นักสะสมส่วนใหญ่มักเก็บของรักของหวงไว้ใกล้ตัวที่บ้าน แต่หนังสือส่วนใหญ่ในคอลเลกชัน 1984 ของ ผศ.ดร.คารินา โชติรวี อยู่ในคาเฟ่ของลูกศิษย์วรรณคดีอังกฤษที่สนิทสนมกัน ชั้นหนังสือมุมหนึ่งของ Rare Finds Hidden Cafe มี 1984 หนังสือดิสโทเปียฉบับแปลหลายภาษาทั่วโลกให้แขกที่แวะเวียนเข้ามาอ่านได้ฟรี จนบางคนถึงขั้นมานั่งอ่านและขอซื้อก็มี เมื่อติดต่อขอชมคอลเลกชันของอาจารย์ เราจึงได้พบหน้ากันในย่านพระโขนง

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

“โดยมากคนที่สะสมของมักไปเสาะหาเองด้วยความยากลำบาก แต่ตัวเราเองไม่ใช่คนหา มีลูกศิษย์ซื้อมาให้เป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าเราสอนเรื่องนี้แทบทุกปี ลูกศิษย์จำได้ว่าเขาเรียนกับเรา มีคนหนึ่งชื่อ ธนิศร์ บุญสม ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่พระจอมเกล้าฯ เขาสะสม เจ้าชายน้อย ภาษาต่างๆ แล้วก็ชอบเที่ยวที่แปลกๆ เขาถามว่าอาจารย์อยากได้ด้วยมั้ย เขาไปซื้อ เจ้าชายน้อย ที่ไหน ก็ซื้อ 1984 พ่วงมาให้ด้วย” นักสะสมเล่าจุดเริ่มต้นให้ฟัง

Dystopian World

อาจารย์คารินาเพิ่งเกษียณจากการสอนวิชาวรรณคดีอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากสอนวิชา ‘วรรณกรรมร้อยแก้วอังกฤษศตวรรษที่ 20 ถึงปัจจุบัน’ (British Fiction from the Twentieth Century to the Present) มาราว 20 ปี โดยเลือกงานเขียนของนักเขียนอังกฤษหลายๆ คนมาสอนนิสิตปี 4 แทบทุกปีเธอเลือก 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) มาสอนเสมอ นอกเหนือจากงานชิ้นเอกของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf), อี.เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ (E. M. Forster), ซัลมัน รัชดี (Salman Rushdie), อรุณธตี รอย (Arundhati Roy) จนถึง คาสึโอะ อิชิงุโระ (Kazuo Ishiguro)

“หลายคนบอกว่าวรรณกรรมคือการหลีกหนี คือเรื่องเพ้อฝัน พาเราออกจากปัจเจกไปอยู่ในโลกที่สวยงาม แต่ถ้าคุณเรียนวรรณกรรมจริงๆ จะได้ความเป็นจริง เรามักเลือกเรื่องที่สะท้อนสังคม เศรษฐกิจ และลักษณะของวรรณกรรมในยุคสมัย นวนิยายเป็นการประพันธ์ที่ค่อนข้างใหม่ คำว่า Novel ก็แปลว่าใหม่ ก่อนหน้านี้มีแต่กวีนิพนธ์ พอศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ชนชั้นกลางเริ่มมีอิทธิพลและอยากอ่านอะไรที่ใกล้เคียงกับชีวิตตนเอง ก็เลยเกิดงานแบบ Realism (สัจนิยม) พอเข้าศตวรรษที่ 20 ยิ่งแตกแขนงออกไป มีการเล่าเรื่องเชิงสัญลักษณ์ การเล่าเรื่องแบบเน้นมุมมองนักเขียน

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

“งานแบบ 1984 เป็นงานแบบดิสโทเปีย มันเกิดอะไรขึ้นกับโลกนี้ ศตรวรรษที่ 19 มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ความเจริญก้าวหน้ามาสู่โลก แต่ขณะเดียวกันก็เกิดสงครามโลก เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เกิดการนำเทคโนโลยีที่ควรช่วยเหลือมนุษย์มาทำลายกัน เลยเกิดงานแนวดิสโทเปียที่ตรงกันข้ามกับยูโทเปียในอุดมคติ คนมองโลกในแง่ร้าย หมดศรัทธากับพระเจ้า มนุษย์ และความเป็นเหตุเป็นผล ยิ่งศตวรรษที่ 21 วรรณกรรมแบบนี้ยิ่งมีเยอะ อย่างเรื่อง The Hunger Games” อาจารย์สรุปแนวดิสโทเปียให้ฟังอย่างกระชับ 

ก่อนเข้าสู่เรื่องราวหนังสือเลขปีต้องสาป ขอทบทวนเรื่องราวหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตนักเขียนอังกฤษ จอร์จ ออร์เวลล์ 

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

Welcome to Airstrip One

จอร์จ ออร์เวล หรือชื่อจริงคือ เอริก อาร์เทอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) เป็นนักเขียนอังกฤษ เกิดที่อินเดีย เคยเป็นตำรวจที่พม่า และเป็นผู้สื่อข่าวการปฏิวัติที่สเปน ผลงานดังของเขาคือ Animal Farm และ Nineteen Eighty-Four ซึ่ง 1984 เป็นนวนิยายเรื่องสุดท้ายที่เขาเขียนในโรงพยาบาล ค.ศ.​ 1948 ก่อนเสียชีวิต ทำนายสถานการณ์อนาคตอันน่าสะพรึง 

ค.ศ. 1984 ในเรื่องมีสงครามต่อเนื่องทั่วโลก สหราชอาณาจักรกลายเป็นดินแดนชื่อ Airstrip One ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนโอเชียเนีย มีการปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จโดย ‘พี่เบิ้ม’ หรือ Big Brother ที่นี่รัฐล่วงรู้และควบคุมความคิดจิตใจของผู้คนได้ ทุกการกระทำของทุกคนถูกจับตามองตลอดเวลา มีอาชญากรรมทางความคิด ตำรวจความคิด และทุกสิ่งดูจะผิดเพี้ยนไปหมด Ministry of Truth มีหน้าที่ผลิตคำลวง Ministry of Peace ก่อสงคราม Ministry of Love บีบบังคับคนให้เชื่อฟังผู้นำด้วยความกลัว

Winston Smith พระเอกของเรื่องเป็นสมาชิกพรรคระดับธรรมดา ผู้ใฝ่ฝันถึงการปฏิวัติ และเริ่มมีความรักต้องห้ามกับเพื่อนร่วมงาน ความพยายามต่อสู้ของคนตัวเล็กๆ ต่อรัฐที่ยิ่งใหญ่กดทับ นำไปสู่ผลลัพธ์ชวนสะท้อนใจ

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

Knowing Reality

“ออร์เวลเขียนถึงอนาคตในสามสิบหกปีข้างหน้าซึ่งน่าจะผิดได้ แต่ยิ่งอ่าน ยิ่งเห็นว่าค่อนข้างตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ทุกสังคมมีลักษณะดิสโทเปียลักษณะใดลักษณะหนึ่ง คนอาจจะคิดว่าสังคมดิสโทเปียน่าจะเป็นสังคมที่กดดันมากๆ อย่างเกาหลีเหนือหรือรัสเซียยุคโซเวียต ออร์เวลก็คิดแบบนั้น 

“แต่การใช้กลไกของรัฐควบคุมประชากร แม้ในสังคมทุนนิยมเสรี คนมีกินอิ่มหนำ แต่ก็ยังมีการควบคุมสอดส่องความคิดคน อ่านความคิดคนได้ผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราหนีสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ไปไหนก็มี CCTV หรือโทรศัพท์ก็ล้วงข้อมูลทุกอย่างของเราไปได้ ดังนั้น จะอ่าน 1984 เป็นแนววิทยาศาสตร์หรือวิพากษ์การเมืองสังคมก็ได้ อ่านได้หลายแนว ถ้าจะบอกว่าพยากรณ์อนาคตก็ได้ เพราะหลายอย่างเกิดขึ้นแล้วจริงๆ”

การวิพากษ์การเมืองอย่างคมคายแสบสันต์ ทำให้ 1984 กลายเป็นหนังสือต้องห้ามในทั่วโลก และกลายเป็นหนังสือสำคัญในการเคลื่อนไหวประท้วง รวมถึงในประเทศไทย หนังสือ 1984 ก็เคยเป็นเครื่องมือประท้วงรัฐบาลด้วยวิธีเชิงสัญลักษณ์ อย่างการยืนกินแซนด์วิชและอ่านหนังสือ 1984 ในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ก็มีคาเฟ่ชื่อ 1984 ติดป้ายใหญ่ว่า Big Brother is Watching You หรือเร็วๆ นี้ในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) 1984 ก็กลายเป็นหนังสือขายดีที่นิยมอ่านเพื่อประท้วงทรัมป์เหมือนกัน

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก
คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

“ถ้าคุณต้องการประท้วงเผด็จการด้วยการพูด อาจต้องพูดสักชั่วโมงหนึ่ง แต่ด้วยหนังสือเล่มเดียวนี้ ไม่ต้องพูดอะไรก็สื่อได้เยอะมาก ทศวรรษหลังๆ มีการพูดถึงเมืองไทยว่ามีลักษณะเหมือนโลกใน 1984 ซึ่งหลายคนก็ไม่ชอบใจว่ามันเกินไปรึเปล่า แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว จริงรึเปล่าไม่รู้ แต่ก็มีมากพอให้คนพูดและเปรียบเทียบ ถ้าเรารู้สึกขัดแย้งว่าโลกดิสโทเปียไม่ใช่ความเป็นจริง การได้ลองอ่านก็จะทำให้รู้ได้ด้วยตนเอง 

“ถ้าถามเหตุผลว่าทำไมจึงสะสม 1984 ส่วนหนึ่งคือเลือกวรรณกรรมที่แปลหลายภาษา จะได้หาได้ง่าย เรื่องนี้แปลแล้วประมาณหกสิบห้าภาษา ถึงจะถูกแบนในหลายๆ ที่ 

“แต่เหตุผลในใจที่แท้จริง คือการสะสมสิ่งที่รัฐห้าม ห้ามในที่นี้มีสองนัยยะ คือห้ามแบบแบน และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือห้ามความคิดที่ปรากฏให้หนังสือเล่มนี้ เพราะฉะนั้น การได้สะสมหนังสือเล่มนี้คือการประท้วงด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างหนึ่ง วินสตัน สมิธ (Winston Smith) เริ่มต้นแสดงความคิดขบถเมื่อเขาไปหาซื้อไดอารี่มาเล่มหนึ่ง แล้วจดบันทึกความรู้สึกนึกคิดที่ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในดินแดนที่เขามีชีวิตอยู่ การสะสมหนังสืออาจจะเป็นวิธีการแบบเดียวกันในระดับย่อมๆ ก็เป็นได้

“แต่นึกขึ้นได้ว่าไม่ได้เก็บเล่มภาษาไทยเลย คงต้องไปซื้อมาบ้างแล้วแหละ” 

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

อาจารย์กล่าวยิ้มๆ ทิ้งท้ายด้วยความปรารถนาถึงเสรีภาพ

“Freedom is the freedom to say that two plus two make four. If that is granted, all else follows.”

ในบรรดาหนังสือ 1984 ที่ลูกศิษย์ซื้อมาให้มี 30 กว่าเล่ม ดีไซน์ส่วนใหญ่มักมีรูปดวงตาจับจ้องเสมือนสัญลักษณ์ของพี่เบิ้ม อาจารย์คัดเล่มโปรดขึ้นมา ดังนี้ 

1984 Edition

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

เล่มนี้เป็นเล่มที่เก่าที่สุด ผลิตใน ค.ศ. 1984 ปีนั้นได้ไปเรียนที่อังกฤษพอดี ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้เรียน 1984 เลยซื้อไว้ และใช้อ่านใช้สอนมาตลอด ตอนนี้ก็เลยเหลือง มีรอยขีด และแผ่นโน้ตเต็มไปหมด มีที่คั่นหนังสือที่ได้มาตอนรณรงค์โหวตคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญยุค คสช. กลุ่มคัดค้านตอนนั้นก็ยกโควตใน 1984 มาใช้

ทุกครั้งที่พิมพ์ใหม่ หนังสือจะได้รับการปรับปรุง เปลี่ยนคำนำใหม่ คำนำของเล่มนี้ตั้งคำถามว่า เรามาถึง ค.ศ. 1984 แล้ว สังคมเรามาถึงสิ่งที่ออร์เวลล์ทำนายไว้มั้ย

Graphic Edition

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

เล่มนี้ชอบมาก สามีซื้อมาให้จากนิวยอร์ก ตอนเขาบอกจะซื้อให้ ตอบไปว่ามีเล่มภาษาอังกฤษแล้ว แต่เขาบอกว่าไม่ๆ เล่มนี้ยูต้องชอบมาก เพราะมีลูกเล่นกราฟิกประกอบทั้งเล่ม เล่มนี้พิเศษมาก ไม่ใช้สอน ผลิตในวาระผลงานเอกของออร์เวลล์ครบรอบห้าสิบปี 

Japanese Edition

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

เล่มภาษาญี่ปุ่นนี้ลูกศิษย์ชื่อ ดริณทิพย์ จันทร์สิทธิ์ เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษเหมือนกัน ซื้อมาให้ตอนไปเที่ยวญี่ปุ่น ตอนเข้าไปในร้านแล้วถามหา 1984 มีแต่คนเข้าใจว่าจะซื้อ 1Q84 ของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ต้องอธิบายกันนานว่าจะซื้อ 1984 ได้

Ukrainian Edition

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

เล่มนี้ลูกศิษย์ ปูเป้-ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์ ไปเล่นละครที่ยูเครนแล้วรู้ว่าสะสมก็เลยซื้อมาฝาก ถึงเราจะอ่านไม่ออกสักตัว เวลาได้มาจะจดโน้ตชื่อภาษากับชื่อคนให้ไว้ในเล่ม

Latvian Edition and Brazilian Portuguese Edition

คารินา โชติรวี : นักสะสม 1984 หนังสือต้องห้ามของ George Orwell ที่แปลไปทั่วโลก

สองเล่มนี้ได้จากธนิศร์ คนที่เริ่มซื้อหนังสือ 1984 มาฝากคนแรก เขายังซื้อภาษาอาร์เมเนีย รัสเซีย ตุรกี รัสเซีย เกาหลี มาฝาก และยังซื้ออยู่เรื่อยๆ จากทุกทริปที่เขาไป คอลเลกชันนี้เกิดจากตัวเขาเลย เล่มลัตเวียนี่มีลูกค้าคาเฟ่มานั่งอ่านด้วย เป็นคนไทยที่เคยอยู่ลัตเวีย ส่วนเล่มโปรตุเกสก็แปลกมาก เพราะเป็นโปรตุเกสแบบบราซิล

ขอบคุณสถานที่ : Rare Finds Hidden Cafe

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล