ทายาทรุ่นสองคือคอลัมน์ประจำหมวดธุรกิจของ The Cloud ที่บอกเล่าเรื่องราวอันแสนอบอุ่นแห่งการสืบทอด ไม่ใช่แค่ตัวธุรกิจครอบครัวชาวไทยเพียงลำพัง แต่เป็นความตั้งใจและความพิถีพิถันที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ชาวก้อนเมฆเฟ้นหาสารพัดกิจการ ตั้งแต่ร้านซักรีดอายุเกือบร้อยปีอย่างซินไฉฮั้ว โรงแรมชื่อดังอย่างดุสิตธานี หรือแม้กระทั่งจิ๊บกี่ ร้านชำออนไลน์ ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อนำเสนอแง่คิด มุมมอง และประสบการณ์ สำหรับเป็นบทเรียนให้แก่บรรดาคุณผู้อ่านที่รักของพวกเรา

เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของกิจการร้านค้าคนไทย ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีให้แก่สังคมมาโดยตลอด The Cloud อยากเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมธุรกิจสุขภาพดีให้ดำรงอยู่ยั้งยืนยงไปนานๆ จึงจัด ‘งานทายาทรุ่นสอง’ ขึ้น เพื่อแปรเปลี่ยนคุณค่าที่เรานำเสนอผ่านตัวอักษรเป็นงานพบปะประจำทุกๆ ปี 

แม้ว่าสารพันปัญหาขวากหนามทำให้การสานต่อธุรกิจครอบครัวล้มเหลวมานักต่อนัก แต่เรายังเชื่ออยู่เต็มหัวใจว่ามีทายาทจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะเข้ามารับช่วงต่อโดยสมัครใจและตั้งใจ คราวนี้ งานทายาทรุ่นสองจึงมาพร้อมกับ ‘โจทย์สามัญประจำบ้าน’ ที่ห้างร้านครอบครัวส่วนใหญ่ล้วนเคยประสบมาก่อน เปิดเวทีให้ 6 ทายาทรุ่นสอง สาม สี่ มาเฉลยเคล็ดวิธีวิทยายุทธลับจากประสบการณ์ตรง ไขปัญหาประเด็นคลาสสิก ตั้งแต่การเตรียมตัวพร้อมรับช่วงต่อ ล้างหนี้จากรุ่นหนึ่ง ไปจนถึงการสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน เพื่อป้องกันไม่ให้มันจบที่รุ่นเรา

งานนี้ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่แสดงวิธีคิดของทายาทตัวอย่าง แต่ยังเป็นพื้นที่สำหรับการพบปะระหว่างคนหัวอกเดียวกันไม่ว่ารุ่นไหนก็ตาม เพื่อแชร์ปัญหาและวิธีการรับมือแก่กัน ทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย

ต่อไปนี้คือบทเรียนฉบับกระชับที่จะช่วยลดคำสบประมาทที่ว่า “รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองสานต่อ รุ่นสามทำลาย”

TALK 1 : เตรียมตัวเองให้พร้อมรับช่วงต่อ

โดย เป้-ชาตยา สุพรรณพงศ์ CEO แห่งบริษัท Food Passion ทายาทรุ่นที่ 2 บาร์บีคิว พลาซ่า ผู้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ สู่การรีแบรนด์ครั้งใหญ่ของครอบครัว

สิทธิอันชอบธรรมของทายาทที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ คือความตั้งใจอยากให้ธุรกิจดีขึ้น

เชื่อว่ามีทายาทรุ่นสองจำนวนไม่มากที่กลับมาฉุกคิด ตั้งคำถามกับตัวเองว่า นอกจากสายเลือดแล้ว ตนมีสิทธิ์อะไรที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

ถ้าหากไม่ใช่เพราะเกิดมาเป็นลูกของใคร หรือมีเลือดของผู้ใดไหลเวียนอยู่ในตัว สิ่งเดียวที่จะอนุญาตให้ทายาททุกคนก้าวเท้าเข้ามาสานต่อกิจการจากรุ่นก่อนหน้าได้ คือการลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อบริษัทอย่างจริงจังตั้งใจ แม้สิ่งนั้นจะล้มเหลว แต่ยังก็เป็นครูที่ดี เพราะมันได้ฝากแผลเป็นแห่งการเรียนรู้เอาไว้ สอนให้เข้าใจธุรกิจมรดกก้อนนี้มากขึ้น และที่สอดแทรกมากับความผิดหวัง คือสิทธิอันชอบธรรมที่จะเข้ามาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาองค์กร

ทายาทรุ่นสองมี 10,000 ชั่วโมงบินที่ได้เปรียบกว่านักธุรกิจคนอื่น

อย่าเพิ่งคิดว่ากิจการครอบครัวจะสู้บริษัทข้ามชาติไม่ได้ เพราะที่จริงธุรกิจครอบครัวนั้นโคตรเจ๋ง สิ่งที่ทายาทรุ่นสองทุกคนมีต่างจากนักธุรกิจประเภทอื่นคือ ‘ไฟของเถ้าแก่’ การได้เกิด โต และคลุกคลีมากับกิจการร้านค้าของครอบครัว เมื่ออายุครบ 20 ปี นั่นหมายความว่าคุณมีอย่างน้อย 10,000 ชั่วโมงแห่งการทำงานสะสมติดตัวไว้ก่อนใครแล้ว แม้จะเรียนมาไม่ตรงสาย แต่ทักษะและความคุ้นชินเหล่านี้สอดแทรกซึมซาบอยู่ในสายเลือดโดยอัตโนมัติ

ยิ่งกว่านั้น แม้จะดูเหมือนจะไร้แผนการรูปธรรมในการบริหารธุรกิจครอบครัว แต่ภายในหัวของบรรพบุรุษ คือ Vision Mission และ Stradegy ที่พวกเขาออกแบบวางแผนไว้ในระยะยาวเรียบร้อยหมดแล้ว ไม่เช่นนั้นกิจการคงไม่อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เมื่อเข้ามารับช่วงต่อ ก็แค่ถ่ายทอดออกมาให้คนในองค์กรรู้และเดินตามให้ได้เท่านั้น

TALK 2 : การจัดการหนี้

โดย กันต์-ธนัฐณ์ วิทย์ภิรมย์ ทายาทรุ่นสองบริษัทนำเข้าและค้าส่งแว่นตา M.S Optic ผู้ก่อตั้งร้านแว่นตา Occura ที่เข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัวพร้อมหนี้ 28 ล้าน

หาช่องโหว่ในวงจรธุรกิจที่ทำให้เกิดหนี้ให้เจอ แล้วแก้ไขจุดบกพร่องนั้นโดยด่วน

ถ้าเข้ามารับช่วงต่อพร้อมกับภาระหนี้สิน สิ่งแรกที่ควรทำ คือปรับทัศนคติของตัวเองว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่จินตนาการไว้ ตัวหนี้คือปลายเหตุของปัญหา หากต้องการกำจัดหนี้อย่างถาวร ก็ตามหาต้นตอที่มาของหนี้ให้เจอว่าอยู่ส่วนใดในวงจรธุรกิจของตัวเอง เมื่อรู้ต้นสายปลายเหตุแล้วก็มุ่งแก้ไขที่ปัญหานั้นเป็นหลัก ถ้าปิดประตูหนี้สำเร็จ ก็สบายใจไปได้เปลาะหนึ่งแล้วว่าจะไม่มีอะไรอิรุงตุงนังมากกว่านี้แน่ๆ 

ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่รูปแบบใหม่เพื่อโบกมือลาหนี้อย่างถาวร

ถ้ารูปแบบธุรกิจเก่าๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรคือพิษร้ายที่สร้างภาระอันหนักอึ้งให้แก่องค์กร ก็ให้ให้เลี้ยวหักมุมหนีจากครรลองการทำงานแบบเดิม ปรับปรุงวิถีการทำงาน เดินหน้ากิจการด้วยกลยุทธ์แบบใหม่ที่จะเสริมความมั่นคงให้แก่บริษัท ขยายหรือเปลี่ยนแปลงโมเดลไปสู่สิ่งที่ตอบโจทย์ตลาด สร้างกำไร และช่วยให้องค์กรก้าวเดินต่อไปได้ในอนาคตอย่างยั่งยืนมากกว่า

TALK 3 : กับดักความสำเร็จ

โดย ต้น-นพพล เตชะพันธ์งาม จากทายาทผู้เข้ามารับช่วงต่อ Springmate กิจการที่นอนสัญชาติไทย สู่เจ้าของธุรกิจสู่สตาร์ทอัพเช่าที่นอน Nornnorn

อยากสูงต้องเขย่ง อยากเก่งต้องขยัน อยากแข่งขันต้องใฝ่รู้

อย่าคิดว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกิจการที่บ้าน ทำไมจะเข้ามาบริหารงานไม่เป็น เพราะการแก้ปัญหาทางธุรกิจควรเป็นไปตามหลักการเท่านั้น (ขีดเส้นใต้สองเส้นเลย) อย่าใช้สัญชาตญาณหรือความคุ้นชิน เพราะนั่นอาจนำไปสู่จุดจบได้ สำรวจตัวเองอยู่เสมอว่าพร่องความรู้หรือขาดทักษะการบริหารหรือเปล่า ถ้าใช่ การขวนขวายหาความรู้จากคอร์สเรียน หนังสือหรือผู้หลักผู้ใหญ่คือประตูสวรรค์ เพราะปัญหาทางธุรกิจที่เราๆ ท่านๆ เจอกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง มีคนเคยเจอและให้คำตอบไว้เบ็ดเสร็จครบถ้วนแล้ว

อย่ากลัวการสร้างคนเก่ง ตราบใดที่ธุรกิจยังไม่หยุดพัฒนา

ผู้ใหญ่นอกจากจะชอบหาผ้าใหม่แล้ว ยังชอบคิดว่าไม่ควรสอนพนักงานให้เก่งอีกด้วย เพราะเดี๋ยวถ้าเก่งแล้วก็จะหนีไปทำงานที่อื่น แต่แท้จริงแล้ว ควรมองว่ายิ่งเขาเก่งขึ้นแล้วไปทำงานในที่ที่ดีกว่า เราเองเสียอีกที่ต้องเป็นฝ่ายภาคภูมิใจที่ได้ผลิตบุคลากรคุณภาพให้แก่วงการ และที่สำคัญ กว่าเขาจะเทเราไปหาที่อื่น เราก็ได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกมากมายแล้ว การดึงดูดคนที่เก่งกว่ามาร่วมงานหรือผลิตทีมที่เจ๋งแจ๋วกว่า จึงย่อมไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ

ลดแรงเสียดทานภายในครอบครัวให้น้อยลง

ช่องว่างของวัยทำให้วิถีการทำงานของแต่ละรุ่นแตกต่างกันไป ความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยคือเรื่องที่สุดแสนจะธรรมดาสำหรับที่ที่มีมนุษย์อยู่มากกว่า 1 คนขึ้นไป (บางทีเรายังทะเลาะกับตัวเองเลย) นอกเหนือจากการพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างถึงที่สุดแล้ว หากปัญหาดำเนินมาถึงทางตัน การย้ายตัวเองออกมาข้างนอก แล้วทำธุรกิจย่อยเพื่อส่งเสริมกิจการหลักก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากช่วยลดแรงเสียดทานในบ้านแล้ว ยังได้สืบทอดธุรกิจครอบครัวทางอ้อม ได้รักษา Know-how และคอนเนกชันต่างๆ ที่รุ่นก่อนสร้างไว้อย่างยากลำบากด้วย

TALK 04 : การจัดการระบบ

โดย วัธ-จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่นสาม SC GRAND กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ผู้เข้ามาสืบทอดกิจการพร้อมภารกิจรื้อระบบกันโกง

วันที่ไว้ใจทุกอย่างได้ในบริษัท คือวันที่ควรระวังมากที่สุด

ระบบการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าของกิจการร้อยเปอร์เซ็นต์มีอยู่จริงก็เพียงในความฝันเท่านั้น เพราะทุกอย่างมีช่องว่างสำหรับคนโกงที่คอยจ้องแต่จะแทงข้างหลังอยู่เสมอ ทายาทรุ่นสองควรระแวดระวังอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งพนักงานข้าเก่าเต่าเลี้ยงที่เติบโตมาใต้ร่มเงาขององค์กรจนเป็นที่ไว้วางใจของสมาชิกในครอบครัว ก็สามารถเป็นนักมายากล เล่นกลทุจริตเงินบริษัทไปได้ จำไว้เสมอว่า วันใดที่บริหารงานแบบสบายๆ เพราะถือว่ามีคนที่เชื่อใจคอยทำงานรองมือรองเท้า วันนั้นคือวันที่อันตรายที่สุด

การถูกโกงคือโอกาสที่เปิดให้ทายาทเข้าไปเปลี่ยนแปลงระบบเก่า

หากลองพลิกมุมกลับ ปรับมุมมอง ความจริงที่ว่าการถูกต้มตุ๋นไปทำให้บริษัทสูญเสียเงินจำนวนไม่น้อย คือแผลเป็นที่เมื่อสะกิดทีไรก็อักเสบขึ้นมาทุกที แต่อย่าลืมว่านั่นล่ะคือโอกาสทองราคาแพง เพราะมันชี้ให้เห็นถึงวิถีการบริหารและระบบที่ยังมีช่องโหว่อยู่มาก เป็นประตูแห่งโอกาสที่ทายาทรุ่นสองจะได้เปิดเข้าไปปรับปรุงแก้ไข วางรากฐานใหม่ให้แก่องค์กรให้แน่นหนารัดกุมมากขึ้น

TALK 05 : การดูแลพนักงาน

โดย นีน่า-ภคมน สมบูรณ์เวชชการ ทายาทรุ่นสองของ D’Oro แบรนด์กาแฟสัญชาติไทยที่มั่นใจในตัวพนักงาน เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีของและพัฒนาได้เสมอ

โอกาสคือประตูบานแรกสำหรับพนักงานที่ผู้บริหารต้องหยิบยื่นให้

ในการพัฒนาพนักงาน ต้องเชื่อมั่นด้วยหัวใจจริงๆ ว่ามนุษย์นั้นพัฒนาให้เก่งขึ้นได้ แต่ประตูบานแรกที่พวกเขาเปิดเพื่อก้าวไปสู่ขั้นบันไดแห่งความสามารถที่สูงกว่า คือโอกาสที่ผู้ใหญ่ในองค์กรจำเป็นต้องหยิบยื่นให้ ยิ่งไปกว่านั้นคือต้องยอมเสียสละเวลา ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ดูแลอยู่อย่างใกล้ชิดเสมอ เคล็ดลับข้อสำคัญในการพัฒนาทีมงานคือต้องเข้าใจธรรมชาติของทีม รู้ขีดความสามารถ จากนั้นจึงจะประเมินแนวทางการทำงานให้เหมาะสมกับคนได้อย่างถูกต้อง สิ่งเหล่านี้แม้ดูจะเรียกร้องต้องการทั้งความอดทนและเวลา แต่เชื่อเถอะว่าการลงทุนกับมนุษย์นั้นคุ้มค่าที่สุดแล้ว

มีพื้นที่ภายในองค์กรที่อนุญาตให้พนักงานกล้าพูดข้อดีข้อเสียขององค์กรได้

หากเปรียบบริษัทเป็นบ้านหลังใหญ่ พื้นที่ส่วนกลางอย่างห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นเสมือนคอมฟอร์ตโซนที่ไม่ว่าจะผู้บริหารหรือพนักงานทุกระดับก็เข้ามาพูดคุยกันได้อย่างเสรี คงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดความสมัครรักใคร่ในองค์กรมากขึ้น อาจจะจำลองให้อยู่บนโลกออนไลน์อย่างเช่นทำกลุ่มในเฟซบุ๊กก็ได้

แต่ในพื้นที่นั้น ผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับฟังอย่างมืออาชีพและจริงใจ เปิดใจให้กว้าง ให้โอกาสพนักงานได้แสดงความคิดเห็นโต้แย้ง ได้พูดจุดดีและจุดบกพร่องขององค์กรอย่างกล้าหาญ เช่นนี้จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

TALK 06 : อย่าให้ธุรกิจครอบครัวจบที่รุ่นเรา

โดย กมลพงศ์ สงวนตระกูล ทายาทรุ่นสามโตโยต้าขอนแก่นและประธานหอการค้าขอนแก่น ผู้เข้ามารับไม้ผลัดด้วยวิสัยทัศน์การทำธุรกิจให้โตไปพร้อมกับชุมชน

กอบกู้กิจการครอบครัวด้วยการเติมช่องว่างใน Value Chain ของธุรกิจตัวเอง

หากบริษัทประสบปัญหา ทางรอดหนึ่งที่จะทำให้มันไม่จบที่รุ่นเราคือการหันมาดูช่องทางรองรายได้ (Revenue Channels) ทั้งหมด แล้วหาห่วงโซ่แห่งมูลค่า (Value Chain) ของธุรกิจของตนให้เจอ พิจารณาดูว่ายังมีอะไรที่ขาดหายไปจากวรจรนั้น รีบหาให้เจอแล้วเติมมูลค่าลงไปเสีย แม้บางทีจะดูเหมือนเป็นการเสียเงินหรือให้กำไรน้อยมาก แต่เมื่อรวมกันและนานวันเข้า สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งตัวช่วยที่จะพยุงกิจการของบรรพบุรุษไม่ให้ต้องถึงกาลอวสานได้

การไม่หยุดคิดช่วยให้ธุรกิจชิง Disrupt ตัวเองได้ก่อนจะโดนปัจจัยภายนอกเล่นงาน

ยุคนี้สมัยนี้ เทคโนโลยีเจริญรุดหน้าไปมาก อะไรๆ ก็รวดเร็วไปหมด ใครที่ยังคงเฉื่อยๆ นิ่งๆ ก็คงจะโดนเล่นงานในไม่ช้า สิ่งหนึ่งที่กมลพงศ์เตือนเหล่าบรรดาทายาทรุ่นสอง สาม สี่ คือให้ตื่นตัวอยู่เสมอและอย่าหยุดคิด เพราะ Disruption คือเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นจริง ตอนนี้หากธุรกิจใดยังไม่เจอปัญหา ก็อย่าเพิ่งไว้วางใจ ให้คิดหาทางหนีทีไล่ไว้ให้ดี และพยายามวาดภาพองค์กรตัวเองในอนาคตไว้ หากไม่หยุดคิด ไม่หยุดทำ เราต่างหากที่จะเป็นฝ่าย Disrupt ตัวองได้ก่อนที่ปัจจัยภายนอกจะเข้ามา Disrupt เรา

ทำธุรกิจครอบครัวที่ไม่เพียงเพื่อครอบครัวตัวเอง แต่เพื่อครอบครัวคนอื่นด้วย

สำหรับทายาทรุ่นสองหลายคน ครอบครัวคือที่มาของพลังอันไร้ขีดจำกัดในการทำงาน แต่ ‘เสือพีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง’ ฉันใด หากต้องการจะเติบโตไปได้อย่างมั่นคงและยาวนาน ธุรกิจนั้นก็ควรจะมีวิสัยทัศน์ที่ดีต่อสังคม จำเป็นต้องเดินก้าวหน้าไปพร้อมกับชุมชนข้างเคียงด้วยฉันนั้น ไม่ใช่โตอยู่คนเดียวแล้วเพื่อนบ้านอยู่อย่างสิ้นหวัง นิยามของคำว่าครอบครัวสำหรับนักธุรกิจที่ดี จึงควรขยายกว้างขวางออกไปสู่ผู้คนที่อยู่รายล้อมกิจการของตนทั้งหมดด้วย

นี่คือ 14 บทเรียนจาก 6 เซียนทายาทรุ่นสองของกิจการครอบครัวชาวไทย ที่พวกเขาได้เรียนรู้และนำมาเล่าสู่กันฟัง นอกจากจะมีพาร์ต Talk จากทั้งหกท่านนี้ตลอดทั้งวันแล้ว ตอนเย็นยังมีพาร์ต Meet ให้ได้พบปะแลกเปลี่ยน พูดคุยสารพันปัญหา และสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจอีกด้วย จบงานนี้ เรียกได้ว่าเลเวลอัปขึ้นไปอีกขั้น เพราะได้ติดอาวุธครบมือแล้ว รับรองได้เลยว่ากิจการไม่จบที่รุ่นเราแน่นอน

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล