ช่วงที่สวยที่สุดของต้นไม้ คือวินาทีที่เรายื่นเงินให้คนขายแล้วหยิบมันออกมาจากร้าน

นักปลูกต้นไม้มือใหม่หลายคนเชื่อแบบนี้ เพราะต้นไม้ที่วางขายในร้านมันช่างสวยเตะตา ใบเขียวแข็งแรง ออกดอกสะพรั่งล้นกระถางจนนึกว่าเป็นช่อดอกไม้ เราเห็นแล้วก็จินตนาการไปว่าเดี๋ยวความงามนี้จะมาเฉิดฉายอยู่ในบ้านเรา ก็เลยควักเงินคว้าตัวมันกลับมา

แต่พอย้ายมาอยู่บ้านเรา มันก็เริ่มร่วงโรย ดอกหาย ใบเหี่ยว และค่อยๆ ขาดใจตายไปในที่สุด

เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยเจอสถานการณ์แบบนี้กันมาแล้วทั้งนั้น

ดังนั้น ถ้าอยากซื้อต้นไม้กลับมาปลูกในบ้าน ในห้อง หรือบนโต๊ะทำงาน แล้วให้มันยังคงความงามและชีวิตเอาไว้ เราขอแนะนำว่าอย่างนี้

วิธีดูแลต้นไม้

1. ต้นไม้ที่ปลูกในห้องจะไม่งามเท่าต้นไม้ที่ปลูกนอกห้อง

ความจริงข้อแรกที่ควรทราบคือ ต้นไม้ที่เอามาปลูกในที่ร่มอย่างในห้อง โดยเฉพาะในห้องแอร์ ยากมากที่จะสุขภาพดีและงดงามเท่าตอนปลูกแบบโดนแดดโดนลมด้านนอก ดังนั้น การที่เราซื้อต้นไม้ซึ่งโตมาในเรือนเพาะชำมาปลูกในห้อง มันย่อมไม่มีทางงามเท่าตอนอยู่ที่ร้าน ถ้าปลูกแล้วความสดชื่นของมันลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงความเขียว ไม่ทิ้งใบ แตกใบใหม่ ก็ถือว่าโอเค แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มันเริ่มโรยราแล้วไร้ซึ่งการเจริญเติบโต ก็ได้เวลาที่เราต้องเข้าไปแก้ไข

2. หาข้อมูลต้นไม้ก่อนปลูก

ถ้าคุณทำการบ้านมาอย่างดีว่าอยากได้ต้นนั้นต้นนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องศึกษาคือ มันต้องการแสงมากน้อยแค่ไหน อยู่ในแสงรำไรได้หรือไม่ เพราะต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการแสงแดด ต้นที่ต้องการแสงมากควรปลูกกลางแจ้ง แต่ถ้าเราเอาต้นที่ต้องการแสงมากอย่างกระบองเพชรมาอยู่ในห้องที่โดนแสงน้อย ยังไงก็ไม่รอด

วิธีดูแลต้นไม้
วิธีดูแลต้นไม้

3. รู้เท่าทัน Pinterest

หลายคนเลือกต้นไม้มาปลูกในห้องตามรูปใน Pinterest หรือ Instagram ซึ่งเน้นสไตล์ของต้นไม้ที่เข้ากับห้องเป็นหลัก เราขอแนะนำให้คุณดูเลยไปถึงตำแหน่งของต้นไม้ในรูป ดูว่าที่มันงามขนาดนั้นมันโดนแสงมากน้อยขนาดไหน แล้วจุดที่เราจะเอามาวางในห้องของเรามีแสงแบบนั้นไหม และสิ่งที่สำคัญที่สุดระดับที่ต้องใส่ดอกจันไว้ 3 ดอกก็คือ อย่าปักใจเชื่อภาพที่เราเห็นแบบหมดใจ เพราะหลายครั้งเขาก็แค่ยกมันมาตั้งตรงนั้นเพื่อถ่ายรูปเท่านั้นเอง การหาข้อมูลนิสัยใจคอของมันด้วยตัวเองจึงสำคัญที่สุด

4. ควรคุยกับพ่อค้าแม่ค้า แต่อย่าเชื่อทั้งหมด

เวลาเราเห็นต้นไม้ถูกใจในร้านขายต้นไม้ คำถามแรกที่ทุกคนมักจะถามคือ “ชื่อต้นอะไร” คำถามถัดมาที่ต้องถามให้รู้ก่อนซื้อก็คือ มันชอบแดด ชอบน้ำยังไง บ่อยครั้งที่คนขายมักจะตอบแบบกลางๆ เช่น ปลูกแดดได้ ปลูกรำไรได้ บางครั้งเขาก็ตอบตามความจริง แต่บางครั้งก็ไม่จริงเพราะเขาอยากขาย และหลายๆ ครั้งก็ไม่จริงเพราะเขาไม่ใช่คนปลูก เขาแค่ไปรับมาจากผู้เพาะต้นไม้แล้วเอามาขายเท่านั้นเอง คำตอบของเขาจึงมาจากประสบการณ์หรือความเข้าใจของเขา ดังนั้น เพื่อความชัวร์ เราควรถามเขาว่า เขาเพาะต้นนี้เองหรือเปล่า ถ้าใช่ เขาก็น่าจะเข้าใจนิสัยใจคอของมันจริงๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร วิธีการที่ดีที่สุดคือหาข้อมูลจากหลายๆ แห่ง เช่นถามจากหลายๆ ร้าน ถ้าข้อมูลตรงกัน ก็น่าจะเชื่อได้

วิธีดูแลต้นไม้
วิธีดูแลต้นไม้

5. ไม้ดอกส่วนใหญ่ปลูกในห้องไม่ได้

ไม้ดอกเกือบทุกชนิดต้องการแสงมาก ดังนั้น ถ้าเอามาปลูกในห้องมันก็อาจจะไม่ออกดอก กลายร่างเป็นไม้ใบ หรือไม่ก็อาจจะตายได้ แต่ไม้ใบส่วนใหญ่อยู่ในห้องได้ แต่ก็ต้องเป็นจุดที่ไม่อยู่ห่างจากแสงธรรมชาติมากนัก ถ้าปล่อยมันไว้กับความสว่างจากหลอดไฟอย่างเดียวก็อาจจะไม่รอด (ยกเว้นเป็นไฟสำหรับปลูกต้นไม้)


6. ให้เวลาต้นไม้ปรับตัว

ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดและเติบโตมากับแสงแบบหนึ่ง (ส่วนใหญ่โตมาในโรงเพาะชำซึ่งได้รับแสงค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้แรงขนาดแสงกลางแจ้ง) เมื่อเราเอามันเข้ามาในบ้าน เราก็ควรวางให้โดนแสงในจุดที่ไม่หักดิบจนเกินไป ค่อยๆ ให้ต้นไม้ได้ปรับตัว โดยเฉพาะการเอาไปโดนแดดเต็มๆ ตามระเบียงหรือดาดฟ้า ก็อาจจะช็อกแดด ใบไหม้ได้ อย่างเฟิร์น เราเชื่อกันว่าต้องอยู่ในที่ร่ม แต่เฟิร์นอยู่กลางแดดได้ เพียงแต่ต้องรอให้เขาชินแล้วแตกใบใหม่ขึ้นมารับแดดกลางแจ้ง ส่วนต้นไม้ที่โดนแดดน้อยลงแบบไม่ทันได้ตั้งตัว มักจะทิ้งใบแล้วไม่ยอมแตกใบใหม่ แต่ถ้าแตกใบใหม่เมื่อไหร่ก็แปลว่ามันปรับตัวกับสภาพนั้นได้แล้ว

วิธีดูแลต้นไม้, บ้านและสวน
วิธีดูแลต้นไม้, บ้านและสวน

7. อย่าดูแลต้นไม้ในห้องเหมือนต้นไม้กลางแจ้ง

ต้นไม้กระถางที่อยู่ในห้องต้องการการดูแลแตกต่างจากต้นไม้กลางแจ้งโดยสิ้นเชิง เราพูดเรื่องแดดกันไปแล้ว ต่อไปคือเรื่องน้ำ ต้นไม้กระถางต้องการน้ำน้อยกว่าต้นไม้กลางแจ้ง เนื่องจากแดดและอุณหภูมิในห้องทำให้น้ำระเหยช้ากว่า ถ้ารดน้ำเท่ากับต้นไม้กลางแจ้งก็อาจจะเน่าได้ ดังนั้น เราต้องรดน้ำด้วยปริมาณและความถี่ที่น้อยลง ถ้าจะให้บอกจำนวนคงยาก เพราะขึ้นกับสภาพห้องและการดูดน้ำของต้นไม้ แต่หลักที่เข้าใจได้ง่ายๆ ก็คือ ดินแห้งเมื่อไหร่ค่อยรดเมื่อนั้น ส่วนปุ๋ยก็ควรใช้ปุ๋ยละลายช้า (ตอนหน้าเราจะมาอธิบายเรื่องนี้กันต่อ) ให้ปุ๋ยในปริมาณที่น้อยกว่าต้นไม้กลางแจ้ง และให้ปุ๋ย 3 – 4 เดือนครั้งก็พอ

8. จับสัญญาณให้ได้ว่ามันไม่เหมือนเดิม

ถ้าหมั่นสังเกตต้นไม้สักหน่อย เราอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ ถ้าเราเห็นอาการบางอย่างแล้วปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจจะนำมาซึ่งความป่วยไข้ และล้มตายในที่สุด เอาเป็นว่าถ้าใบเริ่มมีอาการผิดปกติ เราก็ควรต้องตรวจโรคพืชแบบง่าย ถ้าใบสลด ต้องเริ่มจากสังเกตสภาพดินว่าดินแห้งหรือแฉะไป ถ้าดินแห้งก็ลองรดน้ำแล้วรอดูว่าจะฟื้นไหม ถ้าดินแฉะก็เป็นได้ว่ารดน้ำมากไปจนทำให้รากเน่า ซึ่งถ้าโชคร้ายเจอเชื้อราลามจากรากเข้าต้นสู่ใบ ก็อาจตายได้ ดังนั้น ต้นไม้ที่อยู่ในห้อง ถ้ารดน้ำมากไปก็อันตรายมาก

10 วิธีดูแลต้นไม้ ในร่มให้อยู่รอดและสวยเหมือนตอนซื้อจากร้านสำหรับนักปลูกมือใหม่
วิธีดูแลต้นไม้, บ้านและสวน

9. ถ้าอาการไม่ดี อย่าเพิ่งทิ้ง

การปฐมพยาบาลต้นไม้ที่เริ่มเน่าเพราะดินแฉะหรือโดนเชื้อราทำได้หลายวิธี ง่ายๆ คือ เอาต้นไม้ขึ้นมาจากดิน ตัดรากเสียทิ้ง ล้างรากให้สะอาด ผึ่งให้แห้ง แล้วปลูกอีกครั้งด้วยวัสดุปลูกใหม่ ถ้าปลูกด้วยดิน รดน้ำเยอะไปดินอาจจะจับเป็นก้อน หรือละลายเป็นเลน ลองเปลี่ยนมาปลูกด้วยกาบมะพร้าวสับ พีทมอส หรือสแฟกนัมมอส ใช้แทนดินได้เลย วัสดุพวกนี้มีความพรุนสูงมาก จะช่วยให้รากเดินเร็ว

10. ย้ายที่

ต้นไม้แต่ละชนิดต้องการปริมาณน้ำและแสงแดดไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าวางในมุมหนึ่งของห้องแล้วอาการไม่ดี ก็ลองขยับเปลี่ยนมุมให้โดนแสงมากขึ้น หรือเอาออกไปตั้งนอกห้องให้ได้รับแสงรับอากาศเต็มๆ จนแข็งแรงแล้วค่อยเอากลับเข้ามา ก็จะช่วยให้ต้นไม้อยู่กับเราได้นานขึ้น

10 วิธีดูแลต้นไม้ ในร่มให้อยู่รอดและสวยเหมือนตอนซื้อจากร้านสำหรับนักปลูกมือใหม่

Writer

Avatar

ศิริวิทย์ ริ้วบำรุง

ปัจจุบันเป็นนักจัดสวน ในนาม little tree landscape เกิดและเติบโตมาในบ้านสวนริมน้ำท่าจีนมีพ่อเป็นนักสะสมต้นไม้ และมีแม่ชอบปลูกดอกไม้ ชีวิตจึงมีต้นทุนเรื่องต้นไม้มาแต่เด็ก สิบกว่าปีก่อนได้กลายเป็นนักจัดสวนโดยบังเอิญ และเป็นเรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน เพราะได้ค้นพบแล้วว่างานจัดสวนให้โอกาสเราได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก และเป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข

Photographers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Avatar

ธัชชา ศุภกิจเจริญ

นักเรียนกราฟิคดีไซน์ชื่อฟ้า ผู้ฝึกงานถ่ายภาพกับบริษัทก้อนเมฆ หลงรักกล้องฟิล์ม และออกเดินทางเพื่อสะสมเรื่องราวลงกลักฟิล์มม้วนใหม่เสมอๆ