22 กุมภาพันธ์ 2020
3 K

137 Pillars House คือโรงแรมย่านวัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความพิเศษหลายประการ

ที่ดินเก่าแก่ผืนนี้เคยเป็นที่ทำการบริษัทบอร์เนียว กิจการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม ซึ่งมีนายหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ ลูกชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ หรือแหม่มแอนนา พระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้จัดการคนแรก 

ความพิเศษประการสำคัญ คือการบูรณะบ้านบอร์เนียวที่ก่อสร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลล้านนา ซึ่งเคยถูกใช้เป็นอาคารสำนักงานเมื่อกว่า 130 ปีก่อน 

บ้านบอร์เนียวที่เคยทรุดโทรมตามกาลเวลา ทุกวันนี้กลับมามีชีวิตเพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ของบ้านและพื้นที่ เลานจ์ ฟิตเนส และห้องอาหารระดับหรูของโรงแรม โดยยังคงเก็บคุณค่าและร่องรอยทางประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างครบถ้วน จนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

งานซ่อมแซมบูรณะและออกแบบก่อสร้างโรงแรมบนที่ดินขนาด 1 ไร่เศษใช้เวลายาวนานกว่า 4 ปี โดยความท้าทายอยู่ที่ความประณีตในการบูรณะอาคารประวัติศาสตร์ และความต่อเนื่องของยุคสมัยเก่า-ใหม่ที่ประกอบกันเป็นลักชัวรีบูติกโฮเทล ซึ่งกลมกล่อมไปทุกรายละเอียดริมแม่น้ำปิงแห่งนี้

เราจึงอยากชวนคุณย้อนเวลาไปทำความเข้าใจเรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และภารกิจในการเก็บรักษาคุณค่าและมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ของร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ให้อยู่คู่กับยุคสมัยต่อไปได้ตราบนานเท่านาน

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

ประวัติศาสตร์ดินแดนล้านนา

จุดเริ่มต้นของ 137 Pillars House มาจากความสนใจในวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เชียงใหม่ของคุณนิพันธ์ วงศ์พันเลิศ เจ้าของกังวาลเท็กซ์ไทล์ อุตสาหกรรมด้ายอันดับ 1 ของไทย ทำให้ต้องการหาเรือนแถวเรียบง่ายไว้พักอาศัยเป็นบ้านตากอากาศที่เมืองเหนือ จนได้มาพบกับที่ดินร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ในซอยวัดเกตผืนนี้

สิ่งที่ติดมากับที่ดินคือบ้านไม้สักเก่าสีดำซึ่งซ่อนตัวอยู่ในหมู่ต้นไม้ เมื่อสืบค้นอย่างละเอียด ปรากฏว่าบ้านหลังนี้ชื่อบ้านบอร์เนียว มีประวัติศาสตร์คู่เมืองเชียงใหม่มายาวนานนับร้อยปี

บ้านหลังนี้สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2432 ในสมัยดินแดนล้านนาหรือจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ยังเป็นหัวเมืองประเทศราชของสยาม เพื่อเป็นสำนักงานทำการของบริษัทบอร์เนียว ซึ่งมาทำกิจการสัมปทานไม้สักที่ภาคเหนือของประเทศไทย 

137 Pillars House
137 Pillars House

ก่อนหน้าที่บริษัทฝรั่งจะเข้ามา คนไทยขายไม้ประปราย ตั้งแต่สมัยอยุธยาที่มีบัญชีไม้สัก แสดงให้เห็นว่าสยามส่งไม้ไปขายประเทศในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่น

หลังจากนั้น การทำธุรกิจขายไม้ในสยาม เริ่มต้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันช่วงที่นายเอช แอนเดอร์สัน ผู้รับช่วงต่อบริหารโรงแรมแมนดาริน โอเรียลเต็ล เริ่มนำไม้สักของสยามไปขายที่ยุโรป ปรากฏว่าขายดิบขายดี เกิดปรากฏการณ์ตื่นไม้สัก

เกิดเป็นบริษัทบอร์เนียว บริษัทฝรั่งแห่งแรกที่เข้ามาทำสัมปทานป่าไม้เพื่อกิจการนี้ โดยมี นายหลุยส์ ที. ลีโอโนเวนส์ ลูกชายของแอนนา ลีโอโนเวนส์ หรือแหม่มแอนนา พระอาจารย์สอนภาษาอังกฤษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้จัดการคนแรก

137 Pillars House

หลังจากบริษัทบอร์เนียวเปิดกิจการเป็นเจ้าแรก บริษัทค้าไม้อื่นๆ ได้ตามมาเปิดอย่างคึกคักไม่ว่าจะเป็น บริษัทบอมเบย์ เบอร์มา, อีส เอเชียติก และสยามฟอร์เรส

กิจการของบริษัทบอร์เนียวดำเนินเรื่อยมาจนกระทั่งพ.ศ. 2484 บ้านบอร์เนียวหลังนี้ถูกกองทัพญี่ปุ่นใช้เป็นสำนักงานช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสงครามสิ้นสุดในพ.ศ. 2488 จึงกลับมาเป็นสำนักงานต่อ จนกระทั่งบริษัทบอร์เนียวเลิกกิจการในพ.ศ. 2498 

137 Pillars House, บ้านบอร์เนียว, โคโลเนียล, ล้านนา

เมื่อเป็นเช่นนั้น นายวิลเลียม เบนส์ ผู้จัดการคนสุดท้ายของบริษัทบอร์เนียวจึงซื้อที่ดินรวมถึงบ้านหลังนี้เอาไว้ และตกทอดผ่านทายาทรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนมาถึงคุณลุงแจ็ค จรินทร์ แบน ผู้เติบโตและใช้ชีวิตที่เชียงใหม่มาทั้งชีวิต 

ด้วยความผูกพันและเคารพในวัฒนธรรมไทยล้านนา คุณลุงแจ็คร่วมสร้างพิพิธภัณฑ์รวบรวมของเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ที่วัดเกต ที่ทุกวันนี้ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวและคนทั่วไปเยี่ยมชมได้

วัดเกตการามหรือวัดเกต เป็นวัดเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ สร้างในพ.ศ. 1971 ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ย่านวัดเกตตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ถือเป็นย่านขายของชาวจีนและย่านชาวฝรั่งฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง นับเป็นย่านที่รุ่งเรืองสูงสุดในยุคสุดท้ายของการค้าทางน้ำของเชียงใหม่

137 Pillars House, บ้านบอร์เนียว, โคโลเนียล, ล้านนา
137 Pillars House, บ้านบอร์เนียว, โคโลเนียล, ล้านนา

ประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน คงไม่มีใครเชื่อว่าที่ดินเก่าแก่ขนาด 5 ไร่ในซอยวัดเกต จังหวัดเชียงใหม่ผืนนี้ จะกลายมาเป็นลักชัวรีบูติกโฮเทลแสนสวยที่ถูกตาต้องใจเหล่านักเดินทางอย่างทุกวันนี้ได้ เพราะตอนที่คุณนิพันธ์ซื้อที่ดินมาจากคุณลุงแจ็ค บ้านบอร์เนียว ที่นี่มีสภาพทรุดโทรมยากที่จะบูรณะ 

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

อาจารย์จุลพร นันทพานิช แห่ง North Forest Studio ได้รับการติดต่อจากคุณนิพันธ์ให้มาช่วยดูแลงานบูรณะบ้านบอร์เนียว และทันทีที่มาเห็นบ้าน อาจารย์จุลพรก็เสนอให้มีการค้นคว้าประวัติศาสตร์ก่อนจะออกแบบการบูรณะ

โดยเริ่มต้นการค้นหาจากหอจดหมายเหตุ สยามสมาคม ไปจนถึงดูเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเข้ามาของคนตะวันตกในดินแดนล้านนา ใช้เวลา 3 เดือนในการค้นคว้า เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอที่จะออกแบบทิศทางการบูรณะได้อย่างแม่นยำ

โดยมี คุณพิสิษฐ สายัมพล สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Habita Architects เจ้าของผลงานการออกแบบโรงแรมและรีสอร์ทชื่อดังมากมาย มารับหน้าที่ดูแลการแปลงโฉมบ้านบอร์เนียวและที่ดินเก่าแก่แห่งนี้ ให้กลายเป็นที่พักที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า 

