*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง

21 มิถุนายนของทุกปีเป็น ‘วันอุทกศาสตร์โลก’ วันสำคัญที่ องค์การอุทกศาสตร์ระหว่างประเทศ หรือ IHO ก่อตั้งขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นความสำคัญของอุทกศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญต่อทุกชีวิต ทั้งยังเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมมือกันส่งเสริมการเดินเรืออย่างปลอดภัย พร้อมทั้งหันมาคุ้มครองสิ่งมีชีวิตทางทะเลอย่างจริงจังและยั่งยืน

ในวันที่ทั่วโลกยังจับตาความก้าวหน้าของนวัตกรรมการแพทย์ เพื่อบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 แหล่งน้ำและชีวิตใต้ท้องทะเลกลับถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจับสัตว์น้ำเกินขนาด มลพิษจากกิจกรรมของมนุษย์ ปัญหาขยะ และล่าสุดขยะทางการแพทย์ที่พลัดลอยเข้ามาเติมเพิ่ม

เราจึงอยากชวนทุกคนสำรวจพร้อมทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับแหล่งน้ำและธรรมชาติ ไปจนถึงการทำงานของคนใกล้น้ำ ผ่านภาพยนตร์น้ำดี 5 เรื่อง 5 รส ตั้งแต่เรื่องจริงของยามกู้ภัยชายฝั่ง การต่อสู้ของมนุษย์หลังโลกถูกปกคลุมไปด้วยน้ำ ความงดงามของมิตรภาพต่างสปีชีส์ หนังตีแผ่คดีน้ำเน่า ตบท้ายด้วยเรื่องเล่าพื้นบ้านของชาวไอริช เพื่อเชื้อเชิญให้พวกเรากลับมาขบคิดถึงความสัมพันธ์ของคนกับน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกันเป็นห่วงโซ่อีกสักครั้ง

01

The Finest Hours ชั่วโมงระทึกฝ่าวิกฤตทะเลเดือด

The Finest Hours ชั่วโมงระทึกฝ่าวิกฤตทะเลเดือด

ค.ศ. 2016

ผู้กำกับ : Craig Gillespie

ประเภท : แอคชัน ดราม่า

ความยาว : 1 ชั่วโมง 57 นาที

ในคืนที่ท้องทะเลร้องคำราม ยามชายฝั่งคือวีรบุรุษคนสำคัญ

The Finest Hours สร้างจากเรื่องจริงของทีมกู้ภัยชายฝั่งที่ออกช่วยเหลือผู้ประสบภัยกว่า 30 ชีวิตในคืนที่คลื่นซัดสูงกว่า 60 ฟุต เรื่องราวเกิดขึ้นกลางฤดูหนาว ค.ศ. 1952 เมื่อพายุพัดกระหน่ำชายฝั่งด้านตะวันออกของรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา จนทำให้เรือบรรทุกน้ำมันเพนเดิลตัน (SS Pendleton) ขาดเป็น 2 ท่อน หน่วยกู้ภัยจึงส่งยามชายฝั่ง 4 นายออกไปช่วยชีวิตของลูกเรือ โดยมี เบอร์นี่ เว็บเบอร์ (รับบทโดย คริส ไพน์ (Chris Pine)) เป็นหัวหน้าทีมยามชายฝั่งในวันนั้น

การนำเรือเล็กออกจากฝั่งในคืนที่คลื่นซัดสูงกว่าตึก 6 ชั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ แต่เบอร์นี่และลูกทีมก็ต้องใส่พลังเต็มสูบเพื่อทำงานแข่งกับเวลา เพราะ 1 นาทีที่เสียไปอาจต้องแลกกับหลายชีวิตบนเรือที่กำลังจม ทางฝั่งลูกเรือเพนเดิลตันเองก็ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อยื้อเวลาออกไปให้นานที่สุด โดยมี ซีเบิร์ท (รับบทโดย เคซีย์ แอฟเฟล็ก (Casey Affleck)) หนุ่มใต้ท้องเรือที่ไม่มีใครชอบหน้าเป็นผู้นำการเอาชีวิตรอด

The Finest Hours ชั่วโมงระทึกฝ่าวิกฤตทะเลเดือด

ความสมจริงเป็นสิ่งที่ผู้กำกับอย่าง เครก กิลสพาย (Craig Gillespie) ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ The Finest Hours ยกกองไปถ่ายทำที่แมสซาซูเซตส์ สถานที่ในเหตุการณ์จริง แม้ฉากเรือแตกและฉากการช่วยเหลืออาจเนรมิตขึ้นในโรงถ่าย แต่ทีมเอฟเฟกต์ของหนังก็เลือกสร้างคลื่นจำลองและปล่อยน้ำฝนหลายพันลิตร เพื่อให้นักแสดงรู้สึกถึงความเปียกปอนและหนาวเหน็บ แบบเดียวกับที่ยามชายฝั่งและผู้ประสบภัยในวันนั้นต้องเผชิญ ทีมงานทำได้อย่างสมบูรณ์แบบถึงขั้นที่ เคซีย์ แอฟเฟล็ก เจ้าของบทซีเบิร์ทเอ่ยชมว่า “ฝนตกจริงๆ ผมรู้สึกโคตรหนาว มีลมซัดใบหน้าของผมตลอดเวลา แทบไม่ต้องแสดงเลยด้วยซ้ำ ผมแค่อยู่ตรงนั้น แล้วตะโกนบทที่ต้องพูด มันเจ๋งเอามากๆ”

แม้การดำเนินเรื่องในช่วงแรกจะเนิบช้า จนผู้ชมหลายคนลงความเห็นว่าหนังควรจะตัดเรื่องราวความรักช่วงต้นออก แต่โดยภาพรวม The Finest Hours ก็เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่สะท้อนภาพชีวิตของผู้ประสบภัยทางทะเลได้อย่างตรงไปตรงมา ทุกคนจะรู้สึกร่วมและเข้าใจหัวอกของผู้ที่ต้องหาทางเอาตัวรอดบนเกลียวคลื่นที่กำลังปะทุ อีกทั้งหนังก็ทำหน้าที่เชิดชูอาชีพที่คนไม่ค่อยให้ความสำคัญอย่างทีมกู้ภัยชายฝั่งได้อย่างน่าจดจำ 

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

ศึกษาผืนน้ำ ติดตามความเป็นไปของมหาสมุทร และเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนในวันที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ นี่คือทีมกู้ภัยและยามชายฝั่งที่เราได้รู้จักผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้

รับชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ https://bit.ly/35umnpn

02

Waterworld ผ่าโลกมหาสมุทร

Waterworld ผ่าโลกมหาสมุทร

ค.ศ. 1995

ผู้กำกับ : Kevin Reynolds

ประเภท : แอคชัน ไซไฟ ดิสโทเปีย

ความยาว : 2 ชั่วโมง 15 นาที

นี่คือหนังแอคชันที่วาดฝันว่าจะฮิตติดตลาดแบบ Star Wars แต่เมื่อลงสู่หน้าจอ Waterworld กลับกลายเป็นหนังที่ขาดทุนสูงสุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่ภายใต้วิกฤตรายได้ หนังจำลองภาพของโลกอนาคตที่น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนมนุษย์ต้องใช้ชีวิตอยู่บนผืนน้ำได้อย่างน่าสนใจ

ผลพวงจากภาวะโลกร้อนทำให้โลกทั้งใบถูกปกคลุมไปด้วยน้ำ ผู้คนต้องใช้ชีวิตบนมหาสมุทร บ้างก็อาศัยอยู่บนทุ่น บ้างก็เร่ร่อนอยู่บนเรือ แผ่นดินกลายเป็นเพียงนิทานปรัมปราที่บอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ความเป็นอยู่ใน Waterworld เต็มไปด้วยความอดอยาก บ้านเมืองไร้ขื่อไร้แป เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนเหมือนในยุคคาวบอยปล้นสะดม (พูดง่ายๆ ว่า นี่คือภาพยนตร์ Mad Max ที่เปลี่ยนจากทะเลทรายมาเป็นทะเลจริงนั่นเอง)

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

หนังเล่าเรื่องของหนุ่มไร้ชื่อ ไร้ปูมหลัง (รับบทโดย เควิน คอสต์เนอร์ (Kevin Costner)) ผู้มีความสามารถพิเศษอย่างการหายใจใต้น้ำด้วยเหงือก (ประหนึ่งเป็นมนุษย์ที่วิวัฒนาการตามสภาพแวดล้อม) เขานำดินจากพื้นสมุทรมาแลกกับอาหารเพื่อดำรงชีวิต แต่โชคชะตาก็พาให้เขาได้เจอกับ อีโนล่า (รับบทโดย ทีน่า มาจอริโน่ (Tina Majorino)) เด็กหญิงผู้มีลายแทงลึกลับกลางแผ่นหลัง ซึ่งว่ากันว่าลายแทงนี้จะนำทางไปสู่แผ่นดินผืนสุดท้ายที่ยังไม่ถูกน้ำครอบครอง 

เรื่องราวของอีโนล่าไปถึงหู ดีคอน (รับบทโดย เดนนิส ฮอปเปอร์ (Dennis Hopper)) หัวหน้ากลุ่มโจรสลัดที่ระรานปล้นสิ่งของและอาหารจากชาวบ้านบนทุ่นลอยน้ำ จึงเป็นหน้าที่ของหนุ่มไร้ชื่อและ เฮเลน (รับบทโดย จีน ทริปเปิลฮอร์น (Jeanne Tripplehorn)) สาวแกร่งที่ดูแลอีโนล่ามาตั้งแต่เล็ก ต้องปกป้องเด็กสาวผู้มีลายแทงตรงแผ่นหลังให้รอดพ้นจากเหล่าคนชั่วให้จงได้

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

ปัญหาหลักของ Waterworld คือการที่หนังทุ่มงบประมาณการสร้างไปกว่า 175 ล้านเหรียญ ซึ่งจำนวนเงินนี้ สูงเป็นประวัติการณ์ในยุคนั้น เควิน คอสต์เนอร์ ผู้อำนวยการสร้างและนักแสดงนำของเรื่องต้องการสร้างสรรค์ฉากบนท้องทะเลให้สมจริงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ ทุกฉากในหนังต้องถ่ายทำในทะเลจริง ทีมงานต้องเนรมิตสิ่งปลูกสร้างเหนือน้ำขึ้นใหม่ทั้งหมด เป็นงานโปรดักชันกลางทะเลที่ทะเยอทะยานที่สุดเท่าที่หนังยุคนั้นจะทำได้

แม้จะขาดทุนย่อยยับ แต่ Waterworld กลับเป็นภาพยนตร์ที่คอหนังหวนมาดูอยู่เสมอ ในฐานะหนังแอคชัน-ไซไฟสุดคลาสสิก ที่ช่วยเตือนสติผู้ชมถึงความรุนแรงของปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งทำให้สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวน โดย ดร.บรูโน ดูห์ม (Dr.Bruno Dhuime) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสตอลเผยว่า “มีความเป็นไปได้จริงที่น้ำจะท่วมแผ่นดินทั้งหมดแบบใน Waterworld แต่นั่นคงจะใช้เวลาหลักพันปี”

แต่ใครจะรู้ หากมนุษย์ยังทำลายสิ่งแวดล้อมแบบที่เป็นอยู่ เราอาจเห็นภูเขาน้ำแข็งละลายจนหมดในเวลาไม่ถึงร้อยปีก็เป็นได้

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ https://bit.ly/3cS7Tnn

หรืออ่านงานวิจัยของ ดร.บรูโน ดูห์ม ได้ที่ https://bit.ly/2S5Vy86

03

My Octopus Teacher บทเรียนจากปลาหมึก

My Octopus Teacher บทเรียนจากปลาหมึก

ค.ศ.​ 2020

ผู้กำกับ : Pippa Ehrlich, James Reed

ประเภท : สารคดี

ความยาว : 1 ชั่วโมง 25 นาที

มิตรภาพต่างสายพันธุ์…ที่มหัศจรรย์และงดงาม

หากพูดถึงคุณครูปลาหมึก หลายคนคงนึกถึงอนิเมะสุดประทับใจจากญี่ปุ่นอย่าง Assassination Classroom แต่เชื่อหรือไม่ว่า ปลาหมึกที่เป็นทั้งเพื่อนและครูไม่ได้มีอยู่แค่ในการ์ตูน แต่มีตัวตนจริงในชีวิตของ เครก ฟอสเตอร์ (Craig Foster) ช่างภาพสารคดีที่ส่งให้ The Octopus Teacher คว้ารางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ครั้งที่ 93

เครื่องจักรต้องใช้ไฟฟ้าในการทำงานฉันใด คนเราก็ต้องอาศัยแรงบันดาลใจในการทำงานฉันนั้น วันที่ไฟในการดำเนินชีวิตของช่างภาพสารคดีอย่างเครก ฟอสเตอร์ ดับมอด เขาตัดสินใจเข้าสู่อ้อมกอดของท้องทะเล ที่นั่นเขาได้พบกับมิตรภาพต่างสายพันธุ์ที่เติมไฟฝันให้กับชายผู้อ่อนแรง

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

เครกได้รู้จักกับหมึกสาย (Octopus Vulgaris) ตัวหนึ่ง ครั้งแรกที่พบกัน เธอพุ่งตัวหนีเขา ความระแวงและเขินอายทำให้เธอพันหนวดอันกระจ้อยรอบกาย ไม่กล้าทักทายสบตากับหนุ่มวัยกลางคน แต่เครกสนใจหมึกตัวนี้มาก ทุกวันเขาจะหยิบกล้องตัวเก่งแล้วรีบเร่งมาหาหมึกตัวเดิม ชายหนุ่มบันทึกความงดงามของเจ้าหมึกวันแล้ววันเล่า ในที่สุดเขาก็ได้รับความไว้ใจจากเธอ หมึกน้อยค่อยๆ ขยับหนวดอันนุ่มนิ่มมาสัมผัสกับร่างของมนุษย์ วินาทีนั้นเอง ความผูกพันของคนกับหมึกจึงเริ่มต้น

เขาเฝ้ามองการใช้ชีวิตอันมหัศจรรย์ธรรมดาของเธอ หมึกสายมีกลอุบายหลบหนีจากฉลามยามต้องเอาตัวรอด แต่ครั้งที่อยากได้ไออุ่นเธอก็ใช้หนวดโอบกอดมือของเครก เมื่อใดที่เธอต้องการหยอกเย้ากับฝูงปลา เธอจะสะบัดหนวดไปมาอย่างร่าเริง และเวลาที่เธอต้องการอาหาร ปุ่มเล็กๆ ที่ปลายหนวดก็พร้อมประจัญบานกับเหยื่อเพื่อให้ท้องอิ่ม

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

หมึกจึงเป็นทั้งเพื่อนและครูของเครกและผู้ชม การเฝ้ามองชีวิตน้อยๆ ตัวนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการส่องกระจกสะท้อนชีวิตของมนุษย์ที่ต้องดำเนินไปข้างหน้า บางครั้งเติมอาหารให้ท้องอิ่ม บางคราวเติมรอยยิ้มให้ชีวิตมีความสุข และไม่ลืมที่จะเติมแต่งโลกใบนี้ให้สวยที่สุดในตอนที่ยังมีโอกาส

นี่คือเรื่องราวสายสัมพันธ์ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

The Octopus Teacher รับชมได้แล้วทาง Netflix หรือชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ https://bit.ly/3pYZHHv

และหากว่าคุณก็เป็นคนหนึ่งได้ที่รับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจากเครก ฟอสเตอร์ ก็ขอเชิญเข้าไปสนับสนุนเขาได้ที่ seachangeproject.com/projects/film/ ชมรมนักดำน้ำที่อุทิศชีวิตทั้งหมดให้กับการปกป้องสาหร่ายริมชายฝั่ง

04

Dark Waters พลิกน้ำเน่าคดีฉาวโลก

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

ค.ศ. 2019

ผู้กำกับ : Todd Haynes

ประเภท : ดราม่า ชีวประวัติ

ความยาว : 2 ชั่วโมง 6 นาที

หลายสิบปีที่โรงงานยักษ์ใหญ่ปล่อยสารเคมีลงในแหล่งน้ำ สัตว์ในฟาร์มเริ่มล้มป่วย คนบริสุทธิ์เริ่มล้มตาย และทนายตัวเล็กยังคงต่อสู้

เวทีออสการ์ครั้งที่ 92 เต็มไปด้วยภาพยนตร์น่าตื่นตาตื่นใจมากมาย ทั้ง Parasite, 1917, Once upon a time in Hollywood, The Irishman และอีกหลายต่อหลายเรื่อง Dark Waters เป็นหนึ่งเรื่องที่โชคไม่เข้าข้าง ออกฉายในปีดังกล่าว หนังที่สร้างจากเรื่องจริงว่าด้วยการต่อสู้ของทนายหนุ่มกับบริษัทเคมีภัณฑ์ยักษ์ใหญ่ จึงถูกมองข้าม

Dark Waters พลิกน้ำเน่าคดีฉาวโลก

Dark Waters บอกเล่าเรื่องราวของ โรเบิร์ต บิลอตต์ (รับบทโดย มาร์ก รัฟฟาโล (Mark Ruffalo)) ทนายความผู้ได้รับการไหว้วานจากชาวนาสองคนให้ช่วยฟ้องร้องบริษัทเคมีภัณฑ์ชื่อดังอย่าง ดูปองต์ (DuPont) ที่ปล่อยสารพิษลงในแม่น้ำโอไฮโอ จนสัตว์ในฟาร์มและชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทีแรกโรเบิร์ตก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เขาได้แต่คิดว่า ต่อให้สิ่งที่ชาวนาเล่าเป็นความจริง ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่คนตัวเล็กๆ จะเอาชนะบริษัทรายใหญ่

อย่างไรก็ดีเมื่อโรเบิร์ตได้เห็นภาพที่ไม่ต่างจากหนังสยองขวัญ เขาตัดสินใจฟ้องร้องต่อบริษัทดูปองต์ในทันที พร้อมทุ่มเทแรงทั้งหมดที่มีเพื่อเปิดโปงความเลวร้ายที่เกิดขึ้นนั้น สิ่งที่โรเบิร์ตเห็นตรงหน้าเมื่อเดินทางถึงเวสต์เวอร์จิเนีย คือภาพของวัวดุร้าย ดวงตาแดงก่ำ มีน้ำลายย้อยจากปาก กระทั่งเริ่มล้มตาย ที่สำคัญอาการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับวัวเพียงตัวหรือสองตัว แต่เป็น 190 ตัว 

และยิ่งขุดคุ้ยไปเรื่อยๆ โรเบิร์ตก็พบว่า โรงงาน Washington Works ของดูปองต์ได้ปล่อยสารเคมี PFOA ลงในแหล่งน้ำมาแล้วกว่า 7,100 ตัน เป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 40 ปี ซึ่งสารปนเปื้อนนี้มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในปาร์กเกอร์สเบิร์กกว่า 70,000 ราย โดยดูปองต์เริ่มใช้สาร PFOA มาตั้งแต่ ค.ศ. 1951 และแม้ว่าใน ค.ศ. 1970 พวกเขาจะรู้ความจริงว่า พนักงานในโรงงานมีสารเคมีเจือปนในเลือด อีกทั้งยังตรวจพบสารชนิดนี้ในแหล่งน้ำดื่มของชุมชน พวกเขาก็ยังเลือกปกปิด และใช้สารเคมีนี้ในการผลิตต่อไป

มาร์ก รัฟฟาโล ผู้รับบท โรเบิร์ต บิลอตต์ ให้สัมภาษณ์ว่า เขาอ่านบทความใน The New York Times ที่ตีแผ่เรื่องจริงชวนช็อกครั้งนี้ มันทำให้เขาที่เป็นทั้งนักแสดงและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมทนไม่ได้ หนังเรื่องนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ผู้คนได้รับรู้ถึงการต่อสู้ของร็อบบ์ บิลอตต์ และภัยอันตรายจากสารเคมีในแหล่งน้ำ อีกทั้งหนังยังตั้งคำถามว่า เราปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในอเมริกาได้อย่างไร

Dark Waters อาจไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของคนกับน้ำ แต่หนังเลือกโฟกัสไปยังการตั้งคำถาม และตีแผ่ความเน่าเฟะของระบบที่ไม่เคยให้ความยุติธรรมกับสิ่งแวดล้อมหรือคนตัวเล็ก โรเบิร์ตต้องอุทิศเวลากว่า 19 ปีในการสู้คดีเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับชีวิตที่ได้รับผลกระทบ เขาต้องเผชิญกับสภาพจิตใจและร่างกายย่ำแย่ ความสัมพันธ์ระหว่างภรรยาและลูกค่อยๆ ห่างเหิน รวมทั้งการหมางเมินจากบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ 

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

หนังแทบไม่มีฉากที่ดูปองต์ซึ่งเป็นผู้ร้ายในคดีนี้ข่มขู่หรือใช้กำลังกับชาวบ้าน แต่บริษัทยักษ์ใหญ่สามารถทรมานศัตรูของตนผ่านกระบวนการที่ผู้มีอำนาจได้เปรียบเสมอ ตั้งแต่การพิจารณาคดีที่ถูกเลื่อน ไปจนถึงความคลาดเคลื่อนของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ อาวุธที่แท้จริงของผู้มีอำนาจอาจไม่ใช่คน แต่เป็นระบบอันบิดเบี้ยวซึ่งบีบให้ผู้มีอำนาจน้อยกว่าจำต้องก้าวถอยยอมแพ้ด้วยตนเอง

ท้ายที่สุด ชีวิตของคนตัวเล็กๆ ก็ไม่มีวันหวนคืน โชคดีหน่อยก็มีเพียงเงินขวัญถุงเป็นรางวัลปลอบใจ

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ได้ที่ https://bit.ly/3wx46DH

อ่านเรื่องจริงของโรเบิร์ต บิลอตต์ ได้ที่ https://nyti.ms/3wwIRSH

05

Song of the Sea เจ้าหญิงมหาสมุทร

Song of the Sea เจ้าหญิงมหาสมุทร

ค.ศ. 2015

ผู้กำกับ : Tomm Moore

ประเภท : แอนิเมชัน ผจญภัย

ความยาว : 1 ชั่วโมง 33 นาที

เด็กหญิงตัวน้อยคนนี้ เธอมีความสามารถพิเศษ เธอแปลงร่างเป็นแมวน้ำได้…

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ เมืองอันห่างไกลในประเทศไอร์แลนด์ มีหนุ่มน้อยนามว่า เบน ผู้ต้องจำใจดูแล เซียร์ช่า น้องสาวขี้อายที่เขาเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้แม่ของทั้งคู่จากไป แต่แล้วในวันเกิดอายุครบ 6 ขวบของเซียร์ช่า เธอได้พบกับเปลือกหอยพร้อมปริศนาที่แม้ทิ้งไว้อย่างอัดแน่น และยัเจอกับเสื้อคลุมวิเศษที่ทำให้เธอแปลงกายเป็นแมวน้ำยามแหวกว่ายใต้ทะเล เรื่องราวนำไปสู่การผจญภัยในคืนวันฮัลโลวีนของสองพี่น้องผ่านดินแดนมหัศจรรย์ เพื่อตามหาตัวตนและสืบค้นความจริงของ เซลกี้ ตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช

ทอมม์ มัวร์ (Tomm Moore) ผู้กำกับ ได้แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์แอนิเมชันเรื่องนี้ในวันที่เขาไปพักผ่อนกับภรรยาและลูกๆ ณ ชายฝั่งทะเลของไอร์แลนด์ ที่นั่น เขาพบซากศพแมวน้ำ ซึ่งถูกฆ่าโดยชาวประมงหลายต่อหลายตัว

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

“แมวน้ำพวกนี้กินปลาเยอะจนเราจับปลาไม่ได้ ตัดโอกาสทำมาหากิน” คือเหตุผลที่ทำให้ชีวิตตัวน้อยเหล่านี้ต้องจบลงอย่างน่าอนาถ ภาพนั้นเป็นความจริงอันน่าเศร้าที่เขาไม่มีวันลืม ทอมม์ศึกษาต่อจนพบว่า ปลาไม่ได้ลดจำนวนลงเพราะแมวน้ำ แต่เพราะการจับปลาที่ไร้การควบคุมต่างหาก เขาจึงอยากสื่อสารประเด็นดังกล่าวออกไป เพื่อให้คนหันมาเห็นคุณค่าและความน่ารักของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแมวน้ำอีกครั้ง

ชวนสำรวจและตั้งคำถามต่อสิ่งแวดล้อมรอบน้ำไปกับ 5 ภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับแหล่งน้ำ เนื่องในวันอุทกศาสตร์โลก

ตอนออกแบบเนื้อเรื่อง ทอมม์ก็คิดถึงเซลกี้ สัตว์ในตำนานของประเทศไอร์แลนด์ที่เขารู้จักมาตั้งแต่เด็ก ตามคำเล่าขาน เซลกี้ คือสัตว์วิเศษที่มีรูปร่างเป็นแมวน้ำเมื่ออยู่ในทะเล แต่พอขึ้นมาบนบก ร่างกายจะลอกผิวหนังออกจนกลายเป็นมนุษย์รูปงาม และเมื่อใดก็ตามที่อยากแปลงกายกลับเป็นแมวน้ำ ก็เพียงแค่สวมผิวหนังที่ลอกนั้น ทอมม์มองว่าตำนานเซลกี้คือกลวิธีในการสร้างสมดุลทางธรรมชาติของบรรพบุรุษ เป็นการอนุรักษ์แมวน้ำและสัตว์ทะเลผ่านการปลูกฝังด้วยนิทานก่อนนอน ทอมม์ไม่อยากให้เรื่องเล่าเหล่านี้ต้องสูญหาย จึงเลือกถ่ายทอดมันอีกครั้งในรูปแบบของแอนิเมชันลายเส้นเรียบง่าย คลุกเคล้าดนตรีและบทเพลงสบายหูที่ใครฟังหรือดูก็ต้องหลงรัก

Song of the Sea สร้างเซอร์ไพร์สด้วยการเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 87 ในสาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม แม้สุดท้ายต้องพ่ายต่อความน่ารักของน้องเบย์แม็กซ์จาก Big Hero 6 แต่หนังสัญชาติไอริชเรื่องนี้ก็ได้ขโมยหัวใจของคนทั่วโลกไปเป็นที่เรียบร้อย ภาพวาดสองมิติที่เคลื่อนไหวประหนึ่งจิตรกรรมสีน้ำมีชีวิต สอดประสานกับแนวคิดอนุรักษ์แมวน้ำและมหาสมุทรได้อย่างกลมกล่อมลงตัว การผจญภัยของคู่พี่น้องเบนและเซียร์ช่าที่ค่อยๆ เรียนรู้ ก้าวผ่าน และเติบโต ส่งให้ Song of the Sea เป็นเสียงสะท้อนของความผูกพันระหว่างคนกับมหาสมุทรสุดอบอุ่น ทั้งยังปลุกตำนานพื้นบ้านอย่างเซลกี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างงดงาม

ชมตัวอย่างน่ารักๆ ได้ที่ https://bit.ly/3xwbCz5

Writer

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

สิรวิชญ์ บุญประสิทธิการ

มนุษย์ภูเก็ต เด็กนิเทศที่ทำงานพิเศษเป็นนักเล่าเรื่อง โกโก้ หนัง และฟุตบอล ช่วยให้เข้านอนอย่างมีคุณภาพ