“จุดตัวเองก็ยอมทันใด ให้ลุกเป็นไฟ ขึ้นมา

เพียงปรารถนา ให้มีลำแสง สีทอง”

จากเพลง ไม้ขีดไฟกับดอกทานตะวัน

ประภาส ชลศรานนท์ ผู้แต่งเพลงนี้ เคยบอกกับผมว่า 

“ตอนไปบันทึกเพลงในห้องอัดเสียง ร้องโดย คุณวิยะดา โกมารกุล วูบนั้นผมคิดถึงคุณสืบขึ้นมาทันที เนื้อหาเพลงนี้ตรงกับชีวิตของเขา ที่ต้องจุดไฟขึ้นเผาตัวเอง เพื่อให้คนอื่นหันมามอง ทุกวันนี้ถ้าได้ฟังเพลงนี้เมื่อไร ไม่เคยมีครั้งไหนที่ไม่คิดถึงคุณสืบ”   

  หาก สืบ นาคะเสถียร มีชีวิตอยู่ ปีนี้เขาจะมีอายุครบ 70 ปี แต่เขาได้จากโลกนี้ด้วยวัยเพียง 41 ปี 

คงมีคนธรรมดาไม่มากนัก แม้เวลาจะผ่านไปร่วม 30 ปี แต่พอถึงวันที่ 1 กันยายนของทุกปี

 ยังมีคนจำนวนมากระลึกถึงเขาเสมอ

หลายปีก่อน ผมเดินทางกลับไปอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน (เขื่อนรัชชประภา) จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมกับพรรคพวกหลายสิบคนที่อยากตามรอยอดีตข้าราชการกรมป่าไม้คนหนึ่ง

สำหรับหลายคน เขื่อนเชี่ยวหลานอาจจะเป็นสถานท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพแปลกตา เห็นเกาะหินปูนรูปร่างแปลกอยู่กลางอ่างเก็บน้ำ ราวกับทะเลสาบกุ้ยหลินของเมืองจีน 

แต่สำหรับผม การไปเขื่อนเชี่ยวหลานครั้งแรกของผมเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เป็นภาพที่อยู่ในใจไปตลอดชีวิต เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีโอกาสรู้จักกับผู้ชายคนหนึ่งชื่อ สืบ นาคะเสถียร

ผมดั้นด้นไปตามหาสืบ นาคะเสถียร กลางอ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน เมื่อได้ทราบว่าเขาเป็นหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่า ซึ่งถือเป็นการช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่ติดค้างอยู่ตามต้นไม้และเกาะกลางอ่างเก็บน้ำพื้นที่หลายแสนไร่ครั้งแรกในประเทศไทย

ภารกิจประจำวันคือ การนั่งเรือหางยาวขนาดใหญ่ออกไปช่วยจับสัตว์ เช่น กวาง กระจง เสือลายเมฆ ลิงลม เก้ง หมูป่า ฯลฯ

1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษผู้อุทิศตนให้กับธรรมชาติที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก

มีวันหนึ่งผมจำได้แม่นยำว่าขณะที่เราผูกเรือกับตอไม้กลางทะเลสาบเพื่อช่วยชีวิตค่างตัวหนึ่ง ปรากฏว่างูจงอางสีดำมะเมื่อมขนาดลำข้อมือยาวร่วม 3 เมตร พุ่งทะยานออกมาจากโพรงในตอไม้ ทุกคนบนเรืออ้าปากค้างด้วยความตกใจ และโล่งอกเมื่องูจงอางพุ่งลงน้ำ  

“ตามมันไป จับมันให้ได้” พี่สืบบอกพวกเรา และเมื่อเราช่วยกันใช้สวิงจับงูขึ้นมาบนเรือแล้ว คราวนี้ทุกคนหันหน้ามามองกันเลิ่กลั่ก ใครจะเสี่ยงตายเป็นคนจับงูพิษยัดใส่กระสอบ ยังไม่ทันไร สืบใช้มือกดหัวจงอาง เจ้าจงอางใช้เขี้ยวพิษกัดสวิงอย่างแรงพร้อมทั้งปล่อยน้ำพิษสีเหลืองใสๆ ไหลเยิ้มออกมาจนหมด จับมันใส่ถุงกระสอบ ใช้เชือกผูกมัดแน่นหนา

ผมเดินไปพูดกับพี่สืบว่า ไปเรียนจับงูมาตั้งแต่เมื่อใด 

พี่สืบบอกว่า “ผมก็เพิ่งหัดจับงูพิษเป็นครั้งแรกในชีวิต” 

ผมนับถือน้ำใจของพี่สืบที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานเต็มที่ แกมีลูกน้องหลายคน แต่เมื่อต้องเสี่ยงอันตราย พี่สืบออกหน้ารับเอง

2 ปีผ่านไป โครงการอพยพสัตว์ป่าช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าได้ 1,364 ตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่น่าพอใจ แต่เทียบไม่ได้กับสัตว์อีกจำนวนมหาศาลที่จมน้ำตาย อดอาหารตาย จากการสร้างเขื่อนครั้งนี้ และสัตว์จำนวนหนึ่งที่ช่วยมาได้ก็ตายระหว่างการรักษาพยาบาล

พี่สืบเคยเล่าให้ฟังว่า

“เราเคยช่วยชะนีแม่ลูกมาไว้ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้คือ ให้แม่ชะนีมีนมให้ลูกกิน ลูกมันก็ร้อง แม่ชะนีพยายามเอาลูกออกจากนม ผมคิดว่าตัวเมียคงเครียด ผมไปขอนมเลี้ยงเด็กมาชงให้ลูกชะนีกิน สุดท้ายลูกชะนีก็ตาย”

ประสบการณ์การทำงานครั้งนี้ได้ทำให้สืบตระหนักดีว่า การอพยพสัตว์ป่าครั้งนี้ช่วยชีวิตสัตว์ป่าไม่ได้เลย ยังมีสัตว์จำนวนมากที่ตายไปจากการสร้างเขื่อน เขาสรุปไว้ว่า

“ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเป็นกระบวนการทำลายแหล่งพันธุกรรม ตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ป่า ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของผืนป่าทั้งหมดที่มนุษย์มิอาจสร้างขึ้นมาใหม่ได้”

หลังจากนั้นเราก็มีโอกาสพบกันสม่ำเสมอในงานต่างๆ โดยเฉพาะการรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ที่ทำให้น้ำท่วมในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรหลายแสนไร่ในจังหวัดกาญจนบุรี 

พี่สืบเป็นแกนนำในการคัดค้านอย่างแข็งขันแม้ว่าจะเป็นแค่ข้าราชการตัวเล็กๆ แต่ก็ทำจนสำเร็จ

เขามักขึ้นไปพูดตามเวทีสาธารณะต่างๆ จนคนทั่วไปรู้จักสืบดี ทุกครั้งสืบจะพูดออกมาจากหัวใจ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า 

“วันนี้ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”

ปลายปี 2532 พี่สืบเล่าให้ผมฟังว่า กำลังตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิต คือพี่สืบได้รับทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาเอก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในขณะเดียวกันทางผู้ใหญ่ก็สั่งให้ไปดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

หากเป็นคนทั่วไป คงจะเลือกการไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่สำหรับพี่สืบแล้ว ป่าห้วยขาแข้งเปรียบเสมือนบ้านของเขา

1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษผู้อุทิศตนให้กับธรรมชาติที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก

ธันวาคม 2532 สืบ นาคะเสถียร เดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตฯ ด้วยความมุ่งมั่นและใจเต็มร้อยที่จะรักษาผืนป่าที่นี่ให้ดีที่สุด เขาสบายใจที่เห็นลูกทีมของเขามีคุณภาพ และในอนาคตเขาหวังว่าป่าห้วยขาแข้งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งอื่นๆ

สืบบอกกับคนรอบข้างว่า “ตอนนี้ผมให้ทุกสิ่งกับห้วยขาแข้งได้”

ห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่เศษ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งเดียวที่ไม่มีคนบุกรุกอาศัย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก เช่น กระทิง วัวแดง ควายป่า นกยูงไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า ฯลฯ 

วันแรกที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เขาก็ออกจับไม้เถื่อนแล้วพบว่า ป่าจำนวน 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่อยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการ 12 คน เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 120 คน แบ่งไปประจำหน่วยพิทักษ์ป่า 12 หน่วย แต่ละหน่วยต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่าถึงหน่วยละ 1 แสนกว่าไร่

และที่น่าตลกคือ งบประมาณในการดูแลป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งนี้มีเพียงไร่ละ 80 สตางค์ต่อปี ในขณะที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกจนเสื่อมสภาพ รัฐให้เงินอุดหนุนถึงไร่ละ 1,000 บาทต่อปี

“จะให้ผมไปรักษาอะไร มาเคี่ยวเข็ญให้ผมรักษาป่า แถมยังต้องมาชี้แจงอีกว่ารักษาอย่างไร” สืบเคยพูดอย่างเหลืออด

สืบพบว่าปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า และการลักลอบล่าสัตว์เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นทุกวันในเวลานั้น 

“ผมพูดได้เลย มันมีการยิงกันทุกวัน ไปตามก็เจอแต่กองไฟ เจอซากที่ชำแหละไว้เรียบร้อย จับมันได้ครั้งหนึ่ง มันพร้อมจะล่าสิบครั้งกว่าจะโดนจับ ถูกปรับแค่ห้าร้อยบาท คุกก็ไม่ติด กว่าเราจะจับมันได้ ต้องไปอดหลับอดนอน แบกข้าวสารไปกินในป่า มันหนีเราแต่เราต้องตามจับ อย่างเมษายนปีที่แล้ว ลูกน้องผมถูกนายพรานยิงตายสองคน เจ้าหน้าที่ยิงก่อนก็ไม่ได้ ถือว่าเกินกว่าเหตุ ผู้ต้องหามันเห็นหน้าเรา มันยิงใส่เราแล้วเราก็ตาย เรามีค่าเหรอ ตายไปอย่างดีก็เอาชื่อมาติดที่อนุสาวรีย์หน้ากรมป่าไม้”

สืบรู้ดีว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้ทำงานด้วยความยากลำบากยิ่งนักในป่าเปลี่ยวที่พร้อมจะโดนยิงเมื่อไรก็ได้ โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้นให้แก่ครอบครัวและตัวเขา นอกจากเงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวไม่เกินคนละ 1,500 บาทต่อเดือน ไม่มีสวัสดิการหรือประกันชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น และที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ พวกเขาขาดวิทยุสื่อสารที่จะติดต่อกันได้ในพื้นที่มหาศาล และรถก็ไม่เพียงพอ แม้กระทั่งอาวุธประจำกายก็มีเพียงปืนลูกซอง ขณะที่นักล่าสัตว์มีปืนเอ็ม 16 เป็นอาวุธล่าสัตว์ และมีบุคคลในเครื่องแบบคอยคุ้มครอง

สืบพยายามรายงานให้ผู้ใหญ่ทราบถึงปัญหา แต่ดูเหมือนไม่มีใครใส่ใจอะไรเลย มีแต่ความเงียบกลับมา เขารู้สึกหนักอึ้งและถูกกดดัน ความพยายามแทบเป็นแทบตายของเขาไม่ได้รับการตอบสนองจากใครทั้งสิ้น เขารู้สึกสิ้นหวังกับระบบราชการ เขาไม่ได้ภูมิใจกับการเป็นข้าราชการอีกต่อไป เขารู้ว่าเขาไม่อาจจะทำอะไรให้ได้มากกว่านี้แล้ว

เขาบอกคนใกล้ชิดว่า “ทีนี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป”

1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษผู้อุทิศตนให้กับธรรมชาติที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก

ไม่กี่เดือนต่อมา ข้าราชการกรมป่าไม้ตัวเล็กๆ ผู้นี้ได้กลายเป็นบุคคลในตำนาน ภายหลังการยิงตัวตายในป่าห้วยขาแข้ง และเหนืออื่นใด ความตายของเขาได้สั่นสะเทือนผู้คนในสังคมไทยที่ทราบข่าวอย่างรุนแรง

ผู้คนมากมายพากันตั้งคำถามว่า เหตุใดหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจึงตัดสินใจยิงตัวตาย

วันที่ผมไปรอรับศพพี่สืบที่นำมาจากป่าห้วยขาแข้ง มาตั้งไว้ที่วัดมหาธาตุบางเขน ในความรู้สึกถึงเพื่อนและพี่ชายคนนี้ ผมเขียนบันทึกสั้นๆ ไว้ว่า

“คนส่วนใหญ่อาจมีชีวิตเพื่อครอบครัวและตัวเอง แต่สำหรับสืบ นาคะเสถียร เขารักและหวงแหนชีวิตสัตว์ป่าและป่า มากกว่าตัวเองและครอบครัวเสียอีก เขาทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อสิ่งอันเป็นที่รักยิ่ง เขาวิ่งพล่านไปทั่ว เพื่อส่งเสียงบอกให้ผู้ใหญ่ และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองรู้ว่า เกิดอะไรขึ้นกับสภาพการล่าสัตว์และทำลายป่าเมืองไทย

…ไม่มีใครสนใจ เสียงตะโกนของเขาไม่มีใครอยากได้ยิน

ก่อนรุ่งสางของวันเสาร์ที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนนัดหนึ่งดังกึกก้องขึ้นในป่าห้วยขาแข้ง

ภายในห้องพักมีจดหมายฉบับหนึ่งวางไว้ ความว่า

“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”

ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร ผู้ตาย

1 กันยายน วันสืบ นาคะเสถียร วีรบุรุษผู้อุทิศตนให้กับธรรมชาติที่ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลก

2 อาทิตย์ต่อมา ห่างจากบริเวณที่เกิดเสียงปืนดังไม่กี่สิบเมตร ข้าราชการระดับสูงจากกรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายทหาร นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่บ้านเมือง นับร้อยคนได้แห่กันมาประชุมปรึกษาหารือในการป้องกันการทำลายเขตรักษาป่าห้วยขาแข้งอย่างแข็งขัน

สืบ นาคะเสถียร รอวันนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เพื่อให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจัง

หากไม่มีเสียงปืนในราวป่านัดนั้น การประชุมครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน

พี่สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งเขาอาจจะถูกยิงตายจากการบงการของผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย 

พี่สืบรู้ตัวดีว่า สักวันหนึ่งลูกน้องของเขา ซึ่งเขาเป็นคนส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ ต้องถูกยิงตายอย่างไร้ค่า เพราะไม่มีใครสนใจ

สืบไม่ใช่คนกลัวตาย แต่ทนไม่ได้ที่ลูกน้องต้องตายไปต่อหน้า โดยที่เขาไม่อาจทำอะไรได้

พี่สืบมีความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้สัตว์ป่าและป่าไม้ในป่าห้วยขาแข้งอยู่รอด

เมื่อความมุ่งมั่นของเขาที่มีต่อห้วยขาแข้งถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากระบบราชการ และผู้มีอำนาจในเมืองไทยที่ไม่เคยสนใจปัญหาการทำลายธรรมชาติอย่างจริงจัง

เขาเคยปรึกษาแม่ว่าจะลาออกและไปบวช แต่เขาก็ไม่ลาออก การลาออกเป็นการทรยศต่อตัวเอง ทรยศต่อห้วยขาแข้ง และทรยศต่อลูกทีมของเขา

แต่การมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่สามารถทำให้ความมุ่งมั่น ความเชื่อ ของเขาเป็นจริงได้

สืบ นาคะเสถียร เป็นคนไม่เคยทรยศต่อหลักการและความมุ่งมั่นของตัวเอง

บางทีการตั้งใจฆ่าตัวตายอาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่ทำให้ความฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้

ภายหลังการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร ได้ก่อให้เกิดกระแสอนุรักษ์ครั้งใหญ่ในสังคมไทย และต่อมาไม่นาน ยูเนสโกได้ประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ของพี่สืบ ส่งผลให้เกิดความหวงแหนดูแลป่าทั้งสองผืนอย่างจริงจัง จำนวนสัตว์ป่าในรอบหลายปีเพิ่มขึ้น อันเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และมีการก่อตั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ทำงานอนุรักษ์ผืนป่า อย่างจริงจัง และมีการขยายพื้นที่ดูแลป่าไปทางตะวันตก อันประกอบด้วยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 6 แห่ง อุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง เป็นผืนป่า 11.7 ล้านไร่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจับมือกันดูแลป่า เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสืบ นาคะเสถียร

เสียงปืนในราวป่าห้วยขาแข้งเมื่อ 29 ปีก่อน ยังคงดังกึกก้องปีแล้วปีเล่า ความตายของเขาได้จุดประกายไฟให้คนหันมาสนใจธรรมชาติอย่างจริงจัง และกลายเป็นแรงบันดาลใจของผู้คนจำนวนมาก

ตำนานของนักอนุรักษ์ผู้ยิ่งใหญ่ยังได้รับการเล่าขานมาจนถึงบัดนี้

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว