ถ้าพูดถึงงานหัตถกรรมไทยสักชิ้น จะนึกถึงอะไร ?
บางคนอาจจะมีภาพสารพัดข้าวของในพิพิธภัณฑ์ บางคนอาจจะนึกถึงการขับรถซอกแซกตามชุมชนในแต่ละจังหวัด
ใช่ทั้งสองอย่าง แต่พิเศษไปกว่านั้น เพราะสรรพสินค้ารอบนี้ ชวนทุกคนมารู้จักกับงานคราฟต์ไทยที่แปลงโฉมให้ทันสมัย สวมใส่หรือหยิบใช้ในชีวิตประจำวันได้ กับ 10 แบรนด์ 10 ดีไซน์ แต่มีหนึ่งแนวคิดที่เหมือนกัน คือ อยากให้งานฝีมือและภูมิปัญญาเติบโต ใกล้ชิดวิถีชีวิต มีความเป็นสากล และรองรับทุกไลฟ์สไตล์ ทั้งข้าวของเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ
จะสายแต่งตัว แต่งห้อง เราคัดมาให้แล้ว! ถ้าชอบแบบใด ร้านไหน ทักไปคุยเรื่องดีไซน์กับเจ้าของแบรนด์ได้เลย เกือบทุกร้านออกแบบตามความต้องการของลูกค้าได้ และทุกร้านก็มีแบบให้เลือกสรรมากมาย ตอบโจทย์ได้หลากหลายความชอบ
ตอนนี้ 10 แบรนด์พร้อมบอกต่อและเปิดแผงรอแล้ว ถ้านักอ่านพร้อม ก็ขึ้นเหนือไปเริ่มที่ร้านแรกกันเลย
01
อุดหนุนโต๊ะ เก้าอี้ไม้ เพิ่มความคลาสสิกให้บ้าน ที่ Studiomueja

สะ-หล่า แปลว่า ช่างหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ
มือ-จา แปลว่า มือสาก เปรียบเสมือนมือของช่างฝีมือเก่าแก่ระดับเซียน
สล่ามือจา เป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ไม้จังหวัดเชียงใหม่ เลือกใช้ไม้เก่าแก่สร้างจากฝีมือคนรุ่นใหม่อย่าง ปูน-ระพีพัฒน์ แก้วทิพย์ เขาใช้ทักษะทางการออกแบบจากหลักสูตรสถาปัตยกรรมไทยที่ร่ำเรียนมา ผสมผสานกับความชอบงานไม้
โรงรถเล็ก ๆ ที่บ้านจึงกลายเป็นสถานที่บ่มเพาะความสามารถ ปูนนำไม้ที่ถูกรื้อทิ้งตามบ้านเก่ามารังสรรค์เฟอร์นิเจอร์ไม้ นำรูปทรงจากของใช้พื้นถิ่นและธรรมชาติใกล้ตัว อย่างใบบัว ดอกไม้ มาปรับทรงใหม่ให้ร่วมสมัย แต่ยังคงกลิ่นอายพื้นถิ่นไว้ ละเอียดจนถึงดีเทลการเข้าไม้ เขาใช้การเข้าสลักเดือยแทนตะปู น็อต สกรู ใช้ขี้ผึ้งเคลือบสีไม้แทนแลคเกอร์หรือสีสังเคราะห์ เพราะไม่อยากให้เท็กซ์เจอร์ไม้หายไป ปูนเล่าว่าเสน่ห์ของไม้เก่าคือสีและลายเสี้ยนไม้ เป็นเอกลักษณ์ที่หาจากไม้ใหม่ไม่ได้

ไม่เพียงแค่ไม้ที่ปูนสนใจ งานหัตถกรรมอื่น ๆ เช่น จักสาน เซรามิก ก็ดึงความสนใจเขาได้ไม่น้อย จนเกิดเฟอร์นิเจอร์ลูกผสมระหว่างไม้สักกับเซรามิก ซึ่งเขาทำงานร่วมกับ Inclaystudio และอยากตามหาการทำงานร่วมกันกับหัตถกรรมแขนงอื่น ๆ อีก
“ผมอยากเห็นการทำงานศิลปะระหว่างคนในท้องถิ่นกับพื้นที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ เผื่อมันจะเกิดคอมมูนิตี้เล็ก ๆ ในอนาคต”