ร่วมด้วย คุณวิภาวดี พัฒนพงศ์พิบูล มัณฑนากรแห่ง P49 Deesign & Associates รับหน้าที่ออกแบบเรื่องราวภายในอาคารแต่ละหลังทั้งเก่าใหม่ และทีมภูมิสถาปนิกจาก P Landscape นำโดย คุณวรรณพร พรประภา มาดูแลงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมที่ร้อยเรียงพื้นที่ทั้งหมดไว้ด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์ที่รวมนักออกแบบแนวหน้าของไทยไว้อย่างครบถ้วน

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

คุณค่าและมูลค่าของบ้านและที่ดินเก่าแก่

คุณพิสิษฐเริ่มเล่า “แม้ว่าสมัยนั้นโรงแรมแบบ Boutique ยังไม่ใช่สไตล์ที่เป็นที่นิยมและแพร่หลาย แต่พอได้มาเห็นบ้าน ผมก็แจ้งคุณนิพันธ์ไปว่า ในฐานะนักออกแบบเราจะเก็บบ้านหลังนี้ไว้อย่างแน่นอน โดยผมเสนอแนวทางการอนุรักษ์บ้านหลังนี้ไปสองแบบ 

“แบบแรกคือยกบ้านทั้งหลังไปตั้งไว้ที่ทางเข้า ให้โดดเด่นเป็น Welcome Area และแบบที่สองคือบูรณะบ้านในตำแหน่งดั้งเดิมแม้จะอยู่ลึกเข้ามาในที่ดิน ผู้ใช้จะต้องเสาะแสวงเข้ามาเพื่อชื่นชมเรือนประธานหลังนี้ สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปตรงกันทุกฝ่ายว่าจะอนุรักษ์บ้านบอร์เนียวด้วยรูปแบบที่สอง” 

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

อาจารย์จุลพรเสริมต่อว่า “แรกเริ่ม ผู้รับเหมาก่อสร้างบอกว่าโครงสร้างหลังคาข้างบนพังหมดแล้ว อย่าปีนเลยอาจารย์ บ้านเก่าตุ๊กแกเยอะ (ยิ้ม) พอผมปีนขึ้นไปดูเอง ก็ปรากฏว่าข้างบนยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก 

“การอนุรักษ์คือการคุ้มครอง สถาปัตยกรรมพวกนี้คือมรดกทางภูมิปัญญาของแต่ละกลุ่มชน ถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ก็น่าเสียดายมาก เพราะลูกหลานเราไม่มีรากเหง้า ไม่มีวัตถุพยานทางประวัติศาสตร์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และที่สำคัญของพวกนี้มันประเมินค่าไม่ได้ 

“พื้นที่ที่เรายืนกันอยู่นี้ ฝรั่งที่เราคุ้นชื่อ สร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศเราในสมัยรัชกาลที่ห้าล้วนเคยขึ้นมาอยู่อาศัยใช้งานทั้งนั้น เป็น Common Space ที่รับรองของชาวต่างชาติในสมัยนั้น นับเป็นอีกหนึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญของล้านนาที่คนตะวันตกเข้ามา”

137 Pillars House, บ้านบอร์เนียว, โคโลเนียล, ล้านนา
บ้านบอร์เนียว

บ้านบอร์เนียวเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลล้านนา คือผสมกันระหว่างดีไซน์แบบตะวันตกกับวัสดุแบบล้านนา จุดยูนีกที่เห็นเด่นชัดจากด้านนอก คือหลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องดินขอแบบพื้นเมือง และมีเครื่องประดับหลังคาสไตล์โคโลเนียล

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

“ช่างก่อสร้างน่าจะเป็นคนจีน ซึ่งมีความชำนาญในการทำงานไม้ เพราะคนจีนเริ่มทำบ้านให้ฝรั่งตั้งแต่ยุครัชกาลที่สี่เขาก็จะรู้ว่ารูปแบบบ้านสไตล์อาณานิคมหรือโคโลเนียลแบบอังกฤษเป็นอย่างไร และไม่แน่ว่าบานประตูหน้าต่างในบ้านทั้งหมด ขนส่งมาจากเมืองมะละแหม่ง ประเทศเมียนมา เพราะงานช่างไม้ล้านนาในสมัยนั้น ไม่ใช่รูปแบบนี้แน่นอน

“ไม้แต่ละท่อนที่ประกอบเป็นบ้านบอร์เนียว มีร่องรอยของประวัติศาสตร์จารึกอยู่ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม้ถูกตัดด้วยเลื่อยมือ ไม่ใช่เลื่อยไฟฟ้าอย่างในยุคปัจจุบัน ดังนั้นเราควรคุ้มครองแม้กระทั่งร่องรอยที่เกิดขึ้นในการแปรรูปไม้เอาไว้ด้วย” อาจารย์จุลพรกล่าว

บ้านร้อยปีที่มีร้อยเสา

คำว่า 137 Pillars มาจากเสาของบ้านที่มีอยู่ถึง 137 ต้น ที่ต้องมีเสาจำนวนมาก เพราะนี่เป็นบ้านเก่าที่โครงสร้างแทบจะทั้งหมดเป็นไม้ ดังนั้นจึงต้องวางช่วงเสาถี่เพื่อความแข็งแรง และอีกนัยยะหนึ่งคือบ้านในสมัยโบราณ ยิ่งเจ้าของมีฐานะเท่าไหร่ บ้านยิ่งต้องมีเสาเยอะเท่านั้น

ความท้าทายแรกในการออกแบบและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมหลังนี้คือ การเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง แม้ตัวบ้านจะเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูงประมาณ 1.8 เมตรอยู่แล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอ

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยกตัวเรือนให้สูงขึ้นจากเดิมเพื่อให้พ้นระดับน้ำท่วม และเสริมความแข็งแรงให้ฐานของบ้านที่จะต้องรองรับคนจำนวนมากในอนาคต

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

อาจารย์จุลพรอธิบายต่อว่า “เราใช้คนงานประมาณร้อยคน ควบคุมแม่แรงแปดสิบตัว ยกเรือนและเสาไม้ขึ้นเหนือพื้นดินครั้งละห้าเซนติเมตร ใช้เวลายกสองวัน จนได้ระยะความสูงพอที่จะใส่เสาเหล็กลงไปใต้เสาไม้เดิม จากนั้นปลดแม่แรงออก เสาไม้จะตกลงมาวางบนเสาเหล็กพอดี และต้องดัดตัวบ้านให้ตรง บ้านมันเก่าเลยโย้เย้

“เทคนิคการนำเหล็กมาช่วยเสริมความแข็งแรงให้โครงสร้างไม้เดิม ผมได้มาจากงานบูรณะสถาปัตยกรรมโบราณ เหตุแผ่นดินไหวที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลเมื่อครั้งก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มสถาปนิกชาวออสเตรีย

“เป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อให้เห็นชัดเจนไปเลยว่าส่วนไหนเป็นของดั้งเดิม ส่วนไหนเป็นของที่เสริมเข้าไป ความท้าทายอยู่ที่จะออกแบบอย่างไรให้ความเก่าและใหม่ อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว”

การยกเรือนให้ความสูงเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 เมตร ทำให้ความยาวเสาเพิ่มตามไปด้วย สัดส่วนของสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลล้านนาจะผิดเพี้ยนจากรูปแบบดั้งเดิม ทีมออกแบบจึงตัดสินใจสร้างคันดินรอบตัวบ้าน เพื่อปิดความยาวเสาที่เพิ่มขึ้นมา ให้ทัศนียภาพของตัวบ้านคงสัดส่วนเดิมที่ความสูง 1.8 เมตร

“ดังนั้นภาพของบ้านเมื่อแรกสร้างร้อยสามสิบปีที่แล้วกับภาพของบ้าน ณ ปัจจุบันจึงเป็นภาพเดียวกัน แม้บ้านจะผ่านการบูรณะ ซ่อมแซม และปรับปรุงแล้วก็ตาม” คุณพิสิษฐเสริม

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

การยกตัวบ้านขึ้นยังมีประโยชน์ในแง่พื้นที่ใช้สอย เพราะโรงแรมต้องมีพื้นที่เพียงพอกับหลากหลายฟังก์ชัน ทั้งในส่วนแขกที่มาเข้าพักและเจ้าหน้าที่ดูแลจัดการ

ภายใต้ทัศนียภาพแบบเดิม มองเผินๆ เหมือนบ้านชั้นเดียว แต่ที่จริงแล้วบ้านบอร์เนียวซึ่งได้รับการบูรณะอย่างประณีต มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นเป็น 2 ชั้น

ทุกวันนี้บ้านบอร์เนียวมีฟังก์ชันเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติศาสตร์ของบ้านและพื้นที่ มีข้าวของโบราณที่ถูกค้นพบที่นี่จัดแสดง เพื่อให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมรับรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน รวมถึงยังเป็นเลานจ์ ฟิตเนสและห้องอาหารระดับหรูของโรงแรมอีกด้วย

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

เรียงร้อยความเก่าและใหม่ไว้เก่าอย่างกลมกลืน

บ้านบอร์เนียววางผังเรือนเป็นแบบสมมาตร มุขหน้ามีบันไดขึ้นเรือน 2 ข้าง คุณพิสิษฐเล่ายิ้มๆ ว่าตอนเริ่มต้นบูรณะปรับปรุง บ้านมีสภาพทรุดโทรมและเหลือบันไดอยู่เพียงข้างเดียว ซึ่งก็นับว่าโชคดี เพราะอย่างน้อยยังมีบันไดข้างที่เหลือให้ถอดแบบได้

อย่างไรก็ตาม คุณพิสิษฐและอาจารย์จุลพรต่างมีความเห็นตรงกันว่าจะพยายามใช้วัสดุใหม่ให้น้อยที่สุด โดยจะใช้วัสดุจากเรือนบริวารที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมถึงไม้จากบ้านโบราณหลังอื่นที่สร้างในยุคเดียวกัน 

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

“ที่ต้องเป็นอย่างนั้น เพราะไม้ที่ใช้ในการสร้างบ้านบอร์เนียว เป็นไม้จากต้นสักที่มีอายุ ซึ่งแน่นอนว่ามีคุณภาพมากกว่าไม้จากต้นสักที่อายุน้อย และด้วยความที่เป็นบริษัทนายห้อง เลยต้องใช้ไม้คุณภาพดี” อาจารย์จุลพรอธิบาย

เช่น กระเบื้องมุงหลังคาที่ชำรุดหลุดร่อนไปหลายบริเวณ ทีมนักออกแบบตั้งใจรวบรวมกระเบื้องจากบ้านหลังอื่นๆ มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อนำมาบูรณะให้เรือนประธานหลังนี้มีความสมบูรณ์ที่สุด 

กระเบื้องทุกชิ้นทั้งที่ได้จากเรือนบริวารและที่อยู่บนเรือนประธานอยู่แล้ว ถูกรื้อลงมาอย่างระมัดระวัง ขัดล้างทำความสะอาด ทาทับด้วยน้ำยารักษากระเบื้องดินเผา ก่อนจะนำขึ้นไปมุงใหม่อีกครั้ง 

“อีกส่วนที่สำคัญคือฮาร์ดแวร์ของเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อย่างพวกกลอนประตู มือจับ ที่ในบ้านประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์หลายยุค เราต้องคงสภาพดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด ก่อนเริ่มบูรณะจึงต้องทำทะเบียนฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้นอย่างละเอียด และไปเสาะหามาให้ตรงยุค”

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

นอกจากเรือนประธานที่ถูกบูรณะด้วยความสำคัญลำดับแรก เรือนบริวารก็ได้รับการซ่อมแซมอย่างประณีต โดยมีการใช้วัสดุใหม่จากยุคปัจจุบันบ้าง และตั้งใจทาสีขาวเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าเป็นงานอนุรักษ์อีกรูปแบบ ต่างจากเรือนประธานอย่างบ้านบอร์เนียวประกอบด้วยวัสดุในยุคร้อยกว่าปีที่แล้วทั้งหมด 

คุณพิสิษฐเสริมว่า “พูดให้เห็นภาพ นี่คือการอนุรักษ์เรือนเก่าแก่ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ในขณะที่สิ่งปลูกสร้างใหม่ เราก็ตั้งใจออกแบบให้เห็นชัดไปเลยว่าสร้างใหม่ โดยผสมผสานเส้นสายสถาปัตยกรรมทั้งหมด ใหม่และเก่าเอาไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน”

137 Pillars House, บ้านบอร์เนียว, โคโลเนียล, ล้านนา
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

อาจารย์จุลพรชี้ชวนให้ดูต้นยางอินเดียขนาดยักษ์ที่แผ่กิ่งก้านสาขาเด่นอยู่ข้างบ้านบอร์เนียว พร้อมอธิบายว่าแม้จะชื่อยางอินเดีย แต่เป็นไม้ตระกูลไทร และที่ต้องปลูกไว้ในอาณาเขตของบริษัทบอร์เนียวก็เพื่อเอาไว้ล่ามช้าง ในยุคที่การค้าไม้รุ่งเรือง บริษัทบอร์เนียวมีช้างไว้ลากซุง กว่า 200 เชือกเลยทีเดียว

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

โรงแรมร่วมสมัยแบบบ้านคฤหบดี

นอกจากบ้านบอร์เนียวแล้ว ยังมีเส้นสายงานออกแบบอื่นๆ ที่เสริมความโดดเด่นให้ 137 Pillars House อย่าง Green Wall บริเวณสระว่ายน้ำที่ประกอบไปด้วยกระถางต้นไม้นับร้อยกระถาง รวมถึงอาคารใหม่อีกหลายอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับฟังก์ชันการพักอาศัย

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม
137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

คอนเซปต์ในการวางผัง คือหมู่อาคารแบบบ้านคฤหบดี มีเรือนประธานเป็นบ้านบอร์เนียว เปรียบเหมือนเรือนคฤหบดี รายล้อมไปด้วยเรือนลูกหลานบริวารในอาณาบริเวณเดียวกัน โดยพยายามตัดต้นไม้เดิมให้น้อยที่สุด ทำให้เลย์เอาต์ห้องพักในอาคารที่สร้างขึ้นใหม่แต่ละหลังนั้น ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่ห้องเดียว

“ต้นไม้เก่าแก่บางต้น เรือนยอดใหญ่โตปกคลุมพื้นที่หลายสิบเมตร กิ่งก้านทะลุระเบียงเรือนบริวารเก่า เราก็เก็บเอาไว้หมด เพราะถือเป็นสมบัติของพื้นที่ไม่ต่างจากบ้านบอร์เนียว โดยงานออกแบบภายในมีความร่วมสมัยในกลิ่นอายสถาปัตยกรรมยุคโบราณ ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มลูกค้าวัยผู้ใหญ่ที่มองหาที่พักในพื้นที่ประวัติศาสตร์ และคนหนุ่มสาวที่ชื่นชอบสเปซเท่ๆ”

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

คุณพิสิษฐอธิบายว่า “หลักในการทำโรงแรม สมมติคุณทำสามสิบคีย์ ลงทุนไปสามร้อยล้านบาท คุณต้องขายได้ หนึ่งหมื่นบาทต่อคืน สำหรับ 137 Pillars House ลงทุนไปหกจุดห้าล้านบาทต่อคีย์ จริงๆ ต้องขายให้ได้หกพันห้าร้อยบาท แต่ปรากฏว่าเปิดตัวได้ถึงหนึ่งหมื่นสองพันบาท จนถึงทุกวันนี้ค่าห้องขึ้นมาเป็นสองหมื่นบาท 

“สำหรับการทำธุรกิจโรงแรมครั้งแรกที่ไม่ใช่โรงแรมในเครือเชนของคุณนิพันธ์และครอบครัว นับว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพราะความเข้าใจ ความใจเย็นของเจ้าของที่มีต่องานอนุรักษ์”

อาจารย์จุลพรกล่าวทิ้งท้ายว่า “การซ่อมแซมบ้านบอร์เนียวกินเวลายาวนานถึงหนึ่งปีครึ่ง รวมระยะเวลาในการสร้างโรงแรมทั้งหมดถึงสี่ปี เมื่อเสร็จสมบูรณ์ มันได้ทั้งสงวนคุณค่าและเพิ่มมูลค่าที่ประเมินไม่ได้ กลายเป็นปฐมบทการสร้างเชนโรงแรม 137 Pillars” 

137 Pillars House โรงแรมหรูที่สร้างจากบ้านบอร์เนียว อดีตที่ทำการสัมปทานไม้แห่งแรกของสยาม

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องของ 137 Pillars House ติดตามชมรายละเอียดได้ในงานสถาปนิก’63 “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ​ฮอลล์ เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึงวึนที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ในส่วนนิทรรศการที่จัดร่วมกันระหว่าง The Cloud และสมาคมสถาปนิกสยามฯ



Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย