01

“ฉันขอโทรหาตำรวจก่อนนะ” แครอลพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แล้วหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาต่อสาย

ผมรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในฉากของหนังจารกรรมระดับฮอลลีวูดสักเรื่อง

ย้อนกลับไป 15 นาทีก่อนหน้านี้ รถตู้สีดำพาผมและกลุ่มคนในชุดสูทมาส่งที่ Library of Congress หรือหอสมุดรัฐสภาสหรัฐ ที่นี่คือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และทรงอิทธิพลต่อห้องสมุดทั่วโลก

รถตู้ไม่ได้จอดที่หน้าอาคารหลักซึ่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว แต่ส่งพวกเราที่อาคารจอห์น อดัมส์ (John Adams) ซึ่งอยู่อีกด้านของถนน ตึกหลังนี้มีอายุกว่าร้อยปี เช่นเดียวกับตึกมากมายที่อยู่รายล้อมแคปิตอลฮิลล์ (Capitol Hill) อาคารระดับแลนด์มาร์กของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา

กลุ่มคนในชุดสูทพาผมเดินผ่านระบบรักษาความปลอดภัยและเครื่องเอกซเรย์ไปพบกับเจ้าหน้าที่หญิงชาวอเมริกัน เธอพาพวกเรากดลิฟต์ประตูทองเหลืองรุ่นคลาสสิกลงไปชั้นใต้ดิน แล้วเดินนำไปตามทางเดินยาวๆ เหมือนฐานทัพลับของสักหน่วยงานที่เราเห็นกันในหนังฮอลลีวูด

เดินมาเกือบสุดทาง หญิงอเมริกันคนนั้นหยุดอยู่หน้าประตูบานหนึ่งแล้วเอาบัตรพนักงานที่ห้อยคอแตะเพื่อเปิดประตู ด้านในดูคล้ายห้องเก็บของขนาดใหญ่ ผนังปิดทึบทุกด้าน และอัดแน่นไปด้วยชั้นเหล็ก บนชั้นเหล็กเต็มไปด้วยกล่องกระดาษซึ่งทุกกล่องมีป้ายอธิบายแปะไว้อย่างเป็นระบบ

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ที่นี่คือส่วนหนึ่งของห้องเก็บคอลเลกชันเกี่ยวกับดนตรีของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ หอสมุดระดับโลกแห่งนี้ไม่ได้เก็บแค่หนังสือเท่านั้น แต่ยังเก็บเครื่องดนตรีล้ำค่าเอาไว้มากมาย

เจ้าหน้าที่คนเดิมพาพวกเราเดินเข้าไปตามทางเดินกลางห้องจนสุดทาง ก็พบประตูเหล็กสีเทาที่ดูหนาและหนัก เธอจัดการปลดรหัสเพื่อเปิดประตูให้เราเข้า

ด้านในเป็นห้องทำงานของเธอ ห้องขนาดประมาณ 5×5 เมตร ห้องนี้มิดชิดและแน่นหนาจนเหมือนนั่งทำงานในตู้เซฟ ทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูป เพราะมันเต็มไปด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่คนนอกไม่ควรเห็น

“ปิดประตูด้วย” เจ้าของห้องบอกเมื่อคนสุดท้ายก้าวเท้าเข้ามา “ไม่งั้นจะเปิดประตูอีกบานไม่ได้”

ด้านในห้องทำงานของเธอยังมีประตูเหล็กอีกบานที่ดูแน่นและหนากว่าประตูบานแรก

“ฉันขอโทรหาตำรวจก่อนนะ ฉันต้องบอกเขาว่า ฉันกำลังจะเปิดประตู เพราะทุกครั้งที่เปิดประตูบานนี้จะมีเสียงสัญญาณดังที่สถานีตำรวจ” เจ้าของห้องพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ราวกับว่านี่คือขั้นตอนอันแสนจะธรรมดา

เมื่อวางสาย แครอล ลินน์ วอร์ด-แบมฟอร์ด (Carol Lynn Ward-Bamford) ภัณฑารักษ์ด้านเครื่องดนตรีของหอสมุดรัฐสภาก็เปิดประตูแห่งความลับออก แล้วเดินนำพวกเราเข้าสู่ห้องที่อยู่ด้านใน ซึ่งใหญ่กว่าห้องทำงานของเธอราว 4 เท่า ผนังทุกด้านเป็นกำแพงทึบ รอบห้องเป็นชั้นที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบ ตรงกลางห้องเป็นตู้โชว์ยุคเก่าทำจากไม้แบบที่ด้านบนเป็นกระจกใส

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ส่วนมุมห้องที่เป็นที่วางของลังไม้ซึ่งด้านในเต็มไปด้วยอุปกรณ์กันกระแทกและวัสดุพิเศษมากมาย ลังพวกนี้เพิ่งเดินทางกลับมาจากประเทศไทย

แครอลบอกว่า นี่คือห้องที่ใช้เก็บเครื่องดนตรีไทยทั้ง 10 ชิ้นที่รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อพระองค์เสด็จฯ เยือนในปี 1960

เครื่องดนตรีบางส่วนถูกนำไปแสดงในนิทรรศการที่เรารู้จักกันในชื่อ Great and Good Friends หรือ ‘ของขวัญแห่งมิตรภาพ : ราชอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2361 – 2561 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 21 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2561

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

แม้ว่าเวลาจะผ่านมาเกือบ 60 ปี แต่เครื่องดนตรีทั้งหมดยังอยู่ในสภาพเหมือนใหม่ เพราะได้รับการเก็บรักษาอย่างดี แครอลบอกว่า เครื่องดนตรีทุกชิ้นหอสมุดได้รับมาพร้อมกล่องที่สวยงาม ส่วนเครื่องสายก็ได้รับสายสำรองมาด้วย แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจและความเข้าใจในเครื่องดนตรีเป็นอย่างดีของผู้มอบให้

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

แครอลบอกให้พวกเราดูแผ่นป้ายโลหะที่มีตราพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และข้อความว่า

To The Library of Congress

This set of Thai musical instruments

is presented as a token of sincere

respect for a centre of

knowledge and culture

Washington D.C. 1960

แผ่นป้ายนี้มีคราบสนิมอยู่บ้าง เธอบอกว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะไม่ขัดออกให้เหมือนใหม่ เพราะร่องรอยของกาลเวลาเหล่านี้ก็เป็นเรื่องราวแบบหนึ่ง

ภัณฑารักษ์ชาวอเมริกันผู้ออกเสียงชื่อเครื่องดนตรีทุกชิ้นได้ตรงเป๊ะบอกว่า เย็นนี้เครื่องดนตรีทั้ง 10 ชิ้นจะถูกนำไปแสดงในงานเลี้ยงรับรองฉลอง 2 ศตวรรษแห่งมิตรภาพ และ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ ที่อาคาร Thomas Jefferson ของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ หรืออาคารหลักอันโด่งดังและเต็มไปเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั่นเอง

 

02

กลุ่มคนในชุดสูทที่อยู่รอบตัวผมขณะนี้คือนักการทูตจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นักการทูตจากกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่จากหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ 3 ทีมหลักที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงานเลี้ยงรับรองในค่ำคืนนี้

ในระหว่างที่เราเดินกลับออกมาทางเดิม คุณบุญญฤทธิ์ วิเชียรพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ หัวเรี่ยวหัวแรงหลักจากฝั่งประเทศไทย เล่าที่มาของงานคืนนี้ให้ฟังว่า

“เป็นงานฉลองความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ 200 ปีที่เรารู้จักกันมา และ 185 ปีที่เราลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ระหว่างกัน ไทยจึงเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐฯ ในเอเชีย และมีความสัมพันธ์กันในทุกระดับตั้งแต่ระดับผู้นำจนถึงระดับประชาชนกับประชาชน”

คุณบุญญฤทธิ์เล่าต่อว่า “จุดสูงสุดของการฉลองความสัมพันธ์คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เปิดนิทรรศการ Great and Good Friends ของขวัญแห่งมิตรภาพ ซึ่งทางสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ได้นำของขวัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ต่างๆ พระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมามาจัดแสดง”

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

พระบาทสมเด็จพระพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานเครื่องดนตรีไทยแก่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ พ.ศ. 2503 กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้รับความอนุเคราะห์จากหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ
ภาพ : www.greatandgoodfriends.com

ส่วนการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ในระดับประชาชนกับประชาชน ทางกระทรวงการต่างประเทศก็ได้จัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การเชิญทายาทของฝาแฝดอิน-จันกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดของอิน-จันที่จังหวัดสมุทรสงคราม เนื่องจากอิน-จันเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่ได้เดินทางไปอยู่ที่อเมริกา เป็นคนที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รักของคนอเมริกัน

รวมถึงการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียที่ร่วมกันขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จนกลายเป็นแห่งโบราณคดีระดับโลกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่ลูกของเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทยไปเดินสะดุดเศษกระเบื้องโบราณโดยบังเอิญ

เรายังคงเดินต่อไปตามทางเดิน

“รัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาที่นี่ เครื่องดนตรีที่พระองค์พระราชทานก็เก็บรักษาไว้ที่นี่ แล้วที่นี่ก็อยู่ใกล้รัฐสภา งานนี้เราอยากให้สมาชิกรัฐสภามาร่วม เพราะพวกเขามีส่วนในการกำหนดนโยบายต่อไทย เราอยากให้พวกเขาเห็นว่าเรามีความสัมพันธ์กันมายืนยาว เราเลยต้องเลือกวันที่พวกเขาว่าง และต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเกือบปี ทางหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ เองก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมจัดงานในครั้งนี้” คุณบุญญฤทธิ์เล่าเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกจัดงานสำคัญที่นี่

 

03

พวกเรายังคงเดินอยู่ในทางเดินใต้ดินซึ่งยาวมาก

นิชเชล วิงฟิลด์ (Nishelle Wingfield) ผู้ประสานงานกิจกรรมพิเศษของหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ เดินเข้ามาคุยกับผม เธอบอกว่า ตอนนี้ของขวัญบางส่วนที่สหรัฐฯ ได้รับจากไทยกำลังจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการชื่อ Objects of Wonder ที่ National Museum of Natural History

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ผมตอบเขาว่า ผมจะไปดูแน่นอน มีเรื่องที่ผมอยากรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ในเครือสมิธโซเนียนเยอะเลย

“คุณภิเษกแจ้งฉันแล้ว” นิชเชลหมายถึง คุณภิเษก ภาณุภัทร ที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พ่องานของฝั่งสถานทูตซึ่งวิ่งวุ่นประสานงานสิบทิศตลอดทั้งวัน ติดต่อให้ผมเรียบร้อยแล้ว

“คุณสนใจเรื่องระบบงานอาสาสมัครของสมิธโซเนียนใช่ไหม มันเป็นระบบที่ใหญ่มาก แล้วก็น่าสนใจมาก ฉันนัดคนที่ทำเรื่องนี้ให้แล้ว คุณจะได้คุยกับเขาพรุ่งนี้”

นิชเชลถามต่อว่า ผมเคยมาที่หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ มาก่อนไหม

“ไม่เคย นี่เป็นครั้งแรก แล้วผมก็อยากจะ”

“สัมภาษณ์บรรณารักษ์” นิชเชลไม่รอให้ผมพูดจบประโยค “คุณภิเษกบอกฉันแล้วเหมือนกัน บ่ายนี้ฉันนัดให้คุณคุยกับบรรณารักษ์ของเรา เขาเป็นคนดูแลหนังสือที่มาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีหนังสือเก่าและแผนที่เก่าจากประเทศไทยเยอะเลย ก็พอนับว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่านหนังสือได้เหมือนกันนะ แล้วเขาก็จะพาคุณทัวร์ห้องสมุดเป็นกรณีพิเศษ คุณคงมีอะไรเขียนเยอะเลย”

ผมเอ่ยคำขอบคุณ แถมด้วยรอยยิ้มสยาม

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ทางเดินอันยาวไกลพาเรามาโผล่ที่อาคารโทมัส เจฟเฟอร์สัน ซึ่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว คนในชุดสูททั้งสามกลุ่มแยกย้ายกันไปเดินสำรวจพื้นที่อีกรอบเพื่อเตรียมจัดงานในค่ำคืนนี้

ครึ่งวันที่เหลือนี้พวกเขามีอะไรต้องทำอีกเยอะ

ผมก็เช่นกัน

 

04

ขณะนี้เป็นเวลา 6 โมง

ผมเดินชมหอสมุดเสร็จมาพักใหญ่ โถงด้านหน้าไม่มีนักท่องเที่ยวแล้ว มีแต่ทีมงานกำลังเตรียมติดตั้งเวที ระบบแสงสี และชุดนิทรรศการ

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ที่โต๊ะจัดแสดงเครื่องดนตรีพระราชทานมีแครอลเป็นคนยืนดูแลของขวัญชิ้นสำคัญทั้งสิบชิ้น และพร้อมเล่าเรื่องราวให้แขกทุกคนฟัง

“น้อยคนจะรู้ว่าหอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ มีคอลเลกชันเครื่องดนตรี แต่รัชกาลที่ 9 ทรงทราบความ ถึงพระราชทานเครื่องดนตรีชุดสำคัญให้เขา” คุณวิชชุ เวชชาชีวะ รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ อธิบายความพิเศษที่ซ่อนอยู่ในเครื่องดนตรีไทยชุดนี้

คุณวิชชุบอกว่า วันนี้จะมีแขกมาร่วมงานหลายร้อยคน โดยมีแขกคนสำคัญอย่าง คุณลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ ส.ว. รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน นอกจากนี้ก็ยังมี แมรี รอยซ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เทด โยโฮ ส.ส. รัฐฟลอริดา และประธานคณะอนุกรรมาธิการฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิกของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ รวมไปถึงแขกที่เป็นผู้แทนระดับสูงของรัฐสภา หน่วยงานราชการและเอกชนสหรัฐฯ แล้วก็นักธุรกิจของไทยที่มาลงทุนในสหรัฐฯ อีกหลายท่าน

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

คุณพงศ์สิน เทพเรืองชัย เลขานุการเอก กลุ่มงานโครงการตามยุทธศาสตร์ กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ผู้ทำข้อมูลในนิทรรศการบอกผมว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ เป็นมูลค่าสูงถึง 5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 23 รัฐ เกิดการจ้างงานกว่า 68,000 ตำแหน่งในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร เกษตรกรรม ยานยนต์ ปิโตรเคมี และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ช่วงบ่ายตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตก็พาผู้แทนภาคเอกชนของไทยไปพบกับ ส.ส. และ ส.ว. เพื่อพูดคุยเรื่องความร่วมมือระหว่างกัน

แขกเริ่มทยอยเข้าสู่งาน คุณแทมมีนั่งรถเข็นเคลื่อนที่ผ่านพวกเราไปด้วยความรวดเร็ว บนตักของเธอมีลูกสาวตัวน้อยนั่งมาด้วย ส่วนคนเดินอยู่ด้านหลังเป็นครอบครัวชาวไทยของเธอ

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

คุณลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ (กลาง) และทายาทอิน-จัน (สองคนด้านซ้าย)

ประธานกล่าวเปิดงานในวันนี้คือ คุณวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มาก่อน

“ไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศที่มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ เป็นประเทศแรกในเอเชีย แต่การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาส์นถึงประธานาธิบดีสหรัฐฯ แจ้งพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานช้างให้สหรัฐอเมริกา ซึ่งในอดีตช้างเป็นดั่งยุทธภัณฑ์สำคัญในการรบ ไทยจึงอาจจะถือเป็นชาติแรกที่เสนอความช่วยเหลือทางทหารให้สหรัฐฯ” คำกล่าวเปิดงานท่อนนี้ของคุณวีระศักดิ์เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มจากแขกได้ทั้งงาน

 

05

มีแขกแวะเวียนมาดูเครื่องดนตรีพระราชทานไม่ขาด คุณวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. บอกผมว่า ช่วงต่อไปจะเป็นคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ของค่ำคืนนี้

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

“คอนเสิร์ตนี้ถือเป็นสัญลักษ์ของไทยกับสหรัฐฯ เพราะดนตรีแจ๊สเป็นของสหรัฐฯ ส่วนเพลงพระราชนิพนธ์ก็มีความเป็นไทยแทรกอยู่ แล้วก็เล่นโดยนักดนตรีอเมริกัน โดยมีนักดนตรีไทยร่วมเล่นด้วย เป็นการผสมดนตรีแจ๊สกับความเป็นไทยให้กลมกลืนกัน” ท่านทูตซึ่งมีฝีไม้ลายมือด้านดนตรีฉกาจฉกรรจ์เล่า และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าในค่ำคืนนี้แขกจะได้ฟังเพลงแบบเต็มอิ่ม 10 เพลง

วงที่มาเล่นคือ John di Martino Quartet เป็นวงดนตรี 4 ชิ้นที่ จอห์น ดี มาร์ติโน (John di Martino) นักเปียโนและนักเรียบเรียงดนตรีขั้นเทพเป็นหัวหน้าวง สมาชิกที่เหลือของวงก็ไม่ธรรมดา แต่ละคนล้วนมีรางวัลติดมือกันมากมาย โดยเฉพาะ วินซ์ เชอริโค (Vince Cherico) มือกลองที่เคยได้รับรางวัลแกรมมี่ถึง 5 ครั้ง

“วงนี้เคยบันทึกเสียงเพลงพระราชนิพนธ์มาก่อน เพลงที่เขาเรียบเรียงได้รับพระบรมราชานุญาตอย่างถูกต้องนะ เขาบันทึกเสียงตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ 9 สวรรคต เขาคุ้นเคยกับเพลงพระราชนิพนธ์ดี”

อัลบั้มเพลงพระราชนิพนธ์ที่ท่านทูตพูดถึงก็ถูกนำมาแจกเป็นของที่ระลึกให้กับผู้ร่วมงานในวันนี้ด้วย

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

ส่วนนักดนตรีชาวไทย 2 คนที่มาแจมด้วยก็มีฝีมือไม่ธรรมดา คุณสุภาวดี เลิศสิทธิชัย ร้องและเล่นแซกโซโฟน เธอเคยเป็นนักร้องอาชีพมาก่อนที่เมืองไทย ก่อนจะย้ายมาเล่นดนตรีที่นิวยอร์ก ส่วน คุณจุลพรรณน์ ติละพรพัฒน์ เล่นกีตาร์ ก็จบปริญญาตรีและโทด้านดนตรีแจ๊สที่สหรัฐฯ แล้วก็เล่นดนตรีเป็นอาชีพอยู่ที่นิวยอร์ก

“วงเพิ่งได้ซ้อมด้วยกันเมื่อวาน ถ้าอยู่เมืองไทยเขาน่าจะดังมาก แต่เขาก็เลือกมาอยู่ที่นี่ มาเล่นในบาร์แจ๊ส เขาบอกว่า เล่นแบบนี้ก็มีความสุขดี ผมเคยไปแจมกับเขา เขาเก่งมาก” พูดจบท่านทูตก็ชวนผมลงไปฟังดนตรีด้านล่าง แต่ผมขอตัวอยู่ถ่ายรูปจากด้านบนก่อน

ทีมงานเล่าว่า ตัวอาคารนี้ไม่เหมาะกับการเล่นดนตรีนัก เพราะมันไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้ แต่ทุกคนคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะประวัติศาสตร์และความงดงามของที่นี่พิเศษเกินกว่าจะมีใครสนใจเสียงสะท้อนเล็กๆ น้อยๆ

ในระหว่างที่เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ลอยห่มคลุมไปทั่วทั้งอาคาร ผมนึกภาพตามว่าครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จฯ มาที่นี่เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐ

58 ปีผ่านไป เครื่องดนตรีไทยที่พระองค์พระราชทานไว้ยังคงอยู่ที่นี่ในสภาพสมบูรณ์

เสียงเพลงพระราชนิพนธ์ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็ยังคงดังอยู่

และมีเสียงสะท้อนเล็กๆ คล้ายจะบอกกับเราว่า ความสัมพันธ์นี้จะก้องกังวานอีกยาวนาน

รัชกาลที่ 9, หอสมุดรัฐสภาสหรัฐฯ

Facebook | Department of American and South Pacific Affairs กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป