ด้วยความที่เราไม่ชอบท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีคนเยอะ บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป เราจึงเลือกเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา นอกจากไม่ต้องไปแย่งกันเที่ยว แย่งกันกินแล้ว เรายังได้เห็นวิถีชีวิตแท้จริงของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ ที่เราเดินทางไปสัมผัส วิถีที่ไม่ได้ตระเตรียมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม

ในช่วงที่ผ่านมานี้ หลายคนคงได้ยินข่าวเรื่องจังหวัดเพชรบุรีได้รับการคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) ประจำ พ.ศ. 2564 โดยจังหวัดเพชรบุรีเข้าร่วมเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Gastronomy) ทำให้เรานึกย้อนไปในอดีตของแดนพริบพรีแห่งนี้ ว่าเป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งติดทะเล อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เดินทางไปพักผ่อนแบบเช้าไปเย็นกลับได้ อีกทั้งสุนทรภู่ กวีเอกชื่อดังของเมืองไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ยังเคยเดินทางและแต่งนิราศเล่าถึงวิถีชีวิตของผู้คน อาหาร และทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ รวมถึงบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ที่กล่าวถึงเมนูอาหารขึ้นชื่อของชาวเมืองเพชร ให้คนรุ่นหลังอย่างเราได้ตามอ่านกัน 

ออกเดินทางสู่จังหวัดเพชรบุรีในมุมมองที่ต่างออกไป

วันนี้จังหวัดเพชรบุรีในมุมมองของเราเปลี่ยนไป เรามองเห็นถึงขุมทรัพย์ของวัตถุดิบด้านอาหาร ความประณีตด้านงานช่างฝีมือ และรสมือของผู้ปรุงอาหารที่มีการนำเสนออาหารท่ามกลางวัฒนธรรมอันหลากหลายในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มอญ จีน 

เราจึงออกเดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบุรีในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม คือจะเดินทางตามเส้นทางความอร่อย เน้นชิมอาหารขึ้นชื่อที่รังสรรรค์ขึ้นผ่านรสมือชาวเพชร จากวัตถุดิบท้องถิ่นที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวเพชรบุรี เดินทางท่องเที่ยวผ่านเมนูอาหารตามรอยบทกวี และค้นหาขุมทรัพย์แหล่งวัตถุดิบต่าง ๆ

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม
ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม

เราเดินทางมาถึงตัวเมืองเพชรบุรี ศูนย์กลางความอร่อย เดินทอดน่องตามถนนเพื่อเป็นการออกแรงเรียกน้ำย่อย ก่อนจะไปชิมของอร่อย เลี้ยวเข้าซอยชมงานศิลปะ สตรีทอาร์ตเมืองเพชร ทำให้การเดินเท้าในวันนี้ไม่น่าเบื่อเลย 

จังหวัดเพชรบุรีเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองขนมหวาน 

มีทั้งขนมหม้อแกงขึ้นชื่อ น้ำตาลสดรสหวานชื่นใจ กาละแมเมล็ดหนึบหนับและกรุบของเมล็ดข้าว รวมถึงขนมไทยอีกมากมาย ส่วนใหญ่เป็นรสหวานที่ได้จากน้ำตาลโตนด ซึ่งมีที่มาจากต้นตาล สัญลักษณ์แห่งเมืองเพชรบุรี เราไม่รอช้า มุ่งหน้าไปยังร้านขายขนมหวาน เพื่อลิ้มลองขนมหม้อแกงไข่สูตรโบราณเป็นเมนูแรกของวันนี้

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม
ขนมหม้อแกงแม่สมาน ร้านขนมหวานเมืองเพชรเก่าแก่ ณ ตลาดเก่าริมแม่น้ำเพชรบุรี

หลังจากชิมขนมหวานเมืองเพชรพอหอมปากหอมคอ ขอต่อด้วยของคาวเมนูแปลกที่อาจเป็นของกินเล่นของคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่นี่แล้วเป็นอาหารที่กินจริงจัง นั่นคือขนมจีนทอดมัน ตัวทอดมันปลารสชาติเข้มข้นหอมพริกแกง วางบนขนมจีนเส้นเหนียวนุ่ม ราดด้วยน้ำจิ้มสูตรพิเศษ ทานแล้วติดใจ จนต้องบอกคุณป้าว่าขอสั่งเพิ่มอีกจาน 

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม
ขนมจีนทอดมันจานนี้ราคามิตรภาพ 20 บาท วัตถุดิบรสเลิศ ใส่ในบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก

จากร้านขนมจีนทอดมัน เราเดินต่อจนริมน้ำเพื่อจะชิมก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำแดงเมืองเพชร ร้านเก่าแก่ย่านตลาดเก่าริมน้ำเพชรบุรี ทีเด็ดของน้ำซุปร้านนี้ คือ ใช้น้ำตาลโตนดเป็นส่วนผสม ทำให้รสชาติน้ำซุปหวานหอม ความพิเศษของก๋วยเตี๋ยวที่นี่คือต้องใส่ซอสพริก และทางร้านยังมีน้ำส้มสายชูพริกกะเหรี่ยงช่วยเพิ่มรสชาติให้ก๋วยเตี๋ยวด้วย

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม

หลังจากชิมเมนูประเภทเส้นจนเริ่มอิ่มแล้ว แต่ลิสต์เมนูอาหารต้องชิมในย่านนี้ยังไม่หมด 

เราต้องตามชิมอีกหนึ่งเมนูที่พลาดไม่ได้ คือ ข้าวแช่ชาววังเมืองเพชร มีเครื่องเคียงสูตรพิเศษจากตำรับโบราณที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ได้แก่ ลูกกะปิทอดก้อนกลม หัวไชโป๊ผัดหวาน และปลายี่สนผัดหวาน ทานคู่กับข้าวแช่เมล็ดข้าวเรียงสวยในน้ำลอยดอกมะลิเย็น ๆ ให้ความสดชื่นดับร้อนปิดท้ายในมื้อนี้

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม
ข้าวแช่แม่อร ตลาดเก่าริมน้ำเพชรบุรี ราคาเพียง 20 บาท

เมื่อได้ชิมอาหารคาวหวานหลากรสชาติ ทำให้เรานึกอยากรู้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบหลักในอาหารแต่ละเมนูที่ได้ชิมวันนี้ ไม่รอช้า เราออกเดินทางตามรสชาติ ‘เมืองเพชร 3 รส’ ชื่อนี้ที่ใครหลายคนพูดถึงกัน

เริ่มต้นด้วย รสแรก คือ ‘รสหวาน’

เราหาข้อมูลและพบว่าแหล่งวัตถุดิบรสหวานของเมืองเพชรนั้นได้จากน้ำตาลโตนด จึงเดินทางไปสวนตลลุงถนอม อำเภอบ้านลาด ห่างจากตัวเมืองไม่มากนัก ที่นี่มีสวนตาลที่มีต้นตาลเรียงรายเป็นแถว บรรยากาศร่มรื่น มีจุดถ่ายภาพที่สวยงาม มีการสาธิตการขึ้นต้นตาล การทำน้ำตาลโตนด การใช้ไม้ตาลต้านตึงเพื่อยืดเท้าและหลังเพื่อคลายเส้น นับเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาและอนุรักษ์ตาลโตนดที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม

นอกจากนี้ยังมีผลิตผลจากต้นตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลสด น้ำตาลโตนด ขนมตาล ลูกตาลสด ลูกตาลลอยแก้ว ไม้ตาลต้านตึง (ใช้สำหรับยืดเท้าคลายเส้น) ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้ออีกด้วย และความพิเศษของน้ำตาลสดที่นี่ เขาไม่ใส่สารกันบูด จึงต้องนำน้ำตาลสดที่ต้มแล้วมานึ่งอีกครั้งก่อนขาย เพื่อเป็นการยืดอายุน้ำตาลสดไว้

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม

เมื่อเดินชมสวนเลือกซื้อสินค้ากันสักพัก เราก็นึกถึงอาหารและขนมเมืองเพชรที่มีผลิตผลจากตาลโตนดเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ขนมหม้อแกง ลอดช่องน้ำตาลข้น ข้าวเหนียวหน้าโตนด ลูกตาลเชื่อม ลูกตาลทอด หรือโตนดทอด ขนมทองพับ ขนมทองม้วน ขนมตาล ข้าวเกรียบหวาน ยำหัวโหนด แกงคั่วหัวตาล ก๋วยเตี๋ยวเมืองเพชร ต้มอิ๋ว ผัดหมี่ ฯลฯ

นั่นทำให้เรารู้ว่า ผลิตผลจากตาลโตนดเป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบหลักในเมนูอร่อยมากมาย

“ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล

ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์ มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร”

(ข้อความตอนหนึ่งใน นิราศเมืองเพชร แต่งโดย : สุนทรโวหาร (ภู่))

เมื่อเราดูการสาธิตการขึ้นต้นตาลที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็นึกถึง นิราศเมืองเพชร โดยผู้แต่งกล่าวถึงการทำน้ำตาลโตนดของชาวเพชรบุรี (พริบพรี) ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี การขึ้นต้นตาลนั้น ผู้ที่ขึ้นไปจะเหน็บมีดไว้ด้านข้างลำตัว เดินไต่ขึ้นพะอง (ลำไม้ไผ่ที่ลิดแขนงเหลือไว้พอให้เท้าเหยียบได้ ใช้พาดขึ้นตาล) ที่พาดกับต้นตาล เพื่อไปเก็บน้ำตาลจากจาวตาลและผลตาลอย่างชำนาญ โดยวิธีนี้ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน 

ตะลอนกินอาหาร 'เมืองเพชร 3 รส' ตามบทกวี หาที่มาของแหล่งวัตถุดิบรสหวาน เปรี้ยว เค็ม
หากใครอยากชมสวนตาล วิถีชีวิตคนเมืองเพชรกับต้นตาลโตนด มาดูได้ที่นี่นะ

ก่อนออกจากสวนตาลลุงถนอม เราแวะร้านกาแฟบ้านไร่ภูหวาน ร้านลับเล็ก ๆ แต่เด็ดที่เมนูเพื่อเติมพลังในช่วงบ่าย บรรยากาศร้านตกแต่งแบบเรียบง่าย เมื่อเดินเข้าไปเราก็ได้สนทนากับบาริสต้า ผู้ครีเอตเมนูต่าง ๆ ขึ้นมาจากวัตถุดิบชั้นดีในสวนตาล เล่าเรื่องที่มาที่ไปของแต่ละเมนูด้วยความเป็นกันเอง พร้อมกับชวนเราทำ Signature Menu ของร้าน นั่นคือ Americano Palm Fruit with Syrup หรือ อเมริกาโน่น้ำตาลสด ท็อปปิ้งด้วยลูกตาลสดนั่นเอง

สถานีต่อไปที่เราจะแวะยังหนีไม่พ้นร้านอาหาร เพราะพี่บาริสต้าป้ายยาไว้ว่า ถ้าอยากทานแกงหัวตาล ยำใหญ่ ที่เป็นเมนูห้ามพลาดของเมืองเพชรแล้วล่ะก็ต้องแวะร้านนี้เลย เรามุ่งหน้าไปยังร้านครัวตาลโตนด ซึ่งอยู่ระหว่างทางออกจากสวนตาลลุงถนอม เมื่อถึงร้านเลยสั่งเมนูอาหารดั้งเดิมเมืองเพชร 3 เมนูที่พลาดไม่ได้อีกแล้ว

เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี
แกงคั่วหัวตาลหมูย่าง หอมเครื่องแกง สมุนไพร ทีเด็ดคือเนื้อตาลอ่อน ทำให้แกงถ้วยนี้มีความกลมกล่อม ละมุนลิ้น
เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี
ต้มส้มปลากระบอก เนื้อปลาสดหวาน เครื่องแน่น ซดแล้วสดชื่น 
เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี
‘ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา’

เมื่อพูดถึงอาหารประเภทยำ หากมาจังหวัดเพชรบุรี พลาดไม่ได้ที่ต้องลิ้มลองชิม ‘ยำใหญ่’ อาหารโบราณที่รวมวัตถุดิบกว่า 20 ชนิดเข้าด้วยกัน ทำให้เรานึกย้อนกลับไปตอนเรียนสมัย ม.ต้น ท่อง กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) สำหรับยำใหญ่เมืองเพชรนั้น จะมีวัตถุดิบเพิ่มเติมแตกต่างจากพื้นที่อื่นคือผักกาดลุ้ย (ผัดกาดขาวที่ไม่ห่อปลี) เป็นส่วนผสมในยำใหญ่ 

พูดได้เลยว่าเราอิ่มจริง ๆ ทั้งอาหารคาวและหวาน หลังจากเราได้ชิมยำใหญ่แล้ว นอกจากวัตถุดิบที่เยอะมาก ๆ รวมกันเป็นหนึ่งจานอร่อย ยังสัมผัสถึงรสเปรี้ยวและหอมมะนาว จึงสอบถามทางเจ้าของร้านและได้ข้อมูลว่า จังหวัดเพชรบุรีมีสายพันธุ์มะนาวเป็นของตัวเอง โดยรอบ ๆ ร้านก็มีสวนมะนาวสำหรับปรุงอาหารและขายด้วย

ตัดความหวานด้วย ‘รสเปรี้ยว’ จากมะนาวเพชรบุรี

ถ้าคนทั่วไปนึกถึงจังหวัดเพชรบุรี คงนึกถึงขนมหวานเป็นอันดับแรก แต่ใครจะคิดว่าจังหวัดนี้มีความหวานซ่อนรสเปรี้ยวจากสวนมะนาวเพชรบุรีที่ขึ้นชื่อเอาไว้ เราเดินทางตามหาสวนมะนาวที่อำเภอท่ายาง สองข้างทางของถนนที่เราเข้ามานี้มีแต่สวนมะนาว ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอีกหนึ่งชนิดของที่นี่เลยก็ว่าได้

เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี
มะนาวแป้นสายพันธุ์เพชรบุรี ลูกแป้นตามชื่อ กำลังถูกเก็บและคัดแยกโดยชาวสวนเพื่อนำไปขายต่อไป

มะนาวเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของเพชรบุรี มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้คำนิยามบ่งบอกถึงลักษณะของมะนาวเพชรบุรีไว้ว่า ‘มะนาวพันธุ์เพชรบุรี หมายถึง มะนาวพันธุ์มะนาวแป้น พันธุ์มะนาวไข่ พันธุ์มะนาวหนัง ลักษณะผิวเปลือกบาง มี 8 – 12 กลีบ เนื้อสีเหลืองอ่อน รสเปรี้ยว กลิ่นหอมมะนาว’ ซึ่งผลิตในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี พบได้ในอำเภอท่ายาง บ้านลาด แก่งกระจาน และอำเภออื่น ๆ นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวชมสวนมะนาว เรียนรู้วิธีการปลูก ดูแล รวมถึงการขยายพันธุ์ต้นมะนาวกับเจ้าของสวนมะนาวได้อย่างใกล้ชิด

ต่อด้วยรสที่สาม คือ ‘รสเค็ม’

เราเดินทางมาถึงรสสุดท้ายที่ควรบริโภคน้อย แต่อุดมไปด้วยประโยชน์ต่อร่างกายทั้งภายนอกและภายใน นั่นคือ ‘รสเค็ม’ จากเกลือสมุทร ที่นี่คือแหล่งผลิตเกลือสมุทรผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่อำเภอบ้านแหลม

เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี
เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี

นอกจากเกลือจะเป็นเครื่องปรุงรสอาหาร ยังใช้ถนอมอาหารและมีธาตุอาหารไอโอดีนที่จำเป็นต่อร่างกาย หลายคนอาจคิดว่าเกลือให้เพียงรสเค็ม แต่แท้จริงแล้วเกลือดึงรสหวานตามธรรมชาติจากวัตถุดิบต่าง ๆ ที่อยู่ในอาหารออกมาได้ ทำให้รสชาติกลมกล่อมขึ้น เราจึงคลายข้อสงสัยและถึงบางอ้อว่า ทำไมแทบทุกเมนูต้องมีเกลือเป็นส่วนผสม

ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ เราแวะสปาเกลือกังหันทอง เพื่อคลายความเหนื่อยล้าจากการเดินทางตามหาของอร่อยมาเต็มวัน พักเท้านั่งรับลมเย็น ๆ ริมนาเกลือด้วยการแช่เท้าด้วยน้ำดอกเกลืออุ่น ๆ ขัดผิวด้วยผลิตภัณฑ์จากเกลือกลิ่นดอกกล้วยไม้ให้ความสดชื่น และระหว่างที่นั่งพักอย่างเพลิดเพลิน พี่พนักงานที่นี่ให้ความรู้เราเกี่ยวกับเกลือ ทำให้รู้จักเกลือมากขึ้น นอกจากปรุงอาหารแล้ว ยังใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของงผลิตภัณฑ์สปาบำรุงผิวพรรณ

เที่ยววันธรรมดา ตามหาแหล่งวัตถุดิบ ลิ้มรสอาหารสร้างสรรค์ ตามรอยบทประพันธ์อันมีชื่อ ณ จังหวัดเพชรบุรี

เพราะเกลือเต็มไปด้วยแร่ธาตุมากมายที่มาพร้อมสรรพคุณน่ายกนิ้ว ได้แก่ แร่ธาตุบำรุงผิวในดอกเกลือ, แมกนีเซียม (Mg) เพิ่มความแข็งแกร่งให้เยื่อหุ้มเซลล์ โพแทสเซียม (K) ยับยั้งการเกิดสิว, โซเดียม (Na) เพิ่มความยืดหยุ่น, ซัลเฟอร์ (S) ช่วยในกระบวนการผลัดเซลล์ผิว, คลอไรด์ (Cl-) ควบคุมสมดุลน้ำ และแคลเซียม (Ca) ช่วยปกป้องความแห้งกร้านของผิว เกลือที่หลายคนอาจมองเห็นคุณค่าแค่ในเรื่องความเค็ม จึงกลายเป็นวัตถุดิบที่คงคุณประโยชน์จากความเค็ม ดังสุภาษิตไทยรักษาความดีดุจเกลือรักษาความเค็ม

เพชรบุรี ‘เมืองเพชร 3 รส’ รสชาติที่สะท้อนถึงทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ภูมิปัญญา รากเหง้า วิถีชีวิต มรดกวัฒนธรรมที่ส่งต่อคุณค่าจากรุ่นสู่รุ่น ปรากฏสู่สายตาแก่ชาวไทยในปัจจุบัน เราว่าจังหวัดเพชรบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ควรค่าแก่การมาเยือน และลิ้มลองชิมรสชาติอย่างคนเพชรด้วยตัวคุณเอง

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศิริพร อำไพลาภสุข

อาจารย์ประจำหลักสูตรการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มีความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และศิลปกรรมไทย และกลุ่มชาติพันธุ์