สินค้าน่าอุดหนุน : โต๊ะไม้สักเก่าผสมเซรามิก เก้าอี้สาวสันทราย
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : studiomueja
02
มิกซ์แอนด์แมตช์แฟชั่นร่วมสมัยกับกลิ่นอายท้องถิ่น ที่ Kalm Lifestyle Store
Kalm Lifestyle Store เป็นร้านขายสินค้าขนาดกะทัดรัดใน Kalm Village พื้นที่ที่ตั้งใจเป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะหัตถกรรมสมัยใหม่ และพยายามผลักดันให้ศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันในหลายบทบาท โดยหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ตั้งอยู่กลางเวียง จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อขึ้นชื่อว่า Lifestyle Store จึงมีข้าวของหลากหลายประเภทเพื่อตอบโจทย์คำว่า ‘ไลฟ์สไตล์’ อย่างครบถ้วน เริ่มต้นตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน โดยแบ่งคอนเซ็ปต์ของสินค้าออกเป็น 2 ส่วน คือดั้งเดิมที่วัสดุและดั้งเดิมที่ดีไซน์

ดั้งเดิมที่วัสดุ คือการทำงานผ้าพื้นเมืองร่วมกับชุมชน เป็นการเล่าเรื่องท้องถิ่นและเทคนิคผ่านวัสดุ เช่น การมัดย้อม การย้อมคราม หรือกระบวนการทำผ้าที่แจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง เมื่อทอผ้าหรือปั่นด้ายเสร็จ ต้องเอาไปจุ่มน้ำในบ่อน้ำพุร้อนแจ้ซ้อนให้ผ้านุ่มขึ้น ส่วนดั้งเดิมที่ดีไซน์ คือใช้ผ้าพื้นเมืองสมัยใหม่ แต่เล่าเรื่องท้องถิ่นผ่านการออกแบบตามแพตเทิร์นยุคโบราณ เช่น นำผ้าลินินมาตัดเย็บเป็นกางเกงเล (ได้แรงบันดาลใจมาจากกางเกงสะดอของคนเหนือ) หรือ เสื้อคอจีนโบราณผ้าใยกัญชง โดยใช้แหล่งผ้าจากทั่วประเทศ อาทิ สกลนคร อุดรธานี เชียงใหม่ ลำปาง นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ฯลฯ แถมทำงานร่วมกับแบรนด์งานคราฟต์ท้องถิ่นสุดสนุกอย่าง Slowstitch Studio ในคอลเลกชัน Kalm x Slowstitch Studio และบินไกลร่วมงานกับช่างฝีมือจากบังกาลอร์ ประเทศอินเดียด้วย
เหตุผลที่สองพี่น้อง ทราย-อัจฉริยา โรจนะภิรมย์ และ กรวด-อารยะ โรจนะภิรมย์ ตั้งใจสร้างหมู่บ้านศิลปะและวัฒนธรรมขึ้นมา เพราะความรักในงานคราฟต์ อยากให้คนเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ง่ายและซึมซับได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมมุมมองของทรายว่า
“ศิลปหัตถกรรมคือความสวยงามรูปแบบหนึ่ง ศิลปะมันจรรโลงใจ หัตถกรรมเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เมื่ออยู่รวมกัน นอกจากสวยงามแล้วยังมีเรื่องราว อาจทำให้คนเห็นแล้วประทับใจและมีความสุข ซึ่งมันร่วมสมัยมาก แค่ต้องนำเสนอในพื้นที่ที่เหมาะสม”

สินค้าน่าอุดหนุน : เสื้อมัดย้อมเทคนิค itajime เสื้อคอจีนโบราณผ้าใยกัญชง กางเกงผ้าไหมแดนอีสาน
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
เว็บไซต์ : www.kalmvillage.com/shop
Instagram : kalmlifestylestore
03
นุ่งผ้าซิ่น สวมผ้าทอ ฉบับล้านนาเชียงใหม่ ที่ Wasin Thai Textile
Wasin Thai Textile เกิดจากความชื่นชอบและรักในผ้าทอพื้นเมืองดั้งเดิมของ วสิน อุ่นจะนำ ตั้งแต่สมัยเรียนสาขาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนั้นเขาไปออกภาคสนามและลงชุมชนทอผ้า พร้อมเห็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน จึงเริ่มสนใจเรื่องผ้า ประกอบกับรักประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิม เขาจึงศึกษารูปแบบการทอผ้าดั้งเดิมแล้วนำมาปรับให้ร่วมสมัย

