ไม่นานมานี้ทาง รถจักรยานยนต์ฮอนด้า ได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ล่าสุด CB150R ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่เอี่ยมที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก นอกจากรูปลักษณ์ที่ดูดีเหมือนรถมอเตอร์ไซค์ยุโรปแล้ว มอเตอร์ไซค์รุ่นนี้ยังออกแบบโดยคนไทยที่เดินทางไปดูแลโปรเจกต์นี้ที่ญี่ปุ่น 1 ปีเต็ม

นับเป็นเรื่องน่ายินดี แล้วอีกเรื่องที่น่ายินดีย้อนหลังก็คือ มอเตอร์ไซค์ฮอนด้าเกือบทุกรุ่นที่ใช้งานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล้วนออกแบบโดยคนไทย และรถส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ก็ผลิตในประเทศไทย

แล้วพวกเขาไปออกแบบรถมอเตอร์ไซค์ให้ชาวโลกใช้กันได้อย่างไร

ผมเดินทางมายังซอยเล็ก ๆ แถวสนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากแลกบัตรผ่านประตูเข้ามาในตึกสำนักงานใหญ่โต ก็เห็นมอเตอร์ไซค์มากมายที่จอดอยู่ตรงโถง พร้อม ๆ กับป้ายโลโก้ปีกสีแดงขนาดใหญ่ ที่นี่คือ Honda RESEARCH & DEVELOPMENT SOUTHEAST ASIA ผมมาพบกับ คุณพีช-ณัฐพัชร์ จรรยาพาณิชย์ ผู้ออกแบบมอเตอร์ไซค์รุ่น CB150R คนที่ทำงานออกแบบรถมอเตอร์ไซค์ทันทีตั้งแต่เรียนจบ

และเรียนจบด้วยการทำวิทยานิพนธ์ออกแบบมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเขาได้เกรด D

Honda CB150R

มอเตอร์ไซค์

มีวันนี้เพราะของเล่นให้

ครอบครัวของพีชอยากให้เขาเป็นเภสัชกร แต่เขาก็ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ส่วนหนึ่งก็เพราะชีวิตวัยเด็กของเขาเติบโตมากับการวาดรูปและสะสมโมเดลรถเด็กเล่น พอโตขึ้นมาอีกนิดก็ติดตามซื้อนิตยสารรถยนต์

“ผมชอบรถยนต์จากเส้นสายและผิวพรรณของรถแต่ละคัน ตอนเด็ก ๆ ไม่เข้าใจหรอกว่าความสวยคืออะไร รู้แค่เราชอบคันนี้ แต่อธิบายคนอื่นไม่ได้ว่าทำไมถึงชอบ คันนี้สวยยังไง ทำให้เรายิ่งสนใจขึ้นไปอีก แล้วก็เริ่มวาดรูปรถ พอรู้ว่ามีนักออกแบบวาดแบบรถพวกนี้ขึ้นมาแล้วส่งต่อให้วิศวกรไปทำให้เป็นรถจริง ๆ ผมก็ขัดใจพ่อแม่เลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลัก ๆ เพราะชอบวาดรูป พอรู้ว่าคณะนี้สอนออกแบบยานยนต์โดยอาจารย์ที่จบด้านนี้จากอังกฤษ ก็ตั้งเป้าว่าต้องเรียนออกแบบยานยนต์ให้ได้ ผมเลยตั้งใจเรียนและมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองเต็มที่” พีชย้อนเล่าที่มาของความสนใจ

ล้มบ้างก็ได้

เมื่อถึงช่วงที่ต้องทำโปรเจกต์เพื่อจบการศึกษา พีชเริ่มเปลี่ยนความสนใจจากการออกแบบรถยนต์มาเป็นรถจักรยานยนต์แทน ส่วนหนึ่งเพราะเคยมีคนออกแบบรถยนต์เป็นโปรเจกต์จบแล้วหลายคน และเขามองว่า การออกแบบมอเตอร์ไซค์ท้าทายกว่า

“รถยนต์มีเหล็กมาคลุมทุกชิ้นส่วน เหลือแค่ล้อที่พ้นตัวถังออกมา เราออกแบบเหล็กที่คลุมทุกอย่างนั้นไว้ให้สวยงาม ออกแบบยังไงก็ได้ ส่วนมอเตอร์ไซค์ไม่ได้มีแค่บอดี้อย่างเดียว แต่มีเรื่องเครื่องยนต์กลไกที่ไม่ได้ถูกครอบไปทั้งหมด มีถังน้ำมัน เครื่องยนต์ ช่วงล่าง ตัวครีบระบายความร้อน หรือท่อต่าง ๆ ล้วนต้องการการออกแบบให้ดูเรียบร้อยและสวยงาม เลยท้าทายกว่า”

พีช-นันท์นภัส จรรยาพาณิชย์

“ผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องการออกแบบมอเตอร์ไซค์ที่มีกลิ่นอายของรถสปอร์ต ปรากฏว่าได้เกรด D โคตรห่วยแตกเลยครับ” พีชเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ “แต่ผมไม่ได้เข็ดหรือแหยงเลย เพราะผมชอบและหลงใหลการออกแบบมอเตอร์ไซค์มาก ๆ การที่ได้เกรดไม่ดีจากงานที่เรียนแค่ชิ้นเดียวมันวัดผลทุกอย่างเกี่ยวกับเราไม่ได้ ผมเชื่อเรื่องการเรียนรู้ ถ้าเรามีประสบการณ์มากกว่านี้ก็จะทำออกมาได้ดีกว่านี้ แค่นั้นล่ะครับ”

หลังจากส่งวิทยานิพนธ์ เขาก็รู้ว่าฮอนด้า R&D (RESEARCH & DEVELOPMENT) เปิดรับนักออกแบบ เลยลองสมัคร ปรากฏว่าได้งาน เลยเริ่มทำงานที่ฮอนด้าตั้งแต่ตอนนั้น

ขี่แล้วภาคภูมิใจ รถคนไทยออกแบบเอง

เรา-ในที่นี้หมายถึงคนไทย ออกแบบมอเตอร์ไซค์กันเอง รวมไปถึงผลิตใช้เองมานานแล้ว แล้วก็ยังออกแบบให้เพื่อนบ้านของเราใช้ด้วย

ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่มีสภาพถนน เศรษฐกิจ ผังเมือง รวมไปจนถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตไม่ต่างกันมาก และมีความต้องการใช้มอเตอร์ไซค์มากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก การให้คนญี่ปุ่นที่ขึ้นรถไฟไปทำงานมาออกแบบมอเตอร์ไซค์ให้คนไทยใช้ คงเข้าไม่ถึงความต้องการของคนไทยแน่ ๆ ค่ายมอเตอร์ไซค์ยักษ์ใหญ่อย่างฮอนด้าจึงตั้งบริษัท Honda R&D Southeast Asia Co.,Ltd. ขึ้นมาเพื่อพัฒนามอเตอร์ไซค์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในภูมิภาคนี้

“ตอนแรกผมเข้าใจว่าหลัก ๆ คนญี่ปุ่นคงออกแบบเป็นหลัก แล้วให้คนไทยช่วยบ้าง แต่ได้มาทำถึงรู้ว่า ทางญี่ปุ่นให้คนไทยออกแบบมอเตอร์ไซค์แทบทั้งคัน เขาเชื่อมือทีมดีไซเนอร์ไทยมากเลยให้ดูแลตลาดในแถบละแวกนี้ด้วยทั้งหมด”

พีช-นันท์นภัส จรรยาพาณิชย์

ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ

ภารกิจของ Honda R&D Southeast Asia คือการออกแบบมอเตอร์ไซค์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด ส่วนที่สำคัญที่สุดไม่ใช่การออกแบบหรือการผลิต แต่เป็นการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานจริงๆ ทีมงานจึงต้องลงพื้นที่ไปสำรวจความต้องการของผู้ใช้ว่าคนในเมืองขี่รถไปทำอะไร คนนอกเมืองใช้รถทำอะไร แล้วก็วิเคราะห์ออกมาเป็นรูปธรรมหรือฟังก์ชัน เช่น ช่องเก็บของที่ใหญ่พอจะวางหมวกกันน็อกลงไปได้เพื่อป้องกันหมวกหาย จากนั้นก็นำไปสู่กระบวนการออกแบบรถ แม้จะศึกษามาเป็นอย่างดี แต่บางทีก็มีสิ่งที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน

“มอเตอร์ไซค์รุ่นเล็ก ๆ ในบ้านเรามี 2 ระบบคือ เปลี่ยนเกียร์เองหรือแมนวล กับเกียร์ออโต้ เราคิดว่ากลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์เพื่อส่งของซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ ใช้เวลาบนรถนานต้องชอบเกียร์ออโต้แน่ ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าทุกคนชอบเกียร์ธรรมดามากกว่า เพราะรถเกียร์ออโต้พอเตะขาตั้งลงแล้วเครื่องจะดับ แต่พวกเขาชอบจอดติดเครื่องไว้ ส่งของ เสร็จก็ขี่ต่อได้เลย นี่เป็นประเด็นสำคัญสำหรับนักออกแบบ บางอย่างที่เราคิดกลับไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้”

แต่งทุกอย่างให้เธอแล้ว

“จุดเด่นของบ้านเราน่าจะเป็นเรื่องการแต่งรถครับ”

พีชเล่าถึงความต้องการพิเศษของผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ในประเทศไทย

“เราแต่งรถโดยไม่สนใจราคารถเลย ซื้อมาสามสี่หมื่นบาท แต่งกันจนไปจบที่ห้าหรือหกหมื่นบาท เพราะผู้ใช้ต้องการความโดดเด่นและแตกต่างจากคนอื่นเวลาอยู่บนถนน ผมมองเป็นข้อดีนะครับ ทางญี่ปุ่นเห็นว่าเรามีความคิดสร้างสรรค์และรสนิยมมากกว่าชาติอื่น ๆ แถวนี้ สิ่งนี้ส่งผลต่อการออกแบบเยอะเหมือนกัน เราต้องออกแบบรถให้พอดี ๆ สวยโดดเด่น แต่ยังให้คนที่ซื้อจินตนาการต่อได้ว่าจะแต่งรถยังไงได้อีก เป็นการออกแบบที่ตอบโจทย์ผู้ใช้อีกแบบหนึ่ง”

อาวุธของนักออกแบบคือการสังเกต

พีชเล่าถึงขั้นตอนการออกแบบมอเตอร์ไซค์หนึ่งคันตั้งแต่ต้นจนจบว่า หลังจากได้ข้อมูลจากการรีเสิร์ชและสำรวจตลาดมาแล้ว จะมีการประชุมเพื่อสรุปเรื่องสไตล์รถให้เหล่าดีไซเนอร์ลงมือสเกตช์รูปรถมอเตอร์ไซค์ออกมา พอวาดได้จำนวนหนึ่งแล้วจะนำเอาแบบทั้งหมดแปะบนผนังให้ดีไซเนอร์แต่ละคนโหวตแบบที่ชอบ แบบที่ได้คะแนนน้อยที่สุดจะถูกหยิบลงทีละใบ ๆ จนสุดท้ายได้แบบที่ทุกคนในทีมชอบ จะนำแบบนั้นไปพัฒนาต่อจนเสร็จ แล้วส่งให้ทีมเคลย์โมเดลลิ่งปั้นขึ้นรูปรถมอเตอร์ไซค์จากดินที่เอาไว้ขึ้นแบบยานยนต์โดยเฉพาะ

จากนั้นดีไซเนอร์จะมาตรวจโมเดลดินนี้ ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเอากล้องสามมิติมาถ่ายโมเดลเพื่อแปลงเป็นไฟล์ในคอมพิวเตอร์ แล้วส่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาภายในบริษัทต่อไป

ผมเข้าใจมาตลอดว่าเหล่าดีไซเนอร์คงใช้โปรแกรมสามมิติหรือโปรแกรมเขียนแบบเพื่อเขียนดรอว์อิ้งยาก ๆ แต่พีชตอบว่าโปรแกรมที่เขาใช้ในการออกแบบคือโปรแกรมที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดีอย่าง Photoshop แถมบางครั้งก็ใช้วิธีวาดบนกระดาษ

พีช-นันท์นภัส จรรยาพาณิชย์ สเกตช์

พีชกลัวผมไม่เชื่อ เลยหยิบกระดาษมาวาดให้ดูต่อหน้า ระหว่างที่นักออกแบบกำลังวุ่นกับการวาดรถ ผมถามเขาถึงหัวใจของการออกแบบมอเตอร์ไซค์

“สิ่งที่ยากที่สุดคือ การศึกษาเทรนด์ให้ชัดเจน เพื่อออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ให้ได้ ผมมักจะเข้าไปเป็นสมาชิกในกลุ่ม Facebook ของผู้ใช้มอเตอร์ไซค์รุ่นต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ จะได้เห็นว่าคนแต่งรถกันแบบไหน สังเกตมาก ๆ ก็จะพอเห็นแนวโน้มในการแต่งรถช่วงนั้น ๆ

“ตอนเริ่มออกแบบรุ่น CB150R เมื่อ 2 ปีก่อน เราเริ่มเห็นว่าการแต่งรถจะเป็นไปในแนวที่ทำให้รถดูมินิมอลขึ้น เปิดโครงสร้างที่ติดบังพาร์ทต่าง ๆ ออกให้เห็นถังน้ำมัน เครื่องยนต์ หม้อน้ำ อย่างชัดเจน การแต่งรถเหล่านี้คือการแต่งสไตล์ที่เรียกว่า Cafe เรามั่นใจว่ารถสไตล์นี้ต้องมาแน่ ๆ เลยออกแบบให้ออกมาสอดคล้องกับเทรนด์ที่เราคาดการณ์ไว้”

สเกตช์

รถรุ่นที่ไม่เคยมีมาก่อน

“การออกแบบรถรุ่น CB150R ทีมดีไซน์ได้รับบรีฟว่าอยากให้ออกแบบรถรุ่นใหม่สำหรับตลาดภูมิภาคนี้ โดยมีประเทศไทยเป็นตลาดหลัก และเปิดตัวเป็นที่แรก ให้มองถึงผู้ใช้ที่มีรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่อยู่แล้ว แต่ต้องการหารถเล็กอีกสักคันเพื่อใช้ในเมือง ทีมดีไซน์เลยโฟกัสขอบเขตการออกแบบให้เป็นรถที่มีขนาดเล็กลง เพื่อความคล่องตัวในการใช้งานในเมือง ซอกแซกเข้าช่องเล็กช่องน้อย เบาะที่นั่งซึ่งปกตินั่งได้ 2 คนก็หดลงมาเหลือแค่คนขับเป็นหลัก แต่ถึงรถจะมีขนาดเล็กลงแต่ก็ยังมีประสิทธิภาพที่ดีอยู่ เพราะเราอยากให้ผู้ใช้ขี่รถคันนี้ด้วยความสนุก คีย์เวิร์ดที่เราใช้ออกแบบคือคำว่า Modern Café

คำว่า Café ในที่นี้คือรถมอเตอร์ไซค์แบบ Naked หรือเปลือยในช่วงยุค 60 มีจุดเริ่มต้นจากประเทศอังกฤษ ยุคนั้นอังกฤษได้รับอิทธิพลจากวงร็อกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น The Rolling Stones, Pink Floyd, Bob Dylan (บ้านเราคือยุคโก๋หลังวัง) อิทธิพลของเพลงร็อกก็ไม่ได้มีแค่เรื่องของแฟชั่นเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความขบถ ความห้าว และชีวิตอิสระเสรี การแข่งขันมอเตอร์ไซค์เลยเริ่มต้นจากจุดนั้น จุดรวมตัวของเหล่านักแข่งคือคาเฟ่ต่าง ๆ มีการหยอดเหรียญเปิดเพลงร็อกที่ชอบจากตู้เพลงก่อนเริ่มแข่งขัน ผู้ชนะคือคนที่กลับมาถึงคาเฟ่ก่อนเพลงจบ หรือบางทีก็มีเส้นชัยเป็นคาเฟ่อีกที่หนึ่งแทน

“ตัวมอเตอร์ไซค์ Café เป็นการเอามอเตอร์ไซค์ที่มีในยุคนั้นมาดัดแปลงเพื่อเอามาแข่งขันบนถนนจริง ๆ มีคาแรกเตอร์รวม ๆ คือ ไฟหน้าเป็นดวงกลม ๆ แฮนด์ต่ำเพื่อให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น ถังน้ำมันที่เว้ารับเข่าช่วยให้กระชับในการขี่ เอาพาร์ทอุปกรณ์ที่ติดรถซึ่งไม่จำเป็นออกเพื่อลดน้ำหนักลง ด้านหลังรถก็สั้นขึ้น บางคนก็เอาฝากลม ๆ ที่เรียกว่าตูดมดมาครอบด้านหลังสุดไว้ ผมเอาคอนเซปต์นี้มาทำใหม่เป็น Modern Café รูปทรงและชิ้นส่วนของพาร์ตต่าง ๆ ยังคงมีกลิ่นอายแบบรถวินเทจ แต่ใส่เทคโนโลยีใหม่เข้าไปให้เข้ายุคเข้าสมัยมากขึ้น รวมถึงออกแบบโดยคำนึงถึงสรีระของคนไทยเป็นหลักด้วย”

Honda CB150R Honda CB150R

เลือกฉันอย่าหลงไปเลือกใคร

หลังจากที่ทีมดีไซเนอร์ลองสเกตช์รถรุ่นนี้หลายสิบรูป ผ่านการถกเถียงและวิจารณ์หลายที แบบที่ได้คะแนนสูงสุดคือแบบที่พีชเป็นคนวาด เขาจึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพัฒนาโปรเจกต์ต่อจนจบ พีชเดาเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เลือกแบบของเขาว่า “คงเพราะตรงกับโจทย์ที่ได้รับมา ผมเห็นเทรนด์การแต่งรถสไตล์นี้มานานแล้ว เห็นมามาก ก็เลยรู้ว่าคนที่ชอบรถสไตล์นี้เขาชอบอะไรกันมั่ง ผมก็ออกแบบไปในทิศทางแบบนั้น พอพัฒนารถคันนี้ไปได้สักพักก็เจอปัญหาว่า รถที่เราออกแบบต้องพัฒนาเฟรมขึ้นมาใหม่ (โครงสร้างของรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นเหมือนกระดูก โดยยึดบอดี้กับเครื่องยนต์ไว้ด้วยกัน)

ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการออกแบบและผลิตเฟรมมอเตอร์ไซค์อยู่ ทางบริษัทต้องเอาเฟรมไปพัฒนาต่อที่ญี่ปุ่น ผมเลยย้ายไปทำงานที่ญี่ปุ่นประมาณปีหนึ่ง เพราะนักออกแบบต้องทำงานร่วมกับวิศวกร

“หลายคนอาจคิดว่าดีไซเนอร์ออกแบบเฉพาะตัวบอดี้อย่างเดียว แต่เราต้องออกแบบตั้งแต่ตัวเฟรม ตัวถังน้ำมัน ฝาปิดถังน้ำมัน ดิสก์เบรก ล้อ ทุกอย่างที่เห็นผ่านการดีไซน์ทั้งหมด วิศวกรจะเอาแบบที่เราวาดไปพัฒนาให้ออกมาแข็งแรงรองรับการใช้งานได้อย่างปลอดภัย และใกล้เคียงกับแบบที่วาดมาให้มากที่สุด โชคดีที่ทาง R&D ของบ้านเรามีวิธีการทำงานและขั้นตอนไม่แตกต่างกับ R&D ที่ญี่ปุ่น เลยไม่ต้องปรับตัวเยอะ”

Honda CB150R

อยู่ที่เรียนรู้อยู่ที่ยอมรับมัน

สิ่งที่พีชได้เรียนรู้จากการทำงานถึงญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปีคือ

“ระบบการทำงานของที่ญี่ปุ่นคล้ายกับของไทยมาก ๆ ผมเลยตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้ความแตกต่างทางความคิดในการออกแบบของดีไซเนอร์คนอื่น ๆ มากกว่า เพราะที่ญี่ปุ่นมีดีไซเนอร์จากหลากหลายประเทศ มีทั้งคนญี่ปุ่นและคนยุโรป เวลาวิจารณ์แบบกันเลยได้เห็นวิธีแก้ปัญหาทางการออกแบบใหม่ ๆ ซึ่งไม่เหมือนที่เห็นในบ้านเรา แต่ไม่ใช่ว่าดีไซเนอร์ไทยไม่เก่ง หรือรสนิยมไม่ดีสู้ฝรั่งไม่ได้นะครับ เพราะตอนนี้เป็นยุคของอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เราเสพเราชอบก็เป็นของแบบเดียวกันกับของที่คนอื่น ๆ ในโลกเสพเช่นเดียวกัน คนทั่วโลกก็ได้ใช้ของแบบเดียวกันในเวลาไล่เลี่ยกัน รสนิยมของคนทั้งโลกจึงสอดคล้องไปในทางเดียวกัน เดี๋ยวนี้นักออกแบบไทยหรือต่างประเทศจึงไม่ค่อยแตกต่างกันมากเหมือนในอดีตแล้วครับ”

พีช-นันท์นภัส จรรยาพาณิชย์

หัวใจนักออกแบบ

“เราควรศึกษาเรื่องเทรนด์ไว้เยอะ ๆ ดูรูปของที่เราจะออกแบบไว้ให้มาก ๆ ในคอมพิวเตอร์ผมมีอยู่โฟลเดอร์หนึ่งเก็บภาพมอเตอร์ไซค์ไว้มากกว่า 3 – 4 พันรูป เวลาผมคิดงานไม่ออกก็จะเปิดรูปดูไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ลอกนะครับ แต่เพื่อดูว่าคนอื่น ๆ ทำอะไรไปแล้วบ้าง หรือมีแง่มุมไหนที่ยังไม่มีคนทำบ้าง ข้อดีอีกอย่างก็คือ เวลาที่เราเห็นรถรุ่นใหม่ ๆ ซึ่งมีดีไซน์แตกต่างออกไปปุ๊บ เราจะรู้ทันทีว่าเทรนด์ในอนาคตต่อจากนี้จะเป็นยังไง เพราะเราเห็นภาพรวมของทั้งหมดที่มีแล้ว จะช่วยให้เรารู้ว่าเทรนด์การออกแบบต่อไปจะไปในทิศทางไหน”

อุปกรณ์จำเป็นบนโต๊ะทำงานของนักออกแบบยานยนต์

  1. กระดานวาด

เนื่องด้วยงานที่นี่ถือว่าเป็นความลับ ผมเลยไม่สามารถเอางานกลับไปทำที่บ้านได้ ดังนั้นถ้าช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่มีไอเดียเกิดขึ้นมา ผมก็จด ๆ วาด ๆ ไว้บนกระดาษแล้วมาทำต่อที่ออฟฟิศ

  1. หูฟัง

ในบางช่วงที่เรามีไอเดียขึ้นมา เราก็จะใช้หูฟังมาช่วย เพื่อให้เรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับการออกแบบมากกว่าของรอบ ๆ ตัวครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan