มกราคม 2563 – หลังเทศกาลปีใหม่ พวกเราเริ่มได้ข่าวการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จากประเทศจีน ไม่กี่สัปดาห์ต่อมามีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย ความกังวลเริ่มก่อตัวขึ้นช้าๆ

กุมภาพันธ์ 2563 – จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น ความกังวลของผู้คนเริ่มเปลี่ยนเป็นความหวาดวิตก ทุกครั้งที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เราเห็นคลื่นความตื่นตระหนกของสังคมบนโซเชียลมีเดีย

มีนาคม 2563 – สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลข่าวสารมากมายล้นโซเชียลมีเดีย บ้างเป็นข่าวจริง บ้างเป็นแค่ข่าวลือแพร่สะพัดที่ทำให้สังคมยิ่งโกลาหล

12 มีนาคม 2563 – COVID Tracker แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แบบเรียลไทม์ พร้อมบอกพิกัดและรายละเอียดของผู้ติดเชื้อ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย 

COVID Tracker, COVID-19, โควิด-19

COVID Tracker นับเป็นแพลตฟอร์มจัดระเบียบและแสดงข้อมูลที่มาช่วยแก้ Pain Point ของสังคมได้อย่างทันท่วงที ทำให้จนถึงวันนี้ มีผู้คนแวะเวียนเข้าไปดูข้อมูลแสนเป็นประโยชน์บนแพลตฟอร์มนี้แล้วกว่า 5 ล้านคน 

คอลัมน์ Little Big People พาคุณไปทำความรู้จักคนกลุ่มเล็กผู้อยู่เบื้องหลัง COVID Tracker อย่าง 5Lab บริษัทให้บริการเทคโนโลยีสัญชาติไทย ที่ลุกขึ้นมาสร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ให้สังคมด้วยการทำสิ่งที่ถนัด จากความตั้งใจแรกที่อยากทำไว้แค่แชร์กันในหมู่เพื่อนฝูง สู่การแชร์ต่อไปในวงกว้างนับแสนครั้ง

The Hackathon

5Lab คือบริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการด้านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน อีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงซอฟแวร์ต่างๆ ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน คือจะทำให้เทคโนโลยีมีความเป็นมนุษย์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ก่อตั้งโดย Co-Founders 3 คน คือ โบว์-พัชรินทร์ ตันชัยเอกกุล, ใหม่-อาพร พลานุเวช และ โน้ต-นิธิ ประสานพานิช

covid tracker

โบว์เริ่มเล่าว่า “วันที่เราคุยกันว่าจะทำ COVID Tracker คือวันที่มีการพบผู้ติดเชื้อที่สีลม ซึ่งมันใกล้ตัวมาก เพราะออฟฟิศเราอยู่สาทร น้องคนหนึ่งในทีมก็พูดขึ้นว่า ‘ทำไมในไทยไม่มีใครทำ Tracker บอกตำแหน่งผู้ติดเชื้อสักที แล้วเราจะไประวังตัวกันได้ยังไง เราทำกันดีไหม’ เราก็ตัดสินใจกันตอนนั้นเลยว่าเอาดิ งั้นมาเริ่มทำ Hackathon กันเลย”

Hackathon คือรูปแบบการทำงานที่ทุกคนในทีมจะโยนไอเดียและระดมสมองกัน เพื่อทำให้งานชิ้นนั้นๆ สำเร็จลุล่วงโดยไม่หยุดหรือเลิกไประหว่างทาง 

“จะเรียกว่าทำแบบมาราธอนก็ได้ เพราะไม่เสร็จห้ามหยุด ดังนั้นการทำงานรูปแบบนี้ อะไรไม่จำเป็นเราจะไม่ทำ เพราะกลัวไม่ได้นอน (หัวเราะ) 

COVID Tracker, COVID-19, โควิด-19

“เราทำ Hackathon กันตั้งแต่ตอนเย็นๆ ระดมทีมกันหาข้อมูล เขียนโปรแกรม ทำต้นแบบ และออกแบบการใช้งานสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป User Experience (UX) และ User Interface (UI) โดยจุดมุ่งหมายในการออกแบบ คือเราพยายามทำให้มันเรียบง่ายที่สุด พยายามให้ข้อมูลทั้งหมดมีไม่เกินหนึ่งหน้า คือเปิดมาปุ๊บเห็นข้อมูลทั้งหมดเข้าใจภาพรวม เท่านั้นพอ

“จนถึงประมาณเที่ยงคืน COVID Tracker ก็เสร็จสมบูรณ์ และเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้งานได้”

Old Ways Won’t Open New Door

5Lab เปิดทำการมาแล้ว 3 ปี มีทีมงานทั้งสิ้น 7 คน

“ทุกวันนี้ในประเทศไทยมีบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเยอะมาก พอเจนเนอเรชันของคนทำงานเปลี่ยน วัฒนธรรมการทำงานก็เปลี่ยนตามไปด้วย เราทำงานกันแบบสบายๆ คำว่าสบายในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทำงานง่าย แต่หมายถึงรีแลกซ์” โบว์อธิบาย

covid tracker

“เทคโนโลยีทำให้เราทำงานได้สะดวก โดยไม่ต้องมาเจอหน้ากัน ไม่จำเป็นต้องมานั่งประชุมกันทั้งวัน จริงๆ ออฟฟิศใหม่ๆ ยุคนี้ มีนโยบาย Work from home กันมาตั้งนานแล้ว ก่อนจะมีเรื่องโรคระบาดอีก (ยิ้ม) 5Lab ก็ให้ทุกคนในทีม Work from home ทุกวันศุกร์ คุณจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ตราบใดที่ประสิทธิภาพของคุณไม่ลดลง” 

โบว์เล่าว่าทุกเช้าก่อนเริ่มงานจะมี Stand Up Meeting ให้ทีมแต่ละคนอัปเดตสิ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบแบบเร็วๆ 1 – 2 นาที จากนั้นแยกย้ายกันทำงานเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา

“Stand Up Meeting เป็นวัฒนธรรมการทำงานของฝรั่งเจเนอเรชันใหม่ๆ ที่จะไม่นั่งประชุมกันนาน และด้วยความที่องค์กรเราเล็ก การสื่อสารระหว่างกันก็ง่าย สะดวก เร็ว ทุกคนในทีมไม่ว่าจะรุ่นไหน เด็กกว่า แก่กว่า ก็โยนไอเดียใส่กันได้หมด

COVID Tracker, COVID-19, โควิด-19

“โดยไอเดียอะไรก็ตามที่ถูกหยิบขึ้นมา ถ้าคุยกันแล้วทุกคนเห็นพ้องต้องกัน มันก็เกิดขึ้นได้ทุกอย่าง COVID Tracker ก็เช่นกัน ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทำคืนนี้ แล้วพรุ่งนี้จะ Launch ให้เพื่อนๆ พ่อแม่ในกรุ๊ปไลน์ครอบครัวสวัสดีวันจันทร์เท่านั้น ไม่ได้คิดว่ามันจะไปไกลขนาดนี้

“ไกลขนาดที่ว่า มีเพื่อนส่งลิงก์ COVID Tracker มาให้ บอกว่าเพื่อนที่ออสเตรเลียส่งมา โดยที่เขาไม่รู้ว่าโบเป็นคนทำเอง คือมันวนกลับมาถึงเราอีกลูปหนึ่ง” (ยิ้ม)

A Better Version

1 สัปดาห์นับจากการเปิดให้คนเข้าใช้งานเป็นครั้งแรก 5Lab พัฒนา COVID Tracker ไปแล้ว 1 เวอร์ชัน จากที่มีแค่ภาษาไทย เพิ่มมาอีก 4 ภาษา คืออังกฤษ ญี่ปุ่น จีนกวางตุ้ง และจีนกลาง โดยรับนักแปลอาสาสมัครที่อยากใช้ทักษะของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ในช่วงที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันคนละไม้คนละมือแบบนี้

“นอกจากข้อมูลของผู้ติดเชื้อที่แสดงบนแผนที่ เราเพิ่มเรื่องของโรงพยาบาลเข้ามาด้วย ว่ามีโรงพยาบาลไหนรับตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสตัวนี้บ้าง สิบแปดโรงพยาบาลที่คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าตรวจฟรี จริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกคนเข้าไปตรวจฟรีได้ คุณต้องมีอาการเข้าเกณฑ์จึงจะได้รับการตรวจฟรี ข้อมูลที่ใส่เพิ่มเติมเข้าไปพวกนี้เราหาเองและมีแหล่งอ้างอิงข้อมูลชัดเจน”

5Lab, COVID Tracker, COVID-19, โควิด-19

โบว์บอกว่า 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนจำนวนมากช่วยรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเข้ามาให้ 5Lab แต่ทางทีมไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาแสดงบนแพลตฟอร์ม COVID Tracker เพราะจำเป็นต้องใช้เฉพาะข้อมูลที่มีประกาศหรือยืนยันอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น โดยเฉพาะตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมที่ต้องตรงกันตลอด ผิดพลาดไม่ได้เลย

“เราได้รับฟีดแบ็กดีๆ มากมายที่ช่วยไกด์ให้เรารู้ว่าควรพัฒนา ปรับปรุง หรือแก้ไขตรงไหนต่อ เพื่อให้แพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพต่อการใช้งานที่สุด และได้รับการติดต่อจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่อยากเข้ามาช่วย

“แต่การช่วยก็มีหลายระดับ บางแห่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เราเข้าใจระบบการทำงานขององค์กรระดับนี้นะ ว่าต้องไปเข้าร่วมประชุมหารือต่างๆ อีกหลายครั้ง ถ้าจะทำงานร่วมกัน เราจึงแจ้งไปว่าทีมงานเรามีน้อย แถมยังมีงานประจำที่ต้องทำอยู่ เราขอเป็นข้อมูลที่ครบถ้วนซึ่งเราใช้ได้โดยตรง ส่งมาเลย น่าจะรวดเร็วและคล่องตัวกว่า” โบกล่าวยิ้มๆ

covid tracker

Is Phase 3 Coming?

COVID Tracker เป็นแพลตฟอร์มแบบ Location Base ที่ระบุพิกัดของผู้ติดเชื้อ เพื่อให้คนรู้ว่าพื้นที่ไหนมีความเสี่ยง และจะได้เลี่ยงไปในพื้นที่นั้นๆ 

ใหม่อธิบายว่า “ปัจจุบันที่เราอยู่ในเฟสสองจุดเก้า ยังไม่เข้าเฟสสามของการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อมีมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขออกมายืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ไม่ระบุตำแหน่งว่าผู้ติดเชื้อแต่ละรายอยู่พื้นที่ไหนบ้าง ทำให้การทำงานยากขึ้น เพราะเราก็ไม่มีข้อมูล ทำให้ชี้พิกัดลงไปบน COVID Tracker ไม่ได้ คนที่เข้ามาดูก็ไม่ได้รับข้อมูลไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ 5Lab ได้วางแผนดำเนินการแพลตฟอร์ม COVID Tracker สำหรับการเข้าสู่เฟสที่ 3 ของการระบาดแล้ว 

covid tracker

“นิยามของเฟสสามตามที่เราเข้าใจ คือ คนติดเชื้อไวรัสตัวนี้กันทั่วไป จนไม่สามารถหาต้นตอว่าแต่ละคนได้รับเชื้อมามาจากไหน และคงมีคนที่ติดเชื้อแบบไม่รู้ตัวจำนวนหนึ่งในสังคม บางคนแสดงอาการ บางคนไม่แสดงอาการแต่ก็เป็นพาหะได้ 

“พอถึงจุดนั้น ข้อมูลผู้ติดเชื้อที่เราใส่ลงไปใน COVID Tracker คงไม่น่าจะสำคัญอีกแล้ว เพราะที่ไหนๆ ก็ไม่ปลอดภัยและมีสิทธิ์ได้รับเชื้อทั้งนั้น เราก็จะเปลี่ยนแพลตฟอร์ม จากที่ให้ข้อมูลเรื่องผู้ติดเชื้อ ไปเป็นให้ข้อมูลความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ แทน เช่น สถานพยาบาลที่คนจะมุ่งหน้าไป

“ตอนนี้เรากำลังทำงานร่วมกับกลุ่ม NGO ที่กำลังรวบรวมข้อมูลสถานพยาบาล แต่ละแห่งมีเตียงที่รองรับผู้ติดเชื้อได้กี่คน มีเครื่องมือทางการแพทย์อยู่มากน้อยแค่ไหน คนควรจะรู้ว่าต้องไปที่ไหนที่มันปลอดภัย สถานพยาบาลไหนที่ยังมีเตียงเหลือ” โน๊ตเสริม

covid tracker

โบว์เล่าต่อถึงการประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม “เรากำลังประสานงานกับหน่วยงานที่ดูแลเรื่องผู้ประกอบการ เพื่อใส่ข้อมูลสถานที่ที่คนไปหาซื้ออาหารและข้าวของเครื่องใช้ได้ ที่ไหนขาด ที่ไหนเหลือ ที่ไหนขายเท่าไหร่ อันนี้ก็สำคัญ 

“คนจะได้ไม่ต้องตื่นตระหนกไปซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตกัน เพราะยังมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ อีก ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีอะไรกิน ซึ่งจะไม่ได้ช่วยแค่ประชาชน แต่ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการรายย่อยด้วย เพราะตอนนี้ทุกคนก็โดนผลกระทบกันหมด”

Keep Calm and Wash Your Hands

“หลายคนก็ถามนะว่ากดดันหรือเปล่า ต้องบอกว่าโชคดีที่ทีมเราไม่ได้วางแผนกันเยอะ (หัวเราะ) คือเราไม่ได้ตั้งเป้าอะไรกันไว้มากมาย เราทำไปเรื่อยๆ ตามที่สถานการณ์มันเปลี่ยนแปลง ทำให้เราไม่ได้กดดันอะไร ที่สำคัญคือเราสนุกที่ได้ทำสิ่งนี้ รู้สึกท้าทายที่จะเห็นผลลัพธ์ของสิ่งที่เราทำ มันสร้างอะไรบางอย่างให้สังคม

“พวกเรามีพี่ตูน บอดี้สแลม เป็นแรงบันดาลใจ เขาพูดเสมอตอนวิ่งโครงการก้าวคนละก้าวว่า ‘ผมทำเพราะผมสนุก แล้วมันทำให้เกิดผลลัพธ์ต่อสังคม’ เอาจริงๆ ว่าทีมเราคงรู้สึกฟินสุดๆ ถ้าพี่ตูนช่วยแชร์ COVID Tracker ด้วย” โบว์กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

5Lab, COVID Tracker, COVID-19, โควิด-19

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