23 พฤศจิกายน 2019
9 K

เซี่ยงไฮ้ก็เหมือนกับเมืองใหญ่ๆ อีกหลายเมืองในเอเชีย ที่เปลี่ยนผ่านจากเมืองอุตสาหกรรมยุคศตวรรษที่ 19 ไปสู่เมือง Post-Industrialism ก้าวหน้าด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ของคนยุคใหม่ สถาปัตยกรรมรีโนเวตในเมืองจึงเกิดขึ้นมากมาย เช่น Long Museum ดัดแปลงท่าเรือขนส่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ในย่าน West Bund ส่วน Power Station of Art เปลี่ยนโรงงานไฟฟ้าถ่านหินสู่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยสุดล้ำ ที่คอศิลปะต้องเอาตัวไปคลุกคลีกับโถงกว้างและบรรยากาศเทาๆ ของที่นั่นให้ได้

1933 Oldmillfun หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า 1933 ก็เช่นเดียวกัน ตึกคอนกรีตที่มีฟาซาด (Façade) เป็นช่องลมฉลุลาย สะท้อนสถาปัตยกรรมยุค Art Deco ยิ่งใหญ่ ด้วยฝีมือการออกแบบสุดประณีตของ Andrew Balfours สถาปนิกชาวอังกฤษ น้อยคนเดาออกว่าตึกนี้เคยเป็นโรงฆ่าสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในเซี่ยงไฮ้ และมีสถาปัตยกรรมซับซ้อนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

แม้ด้านนอกจะทึบ แต่ด้านในเป็นโถงเปิดเพื่อระบายกลิ่นและฆ่าเชื้อ แสงอาทิตย์ส่องลงมาที่ทางเดินคอนกรีต ทั้งตรง ทั้งโค้ง ทับซ้อนกันไปมา ผนังระเบียงที่หนาถึง 50 เซนติเมตร ป้องกันไม่ให้สัตว์หล่นลงมา โค้งหักมุมตามจุดต่างๆ มีไว้เพื่อให้คนต้อนสัตว์หลบเข้ามุมได้ โดยไม่ถูกเหยียบเมื่อโปรตีนสี่ขาเหล่านี้เกิดตกใจวิ่งเตลิดขึ้นมา การออกแบบนี้ทำให้สะท้อนใจว่าครั้งหนึ่งเราเคยต้องสร้างสิ่งก่อสร้างสุดซับซ้อนนี้เพื่อการฆ่าเท่านั้น 

สิ่งก่อสร้างคอนกรีตที่ออกแบบโดยเน้นการใช้งานเป็นหลัก จนหน้าตาออกมาประหลาดล้ำแบบนี้ คงตกอยู่ในหมวดหมู่สถาปัตยกรรมแบบ Brutalism เป็นแน่ และโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้มัน Brutal สมชื่อของมันจริงด้วย เพียงแต่ชีวิตเก่าของมัน ได้รับเกียรติเป็นเพียงโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในยุคของการผลิตเท่านั้น ไม่ใช่ยอดสถาปัตยกรรมแต่อย่างใด

ปัจจุบันเราเดินทางไปชมสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่นี้ได้ง่ายๆ เพียงแค่ลงสถานี Hailun Road กลางใจเมือง เดินจากสถานีประมาณ 15 นาที ผ่านถนนและคูคลองของชุมชนบ้านเก่าสไตล์เซี่ยงไฮ้แท้ๆ แสนสงบ ไม่มีกลิ่นคาวเลือด ไม่มีเสียงโหยหวนของสัตว์อีกแล้ว เพราะเมื่อคุณมาถึงจะพบว่ามันกลายเป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์ที่ฮิปที่สุดแห่งหนึ่งของเซี่ยงไฮ้ 

1933 Old Milfun อดีตโรงเชือดสัตว์ทรงเขาวงกต ที่กลายเป็นพื้นที่ของหนุ่มสาวเซี่ยงไฮ้

ตั้งแต่ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ในปี 1998 ที่นี่ก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ด้วยพื้นที่ใช้สอยกว่า 32,500 ตารางเมตร ทำให้อดีตโรงสังหารกลายเป็นห้างสุดฮิป อันเป็นที่รู้กันว่าถ้ามาที่ย่าน Hongkou ก็ต้องมาแวะที่นี่ แต่ใช้คำว่าห้างก็ไม่ตรงเสียทีเดียว เพราะที่นี่ไม่ใช่ศูนย์การค้าติดแอร์ที่เรามาหาฟาสต์ฟู้ดกินกัน แต่มันคือพื้นที่รวบรวมทุกความสนใจของคนรุ่นใหม่ไว้อย่างครบถ้วน

หากได้มาที่นี่ อย่าลืมยืนนิ่งๆ ลองสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ทางเดินวนเวียนและขั้นบันไดราวกับภาพวาดของ M.C. Escher เสียงคนท่องบทเตรียมแคสติ้งให้กับละครเวทีโรงเล็กๆ ในนั้น ไม่ไกลมีคนกำลังฝึกเต้น Pole Dance มีร้านเสื้อผ้าคอสตูม เสียงอึกทึกจากการเตรียมคอนเสิร์ตจากฮอลล์ด้านบน มีชมรมคนสูบซิการ์ มีเกมปริศนาห้องปิดตาย ไปจนถึงอะควาเรียมทำเองในห้องเล็กๆ ที่มีแต่ตู้ปลา เรียกได้ว่าเป็นไลฟ์สไตล์เซ็นเตอร์โดยไม่อายปากเลยล่ะ

อดีตโรงเชือดสัตว์ทรงเขาวงกต ที่กลายเป็นพื้นที่ของหนุ่มสาวเซี่ยงไฮ้
1933 Old Milfun อดีตโรงเชือดสัตว์ทรงเขาวงกต ที่กลายเป็นพื้นที่ของหนุ่มสาวเซี่ยงไฮ้
อดีตโรงเชือดสัตว์ทรงเขาวงกต ที่กลายเป็นพื้นที่ของหนุ่มสาวเซี่ยงไฮ้

เนื่องจากเป็นพื้นที่เอกชน 1933 จึงมีส่วนผสมที่ลงตัวของอาคารพาณิชย์ นอกจากมีร้านค้าร้านอาหารมากมาย และเปิดพื้นที่ให้เช่าสำหรับสำนักงานแล้ว ที่นี่ยังใช้เปิดตัวสินค้าใหม่ ภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็มาเปิดตัวที่นี่ (เช่น หนังเรื่อง My Blueberry Nights เป็นต้น) หากพื้นที่ด้านหน้าตึกไม่ได้ถูกจับจองไปจัดงานเสียก่อน ก็จะเป็นที่จอดรถของบรรดาเจ้าของรถเฟอร์รารี่ ที่มักมาพบปะกันที่นี่นั่นเอง

คิดดูเล่นๆ เห็นว่าบ้านเราก็มีอาคารเก่าทำนองนี้อยู่ไม่น้อย ถ้าผู้ประกอบการห้างจะใช้วิธีบูรณะ เก็บโครงสร้างเก่าและเรื่องเล่าของมันไว้เป็นจุดขาย แทนที่จะทุบทำลายมันทิ้งไปก็คงจะดี 

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

ฮามิช มัสอิ๊ด

นักสะสมแผ่นซีดีเพลงป็อป อดีตมนุษย์เงินเดือนที่กำลังสะสมความรู้ไปสร้างจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่หนองจอกบ้านเกิด

Photographer

Avatar

ปรีชญา จงศรีสวัสดิ์

ช่างภาพที่เชื่อว่าการตายอย่างมีคุณภาพคือการตายด้วยของกินที่ดีและอร่อย