคลากรจากงิ้ว ก็ได้คิวบู๊มาจากงิ้วหมด งิ้ว หนัง ละคร พวกนี้คือตระกูลเดียวกันหมด เพราะเขาโตมากับการที่ปู่เป็นเจ้าของโรงงิ้ว พ่อเป็นเจ้าของโรงหนัง ลูกมาซื้อขายหนัง พอไปเจอคนพวกนี้ เราก็จะได้รู้ข้อมูลประวัติจากเขาเยอะ”

อาร์มพูดยาวมาถึงตอนนี้ เราจึงเริ่มเห็นเค้าความเป็น ‘ท่านเก้า’ ในเพจฉายขึ้นมาราง ๆ

“นั่นคือช่วงอายุ 20 ต้น ๆ ประมาณ ค.ศ. 2000 ทำงานตรงนี้อยู่ช่วงหนึ่ง ทำให้เราได้รู้อะไรหลายอย่างในช่วงเวลานั้น แต่ก็ไม่คิดว่ามันเป็นทักษะอะไรนะ เหมือนกับแค่รู้เรื่องที่เราชอบดูตั้งแต่เด็ก เราก็แค่รู้ แต่ไม่ได้คิดว่าจะเอามันมาทำอะไร”

ผ่านไปอีก 10 กว่าปี อาร์มจึงได้ใช้ความรู้ที่เก็บเกี่ยวจากเพื่อนฝูงชาวฮ่องกงให้เป็นประโยชน์

กระบวนท่าที่ 4
มีวันนี้เพราะหวงอี้

นอกจากภาพยนตร์หรือละครที่ถูกนำมาดัดแปลงแล้ว อาร์มยังเป็นแฟนนวนิยายกำลังภายในตัวยง

“นิยายของ โกวเล้ง ของ กิมย้ง เนื้อหาสนุกอยู่แล้ว Material มันดี ผมอ่านเยอะมาก ถ้าไปที่บ้านผม จะเห็นว่ามีเป็นห้องสมุดเลย เยอะมาก ๆ มหาศาล”

สาเหตุที่เขาเริ่มเปิดเพจ ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ ก็ไม่ใช่เพราะภาพยนตร์หรือละครโดยตรง แต่เป็นเพราะการสิ้นชีวิตของ หวง อี้ นักประพันธ์ชั้นครูอีกคนที่อาร์มกำลังติดตามผลงานอยู่ในเวลานั้น

เก้ากระบี่เดียวดาย เพจรวมเรื่องบันเทิงของลูกจีนที่หลงรักหนังจีนตั้งแต่ทีวีเพิ่งมีสี

“หวง อี้ คือคนเขียน เจาะเวลาหาจิ๋นซี กับ มังกรคู่สู้สิบทิศ เผอิญว่าผมอ่าน เหยี่ยวมารสะท้านภพ ที่เป็นนิยายยาวสุดของหวง อี้ เขียน 5 ปี เราอ่านไป 5 ปีเลยนะ แต่หนังสือยังเขียนไม่ทันจบ เขาก็มาเสียชีวิตไปซะก่อน ผมก็อัดอั้น เหมือนคนที่นั่งคุยกันตลอด 5 ปี เพราะหนังสือเขาออกมาทุกเดือน แล้วคนเขียนอยู่ ๆ ก็ไปเลย เราก็เลยคิดว่าจะคุยกับใครดี”

ย้อนไปใน ค.ศ. 2017 ที่อาจารย์หวง อี้ จากไป เฟซบุ๊กของไทยมีกลุ่มคนรักนิยายกำลังภายในและหนังจีนพอประมาณ แต่ด้วยสถานภาพที่เป็นสมาชิกกลุ่มคนหนึ่ง อาร์มจึงไม่กล้าแสดงออกมากนัก

“ผมก็คิดว่าเราจะไปกวนเขาไหมวะ คิดในใจว่าเรามัวเขียนเรื่องที่เราอยากจะพูดอย่างเดียว มันจะน่าเกลียดเกินไปหรือเปล่า เราควรมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ด้วย เกรงใจที่จะเขียนเยอะ ๆ ก็เลยเริ่มทำเพจ พูดถึงนิยายจีนก่อน เดือนแรกก็มีคนมาตามเรา 10,000 คน”

ชื่อเพจ ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ เป็นชื่อล็อกอินเก่าที่อาร์มใช้มาตั้งแต่สมัยเล่นเว็บบอร์ดพันทิป เมื่อมาตั้งเพจในเฟซบุ๊กของตัวเอง เขาก็ยืนกรานจะใช้ชื่อนี้ต่อ

จากประเด็นเรื่องนิยายจีน หัวข้อสนทนาของลูกเพจค่อย ๆ กระโดดไปสู่หนังจีน แอดมินปริศนาที่ใครต่อใครเรียกเขาว่า ‘ท่านเก้า’ จึงทดลองเขียนถึงเรื่องวงการบันเทิงจีนที่ตนรับรู้มา

“หลายเรื่องที่ผมเขียนไป หลายคนเขาก็มาตอบว่า อุ๊ย! ผมไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลยนะเนี่ย ผมก็เลยสงสัยว่าชาวบ้านทั่วไปเขาไม่รู้เรื่องนี้กันเหรอ นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็รู้ พอทุกคนไม่รู้ ผมก็ทยอยเขียนไป ก่อนหน้านี้เราเคยอยากทำหนังสือ ก็มีที่เขียน ๆ เก็บไว้ บางทีก็เหมือนไดอารี่ บางทีก็เขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวสมัยยังไม่ทำเพจ ก็ทยอยเอาข้อมูลเก่า ๆ มาลง มันก็เกินเลยมาถึงปัจจุบัน”

กระบวนท่าที่ 5
ศึกษาให้ลึกซึ้ง

ใครก็ตามที่ได้ลองอ่านบทความฝีมือ ‘ท่านเก้า’ ล้วนลงความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เพจนี้รู้จริง รู้ลึก มิหนำซ้ำยังเขียนดี มีข้อมูลละเอียดกว่าใคร อ่านแล้วได้รู้อะไรเยอะแยะจากข้อเขียนของเขา

ผู้ดูแลเพจ ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ มีคำตอบดังนี้

“อ่านเยอะ ๆ ครับ อ่านข้อมูลทั้งภาษาจีน ทั้งอังกฤษ ทั้งไทย แต่เราก็ต้องมีฐานข้อมูลไว้นิดหนึ่ง แล้วเราก็คอยติดตาม เดี๋ยวนี้มันมีระบบการแปลเยอะ ทำให้อ่านได้ง่ายขึ้น แต่ถามว่าง่ายขึ้นแล้วคุณน่ะกรองได้แค่ไหน ต้องกรองให้ได้เยอะที่สุดก่อน”

เก้ากระบี่เดียวดาย เพจรวมเรื่องบันเทิงของลูกจีนที่หลงรักหนังจีนตั้งแต่ทีวีเพิ่งมีสี

ตัวอย่างแรกที่เขายกให้เราฟังคือภาพถ่ายของนักวาดผู้ล่วงลับไปเมื่อกลาง ค.ศ. 2022 นี้

“คนวาดภาพประกอบของกิมย้งที่เพิ่งเสียชีวิตไป ที่จริงไม่มีภาพหน้าเขาเลย เพราะเขาเป็นคนสันโดษ เป็นนักวาดสมัยโบราณที่ไม่มีภาพส่วนตัว เขาจะวาดภาพเขาเอง ดังนั้นตรงนี้เราก็ต้องบอกคนอ่าน เพราะบางเพจเขาเอาภาพหน้าคนอื่นไปลง เราก็ต้องบอกความจริงในเพจของเรา เพจอื่นผมไม่ค่อยไปยุ่งวุ่นวายกับเขาเท่าไหร่ เพราะผมก็เข้าใจแต่ละเพจ”

ถึงอาร์มจะรู้อะไรมาก แต่นั่นก็เป็นคนละความหมายกับ ‘รู้จริง’ หรือ ‘รู้หมดทุกอย่าง’

“บางทีของผมเองก็ผิด เพจเก้ากระบี่ฯ ไม่ใช่เพจที่รู้ที่สุดหรอก มีคนที่รู้มากกว่า มาแชร์กันได้ เราเองก็ต้องศึกษาให้เยอะหน่อยเพื่อป้องกันความผิดพลาด”

และตลอดหลายปีที่ทำเพจนี้มา อาร์มเลือกเฟ้นเนื้อหาเป็นอย่างดีเพื่อลูกเพจของเขา

“ต้องดีครับ ต้องมีประโยชน์กับคนอ่าน” นั่นคือคติธรรมประจำใจในการเผยแพร่ผลงาน

ในการนี้ ‘ท่านเก้า’ ได้ยกเอาข่าวครึกโครมของไต้หวันมาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือข่าวที่อดีตภรรยาของ หวัง ลี่หง ออกมาประณามพฤติกรรมอันเลวร้ายของซูเปอร์สตาร์ผู้เป็นสามีต่อสื่อมวลชน

“ถ้าเป็นเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ เรื่องใต้เตียง หรืออะไรที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร ไม่ได้สอนอะไรใครเลย รู้เพื่อความสนุก เราก็จะมองว่ามันไปละเมิดเขาเนอะ ต้องให้เกียรติคนที่เราเขียนถึงด้วย อย่างหวัง ลี่หง ทะเลาะกับภรรยา ภรรยาออกมาแฉ ตรงนี้ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ตกผลึก ภรรยาก็มีลูกกับหวัง ลี่หง ตั้ง 3 คนเลยนะ ถ้าไม่รักกันจริงคงไม่มีลูกกันขนาดนั้น

“เพราะงั้นบางเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยอารมณ์ เราต้องทอดเวลาออกไปหน่อย เพื่อดูว่าในอนาคตเรื่องมันจะไปทิศทางไหน แล้วจะไปได้ดีกว่านี้ไหม เราจะได้เขียนถึงเรื่องที่ไม่ดีได้ว่า มันเกิดขึ้นเพราะเราใช้อารมณ์ดำเนินเรื่องและตัดสิน

“บางคนไปตัดสินเขาแล้วว่าเป็นยังไง ซึ่งผมว่ามันไม่ใช่หรอก ถ้าแบ่งฝักแบ่งฝ่ายก็เหมือนเราไปช่วยเพิ่มความแตกแยกว่าหวัง ลี่หง เป็นคนแย่มากเลย เพราะว่าเราไม่รู้ ขนาดเขาเป็นคนข้างเตียง นอนด้วยกัน เขาน่าจะรู้มากกว่าเรา หรือมีหลายอย่างที่บางทีเรารู้ แต่เขาไม่รู้ ตอนนี้เรื่องมันดำเนินไปด้วยอารมณ์ 2 ฝ่าย ก็ต้องรอไปก่อน อีกสัก 4 – 5 ปี อาจจะเขียนถึง แต่ยกตัวอย่างให้เห็นหลาย ๆ มุมครับ”

กระบวนท่าที่ 6
ถกกันอย่างสุภาพ

ตลอดชั่วโมงเศษ ‘ท่านเก้า’ ของเราเน้นย้ำคำว่า ‘สุภาพ’ กับ ‘ให้เกียรติ’ นับครั้งไม่ถ้วน ชี้ชัดว่ามันคือสิ่งที่เขาปรารถนาให้คงอยู่คู่เพจไปนาน ๆ

“เราอยากทำสังคมโซเชียลในส่วนของเราให้ดี คือโซเชียลมันเร็ว ความเร็วทำให้คนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้ามีจุดหนึ่งที่เข้ามาทำอะไรสบาย ๆ ให้เกียรติกัน มันก็จะมีสังคมที่ดี มีคนที่ยังมาแชร์ไอเดียกัน”

ท่องยุทธจักรวงการบันเทิงจีนไปกับ ‘ท่านเก้า’ ผู้มุ่งสร้างสุขแก่ลูกเพจด้วยเรื่องราวของดารา หนัง ละครในวันวาน

น่าสังเกตว่าลูกเพจที่โต้ตอบคอมเมนต์ในโพสต์ต่างก็ใช้ถ้อยคำที่สุภาพเรียบร้อย มีหางเสียง แม้จะมีน้ำเสียงของการหยอกล้อหรือตำหนิ แต่ก็ไม่มีถ้อยคำหยาบโลนที่ต้องเซ็นเซอร์ ดูดเสียง

“คนที่ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนี่ย เขาก็จะรู้ว่าเพจนี้ใช้คำสุภาพ แล้วคนอื่นในเพจก็จะใช้คำสุภาพหมด หลายคนเข้ามา ก็จะรู้สึกว่าคนในเพจนี้เขาคอมเมนต์กันดีนะ มันกลายเป็นการกลืน เหมือนเข้าไปที่หนึ่ง แล้วคนในสังคมนั้นเป็นอย่างนั้น เขาก็จะเริ่มรู้

“แต่เราไม่ได้ตึงเป๊ะว่าคุณต้องทำตามกฎอย่างนี้นะ เพจไม่เคยมีกฎเลย แต่เข้ามาแล้วก็จะรู้เอง เพราะบางทีบางคนพิมพ์เข้ามาด้วยความรู้สึกขำขัน แต่ว่าใช้คำบูลลี่รุนแรง ก็จะมีคนมาติงเขาเยอะ พอสักพักหนึ่งเขาขอโทษ เขารู้แล้วว่าที่นี่ไม่ใช้คำแบบนี้ บางคนก็กลับมาขอโทษ ตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกดี”

กระบวนท่าที่ 7
เคล็ดวิชาจากดาราในดวงใจ

คลุกคลีกับดาราจีน ฮ่องกง ไต้หวันมาก็มาก เรานึกอยากรู้ว่าอาร์มมีดาราคนโปรดบ้างหรือไม่

“คนหนึ่งที่ตอนเด็ก ๆ ไม่ชอบ แต่มาทำเพจแล้วชอบคือ หลิว เต๋อหัว เป็นคนที่เราเอาเป็นแบบอย่างได้ เพราะเขาไม่ได้เก่งมาตั้งแต่ต้น”

ไล่เลี่ยกับพระเอกคนดังแซ่หลิว ฮ่องกงยังมีดารานักแสดงหนุ่มอีก 3 คนที่เรียกรวมกันว่า ‘จตุรเทพฮ่องกง’ ได้แก่ จาง เสวียโหย่ว เทพที่ร้องเพลงเก่งที่สุด กัว ฟู่เฉิง เทพที่เต้นเก่งสุด และ หลี่ หมิง เทพที่หล่อ มีบุคลิกแบบคุณชาย เท่ ละมุนที่สุดในบรรดา 4 คน

“หลิว เต๋อหัว เป็นเทพที่ทำงานหนักที่สุด ปีนี้หลิว เต๋อหัว อายุกำลังจะครบ 61 ปี เขายังไปกองถ่ายก่อนเวลาถ่ายทำ 1 ชั่วโมงเสมอ นักข่าวไปถามว่าคุณดังขนาดนี้แล้ว ทำไมต้องทำอะไรอย่างนี้อยู่ เขาตอบเลยว่านี่คือแต้มต่อของเขา การได้มาเตรียมตัวก่อน เตรียมบทก่อนนี่แหละคือแต้มต่อ เพราะเขายอมรับว่าตัวเองไม่ได้เก่งเหมือนคนอื่น”

นั่นคือดาราชาย ถ้าเป็นฝ่ายหญิง เหมย เยี่ยนฟาง คือคำตอบของเขา

“เมื่อก่อนไม่ชอบคนนี้เพราะรู้สึกว่าไม่ค่อยสวย พอมาทำเพจถึงได้รู้ว่าเธอเป็นคนใจกว้าง ดูแลคนอื่น ดูแลทุกคน ตอนเธอเป็นมะเร็งใกล้จะเสียชีวิตแล้ว ฮ่องกงมีโรคซาร์สระบาด ก็ยังออกมารวมศิลปินจัดคอนเสิร์ตสร้างความเชื่อมั่นแก่คนฮ่องกง ดังนั้นคนฮ่องกงเลยรักเธอมาก มีคำพูดเลยว่าถ้ามีลูกสาวต้องมีให้ได้แบบเหมย เยี่ยนฟาง ล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 2021 หนังเรื่อง Anita ที่เป็นชีวประวัติของเธอก็เพิ่งออกฉาย ทำรายได้ไป 60 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง บ่งบอกว่าคนฮ่องกงรักเหมย เยี่ยนฟาง มาก หนังของเธอทำให้ฮ่องกงฟื้นอีกครั้ง คนก็กลับมาเชื่อมั่นในฮ่องกงได้อีกครั้ง”

กระบวนท่าที่ 8
แวดล้อมด้วยเนื้อหาหลากหลาย

หลายคนมุ่งหน้ามายังเพจ ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ เพื่อเสพเรื่องราวบันเทิงจีนในอดีต แต่ก็ต้องแปลกใจว่า หลายครั้งเพจที่ตั้งชื่อตามเพลงกระบี่ในนวนิยายกำลังภายในนี้ มักลงเนื้อหาที่ไม่เข้ากัน อย่างภาพยนตร์ไทย อเมริกัน ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ซีรีส์จีนแผ่นดินใหญ่สมัยปัจจุบัน

“เก้ากระบี่เดียวดายเป็นกระบวนท่าในเรื่อง กระบี่เย้ยยุทธจักร เป็นวิชาของ เล่งฮู้ ชง คือมันจะไม่มีรูปแบบตายตัว ก็เหมือนเพจนี้ที่เขียนถึงหนังฝรั่งบ้าง ดาราไทยบ้าง ไม่ตายตัว”

ถามว่าแล้วลูกเพจคิดเห็นอย่างไรบ้าง แปลกใจบ้างไหม

“ไม่แปลกใจเลยครับ มันเป็นเรื่องของยุคสมัย เราเขียนเรื่องยุคสมัยก่อน เขาก็โอเคนะ เพราะคนสมัยนั้นไม่ได้ดูหนังจีนอย่างเดียว เขาดูหนังไทยด้วย ดูหนังฝรั่งด้วย เราจะเขียนถึงบ้างแต่ไม่ยึดเป็นเนื้อหาหลัก เพราะเดี๋ยวมันก็จะกลับมาเรื่องจีน บางทีถ้าคุยแต่เรื่องจีนอย่างเดียวก็น่าเบื่อ”

หรือบางครั้งบางคราว ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ ก็โพสต์คลิปหรือรูปภาพตลกขบขัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับข้อใหญ่ใจความเกี่ยวกับวงการมายาเลย

“เป็นความชอบส่วนตัวเลยครับ (หัวเราะ) คือผมมีกลุ่มเพื่อนต่างประเทศ ก็จะมีกรุ๊ปไลน์ บางทีเขาก็ส่งอะไรพวกนี้มา ตลกดีก็เลยเอามาลง เขาเอาของเราไปลงบ้าง บางทีภาพหรือคลิปในเพจเก้ากระบี่ฯ ก็ไปลงในเพจฮ่องกง สนุก ๆ ขำ ๆ เป็นรสนิยมเจ้าของเพจ (ยิ้ม)”

กระบวนท่าที่ 9
บรรลุวิชา ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’

ใช่เพียงเนื้อหาของเพจที่ไม่ตายตัว แพลตฟอร์มที่ใช้เผยแพร่ผลงานของเพจก็เริ่มเจริญรอยตามสุดยอดเพลงกระบี่ของเล่งฮู้ ชง ไปด้วยเหมือนกัน

ด้วยบทความที่มากมายดั่งหยดน้ำในมหานที จึงมีผู้ไหว้วานให้อาร์มรวมเล่มงานเขียนเป็นหนังสือ ซึ่งตรงกับความต้องการของเขา เพราะเขาเคยตั้งเป้ามาแต่ครั้งยังเพิ่งก่อตั้งเพจใหม่

“ตอนนี้เพจทำหนังสืออยู่ 2 เล่ม คือ เดชคัมภีร์กระบี่เก้า เขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ แล้วก็ เดชคัมภีร์กระบี่เก้าบท ที่เขียนเกี่ยวกับวงการโทรทัศน์ อันนี้ตามคำขอล้วน ๆ เลย เพราะลูกเพจขอ เขาอยากให้ทำเป็นหนังสือ เพราะอยากเก็บเอาไว้”

ท่องยุทธจักรวงการบันเทิงจีนไปกับ ‘ท่านเก้า’ ผู้มุ่งสร้างสุขแก่ลูกเพจด้วยเรื่องราวของดารา หนัง ละครในวันวาน

เนื้อหาหนังสือทั้ง 2 เล่มเหมือนประวัติศาสตร์เล่าความเป็นมาของภาพยนตร์และวงการโทรทัศน์ มีทั้งเรื่องที่เรียบเรียงจากที่เคยเผยแพร่ในเพจ และเขียนใหม่เพื่อตีพิมพ์โดยเฉพาะ

แล้วถามว่า ‘ท่านเก้า’ คิดอยากเปลี่ยนวิธีเล่าเรื่องจากบทความเป็นรูปแบบอื่นไหม เขายิ้มเอมใจก่อนแถลงไขว่า ตอนนี้มีกลุ่มคลับเฮาส์ที่รวมตัวกับเหล่าแฟนพันธุ์แท้ภาพยนตร์และซีรีส์จีน คุยเป็นประจำทุกสัปดาห์ บางครั้งก็ไลฟ์สดคุยกันต่อหน้า ถามคำถามกันซึ่ง ๆ หน้า

“ที่อยากทำจริง ๆ ก็คือยูทูบแชนแนล อยากจะทำสกู๊ปดี ๆ เพื่อเก็บไว้ดูเป็นข้อมูลย้อนหลังได้” อาร์มกล่าวถึงแผนการในใจซึ่งอาจเกิดขึ้นจริงในวันหน้า

“โซเชียลมันก็เหมือนภาพขาวที่มีจุดดำอยู่ตรงกลาง มีคนถามว่าภาพอะไร คนอื่นก็ตอบว่าภาพจุดดำไง ไม่ได้สนใจพื้นที่รอบ ๆ ที่มันเป็นสีขาว มองแต่จุดดำจุดเดียว ถ้าโฟกัสไปที่สีขาวที่คุณรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ของคุณ คุณก็จะสนใจจุดดำน้อยลง ถามว่าจุดดำมีไหม มันมีทุกที่แหละ แล้วแต่ว่าจะเอาใจไปไว้ตรงไหน ระหว่างจุดดำกับจุดขาวน่ะ

“ผมก็อยากให้เพจของผมเป็นจุดขาว อยู่เป็นพื้นที่สีขาวแบบนี้ อยู่กันสบาย ๆ ไม่ได้ซีเรียส เพจผิดอะไรก็มาว่ากันได้ (หัวเราะ)”

ท่องยุทธจักรวงการบันเทิงจีนไปกับ ‘ท่านเก้า’ ผู้มุ่งสร้างสุขแก่ลูกเพจด้วยเรื่องราวของดารา หนัง ละครในวันวาน

อันชีวิตชาวยุทธ์ทุกคนต้องฟันฝ่าหนทางยาวไกล ยากแท้แลเห็นอุปสรรคที่คอยอยู่เบื้องหน้า…

ข้าพเจ้าขอเป็นหนึ่งกำลังใจ ส่งให้ ‘ท่านเก้า’ นำเสนอสาระดี ๆ ให้ลูกเพจต่อไปนะขอรับ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล