หัวใจจะวาย!

ค่ะ… วันนี้วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

มองออกไปนอกหน้าต่าง ใบไม้กำลังผลัดใบ เปลี่ยนสี ร่วงหล่น อีกไม่นานก็จะเข้าฤดูกาลแห่งการพัก รักษาเยียวยา เพื่อเตรียมต้นให้พร้อมสำหรับการผลิใบ ก่อเกิดชีวิตใหม่ในฤดูใบไม้ผลิอีก 5 – 6 เดือนข้างหน้า

ช่างเหมาะเจาะเหลือเกินกับเหตุการณ์ในช่วงสัปดาห์อันแสนตื่นเต้นที่ผ่านมา

เมื่อวันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน เป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ และเป็นครั้งแรกที่อุ้มได้ใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งในฐานะอเมริกันชนคนหนึ่ง

เป็นประสบการณ์ตื่นเต้น อกสั่นขวัญแขวน ลุ้นกันแบบมือเย็นใจเต้นไม่เป็นระบบ เข้านอนไปโดยไม่รู้ว่าวันรุ่งขึ้นจะตื่นมาเจอกับอะไร และสุดท้ายประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น ณ เวลาที่อุ้มพิมพ์บทความนี้อยู่ค่ะ

อุ้มอาศัยอยู่ที่เมืองพอร์ตแลนด์ ซึ่งอยู่ในรัฐออริิกอน ซึ่งเป็นรัฐที่ Vote by Mail ร้อยเปอร์เซ็นต์มาตั้งแต่ ค.ศ. 2000 (ทั้งอเมริกามีแค่ 5 รัฐ คือโคโลราโด ฮาวาย ออริกอน ยูทาห์ และวอชิงตัน) คือหลังจากเราไปลงทะเบียนเพื่อโหวตไว้ล่วงหน้า ประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง ทางคณะกรรมการเลือกตั้งก็จะส่งใบลงคะแนนเสียงมาที่บ้าน

เราเอาปากกาดำฝนๆๆ คนที่เราจะเลือก ซึ่งไม่ได้มีแค่ประธานาธิบดี แต่มีผู้ว่าการ (Mayor) เมืองพอร์ตแลนด์ วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนแต่ละเขต City Commissioner (ไม่รู้เรียกเป็นไทยว่าอะไร) รวมทั้งยังมีมาตรา (Measures) ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแต่ละเมือง อย่างเช่นขึ้นภาษีบ้านพักอาศัยเพื่อเอาไปพัฒนาสวนสาธารณะ ขยายห้องสมุด เพิ่มงบโรงเรียน ตั้งหน่วยงานเอกชนเพื่อกำกับดูแลการทำงานของตำรวจ หรือขึ้นภาษีบุหรี่และอุปกรณ์ Vape (ขึ้นเยอะด้วยนะคะ ซองละ 2 เหรียญฯ แน่ะ)

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

เรียกว่าเลือกมันทุกอย่างที่จะต้องเลือกและเลือกได้ โดยที่นอกจากประชาชนจะติดตามข่าวสารบ้านเมือง ดูโคตรเหง้าศักราช ผลงานและทัศนคติของผู้สมัครแต่ละคนเป็นการบ้านทำกันมาเองแล้ว ยังมีคู่มือเลือกตั้งเล่มหนาปึ้กส่งมาให้ด้วย จะได้อ่านว่าแต่ละคนคือใคร มาตราไหนรายละเอียดเป็นยังไง เพราะการตัดสินใจเกิดขึ้นด้วยกระดาษกับปากกาบนโต๊ะกินข้าว ไม่ใช่ที่คูหาหย่อนบัตรเลือกตั้ง (เพราะที่ออริกอนไม่มี) หรืออย่างอุ้มคือลงคะแนนเสียงบนเคาน์เตอร์ในครัว เสร็จแล้วใส่ซอง เซ็นชื่อกำกับ หนีบไว้ที่ตู้หน้าบ้าน วันรุ่งขึ้นคุณบุรุษไปรษณีย์ก็มาเก็บไป

เป็นความรู้สึกที่แปลกๆ ดีค่ะ คือถึงแม้ในใจจะคิดว่าเออก็ง่ายๆ ดีนะ แต่ตอนเอาปากกาฝนลงไป ก็มีความตื่นเต้นเพราะรู้ว่านี่คือเรื่องใหญ่แบบจะเปลี่ยนชะตากรรมของประเทศ (ซึ่งจะมีผลต่อโลกด้วย)

แต่หน้าที่ของเราไม่ได้จบอยู่แค่นั้นค่ะ เพราะวันรุ่งขึ้นอุ้มก็ตามเข้าไปในเว็บไซต์เพื่อตรวจสอบสถานะใบลงคะแนนเสียงของตัวเอง แล้วก็เห็นในระบบว่าเขาได้รับ Ballot ของอุ้มแล้ว และมันจะถูกนำไปนับคะแนน ทำให้หายห่วงไปได้เปลาะหนึ่ง

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

ตั้งแต่อุ้มได้เป็นพลเมืองของอเมริกาเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน (แต่ก็ยังเป็นพลเมืองไทยอยู่ด้วยนะคะ เพราะอเมริกาและไทยอนุญาตให้ถือได้ทั้งสองสัญชาติพร้อมกัน) ความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ เรียนรู้เรื่องระบบการเมืองและระบบเลือกตั้ง คือไม่ได้มีใครมาบังคับนะคะ เนิร์ดเอง คนอื่นไม่รู้เป็นเหมือนกันหรือเปล่า

อุ้มเข้ารับสาบานตนหลังจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้รับเลือกแล้ว เพราะฉะนั้น จึงพลาดการโหวตครั้งนั้นไป แต่ไม่พลาดการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การเมืองการปกครอง (หรืออันที่จริงต้องเรียกว่าไม่ปกครอง) ที่ล้มเหลวและสับสนที่สุด ตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ใครมาบอกว่านี่คือประธานาธิบดีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา จะหลับตาพยักหน้า แล้วไม่เถียงเลยแม้แต่คำเดียว

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน
อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 2020 ใกล้เข้ามา อุ้มเลยเริ่มหาข้อมูลตั้งแต่ว่าใครจะมาลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตบ้าง แล้วก็สนใจ กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) มาตั้งแต่ต้น (จริงๆ เจ้าตัวบอกให้ออกเสียงว่า คัมมาลา นะคะ แต่อุ้มเรียกกมลาอย่างที่เราคุ้นเคยก็แล้วกัน) หาหนังสือ The Truths We Hold ที่เขาเขียนมาอ่านจนค่อนข้างแน่ใจว่านี่คือคนที่มีประวัติการทำงานและความคิดสอดคล้องกับความเชื่อของเรา เริ่มบริจาคเงินสนับสนุนแคมเปญของเขา เอา Yard Sign มาปักหน้าบ้าน ตามดู Democratic Primary Debate ทุกครั้ง ได้ฟังผู้สมัครคนอื่นๆ ไปด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องมีอันอกหัก เพราะกมลาตัดสินใจจบแคมเปญ ถอนตัวไปก่อน

แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้อุ้มหยุดตามการเลือกตั้งต่อนะคะ (คือไม่ใช่แบบ ชิ คนที่ฉันเชียร์แพ้ไปแล้ว ฉันเลิกตาม) หลังจากที่พรรคเดโมแครตสรุปเสนอ โจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นผู้สมัคร อุ้มก็พยายามหานโยบายอ่าน เพราะทีแรกไม่ได้ชอบลุงแกมากเป็นพิเศษ จนกระทั่งได้มาตามดู Democratic National Convention ทั้ง 4 วัน ถึงได้เข้าใจว่านี่คือคนชั้นกลางอย่างเราๆ ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการทำงานรับใช้ประเทศชาติมาเกือบ 5 ทศวรรษ มีความห่วงใยและแผนการที่ชัดเจนในประเด็นสำคัญ อย่างเช่น COVID-19 เศรษฐกิจ โลกร้อน สวัสดิการสังคม และเป็นคนที่ทุกคนรอบตัวพูดตรงกัน ว่ามีความรักในเพื่อนมนุษย์ ทำงานได้กับคนทุกฝ่าย และพูดจริงทำจริง คือพูดง่ายๆ คือเป็นคนดีไว้ใจได้นั่นเอง

ซึ่งต่างกันลิบลับกับประธานาธิบดีประสาทหลอน ที่อ้าปากทีไรต้องมีเรื่องโกหกหลอกลวงปนเปื้อนมาทำให้คนเดือดร้อนมันทุกที เพราะฉะนั้น การตัดสินใจจะเลือกโจ ไบเดน สำหรับอุ้ม ก็มีเหตุผลและมีความหวังต่ออนาคตที่ดีกว่า คือไม่ได้หลับหูหลับตาเลือกเพียงเพราะเป็น “ใครก็ได้ที่ไม่ใช่ทรัมป์” อย่างที่เคยได้ยินหลายคนพูด

แล้วลุงโจแกยังมาเลือกกมลาเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีอี๊ก! ป้ายหน้าบ้านก็เลยเปลี่ยนเป็นแบบนี้

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

อุ้มเองคงเหมือนประชาชนในเมืองใหญ่จำนวนมากของอเมริกา ที่อดทนข่มกลั้น พยายามทำความเข้าใจ (แต่สุดท้ายก็ยังไม่เข้าใจ) คนอีกครึ่งหนึ่งของอเมริกา (ที่ส่วนใหญ่อยู่ใน Rural Area) ที่ยังคงหลับหูหลับตาเชื่อทุกประโยคที่ทรัมป์พ่นออกมาทางสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกล่าวเท็จต่อระบบลงคะแนนเสียงล่วงหน้าทางไปรษณีย์ ที่เขาทำกันมาอย่างปลอดภัยตลอดหลายสิบปี ได้เห็นความพยายามเฮือกสุดท้ายที่จะลดงบประมาณของหน่วยงานไปรษณีย์อเมริกา การรีบแต่งตั้ง เอมี่ โคนีย์ แบร์เร็ต (Amy Coney Barrett) เพื่อสร้างคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในศาลฎีกา เพราะรู้ว่าคนที่สนับสนุนเดโมแครตนั้น มีแนวโน้มที่จะไม่เสี่ยงออกจากบ้านไปเลือกตั้งในสถานการณ์ COVID-19 ระบาดรุนแรงแบบนี้

แต่พฤติกรรมไร้ความรับผิดชอบแบบนั้นไม่ได้บรรลุผลอะไร และสุดท้ายก็กลับมาทำร้ายตัวทรัมป์และผู้สนับสนุนทั้งหลายในที่สุด

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

วันนี้ มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในอเมริกาสูงที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายวัน (วันละแสนกว่าราย) คือสูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการระบาด และ The Associated Press รายงานว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้ออยู่ในเมืองที่เลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งสิ้น

และการยุยงยืนยันให้ผู้สนับสนุนของตัวเองออกไปโหวตที่หน่วยเลือกตั้งเท่านั้น ห้ามโหวตทางไปรษณีย์ ก็ทำให้รายงานผลการเลือกตั้ง ค่อยๆ พลิกแดงเป็นน้ำเงินไปทีละรัฐสองรัฐ โดยมีโดนัลด์ ทรัมป์ และสมุนทั้งหลายออกมาฟาดหัวฟาดหางให้เห็นเป็นระยะ

ทีแรกอุ้มก็ไม่รู้หรอกค่ะว่าเขานับคะแนนเสียงคนที่มาโหวตด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยนับคะแนนเสียงโหวตทางไปรษณีย์ทีหลัง คืนวันเลือกตั้ง เห็นแผนที่อเมริกาเป็นสีแดงเถือกไม่ต่างจาก ค.ศ. 2016 แล้ว อุ้มถึงกับกอดลูก นอนกุมมือสามีหลับไปด้วยความกลัวแบบจับขั้วหัวใจ

วันรุ่งขึ้นสะดุ้งตื่นขึ้นมาตอนตี 5 รีบคว้าโทรศัพท์มาเช็ก ค่อยเริ่มใจชื้นขึ้นมาบ้าง สีแดงเริ่มจางกลายเป็นสีฟ้าอ่อน CNN ก็วิเคราะห์อยู่นั่น ว่าไบเดนต้องพลิกรัฐไหนกลับมาเป็นสีน้ำเงินบ้างถึงจะชนะ ตลอดสองสามวัน บทสนทนาในบ้านและกับเพื่อนๆ นี่ไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกไปจากผลเลือกตั้งเลยค่ะ คือถึงขั้นต้องบอกลูกว่า ช่วงนี้คุณแม่จะงงๆ หน่อยนะลูก แล้วจ้อง CNN ต่อไป ไม่เคยดูอะไรมาราธอน 3 วัน 4 คืนรวดแบบนี้มาก่อนเลย คือวันๆ เห็นหน้าผู้ประกาศมากกว่าสามี ตอนนี้ท่องได้แล้วว่าเมืองไหนอยู่ใน County ไหน ฮ่าๆ

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน
อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน
อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

แล้วสุดท้ายความเชื่อในความถูกต้องก็มีกำลังเหนือกว่า! เช้าวันเสาร์อุ้มตื่นขึ้นมาแบบยังไม่รู้ผลที่แน่นอน แต่พอตอนสายๆ ละสายตาจากจอ เดินไปเล่นกับลูกประเดี๋ยวเดียว แมสเสจในโทรศัพท์ก็ดังถี่ๆ มีแต่ข้อความว่า เราชนะแล้ว! ไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป! กมลาคือผู้หญิง (และผู้หญิงผิวสี) คนแรกที่ได้รับเลือกในตำแหน่งสูงขนาดนั้น! และสถิติผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา!

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

คือโดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ได้คะแนนเสียงสูงกว่าตอนที่ชนะคราวที่แล้วนะคะ แต่ว่า… คนที่เลือกไบเดน / กมลา ยิ่งมีมากกว่าเกือบ 5 ล้าน! คะแนนเสียงของไบเดนนั้นเห็นได้ชัดมากในแผนที่ว่ามาจากเมืองใหญ่ในแต่ละรัฐ และมีผลมากขนาด Flip (หรืออาจจะ Flip) รัฐที่เป็นฐานเสียงสำคัญของริพับลิกันในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว อย่างวิสคอนซิน มิชิแกน เพนซิลเวเนีย จอร์เจีย และอาจจะรวมถึงแอริโซนาด้วย

อินไซต์ของไทย-อเมริกันชนในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่จะเปลี่ยนชะตากรรมสหรัฐฯ, การเลือกตั้งของสหรัฐฯ ปี 2020, โจ ไบเดน

โล่งอกบอกไม่ถูกเลยค่ะ แถวบ้านอุ้มไม่ได้มีคนออกมาฉลองกัน แต่เห็นภาพคนในเมืองอื่นๆ ออกมารวมตัว โห่ร้องดีใจ เปิดแชมเปญ เต้นระบำกันก็รู้สึกเบิกบานไปด้วย ยิ่งได้ดู Victory Speech หรือสุนทรพจน์รับชัยชนะของกมลาและไบเดนเมื่อคืนวันเสาร์ ก็ยิ่งใจชื้นว่าจากนี้ ถึงแม้จะยังมีอุปสรรค มีความยากลำบากรออยู่ข้างหน้า แต่ว่าการเมืองและการบริหารประเทศจะอยู่ในมือของคนที่ตั้งใจและมีความสามารถที่จะมาทำงาน เสียงนกเสียงกาของผู้ใหญ่ที่มีพฤติกรรมไม่ต่างจากเด็กอนุบาลยามงอแงไม่ได้ของเล่น เราก็หายใจลึกๆ แล้วปล่อยผ่าน มองไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมีความหวัง

เหมือนกับที่ เอลลา เบเกอร์ (Ella Baker) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนสำคัญเคยพูดไว้ว่า “Give light and people will find the way.” จงมอบแสงสว่าง แล้วมวลชนจะพบหนทางไป

เรากำลังเดินตามแสงสว่างนั้นไปด้วยกันค่ะ

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์