วสินมองว่าผ้าเป็นศิลปะวัตถุที่ไม่เหมือนโบราณวัตถุประเภทอื่น ๆ เพราะมีระยะเวลา อยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ที่สุด เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจึงสะท้อนแนวคิด วิธีคิด หรือการมองโลกทุกอย่างได้ชัดเจน และสะท้อนสภาพสังคมของมนุษย์ในแต่ละยุคได้ดีที่สุด
“เรื่องราวเหล่านี้สะท้อนออกมาบนผ้า ผ้าทิ้งร่องรอยบางอย่างให้เราแกะรอยอดีตได้” วสินเปรย
ผ้าทอล้านนาทุกผืนของแบรนด์จึงทอออกมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ที่เจ้าของแบรนด์ต้องการจะสื่อ แต่ปรับดีไซน์ ลวดลาย สี ให้ใช้ในชีวิตประจำวันง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากฝีมือของช่างทอในอำเภอฮอด อำเภอหางดง อำเภอแม่แจ่ม และอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทอผ้ากันมาเนิ่นนานกว่าครึ่งชีวิตและปรารถนาให้ภูมิปัญญานี้คงอยู่ต่อไป

สินค้าน่าอุดหนุน : เสื้อปั๊ดทรงดั้งเดิม ซิ่นตีนจกไหมสอดดิ้นลายโบราณฉบับเชียงใหม่ ซิ่นลุนตยาอะเชะต่อตีนจก
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : wasin_thaitextile
04
ช้อปปลอกหมอนอิงและเสื่อทอมือสุดทนทาน ที่ Ohm collection 2020

หากใครกำลังมองหาปลอกหมอนอิงเก๋ ๆ พรมถัก งานคราฟต์แบบฉบับผ้าฝ้ายทอมือดั้งเดิม เพิ่มเติมคือปรับให้เข้ากับสมัยใหม่ จากฝีมือของคุณลุงคุณป้าในครอบครัว ร่วมกับช่างในชุมชนบ้างตามโอกาส ขอชวนอุดหนุน Ohm collection 2020
“อยู่กับผ้ามาตั้งแต่เรียนหนังสือ ผ้าครีเอตได้หลายอย่าง แค่ต้องให้เข้ากับยุคสมัย” โจ-พิสิฎฐ์ อมรฐิติพงศ์ เปรย
เขาเติบโตมาในบรรยากาศการทอผ้าของที่บ้าน เจ้าตัวเองก็เคยเป็นพ่อค้าขายผ้าที่จตุจักร นั่นทำให้เขาหลงเสน่ห์ของผืนผ้าอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เมื่อโลกหมุนมาจนถึงปี 2022 โจคิดว่าผ้าทอพื้นเมืองแบบดั้งเดิมอาจถูกแขวนไว้ในตู้มากกว่าการอวดโฉมในชีวิตประจำวัน เขาจึงเติมความทันสมัยเข้าไปในงานทอทุกชิ้นของ Ohm collection 2020 หยิบเทคนิค Sakiori Weaving จากญี่ปุ่นมาปรับใช้ คล้ายลายน้ำไหล มีความสั้นยาวไม่เท่ากันเสมือนลวดลายกราฟิก เพื่อเพิ่มมิติให้ผลงาน ฉีกออกจากสไตล์ผ้าทอผืนเดิม ๆ และมีความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งเขาแปลงผ้าผืนเป็นปลอกหมอนอิงน่าหนุน เนื้อทอแน่น ทนทาน รับประกัน!
และพรมประดับห้องแสนอบอุ่น มีให้เลือกหลายขนาดตามการใช้งาน แถมมีเสื่อปิกนิกด้วย พกไปไหนก็สะดวก

สินค้าน่าอุดหนุน : เสื่อผ้าฝ้ายทอมือ ปลอกหมอนอิงทอดึงเส้นด้าย ยกลายข้าวหลามตัด
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : ohmcollection 2020
05
สวมสร้อยเงิน สร้อยถัก สร้อยทองพร้อมจี้หินธรรมชาติ ที่ Keesalak
‘กี่สลัก’ เครื่องมือทำทองโบราณของครอบครัว น้อยหน่า-ภัทร์พิชชา จันทร์เผ่าธนัน ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์เพราะเธอเติบโตมาในครอบครัวที่คุณตากับคุณแม่เป็นช่างทำทองประจำจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเธอหลงรักงานคราฟต์มาแล้ว 15 ปี
สมัยที่น้อยหน่าเรียนท่องเที่ยว เธอมีโอกาสไปทำทัวร์ที่เชียงใหม่ จึงคลุกคลีและเห็นวัฒนธรรมของชาวบ้าน งานฝีมือ และถนนคนเดิน บวกกับชื่นชอบงานคราฟต์เป็นทุนเดิม ปักนู่นเย็บนี่ตั้งแต่เด็ก น้อยหน่าจึงเริ่มต้นจากทำกำไลเชือกถักขายควบคู่กับงานทัวร์ เมื่อสิ่งที่เธอชอบขายได้ดี จึงตัดสินใจลาจากวงการท่องเที่ยวสู่เจ้าของแบรนด์คราฟต์เต็มตัว และชวนน้องสาว น้อยโหน่ง-กฤษราภัสร์ จันทร์เผ่าธนัน ซึ่งเรียนจบสายตรงจากหลักสูตรออกแบบเครื่องประดับ มารับหน้าที่จิวเวลรี่ดีไซเนอร์ประจำแบรนด์

เอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดอย่างในงานของกี่สลักทุกชิ้น คือหิน เป็นหินดิบธรรมชาติพบในหลายจังหวัดของไทย เช่น ไพลินน้ำเงินอมเขียวจากจังหวัดจันทบุรีและกาญจนบุรี ควอตซ์สีขาวใสหรือที่คนไทยนิยมเรียกว่าเขี้ยวหนุมานจากจังหวัดลำปาง
“เราใช้เทคนิคดั้งเดิม ทำชิ้นต่อชิ้น แต่ละชิ้นไม่เหมือนกัน เสน่ห์มันอยู่ตรงนี้ และเราใช้หินกำหนดชิ้นงาน หินมารูปทรงไหน เราทำรูปทรงนั้นเลย แล้วเอามาประกอบกัน สุดท้ายแล้วงานที่เราทำไม่เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพมากกว่า”
สองพี่น้องตามหาหินดิบจากไทยและเทศมาทำสร้อย โดยใช้เครื่องมือทำทองสมัยคุณตา เพิ่มเรื่องราวและความคลาสสิกให้กับเครื่องประดับชิ้นโปรด ผสมกับเครื่องเงินเอกลักษณ์ของสุโขทัย ที่ใช้ลวดเส้นเล็ก ๆ มาขดถักเป็นสร้อย บางทีใช้สองเส้นมาพันเกลียวดัดกรอบเป็นลายธรรมชาติน่ารัก ๆ ทั้งดอกไม้ แมว กระต่าย นก มอนสเตอร่า, สร้อยหนึ่งเส้นเลยเต็มไปด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่นทุกอณู

สินค้าน่าอุดหนุน : สร้อยคอ สร้อยข้อมือประดับจี้หินดิบธรรมชาติ สไตล์เครื่องเงิน ทองเหลือง และเชือกถัก
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : keesalak
06
สั่งทำกระเป๋าดิ้นทองจากศิลปะชั้นสูงเทคนิคเดียวกับหัวโขน ที่ Anucha Songserm
หลายคนคงคุ้นเคยกับลวดลายปักดิ้นทองบนสไบ ชุดไทย หัวโขน และรู้จักดีว่านี่คือศิลปะชั้นสูงของไทยโบราณ
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน ศิลปะก็ปรับตัวตาม ให้กลมกลืนกับชีวิตคนและให้ภูมิปัญญาสืบต่อไปได้
เมฆ-อนุชา ส่งเสริม บัณฑิตวิชาหัตถศิลป์ไทย เขาเรียนรู้การปักดิ้นทองครั้งแรกสมัยเป็นนักศึกษาปี 3 เริ่มจากปักดินข้อโปร่งเรียงเส้น ถมด้วยดิ้นอีกชนิดหนึ่ง ต่างจากการปักผ้าทั่วไปที่ใช้วัสดุเป็นเส้นโลหะเพื่อให้เกิดความนูน หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยเพาะช่าง เมฆจึงพาเทคนิคการปักดิ้นทองย้ายแพลตฟอร์มจากหัวโขนมาสู่กระเป๋าและตาลปัตร เพื่อให้งานหัตถกรรมไทยเข้าถึงผู้คนมากขึ้น
ถ้าใครสนใจ ขอแค่เลือกสีที่ชอบ เลือกทรงกระเป๋าที่ใช่ ที่เหลือเป็นหน้าที่ของเมฆ เขาจะออกแบบสารพัดลาย เช่น ลายก้านขดดอกพุดตาน มีความยากตรงการวางลายให้เข้ากับกระเป๋าแต่ละแบบ และความเนี้ยบที่ช่างฝีมือละเลยไม่ได้

งานละเอียดขนาดนี้ใช้ทักษะอย่างเดียวคงไม่พอ ใจต้องรักด้วย ซึ่งด่านหินสุดยอดที่ว่าเมฆก็ผ่านมาได้ เพราะ
“เราคิดเสมอว่าจะพัฒนางานเราให้ดีขึ้นยังไง ซึ่งอุปสรรค์ใหม่ ๆ เหล่านั้นจะทำให้งานเราพัฒนา”
สินค้าน่าอุดหนุน : กระเป๋าปักดิ้นทอง (เลือกสี เลือกทรงกระเป๋าได้) ตาลปัตรปักดิ้นทอง
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : Anuchasongserm
07
อุดหนุนถ้วยชามเบญจรงค์ลายน่ารัก น่าใช้งาน ที่ อัมพวาเบญจรงค์
ตั้งแต่อายุ 11 ขวบจนถึงปัจจุบัน เอ็ม-นันทปรีชา สระทองโฉม ใช้ชีวิตที่มีเบญจรงค์เป็นส่วนประกอบมาตลอด เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของแบรนด์ เขาไม่รู้ว่าให้ใจกับงานนี้ตั้งแต่เมื่อไร รู้ตัวอีกทีก็รักจนเป็นอาชีพไปแล้ว
สีสันสดสวย เงางาม ดูเปล่งประกาย ภายใต้ลวดลายวิจิตรบรรจงชั้นสูง คือเอกลักษณ์ของอัมพวาเบญจรงค์ เอ็มใช้พู่กันเขียนลายแทนการใช้ไซริงค์ ซึ่งเสน่ห์ของพู่กันอยู่ที่ลายเส้นอ่อนช้อยและเป็นธรรมชาติ ตวัดวาดลายชั้นสูงโบราณจำพวกงานถมทอง ลายเทพพนมนรสิงห์ ลายข้าหลวงใหญ่ ลายกุหลาบน้ำทอง ลายดอกเบญจมาศ เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ศิลป์มากมายน่าถ่ายทอด ซึ่งอัมพวาเบญจรงค์เน้นการพลิกแพลงให้เข้ากับสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม จึงมีถ้วยชามเบญจรงค์ลายโบราณและลายประยุกต์ให้จับจองไปประดับที่บ้าน หรือจะใช้ในชีวิตประจำวันก็ไม่เคอะเขิน
“เราต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อให้ภูมิปัญญาไปต่อได้เรื่อย ๆ เพราะทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว” เอ็มย้ำ

สินค้าน่าอุดหนุน : กาพร้อมชุดกาแฟ ลายก้านต่อดอก ชุดกาน้ำชา ลายเทพพนม นรสิงห์
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : amphawabenjarong
08
หิ้วกระเป๋ากระจูดสาน งานแฮนด์เมดแสนละเอียดสไตล์บ้านเนินธัมมัง ที่ nern28

ย้อนกลับไป 3 ปีที่แล้ว ณ บ้านเนินธัมมัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หนุย-ศุทธินี บัวชุม ถูกตาต้องใจเสื่อกระจูดสานผืนหนึ่งของชาวบ้าน เธอจึงสั่งทำแล้วนำมาลองโพสต์ขายเล่น ๆ แต่ดันมีคนญี่ปุ่นสนใจจริงจัง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ nern28 เกิดขึ้น
กระจูดคือต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติละแวกป่าพรุควนเคร็ง ชาวบ้านที่เนินธัมมังนิยมสานกระจูดเป็นอาชีพเสริม สานเป็นกระเป๋าใส่ของ เสื่อนั่งเล่น กระสอบใส่ข้าวสาร เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พบได้มากในจังหวัดนครศรีธรรมราช และควรได้รับการสืบสานต่อไป

หนุยจึงเลือกทำกระเป๋า เพราะเป็นสิ่งที่คนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่โดดเด่นของ เนิน28 คือใช้กระจูดเส้นเล็กเพื่อให้ชิ้นงานละเอียด และผิวสัมผัสนิ่มกว่าเส้นใหญ่ เลือกใช้วิธีธรรมชาติในการกันเชื้อรา ด้วยการตากแดดในระดับที่ไล่ความชื้นได้พอดีแทนการเคลือบกาว วางไว้มุมตู้ได้โดยไม่ต้องกลัวเสียทรง เพราะเจ้ากระเป๋ากระจูดนุ่มและนิ่มพร้อมรองรับในทุกพื้นที่และทุกไลฟ์สไตล์
สินค้าน่าอุดหนุน : กระเป๋ากระจูดสานทรงเรียบง่าย (มีหลายขนาด หลายทรง)
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : nern28
09
สนับสนุนช่างฝีมือชุมชนผ่านกางเกงยีนส์และหมวก Miki Hat ที่ concur.patchwork
งานแพตช์เวิร์กของ concur.patchwork เกิดขึ้นเพื่อสร้างอาชีพให้คนในชุมชน
ฮุสนีย์ สาแม ชายหนุ่มจากจังหวัดยะลา เติบโตมาพร้อมกับการเห็นปัญหาด้านความเป็นอยู่ของคนในชุมชน บางครอบครัวเลือกงานไม่ได้จึงทำงานหนักที่รายได้น้อย บางครอบครัวมีรายได้ทางเดียว กรีดยางตั้งแต่ตี 4 – 7 โมงเช้า เพื่อแลกมากับราคายางตกต่ำ เขาตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ จึงตั้งใจกระจายงานให้หลาย ๆ บ้าน เพื่อให้เพื่อนพ้องน้องพี่มีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต โดยเขาเป็นตัวกลาง เชื่อมตนเองระหว่างชุมชนกับโลกออนไลน์ โดยแบ่งหน้าที่การทำงานเป็นสร้างทีม คือทีมวางแพตเทิร์นและทีมตัดเย็บ

เอกลักษณ์ของ concur.patchwork คือการนำเทคนิคแพตช์เวิร์กจากญี่ปุ่นมาดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของชุมชน เอาเศษผ้าจากท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งในงาน เพื่อแสดงวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านเครื่องแต่งกาย เช่น ผ้าบาติก มาปะกางเกง บางทีก็เอาเศษผ้าจากภาคเหนือมาผสมผสาน งานที่ออกมาเลย Multiculture มีเรื่องราว เล่าได้ เพิ่มมูลค่าให้เศษผ้าที่ไม่ใช้แล้วและกางเกงยีนส์มือสอง
“เราเอาเศษผ้าสวย ๆ ที่แทบไม่มีราคา และกางเกงยีนส์ขาด ๆ ที่ดูไม่มีราคาเหมือนกัน มาดีไซน์ใหม่ นอกจากลดต้นทุนแล้ว เรายังสร้างคุณค่าและมอบชีวิตใหม่ให้กางเกงพวกนั้นด้วย” ฮุสนีย์เล่าอีกหนึ่งจุดประสงค์ของแบรนด์เล็ก ๆ ประจำชุมชน
นอกจากกางเกงยีนส์สุดเท่ที่เราว่าไปแล้ว ยังมีอีกหนึ่งไอเท็มน่ากดลงตะกร้า นั่นก็คือ หมวก Miki Hat เป็นหมวกทรงกลม ไร้ปีก บางคนเรียกว่าหมวกฟิชเชอร์แมน ผสมกับเอกลักษณ์ของ concur.patchwork ที่ไม่ลืมนำเศษผ้าพื้นถิ่นมาปะบนหมวกด้วย

“ผมจ่ายค่าจ้างเป็นชิ้นงาน เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เขาขยันทำงาน ถ้าส่งงานให้ผม 10 ตัว ผมให้ข้าวสาร 5 กิโล และเงินค่าจ้างต่างหาก อย่างน้อยเขาประหยัดค่าข้าวสารได้ และมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,000 – 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมันทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น”
ทุกการสั่งซื้อ แบรนด์จะแบ่งกำไร 1 ส่วน 3 จากการขายปันผลให้คนในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพียงพอหล่อเลี้ยงครอบครัว รวมถึงนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีช่างฝีมือที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ ซึ่งลูกค้าเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างคุณค่าและสร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชน แถมยังได้งานอาร์ตที่มีชิ้นเดียวในโลกและความสุขใจ
concur.patchwork จึงเป็นแบรนด์ที่ตั้งใจแบ่งปันพลังงานดีระหว่างผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ผลิตอย่างแท้จริง
สินค้าน่าอุดหนุน : กางเกงยีนส์ หมวกฟิชเชอร์แมน เสื้อคลุม สไตล์ Patchwork
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
Instagram : concur.patchwork
10
ใส่เสื้อฮาวายเทคนิคบาติกจากสงขลาท้าลมร้อน ที่ Bungalow17

ลมร้อนยังไม่สิ้นสุด เป็นสัญญาณบอกว่าต้องเตรียมพร้อมในทุก ๆ ซัมเมอร์ (ของประเทศไทย)
ทะเลคงเป็นภาพแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวเมื่อได้ยินคำว่าฤดูร้อน เราอยากชวนนักอ่านและนักช้อปมาชมบังกะโลออนไลน์แห่งนี้ พร้อมเลือกเสื้อโอเวอร์ไซส์บาติกสีที่ชอบ ลายที่ใช่ ใส่ไปรับลมริมเลด้วยกัน จะใส่เป็นคู่ ใส่คนเดียว หรือใส่ยกก๊วนก็ยังได้
ชาญ หม้อกรอง สร้างสรรค์โปรเจกต์บังกะโลขึ้นมาเพื่ออยากให้ Bungalow17เป็นรีสอร์ตไลฟ์สไตล์ ทุกอย่างกำลังจะเกิดขึ้นผ่านเสื้อผ้า ของใช้ ของกิน และอีกสารพัดไอเดีย ซึ่งบังกะโล 17 หลังนี้ เปิดประตูบานแรกที่เทคนิคบาติก ชาญทำงานร่วมกับร้านสงขลาบาติก ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 20 ปี ใช้เทคนิคและภูมิปัญญาดั้งเดิม สนุกขึ้นมาอีกนิดด้วยการวาดพู่กันแทนการเขียนเทียน และเปลี่ยนสีให้สดขึ้น ไม่เหมือนภาพบาติกที่หลายคนคุ้นเคย เขาใส่ความโมเดิร์นเข้าไป พร้อมปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตสังคมปัจจุบัน

ชาญไม่ได้ทำขึ้นเพื่อตอบสนองแพสชันของตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่เขามองเชิงธุรกิจและคนที่จะมาทำงานร่วมกัน ถึงการก้าวเดินอย่างช้า ๆ และเติบโตไปพร้อมกัน เพราะเป็นคนต่างจังหวัดโดยกำเนิด สิ่งหนึ่งที่เขารู้สึกอยู่เสมอ คือ คนต่างจังหวัดส่วนใหญ่ต้องแข่งขันกันเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ลงสนามทุนนิยมด้วยความจำเป็น จากบ้านมาไกลเพื่อหางาน หาเงิน เขาจึงอยากผลักดันให้งานคราฟต์ในแต่ละท้องถิ่นเติบโตขึ้น ให้เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อสร้างอาชีพให้คนได้ท้องถิ่นไปพร้อมกับการรักษาภูมิปัญญา
สินค้าน่าอุดหนุน : เสื้อเชิ้ตฮาวายผ้าลินิน เทคนิคบาติก มีให้เลือก 4 แบบ (ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย)
ตามไปจับจองและครอบครองได้ที่
เว็บไซต์ : www.bungalow17.com
Instagram : bungalow 17.studio